ถ้าทำแบบนี้ คนอื่นจะคิดอย่างไร ถ้าทำตัวแบบนั้น เราจะดูเป็นอย่างไรในสายตาคนอื่น

ถือเป็นเรื่องปกติที่ความคิดและการตั้งคำถามเช่นนี้เกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่ว่าจะตอนที่เราเลือกทำสิ่งสำคัญในชีวิต หน้าที่การงาน คู่ครอง การเรียน ไปจนถึงเรื่องที่ดูเล็กๆ ไม่สลักสำคัญอะไรอย่างเวลาที่โพสต์ข้อความลงในโซเชียลมีเดีย หรือแม้แต่การเลือกที่จะไม่แต่งหน้าออกจากบ้าน แล้วดันเกิดความกังวลขึ้นมาว่าจะเจอคนรู้จักก็ตาม 

หลายคนใช้ชีวิตด้วยสมมติฐานที่ว่า มีคนกำลังให้ความสนใจกับสิ่งที่ตัวเองทำอยู่ในสักแง่ ซึ่งเป็นเรื่องดีที่รับรู้ว่า การกระทำของเรามีความหมายกับใครสักคน แต่ในอีกมุมหนึ่งเราก็อาจกลายเป็นคนที่กังวลกับสายตาของคนอื่น จนกระทั่งไม่ได้ลงมือทำอะไรที่ตัวเองต้องการจริงๆ เลย

สิ่งนี้เรียกว่า FOPO (Fear Of People’s Opinions) หมายถึง ความกลัว ความกังวลในความคิดเห็นของผู้อื่นที่มีต่อตัวเราหรือสิ่งที่เรากระทำ จนสุดท้ายสิ่งที่เราเลือกทำก็กลายเป็นสิ่งที่เรามองว่า หากทำแล้วคนอื่นจะมองว่าดี ไม่ใช่สิ่งที่เราคิดว่าดี ซึ่งอาการเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด ทั้งยังอาจเป็นเรื่องที่อยู่ในสัญชาตญาณของมนุษย์ ตราบใดที่ยังต้องอยู่ร่วมกันในสังคม

“สาเหตุที่เรากังวลว่าคนอื่นจะคิดเช่นไร เป็นเพราะสมองของเราจับคู่ความปลอดภัยไว้กับความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับผู้อื่น เหมือนกับที่มนุษย์ยุคก่อนกลัวการถูกขับไล่ออกจากเผ่า” ไมเคิล การ์ไวส์ (Michael Gervais) นักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ และผู้เสนอคำว่า FOPO อธิบาย

จากมุมมองของไมเคิล FOPO แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ระยะแรกเป็นช่วงเวลาของความคาดหวัง คือการที่เรามีความคิดและรู้สึกไปต่างๆ นานาเกี่ยวกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่อเข้าสังคม 

ระยะที่ 2 คือระยะตรวจสอบ ซึ่งเป็นช่วงที่ทำให้ผู้คนเกิดความรู้สึกเหนื่อยล้าทางจิตใจเป็นอย่างมาก เพราะในเวลาที่อยู่กับใครสักคนหรือเข้าสังคมใดๆ เราจะตรวจสอบสิ่งที่พวกเขาคิดผ่านการแสดงออกเล็กๆ น้อยๆ เช่น น้ำเสียงหรือภาษากาย เพื่อที่จะดูว่าพวกเขาคิดอย่างไรกับเรา จนสุดท้ายบทสนทนานั้นก็ว่างเปล่าในความทรงจำ เพราะผู้ฟังมุ่งความสนใจไปที่สิ่งที่คนอื่น (อาจ) คิดต่อตัวเรา ไม่ใช่เนื้อหาที่พวกเขากำลังพูดถึงด้วยซ้ำ

ส่วนระยะที่ 3 คือการตอบสนอง ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากตรวจสอบความคิดเห็นของคนอื่น โดยเราจะมีการตอบสนองตามการกระทำนั้นๆ เช่น เราอาจแสร้งว่าตัวเองเป็นแฟนคลับศิลปินวงหนึ่ง แม้ว่าจะไม่รู้จักเลย เป็นการตอบสนองในทางหนึ่งเมื่อรู้สึกว่าตนไม่เป็นส่วนหนึ่งกับคนอื่น

แล้วเราจะรู้ตัวได้อย่างไร ว่ากำลังเกิดอาการ FOPO?

ความจริงแล้ว FOPO อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา แม้จะเป็นตอนที่อยู่คนเดียวก็ตาม โดย FOPO ที่พบเห็นบ่อยครั้งอาจปรากฏผ่านพฤติกรรมที่ดูธรรมดา เช่น การเช็กโทรศัพท์แม้ว่าจะรู้ว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น การเปิดดูโปรไฟล์ของตัวเองในโซเชียลเน็ตเวิร์กอยู่บ่อยๆ หรือแม้แต่การหัวเราะกับเรื่องที่ตัวเองไม่ตลก สิ่งที่เราทำเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกปฏิเสธ ทำเพื่อให้ตัวเองดูดี หรือทำด้วยพื้นฐานความคิดที่ว่าคนอื่นจะคิดเช่นไร การยอมทำตามความต้องการของคนอื่นเพื่อเอาใจเขา แม้ยากที่จะยอมรับ แต่บางทีเราไม่ได้ทำไปเพื่อคนอื่น หากเป็นเพราะลึกๆ แล้วเราห่วงภาพลักษณ์ของตัวเองมากกว่าต่างหาก

“ความคิดนี้ทำให้เราคิดว่า ตัวเองอยู่ในสปอตไลต์ คิดว่าคนอื่นกำลังมองเรา ตัดสิน และวิจารณ์เราอยู่ตลอดเวลา ทั้งที่จริงๆ แล้วพวกเขาไม่ได้ทำอย่างที่เราคิด” ไมเคิลกล่าว

การมีความรู้สึกแบบ FOPO ไม่ใช่เรื่องรุนแรง แต่หากมันเกิดขึ้นบ่อยครั้งหรือกลายเป็นนิสัยติดตัว การมัวแต่เอาใจคนอื่นเสียจนละเลยความต้องการของเราเอง ก็อาจทำให้พลาดอะไรหลายอย่างไป ทั้งโอกาสที่จับต้องได้ หรือแม้แต่โอกาสที่จะให้ตัวเองได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข

ผู้คนไม่ได้สนใจเราเท่าที่เราคิด ความจริงข้อนี้ทั้งฟังดูเจ็บปวดและน่าพอใจไปในเวลาเดียวกัน ทุกคนต่างมีเรื่องราวของตัวเอง มีชีวิตของตัวเอง มีปัญหาที่ตัวเองต้องแก้อยู่ตลอดเวลา แต่แม้จะรับรู้เช่นนี้ การปล่อยวางความคิดเห็นของคนอื่นก็ยังเป็นเรื่องที่ยากอยู่ดี 

ดังนั้น การจัดการไม่ให้ความเห็นของคนอื่นกระทบชีวิต เสียจนไม่เป็นอันทำอะไรจึงเป็นสิ่งจำเป็น

เอมมา เมอร์เรย์ (Emma Murray) นักจิตวิทยาคลินิก แนะนำวิธีจัดการกับอาการกังวลเกี่ยวกับมุมมองที่ผู้อื่นมองเรา โดยเธอเสนอว่า ควรเริ่มจากการรับรู้และตระหนักว่ามันเกิดขึ้นก่อน เพราะเราอาจทำสิ่งนั้นมานานโดยไม่รู้ตัว และไม่ได้รู้ว่ามีผลต่อชีวิตของเราอย่างไร 

บางคนอาจเป็นคนประเภท Peoplep Pleaser ที่ชอบเอาอกเอาใจคนอื่นเสียจนสูญเสียความเป็นตัวเอง หรือปฏิเสธคนอื่นไม่เป็น รับฟังและตอบรับคำขอของคนอื่นจนตัวเองเหนื่อยไปทั้งกายและใจ ความกังวลแบบ FOPO มีลักษณะร่วมและแฝงอยู่ในพฤติกรรมพวกนี้เอง การตระหนักถึงการมีอยู่ของสิ่งนี้จะช่วยให้เรารับมือได้ดียิ่งขึ้น

ที่สำคัญคือต้องเรียนรู้ที่จะยอมรับสิ่งที่ตัวเองเป็น โดยการยอมรับถึงความคิดของตัวเอง ยอมรับว่าตัวเรามีความไม่สมบูรณ์แบบ และไม่จำเป็นที่จะต้องสนใจว่า คนอื่นจะเห็นหรือไม่ เพราะสุดท้ายแล้วต่อให้ระวังตัวและพยายามที่จะรักษาภาพลักษณ์ของตัวเองแค่ไหน ความคิดเห็นของคนอื่นก็เป็นสิ่งที่อยู่เหนือการควบคุมของเราอยู่ดี

สุดท้าย การเปลี่ยนพฤติกรรมถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด หลังจากยอมรับว่า ตัวเองเป็นอย่างไร แล้วให้เราลองเปลี่ยนพฤติกรรมโดยอาจเริ่มจากสิ่งเล็กน้อยที่เคยเป็นเรื่องยาก เช่น การเอ่ยคำปฏิเสธแทนที่จะตอบรับทุกอย่างที่คนอื่นร้องขอ แน่นอนว่าอาจเป็นเรื่องยากในระยะแรกสำหรับคนที่ไม่เคยปฏิเสธคนอื่นมาก่อน แต่การทำให้ได้ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นเช่นกัน หากทำครั้งแรกได้แล้ว ในครั้งต่อๆ ไปเราก็จะมีความมั่นใจที่จะทำมากขึ้น

การให้ความสำคัญกับตัวเป็นอันดับหนึ่งไม่ใช่เรื่องเห็นแก่ตัว ซ้ำยังเป็นสิ่งที่ควรจะเป็น เพราะคนที่สำคัญที่สุดในโลกของเราก็คือตัวเรา และคนที่สนใจรวมถึงรับรู้เรื่องราวของเรามากที่สุดก็คือตัวเราเองเช่นกัน

ที่มา

https://www.huffpost.com/entry/fopo-fear-of-peoples-opinions_l_663104cce4b0849b2edd0bce

https://www.houseofwellness.com.au/wellbeing/mental-wellness/fear-peoples-opinions-fopo

Tags: , , , , ,