“เดินตามหลังผู้ใหญ่หมาไม่กัด” 

สำนวนสุภาษิตที่อยู่คู่กับสังคมไทยนับร้อยปี ถูกพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ให้ความหมายว่า “การเชื่อฟังและประพฤติปฎิบัติตามอย่างผู้ใหญ่ที่มีประสบการณ์มาก่อน จะประสบความสำเร็จได้โดยง่าย ไม่ผิดพลาด เช่น การปลูกฝังว่ารับราชการแล้วดี มีอนาคต มีหน้ามีตา ญาติพี่น้องแต่ละคนที่รับราชการก็เป็นใหญ่เป็นใหญ่เป็นโตทั้งนั้น”

คำถามคือ คำจำกัดความข้างต้นนี้ ยังคงเครดิตความน่าเชื่อถืออยู่มากแค่ไหนในสังคมปัจจุบัน หรือเป็นเพียงแค่ความพยายามที่ผู้อาวุโสกว่าใช้เพื่อปักหมุดหมายของคำว่า ‘ถูกต้อง’ ลงไปในทุกการกระทำของตัวเอง รวมถึงบางคนนั้นถึงกับประณามเหยียดหยาม ด้อยค่าเด็กๆ ที่ไม่ได้เดินตามเส้นทางของตัวเอง

‘Adultism’ คือคำจำกัดความอคติของผู้ใหญ่บางคน ที่มองว่าถ้าหากตัวเองมีอายุมากกว่า ย่อมเหนือกว่าใครก็ตามที่อายุน้อยกว่าตนในทุกๆ ด้าน โดยไม่สนใจจะมองถึงปัจจัยอื่นเลยแม้แต่น้อย

คำว่า Adultism หรือการ ‘เหยียดอายุ’ นั้นถูกบัญญัติขึ้นครั้งแรกในปี 1903 โดย แพทเทอร์สัน ดูบัวส์ (Patterson DuBois) นักเขียนชาวอเมริกันที่เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมของเด็กและการศาสนศึกษา ซึ่งได้รับการตีพิมพ์อย่างแพร่หลายในวรรณกรรมด้านจิตวิทยาของฝรั่งเศส  ณ ตอนนั้น ดูบัวส์ได้อธิบาย Adultism ว่าเป็นการที่เด็กได้รับอิทธิพลของผู้ใหญ่ จนเด็กคนนั้นถูกมองว่ามี ‘ร่างกายและจิตวิญญาณ’ ที่เหมือนกับผู้ใหญ่

ต่อมาในช่วงปลายทวรรษ 1970 ความหมายของคำว่า Adultism ถูกแทนที่ด้วย “การใช้อำนาจที่ผู้ใหญ่มีต่อเด็กในทางที่ผิด” และได้ระบุตัวอย่างของการใช้อำนาจในทางที่ผิดของผู้ใหญ่ต่อเด็กไปตั้งแต่การเป็นพ่อแม่ ในครู นักบวช ตำรวจ หรือผู้พิพากษา 

ตัดภาพมาในโลกยุคปัจจุบัน Adultism คืออคติของ ‘ผู้ใหญ่’ หรือผู้ที่มีความเป็นอาวุโสมากกว่า มีอคติทางความคิดต่อกลุ่มคนที่มีอายุน้อยกว่า เป็นภาวะที่ผู้ใหญ่มีความเชื่อว่าตนเองเหนือกว่าเยาวชนโดยธรรมชาติ หรือสิทธิ์ของผู้ใหญ่ควรมีความสำคัญเหนือกว่าสิทธิ์ของเด็กเสมอ บางกรณีก็เชื่อด้วยว่าคนหนุ่มสาวต้องยอมจำนนต่ออำนาจของผู้ใหญ่ แม้ว่าอำนาจนั้นจะถูกนำไปใช้ในทางที่ผิดก็ตาม

ต่อมาในปี 2015 อดัม เฟลตเชอร์ (Adam Fletcher) นักเขียนและนักพูด ผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลในด้านเยาวชนได้เขียนหนังสือชื่อ Facing Adultism ที่บอกว่าเป็นเรื่องโดยธรรมชาติอยู่แล้วที่เด็กไร้เดียงสาต้องได้รับการชี้นำจากผู้ใหญ่ โดยเฉพาะในการเลี้ยงดูจากพ่อแม่ของตน แต่ไม่ได้แปลว่าผู้ใหญ่ทั้งหลายจะมีสิทธินำอคติเหล่านี้มาใช้ในการสั่งสอนเลี้ยงดูเด็กๆ ได้

Adultism สามารถถูกปลูกฝังกันได้ตั้งแต่อายุยังน้อย และใครหลายคนก็อาจจะเคยได้รับประสบการณ์นั้นกันมาบ้างในระดับหนึ่ง ไม่ว่าจะด้วยความตั้งใจหรือบังเอิญก็ตาม แต่ Adultism ถูกแฝงมาในคำพูดที่เรามักได้ยินอยู่บ่อยๆ เช่น “เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับเด็ก”, “หนูคงยังเด็กเกินไปที่จะเข้าใจ” หรือแม้กระทั่ง “โตได้แล้ว!” ซึ่งตัวอย่างคำพูดทั้งหมดนี้อาจจะทำให้ผู้ที่ได้ยินนั้นรู้สึกว่าความต้องการของตัวเองถูกเพิกเฉย เพียงเพราะว่าเป็นเด็ก

เมื่อได้รับการปฏิบัติในลักษณะนี้อย่างสม่ำเสมอ ความรู้สึกว่าความคิดเห็น ความชอบ หรือความต้องการขั้นพื้นฐานของเราไม่มีสำคัญ ก็จะค่อยๆ ฝังรากลึกลงไปในจิตใจจนอาจกลายเป็นปัญหาสุขภาพจิตได้ เพราะสิ่งเดียวที่เราเรียนรู้จากวัยเด็กก็คือ ‘ผู้ใหญ่’ เหนือกว่า และเราต้องเคารพผู้ใหญ่เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม เด็กไม่ใช่เหยื่อของคำว่า Adultism เสมอไป เกือบทุกคนสามารถได้รับการ ‘เหยียดอายุ’ ได้ ถ้าหากเป็นคนอายุน้อยในวงสังคมนั้นๆ เช่น พี่ชายคนโตที่ยังคงข่มเหงกลั่นแกล้งน้องคนสุดท้อง หรือรุ่นพี่ที่ทำงานดูถูกดูแคลนเด็กจบใหม่ 

จริงอยู่ว่าเราไม่มีทางอยู่ในสังคมที่เท่าเทียมทางอายุโดยสมบูรณ์ มีหนังสือและคำสอนมากมายที่สอนให้เด็กๆ รู้จักสัมมาคารวะ เคารพ และให้เกียรติผู้อาวุโส แต่ก็มีหลักการที่คอยเตือนสติเหล่าผู้มีอายุทั้งหลายว่า ถึงแม้จะอายุน้อยแค่ไหน ก็สมควรได้รับเกียรติจากผู้ใหญ่เป็นเรื่องสำคัญ อายุมากกว่าไม่เท่ากับมีความพัฒนามากกว่า หรืออายุที่มากกว่าก็ไม่ได้แปลว่าจะมีวุฒิภาวะที่มากกว่าเสมอไป

ที่มา

https://www.psychologytoday.com/intl/blog/lifespan-perspectives/202109/what-is-adultism

https://www.safeatschool.ca/professional-learning/youth-empowerment/youth-empowerment-for-character-development/why-talk-about-power/adultism-and-adult-privilege

https://www.nccj.org/adultism

Tags: ,