หากคุณเป็นคนหนึ่งที่หยุดไถจอเพื่อแวะอ่านบทความนี้ เดาว่าคุณคงเป็นหนึ่งในพวกเรา หนึ่งในอดีตเด็กวัยเริ่มรู้เดียงสาผู้ตระหนักได้ด้วยเหตุผลบางอย่างว่า ตัวเองไม่ใช่ลูกคนโปรด อาจด้วยราคาของขวัญที่ถูกกว่าจนใจหายทุกปี ด้วยความผิดฐานเดียวกันที่โทษมักร้ายแรงกว่า หรือด้วยความจริงที่ว่าต่อให้ทำดีเพียงใดก็ได้แค่ดีเสมอตัว
ปรากฏการณ์ความลำเอียงรักลูกไม่เท่ากัน (Parental Favouritism) เกิดขึ้นในธรรมชาติของหลากหลายสปีชีส์ในอาณาจักรสัตว์ นกหงส์หยกตัวเมียป้อนอาหารลูกที่อ่อนแอที่สุดก่อน สิงโตประคบประหงมลูกตัวสุดท้องที่มีเพศเดียวกับตนเอง ส่วนสัตว์ฟันแทะก็ให้ความสำคัญกับลูกที่ตัวโต ร้องเสียงดัง และมีโอกาสรอดมากที่สุด
ลัทธิดาร์วินทางสังคมให้เหตุผลทางชีววิทยาเอาไว้มากมายถึงสาเหตุที่พ่อแม่ในเผ่าพันธ์ุมนุษย์เองก็เลือกที่รักมักที่ชัง แต่กระทั่งในยุคสมัยที่เรายังเป็นเด็ก ที่สังคมส่วนหนึ่งพอเข้าใจแนวคิดเรื่องความเท่าเทียมภายในหน่วยสังคม และความบอบช้ำทางใจจากความลำเอียงของพ่อแม่บ้างแล้ว พ่อแม่ของเราหลายคนก็อาจ ‘ไม่เป็นผู้ใหญ่มากพอ’ ที่จะจัดการความรู้สึกที่เกิดจากสัญชาตญาณดั้งเดิม
เมื่อเร็วๆ นี้ นักวิจัยด้านจิตวิทยาครอบครัวจากสมาคมจิตแพทย์อเมริกัน ศึกษาผู้เข้าร่วมที่มีลูกกว่า 1.95 หมื่นคนพบว่า มีเกณฑ์หลากหลายอย่างที่ส่งผลให้พ่อแม่ส่วนใหญ่มีลูกคนโปรด ไม่ว่าจะเป็นลำดับการเกิด เพศ หรือนิสัย
คำถามสำคัญคือ หากเราเติบโตมากับแผลใจจากการไม่เป็นที่รักเท่าที่ควรนี้ เราจะสามารถเติบโตข้ามผ่านความเจ็บปวด เพื่อใช้ชีวิตในวัยผู้ใหญ่โดยไม่สูญเสียความเคารพรักในตัวตนของตนเองได้อย่างไร
1. ยอมรับความรู้สึกที่เกิดขึ้น แล้วโอบกอด ‘Inner Child’ ของตัวเอง
หากรู้สึกโกรธก็จงบอกตัวเองว่า ไม่ผิดที่จะโกรธ และหากรู้สึกเศร้าก็จงบอกตัวเองว่า เป็นธรรมดาที่จะเศร้า การหาทางระบายความรู้สึกเหล่านี้ออกมาและยอมรับมันให้ได้อาจเป็นทางออกที่ดีที่สุดที่มีอยู่ เพื่อให้คุณค้นพบความสงบในหัวใจเมื่อสามารถปล่อยวางความทรงจำเหล่านี้ได้แล้ว อาจลองเริ่มด้วยการเขียนบันทึก พูดคุยกับคนที่สามารถรับฟัง หรือไปเข้ารับการบำบัดจากนักจิตวิทยา
2. ระบุและแก้ไขพฤติกรรมไม่พึงประสงค์อันเป็นผลพวงของชีวิตวัยเด็ก
ผู้ใหญ่ที่เติบโตผ่านวัยเด็กมาโดยได้รับความรักความอบอุ่นจากครอบครัวน้อยกว่าที่ควร มักมีรูปแบบพฤติกรรมบางอย่างที่ใช้ในการเรียกร้องความสนใจ หรือแสวงหาการยอมรับจากผู้อื่นในสังคมโดยไม่รู้ตัว เพื่อเติมเต็มความต้องการพื้นที่ในใจอันว่างเปล่า นอกจากนี้บ่อยครั้งยังมีบุคลิกยึดติดในความสมบูรณ์เกินกว่าเหตุ ทำให้เกิดความทุกข์ได้ง่ายในชีวิตการเรียนและการทำงาน
หากคุณสามารถระบุให้ได้ว่า ตนเองมีรูปแบบพฤติกรรมแบบใด คุณก็จะสามารถฝึกตัวเองให้รู้เท่าทันกลไกป้องกันตนเองแบบผิดๆ และลด ละ เลิก พฤติกรรมไปทีละอย่างได้ เพื่อปกป้องสุขภาพใจของตนเองและคนรอบตัว
3. ประเมินสถานการณ์ รูปแบบความสัมพันธ์ของครอบครัวในปัจจุบัน และความคาดหวังของตน
พ่อแม่มีแนวโน้มเปิดใจรับฟังและเปลี่ยนตัวเองมากแค่ไหน
สมาชิกคนอื่นมองเห็นความไม่เป็นธรรมนี้ด้วยหรือไม่
คุณคาดหวังอะไรจากพวกเขา
ลองนั่งลงสักครู่ ประเมินสถานการณ์ปัจจุบันให้ดี และตอบคำถามเหล่านี้ให้ได้ก่อนจะลงมือดำเนินการขั้นถัดไป เพื่อให้แน่ใจว่าคุณจะเลือกเดินหมากไปถูกทาง และทำใจรับผลลัพธ์ที่ตามมาจากการตัดสินใจครั้งนี้ได้
4. ลองหยั่งเชิงความคิดเห็นของพี่น้องบางคน
อาจฟังดูเหลือเชื่อ แต่พี่น้องบางคนของคุณเองอาจต้องเผชิญกับผลกระทบของการเป็นลูกคนโปรดเช่นกัน บ้างต้องใช้ชีวิตห่างเหินกับพี่น้องคนอื่นในบ้านไปตลอดชีวิต เพราะความรู้สึกไม่พอใจที่เกิดขึ้นในวัยเด็ก บ้างขาดความเชื่อมั่นใจในการตัดสินใจทำอะไรด้วยตนเองเพราะที่ผ่านมามีพ่อแม่คอยกำกับทุกฝีก้าว บ้างก็ประสบปัญหาในการผูกสัมพันธ์กับผู้อื่นในระยะยาว หรือขาดความเชื่อใจในผู้คนรอบตัว
หากมีโอกาส คุณอาจควรเปิดใจพูดคุยกับพี่น้องบางคนที่หมางเมินกันไปดูบ้าง เพื่อสะสางความเข้าใจผิด ระบุปัญหาที่แท้จริง และช่วยกันแก้ไข
5. ลงมือเปลี่ยนในสิ่งที่เปลี่ยนได้
ขั้นตอนนี้อาจมีรายละเอียดแตกต่างกันออกไปแล้วแต่ครอบครัว หากประเมินแล้ว คาดว่าพ่อแม่น่าจะมีศักยภาพในการรับฟังปัญหาและเปลี่ยนแปลงตัวเอง การเข้าไปบอกเล่าความรู้สึกและชี้แจงปัญหาตรงๆ อาจเป็นตัวเลือกที่ไม่เลวทีเดียว แม้จะเคยขาดความเยือกเย็นและไม่รู้วิธีคิดอย่างเป็นผู้ใหญ่ในตอนที่คุณยังเป็นเด็ก แต่ปัจจุบันพวกเขาหลายคนอาจผ่านประสบการณ์มามากพอที่จะเปิดใจรับคำวิจารณ์จากลูก
หากประเมินแล้วคิดว่า คงไม่สามารถโน้มน้าวใจพ่อแม่ได้ด้วยตนเอง การขอแรงสนับสนุนจากพี่น้องหรือผู้ใหญ่คนอื่นๆ ในครอบครัว อาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยให้พ่อแม่มองเห็นข้อผิดพลาดในอดีตชัดเจนขึ้น
หรือหากคิดว่าไม่มีทางใดที่จะอธิบายให้พ่อแม่เข้าใจได้เลย อย่างน้อยก็ควรกำหนดขอบเขตภายในความสัมพันธ์ให้เข้าใจตรงกันชัดเจนว่า ไม่ควรล้ำเส้นกันและกันในเรื่องใดบ้าง
6. ทำใจปล่อยวางในสิ่งที่เปลี่ยนไม่ได้
อย่าทุกข์ใจและโทษตัวเองมากเกินไป หากสุดท้ายพบว่าไม่สามารถปรับปรุงแก้ไขความสัมพันธ์ที่หมางเมินกันไปให้ดีขึ้นได้ อาจถึงเวลาจัดการกับความคาดหวังของตัวเอง และเริ่มต้นใหม่กับเป้าหมายที่มีแนวโน้มจะสำเร็จได้มากกว่า หากการใช้ชีวิตใกล้ชิดกับพ่อแม่ทำให้คุณเจ็บปวด การเว้นระยะห่างออกมาสักหน่อย หรือกระทั่งเดินจากไป อาจเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด
7. แบ่งปันความสุขความสำเร็จกับคนที่รักและแคร์เราจริงๆ
หากความเจ็บปวดที่สาหัสที่สุดของปรากฏการณ์ความลำเอียงรักลูกไม่เท่ากันคือ การถูกมองข้ามคุณค่าของความพยายามและความสำเร็จแล้วละก็ ยาถอนพิษที่ดีที่สุดอาจเป็นการหันไปแบ่งปันความสุขของเรากับคนที่มองเห็นคุณค่าในสิ่งที่เราทำ ซึ่งอาจเป็นเพื่อน พี่น้อง ญาติผู้ใหญ่ หรือคนรักก็ได้
อ้างอิง
https://www.queensjournal.ca/the-myth-of-parental-favouritism/
https://www.bbc.com/future/article/20230809-the-lifelong-effects-of-the-favourite-child
https://marciasirotamd.com/psychology-popular-culture/the-dark-side-of-being-the-favorite-child
https://mcaresforkids.com/unloved-child-syndrome/
Tags: Psychology, ครอบครัว, Knowledge, Wisdom, Favouritism, Birth Order, Sibling Estrangement, ลำดับการเกิด, ช่วงวัย, รักลูกไม่เท่ากัน