ภาพถ่ายติดวิญญาณ พอดแคสต์ที่ฟังทุกคืนก่อนนอน ภาพยนตร์สยองขวัญที่ผู้ชมเต็มโรง หรือแม้แต่เรื่องเล่าโด่งดังประจำท้องถิ่น เรื่องราวสยองขวัญเหล่านี้พวกเราต่างคุ้นเคย ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเรื่องอื่นในชีวิตประจำวัน

หากถามว่าทำไมคนเราถึงชอบฟังเรื่องผี คำตอบอย่างง่ายก็คือมันสนุก แม้จะพิสูจน์ไม่ได้ว่าจริงหรือเปล่า แต่เรื่องผีสนุกเสมอ ตราบใดที่มันยังไม่ได้เกิดขึ้นกับตัวเราเอง ยิ่งเป็นเรื่องที่บอกเล่าต่อกันมาแต่ยังมีความเชื่อมโยงกับตัวผู้ฟังในสักแง่ อาจเป็นเรื่องเล่าจากคนรู้จัก ตำนานในโรงเรียน หรือเหตุการณ์ใกล้ตัว เรื่องนั้นก็ยิ่งน่าสนใจมากขึ้นไปอีก

ท่ามกลางโลกที่ยึดถือวิทยาศาสตร์เป็นความรู้กระแสหลัก เรื่องผีซึ่งหลายครั้งอธิบายไม่ได้กลับได้รับความสนใจจากผู้คนอยู่ตลอด ทำไมความรู้สึกหวาดกลัวที่ได้รับจากการติดตามเรื่องผี จึงสามารถสร้างความสนุกได้ และยังคงได้รับความนิยมในทุกยุคสมัย

เมื่อติดตามเรื่องผี เราจะรู้สึกหวาดกลัว ขณะที่ใจลึกๆ ก็รู้ว่าตัวเองปลอดภัย ไม่ต้องเผชิญอยู่ในอันตรายด้วยตัวเอง ซึ่งความกลัวแบบปลอดภัยทำให้ร่างกายหลั่งสารเอ็นโดรฟิน (Endorphin) ออกมามากขึ้น กระทั่งระดับความสุขเพิ่มขึ้นตาม นอกจากนี้ความรู้สึกตื่นเต้นเมื่อมีสิ่งเร้ายังทำให้อะดรีนาลีน (Adrenaline) พลุ่งพล่าน สิ่งนี้ทำให้หลายครั้งความกลัวที่ดูจะเป็นอารมณ์ในทางลบ กลับกลายเป็นเรื่องสนุกขึ้นมา

ราฟา ยูบา (Rafa Eiba) จิตแพทย์ผู้เขียนบทความประจำเว็บไซต์ Psychology Today อธิบายว่า เวลาที่ผู้คนดูภาพยนตร์สยองขวัญเพื่อความบันเทิง เราอาจคิดว่าเรากลัวผี แต่จริงๆ แล้วสิ่งที่เรากลัวในเรื่องผีคือความตาย และสิ่งที่เรากลัวที่สุดก็คือความตายของเราเอง 

เรื่องผีมักมีองค์ประกอบเป็นความมืด ซึ่งแน่นอนว่ายากจะคาดเดาว่ามีอะไรซ่อนอยู่ เรื่องเล่าที่น่าเอาใจช่วยว่าตัวละครหลักรอดพ้นจากผีร้ายได้หรือไม่ ไหนจะเสียงดังหรือฉากตุ้งแช่ที่จู่ๆ ผีก็โผล่มา ทั้งหมดนี้สร้างความรู้สึกไม่ปลอดภัยเมื่อได้ติดตาม และความน่าดึงดูดของเรื่องราวสยองขวัญเป็นเพราะมันกระตุ้นให้เรารู้สึกกลัวและตื่นเต้น ราวกับว่ากำลังมีภัยคุกคามในชีวิต มันสร้างประสบการณ์เสมือนให้ผู้เสพสื่อ ความรู้สึกเช่นนี้ที่ทำให้เรื่องสยองขวัญมีความสนุกในรูปแบบที่แตกต่างจากเรื่องจริง

ยกตัวอย่าง ภาพยนตร์หรือเกมยอดนิยมเกี่ยวกับซอมบี้ ที่จำลองภาพเหตุการณ์เมื่อเชื้อไวรัสซอมบี้แพร่ระบาด กระทั่งโลกทั้งใบเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง บ่อยครั้งเรามักจินตนาการว่าหากตัวเองอยู่ในสถานการณ์เช่นนั้นจะทำอย่างไร จะเป็นผู้รอดชีวิตหรือกลายเป็นหนึ่งในซอมบี้ เรื่องผีและความสยองขวัญที่ไม่ต้องเผชิญเองสร้างประสบการณ์แปลกใหม่ให้เรา

เรกูลัส อัลเลน (Regulus Allen) ผู้เชี่ยวชาญด้านภาพยนตร์และวรรณคดี มองในมุมที่คล้ายกันว่า เหตุผลหลักที่ทำให้เรื่องสยองขวัญเป็นที่นิยม คือความรู้สึกเบื่อหน่ายที่ทำให้ผู้คนมองหาประสบการณ์อื่นๆ แต่แทนที่จะเป็นเรื่องดีๆ พวกเขากลับมองหาความวิตกกังวลหรือความกลัว เพราะเมื่อเรากังวลกับบางเรื่อง เราก็มีแนวโน้มที่จะหาสิ่งที่ทำให้เราได้เห็นความกลัวของตัวเองจากระยะไกลๆ เพื่อหาวิธีจัดการกับมันแทน

สังเกตได้ว่า นอกจากเรื่องราวสยองขวัญทั้งหลายพูดถึงความกลัวเป็นหลักแล้ว มันยังบอกเล่าถึงสถานการณ์ต่างๆ สภาพสังคม ความเชื่อท้องถิ่น ไปจนถึงมิติทางเพศ เชื้อชาติ หรือแม้แต่ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่มีผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนในเรื่องราว การติดตามเรื่องผีมีทั้งสิ่งที่พิสูจน์ได้และไม่ได้ ช่วยให้เราได้ทบทวนถึงชีวิตจริง และถ่ายทอดประสบการณ์บางอย่างในมิติที่แตกต่างออกไปจากการเล่าถึงบางเรื่องอย่างตรงไปตรงมา

ผีเป็นสิ่งไม่มีชีวิตที่เราเชื่อว่า เป็นสิ่งที่เชื่อมโลกของความเป็นและความตายไว้ด้วยกัน คำถามที่ว่าผีมีจริงหรือไม่ ซึ่งหลายคนยืนยันว่า มีเพราะเคยเจอด้วยตนเอง (หากมองในเชิงการแพทย์ มันอาจเป็นสัญญาณของอาการทางจิตเวชหรือความเจ็บป่วยของสมอง) หลายคนตอบว่าเชื่อแม้ตัวเองจะยังไม่เคยเห็น บ้างก็บอกว่าไม่เชื่อแต่ก็ยังสนุกสนานกับการติดตามเรื่องผีอยู่ดี ความสนุกของเรื่องผีจึงไม่ได้สำคัญที่ว่าเรื่องนั้นเป็นความจริงหรือเปล่า เพราะเราอาจไม่ได้กลัวผี หากแต่กลัวสิ่งอื่น โดยเฉพาะความตายซึ่งเป็นของแท้แน่นอน

ที่มา

https://news.arizona.edu/news/experts-explain-our-love-fear-and-fascination-supernatural

https://www.psychologytoday.com/us/blog/you-are-not-meant-be-happy/202205/why-do-we-enjoy-horror-movies 

https://www.calpoly.edu/news/wanna-hear-ghost-story-heres-why-we-love-them-according-professors

https://hbr.org/2021/10/the-psychology-behind-why-we-love-or-hate-horror

Tags: , , , , , ,