ถ้าวันนี้คุณเพิ่งตื่นขึ้นมาจากการนอนหลับ บิดขี้เกียจสักสองถึงสามครั้ง จากนั้นลุกขึ้นมาล้างหน้าแปรงฟัน ชงกาแฟร้อนสักหนึ่งแก้ว แต่เมื่อจะออกไปนั่งสูดอากาศริมระเบียง คุณอาจจะต้องคิดดูอีกที เพราะทุกการหายใจเข้าออกของคุณอาจเต็มไปด้วยฝุ่น มลพิษ และสารเคมี อันเกิดมาจากวิถีชีวิต ธุรกิจ อุตสาหกรรม หรือความเห็นแก่ตัวของคนบางกลุ่มที่สร้างมลพิษทางทั้งทางตรงและทางอ้อม จนก่อเกิดเป็นปัญหามลภาวะสะสมระดับชาติที่ยากจะแก้ไข ซึ่งหลายคนเพิ่งเล็งเห็นก็ต่อเมื่อภัยคุกคามลามปามมาจ่อถึงตรงหน้า 

ในระดับแย่ มันอาจทำให้คุณมีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ไอ จาม เลือดกำเดาไหล หายใจไม่เต็มปอด แต่ในระดับที่แย่มากไปกว่านั้น มลพิษทางอากาศเหล่านี้ไม่เพียงแต่ทำลายปอดและลำคอ ทว่ามันทำลายลึกลงไปถึงระดับเซลล์และพันธุกรรม (DNA) ซึ่งหมายความว่าต่อให้พรุ่งนี้ค่าฝุ่นหายไป คุณก็ไม่อาจปลอดภัย 100% เพราะผลพวงจากผลพิษได้แทรกแซงเข้าไปทำลายถึงหน่วยที่เล็กที่สุดของร่างกาย กัดกิน เปลี่ยนแปลง แฝงตัว และรอวันที่จะได้เชิดฉายออกมาเป็นโรคต่างๆ อีกมากมายในวันข้างหน้า

ในงานวิจัย Particulate matter inhibits DNA repair and enhances mutagenesis ที่เผยแพร่ในปี 2014 เกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างมลพิษทางอากาศ และการกลายพันธุ์ของ DNA ระบุว่า การสัมผัสมลพิษทางอากาศหรือ PM2.5 ในระดับเข้มข้น ส่งผลในการเพิ่มโอกาสเสียชีวิตจากมะเร็งปอดมากถึง 8% เนื่องจากฝุ่น PM2.5 ประกอบไปด้วยโลหะทรานซิชัน (Transition Metal) จำพวกเงิน ทอง เหล็ก นิกเกิล โคบอลต์ ซึ่งส่วนใหญ่คุณสมบัติทางเคมีของธาตุเหล่านี้ มักถูกนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงอุตสาหกรรม 

เมื่อร่างกายรับฝุ่นที่มีโลหะเหล่านี้เข้าไปจะเกิดผลกระทบต่อนิวคลีโอไทด์ (Nuecleotide) หรือโครงสร้างพื้นฐานของกรดนิวคลีอิก (Nuecleic Acid) ที่ช่วยเผาผลาญและสังเคราะห์สารอาหารในระดับเซลล์ ซึ่งทำให้ความสามารถในการซ่อมแซม DNA ลดลง อีกทั้งยังเพิ่มโอกาสการกลายพันธุ์ของเซลล์ที่นำไปสู่การก่อมะเร็งในอนาคต แน่นอนว่าหากธาตุเหล่านี้เข้าไปในปอด ก็อาจทำให้เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปอดได้ง่าย

งานวิจัย Occupational exposure to metal-rich particulate matter modifies the expression of repair genes in foundry workers ในปี 2021 ที่ได้ทำการตรวจสอบ DNA ของคนงานในโรงหล่อเหล็กที่ประเทศอิตาลี พบว่า DNA ของเหล่าคนงานตรงกับ DNA ที่พบในผู้ป่วยมะเร็งปอด และเซลล์ของพวกเขาเสียหายจากการสัมผัสสารเคมีเป็นประจำ ถึงแม้ทำงานอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลตามมาตรฐานปกติ ซึ่งในการศึกษานี้ได้เก็บตัวอย่างเลือดของคนงานในตอนเช้าของการทำงานวันแรก และตรวจสอบอีกครั้งในวันที่ 3 ของการทำงาน พบว่าเซลล์และ DNA ของพวกเขาเกิดการเปลี่ยนแปลง จึงอนุมานได้ว่าหลังจากที่ร่างกายสัมผัสกับมลพิษทางอากาศเพียงไม่กี่วัน ก็เพียงพอต่อการแทรกแซงและทำลายถึงระดับ DNA 

ในที่ประชุมนานาชาติ American Thoracic Society ที่เมืองซานดิเอโก รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา มีการพูดถึงงานวิจัยชิ้นนี้และได้ข้อสรุปว่า ความอันตรายของการสูดดมมลพิษไม่จำเป็นว่าคุณต้องทำงานอยู่ในโรงงานหล่อเหล็กเพียงอย่างเดียว แต่ความเสี่ยงนี้กระจายไปถึงชุมชนและผู้คนโดยรอบ เนื่องจากอนุภาคของฝุ่นควันเหล่านี้เล็กมากและสามารถกระจายออกไปได้ไกล 

เมื่อกลับมามองปัญหาฝุ่นในประเทศไทยของเราก็ทำให้รู้สึกยิ่งน่าเป็นห่วงเข้าไปใหญ่ เพราะปัญหามลภาวะไม่ได้กระจุกอยู่เพียงพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเหมือนประเทศอื่น แต่มันกระจัดกระจายและลอยฟุ้งอยู่ในอากาศทั่วไปโดยที่มองไม่เห็น จึงเป็นที่น่ากังวลว่าสุขภาพของผู้คนในระยะยาวนั้นจะเป็นอย่างไร เพราะต่อให้วันพรุ่งนี้ฝุ่นพิษหายไปจนหมด เราก็ไม่อาจกลับไปมีปอดที่เป็นปกติเหมือนเดิม

Tags: , , , ,