หลายคนอาจมองว่า ท้ายปีเป็นช่วงเวลาแห่งความสุข เดินไปไหนก็ได้ยินเพลงคริสต์มาสเพราะๆ มีไฟตกแต่งระยิบระยับ และหากได้ดูหนังคลาสสิกเกี่ยวกับปีใหม่เรื่องต่างๆ เช่น Love Actually (2003) ก็จะยิ่งได้บรรยากาศ ชวนให้รู้สึกว่าเทศกาลนี้ช่างโรแมนติก เหมาะแก่การมีคนข้างกายให้กอดเสียเหลือเกิน
ทั้งที่ควรเป็นเช่นนั้น แต่หากอิงตามสถิติจะพบว่า ประมาณ 2 สัปดาห์ก่อนคริสต์มาสกลับเป็นช่วงที่คู่รักนิยมเลิกกัน แบบสำรวจจาก Information is Beautiful เผยว่า 11 ธันวาคมคือวันที่คนเปลี่ยนสถานะบนเฟซบุ๊กจาก ‘มีแฟน’ เป็น ‘โสด’ มากที่สุด ถึงขั้นถูกตั้งเป็นวันแห่งการเลิกรา (Breakup Day) เลยทีเดียว
วันนี้ The Momentum จะพาผู้อ่านไปสำรวจเหตุผลกันว่า เพราะอะไรช่วงส่งท้ายปีถึงกลายเป็นช่วงเวลายอดนิยมในการจบความสัมพันธ์
ความกดดันของช่วงเทศกาล
สำหรับหลายๆ คน คริสต์มาสและปีใหม่ไม่ใช่เทศกาลแห่งความสุข แต่เป็นช่วงที่ต้องแบกรับความรับผิดชอบมากมาย ไหนจะต้องพะวงเรื่องการลางาน จองตั๋วกลับบ้านไปเยี่ยมครอบครัวที่ต่างจังหวัด หรือในกรณีที่ใครไม่ถูกกับครอบครัวเท่าไรก็คงรู้สึกเซ็งรอไปก่อนแล้ว รวมถึงการที่บางคนไม่สามารถไปทำกิจกรรมต่างๆ ทั้งการท่องเที่ยว กินเลี้ยงสังสรรค์ กระทั่งซื้อของขวัญจับฉลาก เนื่องจากเงินคงเหลือในบัญชีไม่เป็นใจเท่าไรนัก
มาร์นี ลิชแมน (Marny Lishman) นักจิตวิทยา กล่าวว่า “ในหลายกรณีผู้คนมักจะรู้สึกว่ามีภาระท่วมท้น ส่งผลให้เครียด และพอเครียดก็จะห่างเหินกับคนข้างกาย หงุดหงิดง่าย ไม่มีความสุข”
งานไม่รุ่ง เรียนเกือบไม่รอด
สำหรับวัยทำงาน ตั้งแต่ท้ายปียาวไปถึงปีใหม่เป็นช่วงที่น่ากลัวที่สุดว่าจะโดนเลย์ออฟ เนื่องจากเป็นช่วงที่บริษัทส่วนใหญ่ต้องสรุปงบ อีกทั้งหากมีแผนปรับโครงสร้างใดๆ ก็มักจะเริ่มทำหลังปีใหม่ ข้อมูลจากฟอร์บส์ (Forbes) ระบุว่า เดือนธันวาคมเป็นเดือนที่มีคนถูกเลย์ออฟมากที่สุด (12.6%) ส่วนเดือนมกราคมมาเป็นอันดับสอง (12.2%)
ต่อให้สุดท้ายเรารอดจากการโดนเลย์ออฟ แต่แค่ความรู้สึกร้อนๆ หนาวๆ ไม่มั่นคงกับชีวิต ก็ถือเป็นอุปสรรคในความสัมพันธ์ได้แล้ว และยิ่งถ้าโดนเลย์ออฟจริงๆ ละก็ บางคนอาจรับไม่ไหวกับความผิดหวังจนปิดตัวเองจากทุกคน รวมถึงแฟนหนุ่มแฟนสาวที่อยู่ข้างกายด้วย
ในขณะเดียวกันสำหรับคู่รักวัยเรียนเอง ท้ายปีก็ถือเป็นบททดสอบความสัมพันธ์เช่นกัน เนื่องจากมักจะเป็นช่วงสอบปลายภาค ที่ต่างฝ่ายต่างต้องเอาเวลาไปทุ่มเทกับการเรียน ทำให้ได้คุยกันน้อยลง บางคู่พอสอบเสร็จแล้วกลับมารักกันหวานชื่นได้ก็ดีไป แต่บางคู่ก็เกิดความรู้สึกห่างเหินจนนำไปสู่การเลิกรา
New Year, New Me… New แฟน?
อีกหนึ่งความมหัศจรรย์ของช่วงท้ายปีก็คือ มันเป็นทั้งจุดจบและจุดเริ่มต้น เมื่อตอนหนึ่งของชีวิตใกล้จบลง ไม่แปลกหากเราจะเริ่มย้อนทบทวนสิ่งต่างๆ ที่ผ่านมา และตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนขึ้นสำหรับตอนถัดไป
มีคนจำนวนไม่น้อยมองเห็นปีใหม่เป็นโอกาสในการเปลี่ยนแปลงตัวเอง ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงที่วัดได้ง่ายๆ อย่างเช่นจะลดน้ำหนักกี่กิโลกรัม อ่านหนังสือกี่เล่ม ไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ค่อยเป็นรูปธรรมนัก เช่น ปีหน้าจะทุกข์ให้น้อยลง จะเป็นคนดีขึ้น
แน่นอนว่า เมื่อคิดอยากเปลี่ยนตัวเองแล้ว ความสัมพันธ์ก็เป็นอีกปัจจัยที่ต้องพิจารณา หากเราอยากมีปี 2025 ที่ทุกข์น้อยลง แล้วแฟนที่คบกันอยู่ตอนนี้ทำให้เราทุกข์หรือเปล่า ปัญหาในความสัมพันธ์กำลังทำชีวิตเรายุ่งเหยิงกว่าเดิมหรือไม่ อีกฝ่ายช่วยผลักดันให้เราเป็นเราในเวอร์ชันที่อยากเป็นได้ไหม
“คนเรามักจะใช้ช่วงท้ายปีเพื่อพิจารณาและถามตัวเองว่า ต้องการอะไรกันแน่ มีปัญหาอะไรที่ยังแก้ไม่ได้บ้าง จากนั้นก็ตัดสินใจว่าจะไปต่อหรือพอแค่นี้” เรเน สแลนสกี (Renee Slansky) ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์กล่าว “หลายคู่เลิกกันเพราะมองว่า ปัญหาในความสัมพันธ์ ถ้าแก้ได้ก็คงไม่คาราคาซังมาจนป่านนี้ และพวกเขาไม่อยากเผชิญปัญหาเดิมอีกในปีหน้า”
อย่างไรก็ตามแม้ว่าการเลิกราจะน่าเศร้าแค่ไหน ชีวิตคนเราย่อมมีฟ้าหลังฝนเสมอ เพราะ เคิร์สตี ดันน์ (Kirsty Dunn) โฆษกของแอปฯ หาคู่ชื่อดังอย่างทินเดอร์ (Tinder) เผยว่า วันอาทิตย์แรกของเดือนมกราคมเป็นวันที่มีผู้ใช้งานแอปฯ มากที่สุด โดยทุก 2 วินาทีจะมีรูปถูกเพิ่มเข้าไปใหม่ 25 รูป และทุก 1 วินาทีมีคนเพิ่มประวัติส่วนตัวเข้าไปใหม่ 12 คน จนได้ชื่อว่าเป็น ‘วันอาทิตย์แห่งการเดต’ (Dating Sunday)
สำหรับใครที่กำลังอกหักในช่วงท้ายปีนี้ หากถึงวันอาทิตย์ที่ 5 มกราคม 2025 แล้วยังไม่รู้สึกดีขึ้น การลองเข้าไปปัดแอปฯ เปิดโอกาสใหม่ๆ ให้ตัวเอง ก็อาจเป็นทางเลือกที่ไม่เลว
อ้างอิง:
– https://www.forbes.com/2008/11/11/mass-layoffs-months-lead-careers-cx_pm_1110bestworst.html
– https://informationisbeautiful.net/2010/peak-break-up-times-on-facebook/
Tags: สิ้นปี, การเลิกรา, ความรัก, ความสัมพันธ์, ปีใหม่, Wisdom