ช่วงเดือนที่ผ่านมา พยากรณ์อากาศทุกวันระบุว่า อุณหภูมิสูงสุดในช่วงกลางวันอยู่ที่ 38-41 องศาเซลเซียส จัดอยู่ในระดับอากาศร้อนจัด ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้งและดื่มน้ำให้มาก หากบ้านไหนที่มีแอร์ก็พอบรรเทาได้บ้าง ส่วนเรื่องค่าไฟก็ค่อยไปปวดหัวตอนสิ้นเดือนทีเดียว แต่ถ้าบ้านไหนมีเพียงแต่พัดลม ก็อาจต้องทนทุกข์ทรมานจากสภาพอากาศกันไป กว่าจะข่มตาหลับท่ามกลางอากาศร้อนก็ต้องใช้เวลาอยู่สักพัก 

ทว่าความน่ากลัวของอากาศร้อน ไม่ได้มีเพียงแค่นอนไม่สบาย หรือเหงื่อออกเยอะจนคอเปียกในระหว่างวัน แต่ยังส่งผลกระทบโดยตรงกับร่างกายเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเมื่อร่างกายได้รับความร้อนมากเกินไป จะส่งผลให้หลอดเลือดขยายตัว ความดันโลหิตลดลง หัวใจทำงานหนักขึ้นเนื่องจากต้องดันเลือดให้ไปหล่อเลี้ยงทั่วร่างกาย ซึ่งเป็นที่มาของอาการ ‘อ่อนเพลีย’ และเสี่ยงต่อภาวะหัวใจวายเฉียบพลันมากขึ้น 

นี่จึงไม่ใช่แค่เรื่องร้อนหนาว แต่เป็นเรื่องของความเป็นความตายที่ไม่ควรมองข้าม

รายงานจากสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) องค์กรเอกชนที่ร่วมมือกับภาครัฐในการแก้ปัญหาระดับโลก ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกร้อนจะทำให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 14.5 ล้านคนทั่วโลกภายในปี 2050 และเกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ 12.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งนอกเหนือจากเม็ดเงินก็คือชีวิตที่อาจหล่นหายไประหว่างศตวรรษ และยังต้องใช้เงินอีก 1.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในการสนับสนุนทรัพยากรทางการแพทย์ เพื่อรักษาโรคที่เกิดจากผลกระทบทางสภาพอากาศ

โดยเฉพาะประเทศเมืองร้อนที่ส่วนใหญ่อยู่บริเวณแถบเส้นศูนย์สูตรและซีกโลกใต้ ซึ่งมีทรัพยากรด้านการดูแลสุขภาพอย่างจำกัดอยู่แล้ว ประกอบกับรัฐบาลที่ขาดความสามารถในการจัดการปัญหาด้านสภาพภูมิอากาศ เช่น น้ำท่วม คลื่นความร้อน และพายุ ยิ่งทำให้น่ากังวลใจเรื่องสภาพแวดล้อม ความเป็นอยู่ และสุขภาพอย่างยิ่ง

งานวิจัย Research on the effects of extreme heat exposure on human health ที่เผยแพร่ในปี 2024 เกี่ยวกับผลกระทบจากความร้อนที่ส่งผลต่อสุขภาพระบุว่า การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีอากาศร้อนจัดจะก่อให้เกิดโรคเรื้อรังรุนแรง โดยเฉพาะโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคทางเดินหายใจ และยังนำไปสู่การคลอดก่อนกำหนด ซึ่งส่งผลคุกคามโดยตรงต่อเด็กและสตรีมีครรภ์ อีกทั้งความร้อนไม่เพียงแต่แผดเผาร่างกาย แต่ยังเผาไหม้ไปจนถึงจิตใจ ซึ่งอากาศร้อนอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพจิตอีกด้วย

ที่อากาศร้อนส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพของมนุษย์ เพราะร่างกายของเราพยายามรักษาอุณหภูมิแกนกลางให้อยู่ที่ประมาณ 37 องศาเซลเซียส ไม่ว่าเราจะอยู่ท่ามกลางพายุหิมะหรือทะเลทรายก็ตาม แต่เมื่ออากาศร้อนมากขึ้น ร่างกายก็จะทำงานหนักเพื่อทำให้อุณหภูมิแกนกลางกลับมาอยู่ที่ 37 องศาเซลเซียสเหมือนเดิม ดังนั้นหากคุณเดินกลางแดดที่มีอุณหภูมิ 42 องศาเซลเซียส ร่างกายก็ต้องพยายามลดอุณหภูมิในร่างกาย ผ่านเหงื่อและการขยายหลอดเลือด ซึ่งกระบวนการดังกล่าวหากดำเนินไประยะเวลาหนึ่งก็จะเกิดความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมา

นอกเหนือจากมนุษย์ สัตว์และพืชก็ได้รับผลกระทบไม่ต่างกัน ปัจจุบันแนวปะการังกลายเป็นระบบนิเวศที่ใกล้สูญพันธุ์ เมื่อเผชิญกับอากาศร้อนพวกมันจะเริ่มกลายเป็นสีขาว หรือที่เรียกว่าปรากฏการณ์ฟอกขาวในปะการัง และค่อยๆ อ่อนแอลงและตายในที่สุด ซึ่งแน่นอนว่ามันสร้างผลกระทบลูกโซ่ต่อระบบนิเวศของสัตว์ทะเลชนิดอื่นเช่นกัน 

อากาศร้อนจึงไม่ใช่เรื่องน่าหลงใหลที่สามารถนำมา Romanticize ได้เลยสักแง่มุมเดียว เพราะทุกตัวเลขที่ปรากฏอยู่หน้าหน่วยองศา คืออัตราความเสี่ยงต่อสรรพชีวิตที่อาจหล่นหายไปในฤดูร้อนนี้ คุณอาจทำตัวใจเย็นท่ามกลางอากาศร้อน ขณะที่เปิดแอร์ 23 องศาเซลเซียสตลอดทั้งวันภายในห้อง แต่อย่าได้หลงลืมผู้คนที่ทำงานข้างนอกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

ที่มา:

 https://www.nationalgeographic.com/environment/article/global-warming-effects

https://www.researchgate.net/publication/378435701_Research_on_the_effects_of_extreme_heat_exposure_on_human_health

https://philanthropynewsdigest.org/news/other-sources/article/?id=14586654&title=Climate-change-will-kill-14.5-million-people-globally-by-2050-%E2%80%94-but-mostly-not-directly

Tags: , , ,