น่าสนใจไม่น้อยที่นอกจากการร้องไห้และพิมพ์แชตระบายกับเพื่อน ผู้คนมักจะเลือกออกไปสังสรรค์ หวังซ่อมแซมหัวใจที่ผุพังด้วยการดื่ม ‘แอลกอฮอล์’ หลังอกหักจากความรักที่ไม่เป็นดั่งฝัน 

จนกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในปัจจุบัน ที่เมื่อใดที่อกหักรักคุด เมื่อนั้นต้องออกไปนั่งจิบเบียร์กับเพื่อน เพื่อเยียวยาความรู้สึกเจ็บปวดไปพร้อมกับหลงลืมเธอหรือเขาคนนั้น ทั้งที่แท้จริงแล้วก็ต่างรู้อยู่เต็มอกว่า ไม่มีตัวยาหรือสสารใดที่ลบล้างบาดแผลทางจิตใจได้อย่างถาวร และการดื่มแอลกอฮอล์สามารถช่วยชุบชูหัวใจที่บอบช้ำของเราให้กลับมาสดใสขึ้นได้เพียงชั่วครู่ 

แล้วแอลกอฮอล์ทำงานกับจิตใจเราอย่างไร

ความจริงแล้วแอลกอฮอล์ไม่ได้ทำงานกับหัวใจ แต่ส่งผลโดยตรงต่อระบบประสาทและสมอง ถึงแม้คุณจะใช้หัวใจในการรักใครสักคน แต่สมองเป็นตัวสั่งการให้คุณรู้สึกเจ็บปวดเมื่อไม่ได้ถูกรักอีกต่อไปแล้ว ซึ่งตรงนี้เองที่แอลกอฮอล์เข้ามาช่วยทำให้ความรู้สึกโศกเศร้าเหล่านั้นเลือนลาง แต่ไม่ได้ช่วยให้มันถูกลบล้างออกไปถาวร เพราะหลังจากที่คุณดื่มเบียร์เข้าไป มันจะถูกดูดซึมผ่านกระเพาะอาหาร และหลังจากนั้น 5 นาทีต่อมา มันจะเข้าสู่สมองและสร้างผลกระทบต่อระบบประสาท จนในอีก 10 นาทีต่อมาคุณจะเริ่มรู้สึกมึนเมา

หลังจากลิ้นลิ้มรสและสมองซึมซับเอาแอลกอฮอล์เข้าไป ในช่วงแรกของการดื่มสมองจะหลั่งโดปามีน (Dopamine) หรือสารแห่งความสุขออกมาในปริมาณมาก หลังจากนั้นจะกดการทำงานของสมองส่วนหน้า (Frontal Lobe) ซึ่งเป็นสมองส่วนที่ทำหน้าที่ควบคุมสติปัญญา ความคิด และความทรงจำ ทำให้การประมวลผลในการคิดและตัดสินใจช้าลง นี่จึงเป็นหนึ่งเหตุผลที่เมื่อดื่มแอลกอฮอล์เข้าไป คุณจะหลงลืมความเจ็บปวดไปชั่วครู่จากฤทธิ์ของมัน ซึ่งจะมีผลต่อร่างกายของเราเพียง 30 นาทีถึง 2 ชั่วโมงเท่านั้น แต่การหากิจกรรมอย่างอื่นทำ เพื่อดึงความสนใจออกจากวังวนแห่งความเศร้าก็มีมากมาย ทั้งดูหนัง ฟังเพลง เล่นกีฬา แต่ทำไมมนุษย์ถึงเลือกเสพติดและใช้แอลกอฮอล์ในการบำบัดความเศร้า ทั้งที่เป็นวิธีการไม่ยั่งยืน

ในงานวิจัย Sexual Deprivation Increases Ethanol Intake in Drosophila ที่เผยแพร่ในปี 2012 เกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างการถูกปฏิเสธทางเพศกับการใช้แอลกอฮอล์ในแมลงหวี่ พบว่ามีพฤติกรรมที่ค่อนข้างน่าสนใจ โดยกลุ่มนักวิจัยนำแมลงหวี่เพศเมียที่ผสมพันธุ์และวางไข่แล้ว มาพบกับแมลงหวี่เพศผู้ ทำให้แมลงหวี่เพศผู้ไม่สามารถผสมพันธุ์กับแมลงหวี่เพศเมียได้ จากนั้นกลุ่มนักวิจัยนำอาหารปกติและอาหารที่มีส่วนประกอบของแอลกอฮอล์มาให้ กลับพบว่าแมลงหวี่เพศผู้ที่อกหักเหล่านั้นเลือกกินอาหารที่มีส่วนประกอบของแอลกอฮอล์มากกว่าอาหารปกติ 

ทีมนักวิจัยพบว่า แอลกอฮอล์เชื่อมโยงกับนิวโรเพปไทด์ (Neuropeptide) หรือสารสื่อประสาทในสมอง แมลงหวี่เพศผู้ที่มีระดับนิวโรเพปไทด์ต่ำจะมีความต้องการแอลกอฮอล์สูง แน่นอนว่าระดับสารสื่อประสาทในสมองที่ต่ำลงเชื่อมโยงกับการถูกปฏิเสธทางเพศด้วย 

ดังนั้น การดื่มแอลกอฮอล์เปรียบเสมือน ‘รางวัลปลอบใจ’ ที่มอบให้กับสมองขณะที่กำลังเศร้าหรือผิดหวัง เพราะเมื่อคุณผิดพลาดหรือผิดหวัง ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนแห่งความเครียดออกมา ทำให้รู้สึกเศร้า อ่อนเพลีย วิตกกังวล แต่เมื่อแอลกอฮอล์เข้าสู่กระแสเลือด มันจะไปชะลอระบบการคิด ความทรงจำ และกระตุ้นให้หลั่งฮอร์โมนแห่งความสุขออกมาแทน นี่จึงเป็นกลไกแห่งการ ‘เสพติด’ และเหตุผลที่ว่า ทำไมบางคนถึงเลือกดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อเยียวยาความบอบช้ำ แทนการออกไปหากิจกรรมอย่างอื่นทำ เพราะมันได้ผลที่เร็วกว่า ซึ่งสอดคล้องกับสัญชาตญาณของมนุษย์ที่ต้องการหลีกหนีจากอารมณ์ในเชิงลบอย่างรวดเร็ว

แน่นอนว่าการดื่มแอลกอฮอล์ไม่ได้ช่วยให้คุณหายจากความเศร้าอย่างถาวร ในทางกลับกันมันทำให้คุณซึมเศร้ามากขึ้นด้วยซ้ำ ในงานวิจัย Alcohol Use Disorder and Depressive Disorders ที่เผยแพร่ในปี 2019 ระบุว่า ฤทธิ์การกดประสาทจากแอลกอฮอล์เชื่อมโยงกับโรคซึมเศร้าอย่างมีนัยสำคัญ การที่สารสื่อประสาทถูกรบกวนอยู่เป็นประจำ จะทำให้สารเคมีในสมองมีความผิดปกติ และนำไปสู่การเป็นโรคซึมเศร้า โดยเฉพาะหากคุณมีภาวะทางอารมณ์ในเชิงลบร่วมด้วย การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากยิ่งทำให้สุ่มเสี่ยงต่อการอัตวินิบาตกรรมและทำร้ายตัวเอง ซึ่งส่งผลเสียพอๆ กับที่มันทำร้ายสมองและตับของคุณ

อย่างไรก็ตาม การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณน้อยเป็นครั้งคราว อาจเปรียบเสมือนยาชาที่ทำให้ความเจ็บปวดออกฤทธิ์น้อยลง แต่หากดื่มมากเกินไป มันจะกลายเป็นยาพิษที่เข่นฆ่าตัวคุณเอง อย่าลืมว่า เบียร์หรือไวน์ไม่อาจลบเลือนความจริงได้ เพียงแต่บิดเบือนมันชั่วครู่เท่านั้น วิธีการที่ยั่งยืนในการต่อสู้กับความเศร้าคือเวลาและการยอมรับความจริงอย่างเข้าใจ ร่างกายมีวิธีจัดการกับความเศร้าอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องใช้เวลาสักหน่อย ปล่อยให้คนที่ทำร้ายคุณมีเพียงเขาหรือเธอคนนั้นพอ อย่าให้แอลกอฮอล์หรือสารเสพติดอื่นๆ มาทำร้ายคุณร่วมด้วย เพราะสุดท้ายแล้ว การดื่มไม่ได้ช่วยให้ลืมเธอ

ที่มา

https://www.nm.org/healthbeat/healthy-tips/alcohol-and-the-brain

https://knowingneurons.com/blog/2012/12/03/mending-a-broken-heart-with-alcohol/

https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC6799954/

Tags: , , , , ,