ภาพของโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่หันมาชูกำปั้นให้กับประชาชน ขณะมีเลือดเปรอะใบหน้า โดยมีธงชาติสหรัฐฯ เป็นพื้นหลังภายใต้แสงอาทิตย์ร้อนแรงและเสียงตะโกนของชาวอเมริกัน จะกลายเป็นหนึ่งในภาพเหตุการณ์สำคัญครั้งประวัติศาสตร์
หลังรอดชีวิตจากความพยายามลอบสังหาร ระหว่างการปราศรัยในรัฐเพนซิลเวเนีย (Pennsylvania) เหตุการณ์นี้ไม่เพียงแสดงให้เห็นถึงความเสี่ยงที่ผู้นำสหรัฐฯ ต้องเผชิญจากความรุนแรงทางการเมืองเท่านั้น แต่ยังเน้นย้ำถึงมุมมองที่ผู้คนมีต่อทรัมป์ในฐานะผู้นำ ซึ่งอาจส่งผลดีต่อเขารวมถึงพรรครีพับลิกัน สำหรับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายน 2024 ที่กำลังจะมาถึง
“แม้แต่กระสุนยังหยุดทรัมป์ไม่ได้ แล้วอะไรจะมาหยุดได้กันล่ะ”
“ปลุกใจ ทรงพลัง นี่สิผู้นำที่แข็งแกร่ง”
“เราฝากอนาคตอเมริกาไว้กับเขาได้แน่นอน”
นอกจากจะทำให้ผู้สนับสนุนบางส่วนสิ้นสงสัยในตัวนักการเมืองรายนี้ และหันมาศรัทธาอย่างเต็มตัว เหตุการณ์ดังกล่าว ยิ่งทำให้ทรัมป์มีภาพลักษณ์ของนักอุดมการณ์ผู้เสียสละและกล้าหาญ ผู้พร้อมทำทุกอย่างเพื่อชาวอเมริกัน ไม่เพียงสำหรับชาว MAGA (Make American Great Again) ซึ่งเป็นสาวกทรัมป์
จนอาจทำให้เขากลายเป็นผู้นำลัทธิคนใหม่ของโลก
ลัทธิบูชาตัวบุคคล (Cult of Personality) คือการยกย่องให้บุคคลหนึ่งเป็นเหมือนผู้วิเศษและสำคัญกว่าคนทั่วไป โดยอิงจากลักษณะเฉพาะของคนนั้น ซึ่งอาจเป็นความแข็งกร้าว น่าเกรงขาม หรือแม้แต่สุภาพเรียบร้อย มักเกิดขึ้นในบริบททางการเมือง ศาสนา หรือความเชื่อแรงกล้าบางอย่างที่ยึดโยงคนกลุ่มหนึ่งไว้ด้วยกัน นอกจากนี้ยังมักอาศัยเครื่องมืออื่นๆ เช่นโฆษณาชวนเชื่อ เพื่อสร้างให้คนคนหนึ่งกลายเป็นเจ้าลัทธิ
โดยทั่วไปแล้ว ลัทธิบูชาตัวบุคคลมักถูกใช้ในเกมการเมืองร่วมกับแนวคิดแบบขวา เช่น ระบอบเผด็จการหรือชาตินิยมสุดโต่ง ร่วมกับเสน่ห์เฉพาะตัวของผู้นำนั้น เพื่อให้ประชาชนจำนนในอำนาจกระทั่งนำไปสู่การอุทิศตนเพื่อคนผู้นั้น รวมถึงแนวคิดที่เขายึดถือ ซึ่งคำว่า ลัทธิบูชาตัวบุคคล ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก หลังจาก นีกีตา ครุชชอฟ (Nikita Khrushchev) อดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียต หยิบยกคำนี้ขึ้นมาระหว่างการประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์ในปี 1956 โดยใช้เพื่อพูดถึง โจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin) อดีตผู้นำเผด็จการคนสำคัญ
แล้วทรัมป์เข้าข่ายว่าเป็นเจ้าลัทธิไหม
คนจำนวนมากรวมถึง สตีเวน ฮัดสัน (Steven Hudson) ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตและความสัมพันธ์ เจ้าของผลงานหนังสือเรื่อง The Cult of Trump: A Leading Cult Expert Explains How the President Uses Mind Control (2019) มองว่า ความนิยมในตัวทรัมป์ ‘เข้าข่ายเจ้าลัทธิ’ ด้วยเหตุผลหลายประการ แน่นอนว่ามีทั้งเรื่องของบุคลิกภาพ ซึ่งเขาปรากฏลักษณะของผู้นำที่แข็งแกร่ง และยังเป็นคนหลงตัวเอง ไม่ยอมรับผิดในสิ่งที่ตนเองก่อ แต่ยิ่งไปกว่านั้นคือ พฤติกรรมของกลุ่มคนที่สนับสนุนทรัมป์ที่นำเขาไปผูกกับศาสนา และเชื่อว่าทรัมป์เป็นบุคคลที่พระเจ้าเลือก เช่น กลุ่มศาสนา New Apostolic Reformation (NAR) ซึ่งมีความเชื่อว่า จะต้องปฏิบัติตามผู้นำเพราะเป็นพระประสงค์ของจากพระเจ้า
“อเมริกากำลังเผชิญกับความท้าทาย และฉันเชื่อว่าทรัมป์คือ ไซรัสแห่งยุคสมัยใหม่ และจะทำให้เราฝ่าฟันพายุไปได้” แลนซ์ วอลล์นาว (Lance Wallnau) ผู้เผยแผ่ศาสนา มองว่า ทรัมป์เปรียบเสมือน ‘พระเจ้าไซรัสมหาราช’ กษัตริย์เปอร์เซียโบราณที่พระเจ้าเลือกให้เป็นผู้นำทางท่ามกลางความวุ่นวาย
คริสเตียนที่มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนมาก เลือกสนับสนุนทรัมป์ในการเลือกตั้งปี 2016 และ 2020 แม้ว่าขณะนั้นมีเหยื่อจำนวนมากที่ออกมาพูดว่า ทรัมป์มีพฤติกรรมล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งแน่นอนว่าเป็นสิ่งที่ขัดต่อหลักศาสนา ทั้งยังเป็นอาชญากรรม โดยหนึ่งในกรณีดังคือ คดีการล่วงละเมิดทางเพศนักเขียนหญิง อี.จีน แครอล (E. Jean Carroll) ซึ่งในตอนแรกทรัมป์ปฏิเสธว่า ไม่รู้จักเธอและเป็นเพียงการดิสเครดิตทางการเมือง แต่สุดท้ายในปี 2023 เขาก็ถูกตัดสินว่ามีความผิดจริง อย่างไรก็ตามคะแนนนิยมของทรัมป์ก็ยังคงอยู่ในเกณฑ์ที่ดีเช่นเคย
“ความพยายามในการลอบสังหารประธานาธิบดีคนที่ 45 และกำลังจะเป็นประธานาธิบดีคนที่ 47 ของสหรัฐฯ ในครั้งนี้ ได้ทำให้เราเป็นหนึ่งเดียวในแบบที่ไม่มีอะไรจะทำได้อีกแล้ว” มาร์ก อัลฟอร์ด (Mark Alford) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ กล่าว “คุณจะไม่ได้ยินคำว่า Never Trumpers อีกต่อไป”
ไม่ว่าจะนับว่าเป็นลัทธิได้หรือไม่ แต่หลายคนมองว่า เหตุการณ์ลอบยิงที่เกิดขึ้นจะยิ่งกลายเป็นสิ่งที่เพิ่มคะแนนนิยมให้ทรัมป์ได้เป็นอย่างดี หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว มีกลุ่มผู้สนับสนุนทรัมป์และพรรครีพับลิกันจำนวนหนึ่ง รวมตัวกันพร้อมผ้าพันแผลที่ใบหูเหมือนกับทรัมป์ เพื่อเข้าร่วมการประชุมใหญ่พรรครีพับลิกัน (Republican National Convention: RNC)
ผู้สนับสนุนคนหนึ่งกล่าวว่า เธอพันผ้าพันแผลที่หูของตัวเอง เพื่อให้ทรัมป์รับรู้ถึงความรักที่เธอมีต่อเขา เหตุการณ์นี้ยังตอกย้ำความเชื่อในสายตาคนบางกลุ่มที่ว่า ทรัมป์เป็นบุคคลที่พระเจ้าเลือกมาให้เป็นผู้นำสหรัฐฯ โดยกลุ่มคริสเตียนรวมถึงตัวทรัมป์เองเชื่อว่า การรอดชีวิตในเหตุการณ์นี้เป็นผลงานของพระเจ้า
เมื่อใดที่เราเริ่มมองว่า มนุษย์คนหนึ่งพิเศษกว่าคนอื่น จนกระทั่งมองสิ่งที่ธรรมดาว่าพิเศษ หรือมองสิ่งที่พิเศษว่าเป็นเพราะตัวเขาเหนือกว่าใคร ไปจนกระทั่งมองข้ามสิ่งที่เขาทำผิดพลาด หรือหาเหตุผลมาอธิบายการกระทำอันไม่สมเหตุสมผลของบุคคลนั้น เราอาจตกอยู่ในสภาวะของการบูชาตัวบุคคล ซึ่งแน่นอนว่าไม่ดีกับตัวเราเองอยู่แล้ว แต่สำหรับการเลือกตั้งนั้นมันอาจแย่ขึ้นไปอีก หากเราเลือกตัวแทนทางการเมืองของเราด้วยการบูชาบุคคล ไม่ใช่จากหลักการที่ตัวเองยึดถือ
Tags: Wisdom, Cult of Personality, การบูชาตัวบุคคล, Trump, Election, ทรัมป์, Cult