อาจฟังดูเหมือนเรื่องตลกหรือทฤษฎีสมคบคิดบนโต๊ะอาหารมากกว่าเรื่องจริง แต่การศึกษาถึงความเชื่อมโยงระหว่างโรคอ้วนกับปฏิสัมพันธ์ทางสังคมมีมานานอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะอัตราการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยโรคอ้วนทั่วโลก หลังการเติบโตของอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป ซึ่งเปลี่ยนแปลงรูปแบบการบริโภคของผู้คนส่วนใหญ่ให้เข้าถึงอาหารได้ง่าย แต่ต้องแลกมากับการที่ร่างกายเสี่ยงรับน้ำตาลและไขมันทรานส์ในปริมาณมากกว่าเดิม
จากงานวิจัย The spread of obesity in a large social network over 32 years ที่เผยแพร่ในปี 2007 ระบุว่า โรคอ้วนเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมทางสังคม ซึ่งส่งต่อกันระหว่างผู้คนได้ จากการทดลองกับกลุ่มคนจำนวน 12,067 คน ตั้งแต่ปี 1971-2003 พบว่า ความสัมพันธ์ในรูปแบบเพื่อนเพิ่มโอกาสเป็นโรคอ้วน 57% ความสัมพันธ์ในรูปแบบครอบครัวเพิ่มโอกาสการเป็นโรคอ้วน 40% ขณะที่ความสัมพันธ์ในรูปแบบคู่สมรสเพิ่มโอกาสเป็นโรคอ้วน 37%
ศาสตราจารย์นิโคลัส คริสตาคิส (Nicholas Christakis) นักสังคมวิทยาและแพทย์จากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด (Harvard University) กล่าวว่า โรคอ้วนสามารถส่งต่อสู่คนอื่นที่มีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมทั้งทางตรงและทางอ้อม ยิ่งทั้ง 2 คนใกล้ชิดกันมากเท่าไร ยิ่งเพิ่มโอกาสที่จะมีน้ำหนักใกล้เคียงกันมากเท่านั้น ซึ่งระยะทางหรือความต่างด้านภูมิศาสตร์ไม่มีผล หากยังคงติดต่อกันอยู่
ในทางกลับกัน คนที่มีภาวะน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ก็แพร่กระจายความผ่ายผอมได้เช่นกัน และดูเหมือนว่า กลุ่มคนที่มีน้ำหนักใกล้เคียงกันจะมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นอีกด้วย ซึ่งอาจเชื่อมโยงกับเรื่องความชอบและพฤติกรรมการกินที่คล้ายกัน
ในงานวิจัย Longitudinal analysis of large social networks: Estimating the effect of health traits on changes in friendship ties ที่เผยแพร่ในปี 2011 ระบุว่า ผู้ที่มีน้ำหนักใกล้เคียงกันจะมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นและตัดขาดกันยาก ขณะที่ผู้ที่มีน้ำหนักและสุขภาพที่ต่างกันมีแนวโน้มปฏิเสธการสานสัมพันธ์ฉันมิตรได้ง่ายกว่า ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า ปัจจัยด้านพฤติกรรมการใช้ชีวิต การกินและการดูแลสุขภาพ ส่งผลต่อการอยู่ร่วมกันของผู้คน
เครือข่ายทางสังคมที่เชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิดพยายามบอกกับเราว่า กิจวัตรประจำวันที่ใกล้เคียงกันส่งผลต่อรูปแบบพฤติกรรมที่คล้ายคลึงกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสัมพันธ์ของเพื่อน ครอบครัว และคู่รัก ที่สร้างอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตส่วนใหญ่ ซึ่งการกินเป็นรูปแบบพฤติกรรมที่มองเห็นได้ชัดเจนที่สุด เพราะคุณอาจปฏิเสธการชักชวนการออกไปสังสรรค์ดื่มแอลกอฮอล์กับเพื่อน หรือการกินขนมขบเคี้ยวระหว่างการดูหนังกับแฟนยากกว่าการปฏิเสธคนอื่น
อย่างไรก็ตาม งานวิจัยรวมถึงการนำเสนอบทความในครั้งนี้ ไม่ได้ชี้นำให้เลิกคบคนที่มีพฤติกรรมการกินที่จะนำไปสู่โรคอ้วน แต่หวังว่ารูปแบบพฤติกรรมที่ใกล้เคียงกันนี้จะนำไปสู่การสร้างสภาพแวดล้อม หรือสังคมการกินอยู่ที่ดีขึ้นในอนาคต หากการตระหนักรู้ถึงอาหารที่อันตรายและกระบวนการผลิตที่มีน้ำตาลและไขมันตัวร้ายในปริมาณมาก สร้างความเคลือบแคลงใจและหลีกเลี่ยงในหมู่สังคมใดสังคมหนึ่ง ก็อาจนำไปสู่การแพร่กระจายพฤติกรรมทางสังคมที่ไม่นิยมรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ และลดอัตราการเป็นโรคอ้วน รวมถึงโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบไหลเวียนเลือดและหัวใจในอนาคต
ที่มา
https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/17652652/
https://news.harvard.edu/gazette/story/2007/07/obesity-is-contagious/
Tags: obesity, อ้วนตามเพื่อน, อ้วน, Wisdom, พฤติกรรมการกิน, โรคอ้วน