แน่ใจได้อย่างไรว่า คนที่รายล้อมรอบตัวเราไม่ใช่ ‘บุคคลมลพิษ’

ลองสำรวจผู้คนรอบตัว โดยเฉพาะที่ทำงาน รวมไปถึงคนในครอบครัว เพื่อนฝูง กลุ่มสังคม แม้แต่คนที่เพิ่งคบหาดูใจหรือแฟนที่สานสัมพันธ์กันมาเนิ่นนาน เรามักจะพบว่าในหมู่คนที่เรารู้จัก ต้องมีคนประเภทหนึ่งรวมอยู่ด้วยเสมอ

บุคคลประเภทที่ว่าคือ High-Conflict People (HCP) หรือคนที่ขยันสร้างปัญหา เป็นตัวการของความขัดแย้ง แต่กลับลอยตัวเหนือทุกอย่าง เพราะไม่เคยคิดว่าตัวเองเป็นต้นตอของปัญหาใดๆ

ที่แย่มากไปกว่านั้น คือเจ้าตัวไม่เคยรู้ร้อนรู้หนาวว่า ความยุ่งยากวุ่นวายที่กำลังคุกรุ่นอยู่ ถึงขนาดสร้างความร้าวฉานหรือทำให้ใครต่อใครต้องเดือดเนื้อร้อนใจไม่รู้จบ ล้วนเกิดขึ้นมาจากการกระทำไร้ความรับผิดชอบและความคิดย่ำแย่ของตัวเองที่จ้องแต่จะโทษผู้อื่นอย่างเดียว

ลองนึกตามดูว่า ทั้งที่รู้จักกันได้ไม่เท่าไร จู่ๆ ก็เร่งเร้าอยากพัฒนาความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นมากขึ้น จนเรารู้สึกอึดอัดเหมือนกำลังถูกบังคับฝืนใจ หรืออาจหนักหนาถึงขั้นถูกข่มขู่คุกคาม เมื่อเราปฏิเสธและสงวนท่าทีเพื่อรักษาระยะห่างให้พอเหมาะพอควร เพราะคิดว่าความสัมพันธ์ที่ดีและมั่นคงเกิดขึ้นได้จากความเข้าใจอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่กลับกลายเป็นว่าถูกด่าสาดเสียเทเสีย ถูกกล่าวหาว่าเล่นตัว ก่อนจะถูกตัดขาดความสัมพันธ์ลง แต่ที่เลวร้ายกว่านั้นอาจถูกตามราวีไม่เลิกรา

หรืออีกกรณีหนึ่ง หลังจากเปลี่ยนที่ทำงาน เราหวังทันทีว่าคงจะเป็นการเริ่มต้นใหม่ที่ดี เพราะนอกจากเป็นงานที่ถนัดอยู่แล้ว ยังได้อยู่ในบริษัทชั้นนำที่เคยวาดฝันไว้ด้วย ทุกอย่างดูลงตัว กระทั่งได้เจอกับเพื่อนร่วมงานไม่เป็นมิตร จ้องจับผิดและขัดขาตลอด คอยนินทาว่าร้ายลับหลัง ไม่ว่าเราทำงานออกมาดีแค่ไหน ก็จะถูกถากถางว่าอวดเก่ง งานใหม่ที่หวังสร้างสุขกลายเป็นความทุกข์เพราะคนหนึ่งคน

แม้แต่ในบ้านของใครหลายคน ที่ควรจะเป็นสถานที่ที่ทำให้เรารู้สึกปลอดภัยและอุ่นใจที่สุด ก็อาจไม่ใช่เซฟโซนอีกต่อไป ถ้าสิ่งที่พ่อแม่ทำต่อลูก หรือลูกทำต่อพ่อแม่ คือความรุนแรงที่แสดงออกมาผ่านคำด่าทอ ไม่เคยพูดกันด้วยดีเลยสักครั้ง นานวันยิ่งมีแต่จะบั่นทอนจิตใจให้ย่ำแย่ลงทุกที

ทั้งหมดคือตัวอย่างพฤติกรรมที่ช่วยให้เราเห็นภาพชัดเจนของ High-Conflict People

ในหนังสือ ‘5 Types of People Who Can Ruin Your Life: Identifying and Dealing with Narcissists, Sociopaths, and Other High-Conflict Personalities’ เขียนโดย บิล เอ็ดดี (Bil Eddy) นักกฎหมายผู้เชี่ยวชาญด้านการไกล่เกลี่ยความขัดแย้งในคดีความ และนักจิตบำบัดผู้บุกเบิกแนวคิดบุคลิกภาพของคนที่เป็นตัวการหรือชนวนความขัดแย้ง (High Conflict Personality Theory) ได้บรรยายลักษณะคนประเภทนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า

คนทั่วไปจะพยายามคลี่คลายปัญหาหรือลดความขัดแย้งที่คอยทำให้ผู้อื่นขุ่นข้องหมองใจ แต่สำหรับ HCP นั้นตรงกันข้าม เขาจงใจก่อปัญหา กวนน้ำให้ขุ่น และทำให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงกับใครคนหนึ่ง หรืออาจเป็นคนหมู่หนึ่ง ซึ่งเขาหมายหัวเป็นเป้าเอาไว้กล่าวโทษ (Targets of Blame) เรียบร้อยแล้ว

แม้ว่าเป้าหมายไม่ได้ทำอะไรผิด HCP ก็พร้อมปรักปรำและโยนความผิดทุกอย่างให้ หรือถ้าหากเป้าหมายทำพลาดจริง HCP จะเหยียบย่ำซ้ำเติมความผิดนั้นอย่างไม่ลังเล

หลายคนอาจรู้สึกว่า ที่ผ่านมายังไม่เคยเจอประสบการณ์เลวร้ายเช่นนี้กับตัวเอง แต่อย่าได้ชะล่าใจ เพราะสัดส่วนของ HCP อยู่ที่ 1 ใน 10 คน นั่นหมายความว่า หากเราไม่ใช่เป้ากล่าวโทษของ HCP ชีวิตของเราก็อาจไม่ได้ราบรื่น เพราะการกระทำของ HCP ย่อมส่งผลต่อชีวิตทุกคนได้ไม่มากก็น้อย เมื่อเป็นแบบนี้ หนทางที่ดีที่สุดคือการรู้จักสังเกตพฤติกรรมของ HCP เพื่อระมัดระวังตัวเอง หรือหาวิธีรับมือ หากหลีกเลี่ยงคนประเภทนี้ไม่ได้

ลักษณะร่วมของ HCP ที่เห็นเด่นชัด จึงมีอยู่ด้วยกัน 4 ข้อ ได้แก่

1. หาเหยื่อเพื่อกล่าวโทษเสมอ จ้องจะโทษแต่คนอื่น

2. ยึดติดอยู่กับความคิดตน ไม่ยืดหยุ่น แบ่งทุกอย่างเป็น 2 ขั้วสุดโต่ง ไม่ถูกก็ผิด ไม่ขาวก็ดำ

3. โมโหร้าย ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ ไม่รู้จักยับยั้งชั่งใจ ขาดวุฒิภาวะทางอารมณ์

4. แสดงออกถึงความก้าวร้าวผ่านคำพูดและการกระทำ

นอกจากนี้ ยังสามารถแบ่งบุคลิกภาพของ HCP ได้เป็น 5 รูปแบบ คือ

1. บุคลิกภาพแบบหลงตัวเอง (Narcissistic HCPs) ทำตัวเองให้มีเสน่ห์น่าหลงใหล ใครพบเห็นครั้งแรกก็คิดว่าคนนี้น่ารู้จัก แต่ด้วยความคิดหลงตัวเอง จึงยกตนข่มท่าน เรียกร้องให้คนอื่นสนใจแต่ตัวเอง และพยายามทำให้ตนดูเหนือและได้เปรียบกว่าคนอื่น

2. บุคลิกภาพแบบก้ำกึ่ง (Borderline HCPs) ดีก็ดีใจหาย แต่ถ้าร้ายก็ร้ายได้สุดขั้ว กลายเป็นคนเจ้าคิดเจ้าแค้น อาฆาตมาดร้าย ทำได้ทุกอย่างเพื่อทำลายชีวิตและความสุขของเป้าหมาย

3. บุคลิกภาพแบบต่อต้านสังคม (Antisocial HCPs) ภายนอกดูเป็นมิตร ลวงให้คนอื่นตายใจ เพื่อปกปิดความคับข้องใจภายในไว้ เพราะที่จริงแล้วมีความรู้สึกอยากหักหน้าเป้าหมายท่ามกลางสาธารณชน หรือเล่นสกปรกด้วยการลอบทำร้ายโดยไม่รู้สึกผิดต่อการกระทำของตัวเอง

4. บุคลิกภาพแบบหวาดระแวง (Paranoid HCPs) กลัวถูกหักหลัง ระแวงว่าคนอื่นจะเข้ามาทำลายชีวิตของตน จึงชิงลงมือก่อน จงใจทำร้ายทุกคนที่เป็นเป้าหมาย

5. บุคลิกภาพแบบเรียกร้องความสนใจ (Histrionic HCPs) ปั้นน้ำเป็นตัวเก่ง แสดงออกว่าชีวิตตนช่างน่าเห็นใจ น่าสงสาร มีแต่เรื่องชวนให้ดราม่า ซึ่งส่วนใหญ่กุเรื่องขึ้นมาเองไม่จบไม่สิ้น แล้วใช้เป็นข้ออ้างระเบิดอารมณ์รุนแรงกับเป้าหมายและคนรอบข้าง

เป็นเรื่องยากที่เราจะหวังว่า สักวันบุคคลมลพิษเหล่านี้จะรับรู้การกระทำร้ายกาจของตัวเอง เพราะ HCP ส่วนใหญ่ยึดความรู้สึกและความคิดของตนเป็นที่ตั้ง ไม่เคยมองว่าสิ่งที่ได้ทำลงไปเป็นความผิด จึงไม่คิดเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตนเอง สิ่งเดียวที่เราพอจะทำได้ หากต้องข้องเกี่ยวกับคนประเภทนี้ คือเป็นฝ่ายปรับตัวเข้าหา HCP แทน โดยใช้เทคนิควิธีสื่อสารเฉพาะ ซึ่งเรียกว่า BIFF (Brief Informative Friendly และ Firm)

ทุกประโยคหรือแต่ละคำพูดที่เราใช้สื่อสารกับ HCP ควรสั้นกระชับ ได้ใจความสำคัญ ไม่เยิ่นเย้อ ให้ความรู้สึกเป็นมิตร และหนักแน่นเท่านั้น เป็นการป้องกันไม่ให้ฝ่าย HCP หาช่องว่างลอบโจมตีกลับมา เพราะอย่าลืมว่าเขาจ้องจะเล่นงานเราทุกครั้งที่มีโอกาส โดยเฉพาะในกรณีที่เราตกเป็นเป้ากล่าวโทษ

คงไม่มีใครอยากเอาชีวิตไปเสี่ยงกับบุคคลมลพิษที่สร้างแต่ปัญหาไม่รู้จบ หากหลวมตัวเข้าไปข้องเกี่ยวเข้าแล้ว ชีวิตหลังจากนั้นอาจพังไม่เป็นท่า แบบที่เราเองไม่เคยคิดว่าจะเกิดขึ้นจากน้ำมือของคนคนเดียว

ที่มา

Eddy, Bill. (2018). 5 Types of People Who Can Ruin Your Life: Identifying and Dealing with Narcissists, Sociopaths, and Other High-Conflict Personalities. Penguin Random House

Eddy, Bill. (2017, November). Five Types of High-Conflict Personalities. Psychology Today. https://www.psychologytoday.com/us/blog/5-types-people-who-can-ruin-your-life/201711/five-types-high-conflict-personalities

Eddy, Bill. (2017, November). How to Quickly Spot High-Conflict People. Psychology Today. https://www.psychologytoday.com/us/blog/5-types-people-who-can-ruin-your-life/201711/how-quickly-spot-high-conflict-people

Tags: , , , ,