หากคุณเป็นคนหนึ่งที่เจอของน่ารักแล้วเติมสรรพนามให้ว่า ‘น้อง’ หรือเวลาเดินผ่านก็จะหยุดมองและอยากเดินเข้าไปหาราวกับโดนดึงดูดด้วยเวทมนตร์ โปรดเข้าใจได้เลยว่า คุณโดนความน่ารักตกเข้าให้แล้ว ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่ายๆ คงเป็นเหล่าตุ๊กตาที่คุณซื้อมากอด พวงกุญแจเล็กๆ ที่คุณเลือกมาห้อยกระเป๋า กระทั่งเหล่าสัตว์เลี้ยง หรือแม้แต่คนรอบตัวคุณ ทำไมพวกเขาถึงน่ารักไปหมดในสายตาเรา

คำตอบนี้นักชาติพันธุ์วิทยาชาวเยอรมัน คอนราด โลเรนซ์ (Konrad Lorenz) ได้ตอบคำถามไว้ในปี 1943 ด้วยการนำเสนอทฤษฎี ‘Baby Schema’ ที่ว่าด้วยเหตุผลที่มนุษย์มองว่า สิ่งนั้นน่ารัก นั่นเป็นเพราะลักษณะทางกายภาพภายนอกที่คล้ายกับเด็กทารก (Infantile Features) ‘ตากลมโต’ ‘ใบหน้ากลม’ ‘แก้มป่อง’ รวมถึงสิ่งของขนาดเล็กที่ให้ความรู้สึกเปราะบางไม่มีพิษมีภัย เหล่านี้ไปกระตุ้นสัญชาตญาณของมนุษย์ให้เกิดความรู้สึกอยากดูแลและปกป้อง (Nurturance And Protective)

แต่แน่นอน ไม่ใช่ทุกความน่ารักจะต้องเกิดความรู้สึกอยากปกป้องดูแล ในมุมมองของ ฮิโรชิ นิตโตโนะ (Hiroshi Nittono) ศาสตราจารย์สาขาจิตวิทยาการทดลอง มหาวิทยาลัยโอซากา ได้พูดถึงความน่ารักในอีกมุมหนึ่งว่า ความน่ารักเป็นเพียงความรู้สึกเชิงบวกทั่วไปของมนุษย์ ไม่ว่าจะมีลักษณะเหมือนเด็กหรือเป็นของชิ้นเล็กๆ น้อยๆ หรือไม่ก็ตาม อาจจะเป็นได้ทั้งของที่ให้ความรู้สึกอยากดูแล ไปจนถึงของแปลกตา (Unique) หากตรงตามรสนิยมความชอบ เราก็จะมองว่าสิ่งนั้นน่ารัก 

ในทางวิทยาศาสตร์ หากเราตัดสินใจแล้วว่า สิ่งนั้นเป็นความน่ารัก สมองจะหลั่งสารที่ชื่อว่า ออกซิโทซิน (Oxytocin) ฮอร์โมนแห่งความรัก และโดปามีน (Dopamine) สารแห่งความสุข เราจึงมีความรู้สึกรักและหลงใหลในสิ่งนั้น

“สมองของมนุษย์ถูกออกแบบมาเพื่อให้ชอบของน่ารักหรือของเล็กๆ น้อยๆ เพื่อให้รางวัลแก่เราด้วยสารแห่งความสุข” แซม วอน ริช (Sam Von Reiche) นักจิตวิทยาคลินิกในเมืองปารามัส รัฐนิวเจอร์ซีย์ กล่าว

อีกทั้งยังช่วยเพิ่มระดับฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) เพื่อให้ร่างกายรู้สึกผ่อนคลายจากความเครียด เป็นที่มาของเหตุผลที่ทำไมเราถึงรู้สึกได้รับการฮีลใจในขณะที่เรามองความน่ารัก เพราะนั่นเป็นเหมือนเซฟโซนให้เราได้พักและชาร์จพลังจากวันที่แสนยาวนาน 

นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น ได้บอกไว้ว่า การมองภาพน่ารักจะช่วยให้เรามีสมาธิเพิ่มมากขึ้น โดยได้ทดลองให้กลุ่มตัวอย่างทำงานไปและมองรูปภาพไปพร้อมกัน โดยมีทั้งภาพอาหารที่น่ากินและภาพสัตว์ที่น่ารัก ผลปรากฏว่า การมองภาพสัตว์น่ารักช่วยให้มีสมาธิและใส่ใจรายละเอียดกับงานได้มากขึ้นจากเดิมถึง 44%

แต่เมื่อไรก็ตามที่ความน่ารักมันเอ่อล้น เราจะแสดงอาการที่เรียกว่า ‘Cute Aggression’ หรืออาการมันเขี้ยว เช่น การหยิกแก้มเด็ก การขย้ำตุ๊กตา จนถึงขั้นอยากกัด แน่นอนว่าไม่ใช่ด้วยเจตนาร้าย เพียงแต่เป็นความรู้สึกชั่วขณะที่สมองสั่งการให้เราทำอะไรบางอย่าง เพื่อปลดปล่อยความรู้สึกนั้นออกมา

ทั้งนี้ การยอมรับว่าสิ่งไหนน่ารัก อาจแตกต่างไปตามบริบททางวัฒนธรรมของพื้นที่นั้นๆ อย่างในญี่ปุ่นก็มีแนวคิดความน่ารัก หรือคาวาอิ (Kawaii) ที่ใช้นิยามถึง สิ่งที่มีกลิ่นอายของความเป็นญี่ปุ่น ตั้งแต่สิ่งของทั่วไป สไตล์การแต่งตัว ไปจนถึงอาหารในวัฒนธรรมญี่ปุ่น ซึ่งส่วนใหญ่จะอธิบายถึงสิ่งที่มีลักษณะเรียบง่าย อ่อนหวาน บริสุทธิ์ และสดใส ความคาวาอิได้สร้างความรู้สึกร่วมกันของคนญี่ปุ่นจนเกิดเป็นวัฒนธรรมย่อย (Subculture) เกิดปรากฏการณ์ที่เหล่าร้านค้าและธุรกิจมากมายพยายามผลิตสินค้าให้ตรงกับคำนิยามแบบคาวาอิ แม้กระทั่งรัฐบาลเองก็ใช้ความคาวาอิผลักดันวัฒนธรรมญี่ปุ่นไปสู่สายตาคนภายนอกเช่นกัน

ถ้าให้ยกตัวอย่างภาพตัวแทนความคาวาอิ คงต้องให้เจ้าแมวสีขาวติดโบว์สีแดง ‘Hello Kitty’ ตัวการ์ตูนยอดนิยมที่เผยแพร่ในปี 1974 โดยบริษัทซานริโอ (Sanrio) สร้างขึ้นจากแนวคิดพื้นฐานของความเรียบง่าย เน้นให้พร้อมปรุงแต่งไปตามเทรนด์และรสนิยมของสังคมที่เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา เราอาจจะเห็นการดีไซน์ชุดและเครื่องประดับที่หลากหลาย แต่สิ่งที่ยังคงเดิมไว้เสมอคือ แมวสีขาว โบว์ติดที่หูซ้าย และไม่มีปาก ซึ่งเป็นความเรียบง่ายที่แสนพิเศษ จนครองใจใครหลายคนมาจนถึงปัจจุบัน

“พวกเรารู้สึกทึ่งใจจริงๆ การพัฒนาคาแรกเตอร์ให้คงอยู่ยาวนานมากว่า 50 ปีนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย การออกแบบผลิตภัณฑ์ของเราไม่ได้มีอะไรพิเศษมาก ส่วนใหญ่เป็นของใช้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน อย่างกล่องอาหารกลางวันหรือกระเป๋าเล็กๆ ไว้ใส่ของ แต่สิ่งที่อยู่รอบๆ ตัวคุณเหล่านี้จะกลายเป็นความทรงจำของคุณ” โทโมคานิ สึจิ (Tomokuni Tsuji) ซีอีโอของซานริโอ หลานชายของผู้ก่อตั้ง ชินทาโร สึจิ (Shintaro Tsuji) ให้สัมภาษณ์เนื่องในโอกาส Hello Kitty ครบรอบ 50 ปี

ในประเทศไทย การสร้างคาแรกเตอร์การ์ตูนที่เรียบง่ายพร้อมกับใส่เรื่องราวให้น่าจดจำ คงเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจากมาสคอต ‘น้องเนย’ จากร้านขนมหวาน ‘ButterBear’ ในเครือ Coffee Beans by Dao ที่เจ้าของร้าน บูม-ธนวรรณ วงศ์เจริญรัตน์ และเบลล์-ธนาภา ปางพุฒิพงศ์ ได้ใช้กลยุทธ์ความน่ารักมัดใจลูกค้าได้อย่างอยู่หมัด ด้วยการออกแบบมาสคอตให้เป็นตุ๊กตาหมีในวัยเด็กที่แสนเรียบง่าย หน้ายิ้ม แก้มยุ้ย ขนสีน้ำตาลนุ่มฟู พร้อมกับสร้างเรื่องราวและปั้นคาแรกเตอร์ให้มีอารมณ์ความรู้สึกเหมือนเด็กคนหนึ่ง เกิดเป็นความรู้สึกที่ทำให้ใครหลายๆ คนรักและเอ็นดู 

ท้ายที่สุดแล้ว แม้การยอมรับความน่ารักอาจขึ้นอยู่กับรสนิยมความชอบและบริบททางสังคมวัฒนธรรม แต่คอนเซปต์ที่มีร่วมกันของความน่ารักก็ยังคงเป็นพื้นที่ ที่อนุญาตให้เราได้วิ่งเล่นค้นหาความสุขที่อาจหล่นหายไประหว่างทางของการเติบโตอีกครั้ง

อ้างอิง

https://iafor.org/beyond-cuteness-an-emerging-field-of-the-psychology-of-kawaii/

https://www.ox.ac.uk/research/how-cute-things-hijack-our-brains-and-drive-behaviour

https://www.popsci.com/science/article/2012-10/experiment-look-pictures-cute-baby-animals-improve-your-concentration/

https://www.realsimple.com/health/mind-mood/cuteness-psychology-why-we-love-tiny-things

https://www.thepeople.co/business/game-changer/53719

https://time.com/6993173/hello-kitty-anniversary-50-years-sanrio-tsuji/

https://youtu.be/yxsoE3jO8HM?si=jlcKSTdHzsDSYSDE

Fact Box

  • ‘คาวาอิ’ หรือ ‘Kawaii’ (かわいい) มาจากคำภาษาญี่ปุ่น ‘Kawahayushi’ (顔映し) หมายถึง ใบหน้าที่เปล่งประกาย ใช้อธิบายถึงอาการหน้าแดงเวลารู้สึกอับอายหรือเขินอาย ก่อนจะเปลี่ยนมาใช้นิยามถึงความน่ารักในช่วงปี 1970 เป็นช่วงที่เหล่านักเรียนหญิงพากันเขียนภาษาญี่ปุ่นด้วยลายมือน่ารัก และใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้นเมื่อ Hello Kitty ถูกเผยแพร่ออกมา
  • Hello Kitty มีชื่อเดิมว่า Kitty White คิตตี้ไม่ใช่แมวและไม่ใช่ผู้หญิง แต่เป็นตัวการ์ตูนสัตว์ที่ประพฤติเหมือนคน (Anthropomorphic Feline) และถึงแม้เธอจะไม่มีปาก แต่เธอพูดด้วยหัวใจ
Tags: , , , , , ,