จำได้ว่าครั้งหนึ่งขณะที่โรงเรียนพาไปเข้าค่ายลูกเสือ ครูฝึกในชุดสีกากีพยายามโน้มน้าวให้ทุกคนเข้าฐานกิจกรรมให้ครบ หนึ่งในนั้นคือฐาน ‘กระโดดหอ’ ที่นักเรียนทุกคนต้องโรยตัวลงมาจากหอคอยที่สูงประมาณ 34 ฟุต ในช่วงที่ต่อแถวเตรียมตัวโดด บางคนมีอาการมือสั่น ขาสั่น และปากสั่น มากน้อยขึ้นอยู่กับความกล้าและความกลัวในหัวใจของแต่ละคน ทว่ายิ่งใกล้ถึงคิวตัวเองมากขึ้นเท่าไรก็ยิ่งสั่นแรงมากขึ้นเท่านั้น คำถามคือทำไมเวลาที่เรารู้สึกประหม่า ตื่นเต้น กังวล หรือหวาดกลัว ร่างกายต้องสั่น แล้วอาการแบบนี้เป็นอันตรายหรือไม่
ความเครียดและวิตกกังวลเป็นอารมณ์ที่ซับซ้อนทางจิตใจ ทว่าขณะเดียวกันก็เชื่อมโยงกับร่างกายอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเราตกอยู่ในสถานการณ์ที่เคร่งเครียดหรือวิตกกังวล ระบบประสาทซิมพาเทติก (Sympathetic) ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมการตอบสนองของร่างกายจะถูกกระตุ้น ส่งผลให้ร่างกายเข้าสู่โหมดกระตือรือร้น เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการต่อสู้หรือหลบหนีเมื่อมีภัยคุกคาม ซึ่งเป็นการตอบสนองตามสัญชาตญาณธรรมชาติ
เมื่อระบบประสาทซิมพาเทติกถูกกระตุ้น ร่างกายจะปล่อยฮอร์โมนอะดรีนาลีน (Adrenaline) ซึ่งทำหน้าที่กระตุ้นให้ร่างกายตื่นตัว ออกมาพร้อมๆ กับฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ที่ทำหน้าที่คล้ายๆ กัน ส่งผลให้เลือดสูบฉีดมากกว่าปกติ อัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น กล้ามเนื้อตึงและหดตัวอย่างรวดเร็ว จุดนี้เองที่ทำให้มือ แขน ขา และเสียงสั่น ขณะที่รู้สึกวิตกกังวลหรือตึงเครียด ซึ่งแพทย์กล่าวว่าอาการเหล่านี้ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เนื่องจากเป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้ตามปกติ แต่การปล่อยให้ร่างกายตกอยู่ในสภาวะตึงเครียดเป็นเวลานานก็เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาอื่นๆ ตาม เพราะผลพวงจากความประหม่าและตื่นเต้นที่ทำให้หัวใจทำงานหนัก อาจส่งผลให้เกิดอาการช็อกได้
นอกเหนือจากปัจจัยในการเผชิญสถานการณ์ความเครียดและวิตกกังวลแล้ว อาการมือไม้สั่นยังบ่งบอกถึงปัญหาทางร่างกายบางอย่าง เช่น ระดับความเครียดสะสม การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ การบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีสารคาเฟอีนมากเกินไป รวมถึงการใช้ยาบางชนิดก็สามารถทำให้ร่างกายเกิดอาการสั่นได้ ซึ่งผลกระทบของอาการสั่นเวลากลัวนั้นมีไม่ค่อยมาก นอกจากทำให้เรารู้สึกเขินอายและรู้สึกไม่สบายใจ เมื่ออาการเหล่านี้แสดงออกมาต่อหน้าสาธารณชน
วิธีการรับมือกับอาการสั่นเมื่อวิตกกังวลนั้นต้องแก้ไขที่ต้นเหตุ นั่นคือการควบคุมสติอารมณ์ไม่ให้เตลิดเมื่อต้องเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ตึงเครียด พยายามสูดหายใจเข้าลึก นั่งหรือยืนนิ่ง เพื่อวิเคราะห์ในการรับมือกับสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น โดย ดร.โมนา พอตเตอร์ (Dr. Mona Potter) หัวหน้าฝ่ายการแพทย์จาก InStride Health กล่าวว่า พยายามอย่าไปโฟกัสกับอาการสั่นที่เกิดขึ้น เพราะยิ่งจดจ่อกับอาการดังกล่าว หรือพยายามทำให้มันสงบลง อาการวิตกกังวลจะยิ่งเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้อาการสั่นยิ่งทวีความรุนแรง จนไม่สามารถควบคุมร่างกายของตนเองได้
หากการสงบสติอารมณ์เป็นสิ่งที่ยากเกินไป การออกกำลังกายก็เป็นหนึ่งในวิธีที่พอช่วยบรรเทาอาการสั่นที่เกิดจากความเครียดได้ เนื่องจากการออกกำลังกายที่สม่ำเสมอจะช่วยหลั่งฮอร์โมนเอ็นโดรฟิน (Endrophin) หรือฮอร์โมนแห่งความสุขออกมาเพิ่มมากขึ้น ซึ่งสามารถลดทอนความตึงเครียดและอาการวิตกกังวลได้ อีกทั้งการหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่มีสารคาเฟอีนก็สามารถช่วยให้อาการสั่นลดลง
อย่างไรก็ดีอาการทางร่างกายเหล่านี้เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แต่อย่าได้นิ่งนอนใจปล่อยให้ร่างกายตกอยู่ในสภาวะความเครียดที่ยาวนาน เพราะผลลัพธ์ของมันอาจไม่ใช่แค่อาการสั่น แต่อาจนำมาซึ่งโรควิตกกังวลเรื้อรังหรือโรคซึมเศร้า
Tags: Wisdom, Anxiety Shake, สั่น, สั่นกลัว, ความกลัว, Knowledge and Wisdom