หลายคนคงเคยได้ยินสุภาษิตไทยคุ้นหู ‘ไฟในอย่านำออก ไฟนอกอย่านำเข้า’ ที่สอนใจไม่ให้คนนำปัญหาของคนในไปเปิดเผยให้คนนอกรู้ แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ควรนำปัญหาข้างนอกเข้ามาปะปนกับเรื่องในบ้านด้วยเช่นกัน ฝรั่งเองก็มีสำนวนทำนองเดียวกันคือ ‘Every family has a skeleton in the cupboard.’ (ไม่ว่าครอบครัวไหนก็ย่อมมีโครงกระดูกแอบอยู่ในตู้เสื้อผ้า) หมายความว่า ทุกบ้านย่อมมีเรื่องลึกลับดำมืดที่สมาชิกไม่ควรไปเล่าซี้ซั้ว
แต่คำสอนใจเหล่านี้จะยังถือว่าอมตะอยู่ไหม ในเมื่อปัจจุบันไม่ว่าจะมองไปทางไหน คนรุ่นใหม่ก็ดูกะตือรือร้นที่จะเปิดเผยชีวิตส่วนตัวให้ใครต่อใครได้ชมชนิดแทบจะถ่ายทอดสด จนอาจกล่าวได้ว่า ผู้คนในยุคหลังการมาของโซเชียลมีเดียนั้น เกิดความแนบชิดกันทางอารมณ์แบบ Parasocial ยิ่งกว่ายุคใดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ
ไม่ว่าจะอยากรู้หรือไม่ แต่เราก็จะได้รู้แบบเรียลไทม์ว่า เจ้านายไปกินข้าวเย็นที่ไหน เพราะเขาลงภาพเป็นสาธารณะเฟซบุ๊ก ได้รู้จักชีวิตเซ็กซ์ของอดีตรุ่นพี่ในคณะแบบทะลุปรุโปร่ง เพราะมีเรื่องราวให้ติดตามอ่านแบบแบ่งเป็นตอนๆ ในทวิตเตอร์ (X) ได้รู้ว่าญาติห่างๆ เกาเหลากับคู่กรณีชื่ออะไร หน้าตาแบบไหน อายุเท่าไร เรียนจบสถาบันใด เพราะช่วงนี้เขาโพสต์สตอรีประจานกันรายวัน ได้รู้กระทั่งว่าอาหารตัวการที่ทำให้เพื่อนสนิทท้องเสียจู๊ดๆ เช้านี้คือเมนูไหน เพราะภาพโถส้วมในสตอรีโคลสเฟรนด์ที่มันลงให้ดูยังติดตาอยู่เลย!
แบบไหนจึงเรียกว่า Online Oversharing?
คำว่า Oversharing อาจแปลได้ง่ายๆ ว่า ‘การเปิดเผยข้อมูลมากเกินไป’ แต่แน่นอนว่า คำว่ามากเกินไปของเราคงไม่เท่ากันทุกคน มหาวิทยาลัยแกรนด์วัลเลย์สเตท (Grand Valley State University) ให้นิยามของคำว่า Online Oversharing เอาไว้ว่า หมายถึงการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลมากเกินกว่าที่จำเป็น โดยเฉพาะข้อมูลที่ไม่เหมาะสม ซึ่งอาจส่งผลกระทบในทางลบ หรือกระทั่งเกิดอันตรายต่อตนเองและคนใกล้ตัว ยกตัวอย่าง การติดแท็กโลเคชันแบบเรียลไทม์ การโพสต์เกี่ยวกับแผนการเดินทางที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ การเผยแพร่ข้อความระบายอารมณ์ที่ทำให้ผู้อื่นรู้ถึงสภาวะทางอารมณ์ที่กำลังไม่ปกติของผู้โพสต์ และการเปิดช่องว่างให้คนที่ยังไม่รู้จักดีรู้ที่อยู่ของเรา ในขณะที่เรากำลังเมา หรือมีสติไม่เต็มร้อย
ในขณะที่ เบน แอกเกอร์ (Ben Agger) ให้ความหมายของ Online Oversharing ในทางสังคมวิทยาเอาไว้อย่างเฉพาะเจาะจงขึ้นมาเล็กน้อยว่า คือการป่าวประกาศความรู้สึกลึกๆ ภายใน ความคิดเห็นทางการเมือง ชีวิตเซ็กซ์ และประวัติทางการแพทย์ของตนเองหรือผู้อื่นให้คนบนโลกออนไลน์ได้รับรู้ มากเกินกว่าที่เราจะเต็มใจบอกกับคนรู้จักผ่านบทสนทนาในชีวิตจริงเสียอีก
วารสาร Psychological Reports เผยว่า นอกจากผลกระทบเรื่องความปลอดภัยที่จับต้องได้แล้ว พฤติกรรม Oversharing อย่างต่อเนื่องอาจส่งผลเสียด้านสุขภาพจิตในระยะยาวอีกด้วย คืออาจทำให้เสพติดโซเชียลมีเดีย ซึ่งจะส่งผลต่อระดับความวิตกกังวล รวมถึงความสามารถในการแยกแยะความรู้สึกที่แท้จริงของตนเองว่า ต้องการเปิดเผยเรื่องไหนและต้องการเก็บเรื่องไหนเอาไว้เป็นเรื่องส่วนตัว กลายเป็นว่าเรื่องไหนๆ ก็แบ่งปันให้คนรู้ได้ไปเสียหมด
พฤติกรรม Oversharing อาจมาในรูปแบบของ Sadfishing คือการโกหก จัดฉาก หรือกล่าวถึงปัญหาชีวิตและสภาพจิตใจของตนบนโลกออนไลน์อย่างเกินจริง เพื่อให้ได้รับความสนใจและคำปลอบใจจากผู้คนในวงสังคมออนไลน์ ไปจนถึงการหาที่ระบายทางอารมณ์ (Emotional Dumping) ที่เป็นการบอกเล่าเรื่องราวตามจริงโดยไม่ได้โกหก แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า นี่ก็นับเป็นการส่งพลังลบไปสู่ผู้อื่นผ่านช่องทางออนไลน์โดยที่ไม่ได้ตั้งใจ เนื่องจากบ่อยครั้งเราอาจไม่มีโอกาสได้คำนึงถึงสภาพจิตใจและความยินยอมพร้อมใจของผู้พบเห็นโพสต์ของเรา ที่จะต้องมารับรู้เรื่องสะเทือนใจแบบไม่ทันตั้งตัว
บางครั้งพฤติกรรมเช่นนี้ อาจร้ายแรงถึงขั้นเข้าข่ายการส่งต่อแผลใจให้ผู้อื่น (Trauma Dumping) การใช้ผู้อื่นเป็นที่ระบายทางอารมณ์และแผลใจนั้น ต่างจากการปรับทุกข์ทั่วไปที่มีผู้ฟังเป็นเป้าหมายชัดเจน อีกทั้งยังมีการแลกเปลี่ยนพลังงานและเรื่องราวจากทั้ง 2 ฝ่าย โดยไม่มีฝ่ายใดเพียงฝ่ายเดียวต้องฝืนใจรองรับความบอบช้ำทางใจอันหนักหน่วงของฝ่ายตรงข้ามอย่างไม่มีขอบเขต
อันที่จริงการ Oversharing นั้นเกิดขึ้นบ่อยได้ทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์ อาจลองนึกถึงแนวคิดที่ว่า คนเรามักสบายใจที่จะระบายความอัดอั้นกับคนแปลกหน้า มากกว่าคนที่มีความเกี่ยวข้องกันในชีวิตประจำวัน บางครั้งอาจเป็นการแลกเปลี่ยนที่ไม่มีพิษภัยอะไร แต่ในบางโอกาส บทสนทนาเหล่านี้ก็อาจนำมาซึ่งการก้าวล่วงขอบเขตความสบายใจของกันได้เช่นกัน
ในยุคที่วิถีปกติคือ ‘การแสดงออกตลอดเวลา’ การอยู่เงียบๆ กลับกลายเป็นเรื่องผิดแปลก
ข้อเสียอีกอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นในระดับสังคม เมื่อเราแบ่งปันทุกแง่มุมเล็กๆ น้อยๆ ให้ได้รับรู้กันถี่ยิบจนเป็นวิถีปกติถึงเพียงนี้ คือเมื่อไรก็ตามที่ใครสักคนเลือกที่จะเงียบหายไป ความเงียบที่แท้จริงแล้วอาจไม่มีความหมายใด ก็เริ่มมีความหมายแฝงในสายตาของคนบนโลกออนไลน์ ทำให้จู่ๆ ก็เกิดคำถามขึ้นมาว่า เป็นไปได้ไหมที่คนผู้นี้กำลังจงใจสื่อสารจุดยืนของตนด้วยความเงียบ?
เอลิซาเบธ สไปเออร์ส (Elizabeth Spiers) นักเขียนของนิตยสาร The New York Times เขียนถึงประสบการณ์ส่วนตัวลงในบทความของเธอที่มีชื่อว่า ‘ฉันไม่จำเป็นต้องโพสต์แสดงความเจ็บแค้นลงเน็ตให้ใครดู คุณเองก็เหมือนกัน’ สไปเออร์สกล่าวว่า
“ฉันไม่ใช่คนยิว แล้วก็ไม่ใช่คนปาเลสติเนียน ฉันมีงานที่ทำเป็นประจำอยู่หกอย่าง แต่ไม่มีงานไหนเป็นงานที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญด้านนโยบายต่างประเทศเลย มีอยู่วันหนึ่ง ฉันเปิดโซเชียลฯ เช็กหลังจากไม่ได้เข้าใช้มาสักพัก และพบว่า มีคนมาเรียกร้องให้ฉันแถลงจุดยืนเกี่ยวกับเหตุการณ์ในตะวันออกกลาง
“ดูเหมือนทุกคนบนโลกอินเทอร์เน็ตจะประกาศจุดยืนกันไปหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ American Eagle ที่สละป้ายโฆษณาที่ไทม์สแควร์ให้ฉายภาพธงอิสราเอลแทน หรือจัสติน บีเบอร์ ที่โพสต์ข้อความ ‘Praying for Israel’ แต่ภาพซากเมืองถูกถล่มที่ลงคู่กันดันเป็นภาพของฝ่ายกาซา (แล้วตอนหลังก็ลบไป)
“ผู้คนจากทั้ง 2 ฝ่ายดูจะคิดว่า ความเงียบงันของฉันหมายความว่า ฉันไม่แยแสเพื่อนมนุษย์ที่กำลังทุกข์ทรมานด้วยภัยสงคราม แต่ในขณะที่พวกเขากำลังถกเถียงกันอยู่ว่า ใครทรมานกว่ากันระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ ฉันกำลังป่วยเป็นโรคงูสวัดและโรคซึมเศร้าไปพร้อมๆ กัน ฉันเหนื่อยล้าและมึนงงไปหมด และเดาว่าหลายคนก็คงกำลังเจอเรื่องแบบเดียวกัน”
กลายเป็นว่าวิถีในโลกยุคใหม่กำลังบีบให้ทุกคนต้องพูด แสดงออก และถ่ายทอดเรื่องราวจากมุมของตนเองกันอยู่ตลอดเวลา แม้ว่าเสียงของเราอาจกำลังกลบเสียงที่มีความหมายจากผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งควรได้รับการรับฟังมากกว่าก็ตาม ในขณะเดียวกัน วิธีคิดเช่นนี้ก็สามารถหล่อหลอมผู้คนให้มองว่า การนิ่งเงียบและใช้เวลาคิดเพราะยังไม่แน่ใจในความรู้และความเห็นของตนเองกลายเป็นเรื่องผิดบาป ทั้งยังปิดกั้นไม่ให้เราคิดถึงความเป็นไปได้ที่ผู้อื่นจะสามารถทำเพื่อสังคมในพื้นที่อื่นๆ นอกเหนือจากพื้นที่ออนไลน์
“ฉันมีความคิดเห็นเป็นของตัวเองอยู่แล้วล่ะ แต่รายละเอียดทั้งหมดนั้นไม่สามารถพิมพ์ให้จบได้ภายในทวีตเดียว หรืออธิบายให้จบได้ภายในคลิป TikTok สั้นๆ หรอกนะ” สไปเออร์สกล่าว
อ้างอิง
https://www.theguardian.com/wellness/2024/jan/25/oversharing-social-media-privacy-anxiety
https://www.nytimes.com/2023/10/17/opinion/social-media-israel-palestine.html
https://marthabeck.com/2014/03/healthy-emotional-intimacy/
Tags: emotional intimacy, social media, Knowledge and Wisdom, online oversharing, internet safety, sadfishing