ไม่เมาเหล้าแล้วแต่เรายังเมารัก
สุดจะหักห้ามจิตคิดไฉน
ถึงเมาเหล้าเช้าสายก็หายไป
แต่เมาใจนี้ประจำทุกค่ำคืน
มันคงเป็นจริงอย่างที่สุนทรภู่ว่าไว้ แต่เราคงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ในทางกายภาพ ‘เมาเหล้า’ กับ ‘เมารัก’ นั้นต่างกันโดยสิ้นเชิง ทั้งพฤติกรรมและความเรื้อน แต่ในทางวิทยาศาสตร์ ทั้งเมาเหล้า เมารัก รวมไปถึงเมายา กลับทำให้สมองส่วนกลางที่เกี่ยวกับการให้ ‘รางวัล’ ปล่อยสารสื่อประสาทแห่งความสุขออกมาเหมือนกัน
ในปี 2005 เฮเลน ฟิชเชอร์ (Helen Fisher) นักมานุษยวิทยาด้านชีววิทยา ตีพิมพ์ผลการศึกษาที่อธิบายว่า เมื่อให้ผู้ร่วมทดลองดูภาพของคนรักหรือคนที่แอบชอบพบว่า สมองบางส่วนจะปล่อยสารโดปามีน (Dopamine) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่ปล่อยออกมาตอนมีความสุข สิ่งที่น่าสนใจอยู่ที่บริเวณ Ventral Tegmental Area (VTA) ที่ทำงานเกี่ยวกับระบบรางวัล (Brain’s Reward Circuit) บริเวณสมองส่วนกลางก็ปล่อยสารแห่งความสุขนี้ออกมา ซึ่งระบบรางวัลนี้จะทำงานในลักษณะเดียวกันกับตอนมีเซ็กซ์ กินอาหารอร่อยๆ รวมไปถึงตอนที่เสพยา
บทความวิชาการเรื่อง Love and the Brain ของ ริชาร์ด ชวาร์ตซ์ (Richard Schwartz) และ แจกเกอลีน โอลด์ส (Jacqueline Olds) ศาสตราจารย์ด้านจิตเวชและนักบำบัดชีวิตคู่ ที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ Harvard Medical School ในปี 2015 อธิบายว่า สารโดปามีนจะไปกระตุ้นระบบรางวัล ทำให้สมองรู้ว่า เมื่อทำสิ่งนี้แล้วจะมีความสุขหรือได้บางอย่างที่เป็นรางวัลอันน่าพึงใจ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ว่า ความรู้สึกตอนตกหลุมรักให้ประสบการณ์ที่สุขล้นคล้ายกับตอนเสพโคเคนหรือดื่มเหล้านั่นเอง
เมื่อเราตกหลุมรักใครสักคน สารเคมีในสมองที่เกี่ยวกับระบบรางวัลจะส่งผลต่อร่างกาย ทำให้หัวใจเต้นเร็ว เหงื่อออกมือ แก้มแดง และรู้สึกหลงใหล ในขณะเดียวกันก็วิตกกังวลด้วย ยิ่งไปกว่านั้นการทำงานของโดปามีนและระบบประสาทอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับความรักแบบโรแมนติกจะทำให้วิจารณญาณและความคิดที่จะตัดสินถูกผิดนั้นไม่ทำงาน จึงทำให้อาการเมารักนี้ตรงกับประโยคสุดคลาสสิกที่ว่า ‘ความรักทำให้คนตาบอด’
ในทางเดียวกันการทำงานของระบบรางวัล เมื่อได้รับสารโดปามีนจากการดื่มแอลกอฮอล์ก็ให้ผลไม่ต่าง เมื่อสมองจดจำจะรู้สึกผ่อนคลาย สุขล้นๆ และเข้าสังคมได้ง่ายขึ้น เจ้าระบบรางวัลนี้ก็จะทำงานวนไป เมื่อเครียดก็ดื่มแอลกอฮอล์จะได้ผ่อนคลายขึ้น แต่โดปามีนที่ปล่อยออกมาจากการดื่มแอลกอฮอล์นั้น ทำให้เกิดความสุขในระยะสั้นเท่านั้น เช่นเดียวกับการเสพโคเคน
เมื่อเจ้าระบบรางวัลได้รับการกระตุ้นจากสารโดปามีนเรื่อยๆ สมองจะจดจำว่า เมื่อได้รับความรัก ดื่มแอลกอฮอล์ หรือเสพโคเคน จะนำความสุขมาให้ จนอาจทำให้บางคนเสพติดสิ่งเหล่านี้ และหล่อเลี้ยงระบบรางวัลนี้ให้ทำงานต่อไป ทว่าในระยะยาว ความสุขเหล่านี้จะให้ผลต่างกัน
บทความวิชาการเรื่องเดิมบอกกับเราว่า เมื่อโดปามีนทำให้ความรักแบบโรแมนติกดำเนินไปได้นานสักระยะ ความรักแบบลุ่มหลงนี้จะแปรเปลี่ยนเป็นความใส่ใจและเห็นใจมากกว่าแค่เรื่องทางกาย
ตรงกันข้ามกับโดปามีนที่เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์และเสพสารเสพติด เมื่อร่างกายจดจำและทำซ้ำพฤติกรรมเดิมๆ เป็นระยะเวลานาน นอกจากความสุขที่เกิดขึ้นทุกครั้งแล้ว ยังทำให้เกิดการติดสุราเรื้อรังและอาการติดยา ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว เช่น อาการซึมเศร้า และความวิตกกังวล
เจ้าสารโดปามีนและระบบรางวัลนี้ทำงานกับอาการเมารัก เมาเหล้า และเมายา เหมือนกันทางระบบประสาท แต่ให้ผลต่างกันในด้านสุขภาพกายและใจในระยะยาว
แม้อาการเมาทั้ง 3 แบบจะให้ความสุขคล้ายกันก็จริง แต่เมื่อมองในระยะยาว ความสุขจากการเมารัก คงเป็นผลดีกว่าเป็นแน่แท้
อ้างอิง
https://hms.harvard.edu/news-events/publications-archive/brain/love-brain
https://neurolaunch.com/does-alcohol-increase-dopamine/
https://www.medicalnewstoday.com/articles/cocaine-withdrawal
https://www.okmd.or.th/okmd-kratooktomkit/4049/
Tags: ความรัก, LOVE, โคเคน, Wisdom, โดปามีน, เมารัก, เมาเหล้า, เมายา, ระบบรางวัล