ที่จริงแล้ว ‘การหึงหวง’ เป็นหนึ่งในสัญชาตญาณพื้นฐาน ที่เชื่อมโยงกับความสัมพันธ์ของมนุษย์ เพื่อทำให้แน่ใจว่าจะครองคู่กันและให้กำเนิดบุตรตามกลไกที่ธรรมชาติวางเอาไว้ นี่จึงเป็นเรื่องปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคู่ทุกคน ทว่าหากการหึงหวงนั้นรุนแรงเกินกว่าปกติจนถึงขั้นรุกล้ำ ก้าวร้าว จนส่งผลต่อความสัมพันธ์และการใช้ชีวิตประจำวัน อาจเป็นสัญญาณว่า ความสัมพันธ์ของคุณกำลังมีปัญหา
Insecurity in Relationship หรือรูปแบบความสัมพันธ์ที่ไม่มั่นคง คือพฤติกรรมการแสดงออกของคนรักที่สร้างบาดแผลทางอารมณ์และจิตใจ ผ่านความคิดและการกระทำบางอย่างที่ดูไม่มีสาเหตุอันแน่ชัด และขาดไร้ความเป็นเหตุเป็นผล เช่น ไม่ไว้วางใจคนรัก มักคิดว่าอีกฝ่ายจะนอกใจตนเองอยู่ตลอดเวลา พยายามกีดกันคนอื่นไม่ให้ยุ่งกับคนรัก รวมถึงคิดว่าคนรักอาจเลิกกับตนเองเมื่อไรก็ได้ ซึ่งในหลายครั้งต้นตอของการกระทำดังกล่าว เกิดจากการคิดมากไปเองโดยไม่มีข้อเท็จจริงมาประกอบ
เรื่องนี้ ซาบรินา โรมานอฟฟ์ (Sabrina Romanoff) นักจิตวิทยาคลินิกจากมหาวิทยาลัยเยชิวา (Yeshiva University) ประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า ผู้ที่มีพฤติกรรมหึงหวงจนมากเกินไป อาจมีหลายสาเหตุที่บ่มเพาะนิสัยดังกล่าว อย่างเช่นความสัมพันธ์ที่ไม่ดีในอดีต ส่งผลให้เกิดความกลัวต่อความสัมพันธ์ในปัจจุบัน การขาดความมั่นใจในตนเอง ส่งผลให้รู้สึกว่าตนเองอาจยังไม่ดีพอ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนเป็นสารตั้งต้นให้เกิดพฤติกรรมอันไม่พึงประสงค์ และส่งผลให้คู่ครองได้รับผลกระทบในเชิงลบ
นอกจากนี้การถูกละเลยและเพิกเฉยในวัยเด็ก เป็นส่วนหนึ่งที่หล่อหลอมพฤติกรรมดังกล่าว เนื่องจากการเติบโตมาโดยได้รับความรักไม่เพียงพอและโหยหาการถูกยอมรับอยู่เสมอ ทำให้พวกเขาหวาดกลัวการ ‘ไม่ถูกรัก’ กลัวที่จะต้องสูญเสียคนรักไป และพยายามทำให้ตนเองแน่ใจว่า ถ้ารักใครสักคนหนึ่งแล้ว คนนั้นต้องมอบความรักกลับคืนมาอย่างแน่นอน ซึ่งเชื่อมโยงไปยังภาวะการขาดความมั่นใจในตนเองแบบที่กล่าวไป
อีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ ความวิตกกังวลทางสังคม โดยปกติแล้วคนส่วนใหญ่มักวิตกกังวลเกี่ยวกับกิจกรรมทางสังคมที่เชื่อมโยงกับคนหมู่มาก แคร์ว่าคนอื่นจะมองเราอย่างไร เราจะถูกสังคมยอมรับไหม เราเป็นไปตามครรลองของสังคมหรือเปล่า ซึ่งความวิตกกังวลเหล่านี้ก็ส่งผลต่อความสัมพันธ์เช่นกัน ในทำนองว่า ความสัมพันธ์ของตนเองดีพอหรือไม่ เป็นไปตามค่านิยมของผู้คนในสังคมไหม จนในบางครั้งก็กดดันอีกฝ่ายและทำให้ภาพรวมของความสัมพันธ์ดูแย่ลง
พฤติกรรมหึงหวง ขี้ระแวง และไม่เชื่อใจใครแม้แต่คนรัก หากสะสมเป็นเวลานาน นอกจากจะทำให้สัมพันธ์แย่ลงและไม่มั่นคงแล้ว ยังบ่งบอกว่าสุขภาพจิตกำลังมีปัญหา เนื่องจากลึกๆ แล้วความคิดและการกระทำที่แสดงออกอย่างเกินความพอดีต่อความสัมพันธ์ เกิดจากความไม่มั่นใจในตนเองดังที่กล่าวไป เมื่อขาดความเป็นตัวของตนเองและสูญเสียความมั่นใจ อาจส่งผลให้ตกอยู่ในสภาวะเครียดและวิตกกังวลตลอดเวลา ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของโรคซึมเศร้าที่ต้องได้รับการรักษา เพื่อไม่ส่งผลเสียต่อตนเองและผู้อื่น
หากตรวจสอบแล้วว่า ความสัมพันธ์ของตนเองมีปัญหาและไม่มั่นคง อันเกิดจากพฤติกรรมหึงหวงที่เกินความพอดี ในช่วงแรกอาจตั้งคำถามกับตนเองว่า เพราะเหตุใดจึงรู้สึกหวาดระแวงและไม่เชื่อใจในตัวคนรัก เพื่อสามารถระบุปัจจัยที่ทำให้รู้สึกไม่สบายใจ จากนั้นพูดคุยอย่างเปิดเผยกับคนรัก ถึงสาเหตุแห่งความหึงหวงและพฤติกรรมอันไม่พึงประสงค์ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้สึกและข้อเท็จจริงของทุกฝ่าย โดยใช้วิธีการสื่อสารที่ประนีประนอม และดูไม่ก้าวร้าวหรือรุกล้ำอีกฝ่ายจนมากเกินไป เพื่อเรียนรู้ รับฟัง และเข้าใจกันให้มากขึ้น
แต่หากลองพูดคุยเพื่อปรับความเข้าใจแล้วไม่เป็นผล หรือต้องจบลงด้วยการทะเลาะกันซ้ำอยู่เรื่อยไป การจูงมือกันไปพูดคุยกับจิตแพทย์หรือนักจิตบำบัดก็เป็นวิถีทางที่ดี บางครั้งการใช้สายตาของบุคคลภายนอกมองเข้ามายังความสัมพันธ์ของเรา อาจเพิ่มมุมมองใหม่ๆ ที่ไม่เคยรู้มาก่อน รวมถึงการได้รับคำแนะนำที่ถูกต้อง และเป็นระบบระเบียบมากขึ้น อาจทำให้ความสัมพันธ์พัฒนาไปในทางที่ดีอย่างรวดเร็ว เนื่องจากนักจิตวิทยาและนักจิตบำบัดจะมีลู่ทางในการสอบถาม รวมถึงวิธีการแนะนำที่เหมาะสมกับแต่ละความสัมพันธ์
ท้ายที่สุดอย่าลืมตระหนักถึงความจริงที่ว่า ยิ่งเราบีบมือเขาแรงเท่าไร ฉุดรั้งมากขนาดไหน ก็ยิ่งเป็นการผลักไสเขาออกไปจนไกลห่าง บางครั้งอารมณ์ความรู้สึกและความสัมพันธ์ก็เป็นสิ่งซับซ้อน ความหวังดีแบบผิดๆ ความเป็นห่วงแบบเกินพอดี อาจสร้างรอยร้าวมากกว่าความปรารถนาดีต่อผู้อื่น แม้กระทั่งความรักก็มีกฎและขอบเขตของมันเอง ที่ต่อให้รักมากขนาดไหนก็ยังคงไม่เพียงพอ
ที่มา:
https://www.verywellmind.com/coping-with-insecurity-in-a-relationship-5207949
Tags: ขี้หึง, ขี้ระแวง, Wisdom, Insecurity in Relationship