ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราคงจะได้เห็นกระแสการเมืองแบบอเสรีนิยม (illiberalism) ประชานิยม (populism) รวมไปถึงการเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านโลกาภิวัตน์ (anti-globalisation movement) ชาตินิยม (nationalism) รวมไปถึงระบบอำนาจนิยมจากการเลือกตั้ง (electoral authoritarianism) ปรากฏอยู่ทั่วทุกมุมโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่พัฒนาแล้ว ในบทความนี้ เราตั้งคำถามว่า มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนที่เราจะเห็นกระแสการเมืองดังกล่าวในกลุ่มประเทศอาเซียน

มีคนกล่าวไว้ว่า “Populism is on the rise” ดูได้จากจำนวนผู้นำประเทศที่เป็นประชานิยมเพิ่มขึ้นกว่า 5 เท่าในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา หนึ่งในสาเหตุที่มักใช้ในการอธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าว ก็คือ การที่เศรษฐกิจเติบโตช้าลง ความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้นเพราะผลพวงทางการพัฒนาที่ไม่ทั่วถึง ความเบื่อหน่ายนักการเมืองแบบเดิมๆ รวมไปถึงกระแสความไม่พอใจแรงงานต่างชาติ (ทั้งที่ถูกและผิดกฎหมาย) 

Brexit และชัยชนะของ Donald Trump ในปี ค.ศ. 2016 ช่วยตอกย้ำเทรนด์ของประชานิยมได้เป็นอย่างดี แต่นั่นเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะเรายังได้เห็นความนิยมที่เพิ่มขึ้นของพรรคการเมืองแนวประชานิยมในยุโรปที่สามารถครองเสียงข้างมากในรัฐสภาได้ เช่น ฮังการี ออสเตรีย และสวิตเซอร์แลนด์ เป็นต้น ประชานิยมยังสามารถมองจากสิ่งที่เรียกว่า “strongmen” หรือเผด็จการผู้กุมอำนาจเบ็ดเสร็จ อย่าง Vladimir Putin ของรัสเซีย และ Recep Tayyip Erdogan ของตุรกี ซึ่งการแพร่หลายของ populism นี้เองที่หลายฝ่ายมองว่ากำลังคุกคามลัทธิเสรีนิยมที่งอกเงยในสังคมตะวันตกและตะวันออกมาหลายทศวรรษ

เมื่อเร็วๆ นี้ Chatib Basri นักเศรษฐศาสตร์ที่ University of Indonesia และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของอินโดนีเซีย กับ Hal Hill ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ที่ Australian National University (หลังจากนี้จะเรียกว่า CH) ตีพิมพ์บทความชื่อเรื่อง The Southeast Asian Economies in the Age of Discontent โดยได้วิเคราะห์โอกาสที่เราจะได้เห็นหมู่มวลความไม่พอใจของประชาชนที่มีต่อนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรี จนนำไปสู่กระแส populism ใน 5 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ประกอบด้วย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม)

CH เปิดบทวิเคราะห์ด้วยการนิยาม “authoritarian” ว่า เป็นรูปแบบของรัฐบาลที่ผู้มีอำนาจจะกุมอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด สามารถสั่งการอะไรก็ได้ อำนาจมีลักษณะรวมศูนย์ เสรีภาพทางการเมืองมีจำกัด และปราศจากการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรม และได้นิยาม “populism” (จะเน้นไปในเชิงเศรษฐศาสตร์) ว่าเป็นนโยบายที่มีลักษณะเป็นแบบประชานิยม หมายถึง นโยบายที่มุ่งก่อให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการกระจายรายได้ โดยที่ไม่ให้ความสำคัญกับเงินเฟ้อ ปัญหาดุลชำระเงิน รวมไปถึงการต่อต้านจากคนบางกลุ่มมากนัก 

CH อธิบายว่า กระแสความขุ่นข้องหมองใจ (Discontent) ของผู้คนในประเทศร่ำรวย เกิดขึ้นเพราะเศรษฐกิจโตช้า นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1990 เป็นต้นมา กลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว (อย่างสหรัฐอเมริกาและเกือบทุกประเทศในยุโรป) เติบโตช้าเมื่อเทียบกับประเทศกำลังพัฒนา หรือประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในแถบเอเชีย (CH ได้ใช้ Elephant Curve ของ Branko Milanovic ในการอธิบายการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่างกันของประชากรโลก) เมื่อเป็นเช่นนั้น ชนชั้นกลางก็พบว่า ตัวเองมีรายได้เท่าเดิม (หรือลดลง) ในช่วงหลายปีที่ผ่าน ซึ่งสาเหตุหนึ่งก็มาจากปรากฏการณ์ Global Value Chains ที่บริษัทใหญ่ๆ ย้ายการผลิตชิ้นส่วนอุตสาหกรรมไปทำในประเทศที่มีต้นทุนที่ถูกกว่า (เช่น การผลิตไอโฟน เป็นต้น) ชนชั้นกลางในประเทศร่ำรวยจึงต้องหางานใหม่ ยอมรับค่าจ้างที่ถูกลง ขณะที่งานในภาคบริการเช่นการออกแบบซอฟต์แวร์ หรือนักการเงิน ก็สงวนไว้ให้คนที่มีการศึกษาสูงๆ เท่านั้น ความห่างระหว่างคนรวยและคนจนนี้เอง ทำให้ไม่มีการเปลี่ยนลำดับชั้นทางเศรษฐกิจ (ที่รู้จักกันในชื่อ Great Gatsby Curve) หรือพูดง่ายๆ ก็คือ คนจนถูกส่งผ่านจากพ่อแม่สู่ลูก เมื่อไม่มีการเปลี่ยนลำดับชั้นทางเศรษฐกิจไปนานๆ เข้า ระดับของความขุ่นเคืองก็มากขึ้นตามไปด้วย นำไปสู่การเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ส่งท้ายด้วยกระแสของ populism ที่เห็นในปัจจุบัน 

อย่างไรก็ตาม CH เชื่อว่า มีความเป็นไปได้น้อยที่กระแสของ populism จะจุดติดในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยมี 2 เหตุผลหลักด้วยกัน หนึ่งคือ การพัฒนาเศรษฐกิจในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา สองคือความคุ้นเคยกับเรื่องของการเปิดเสรีการค้า ในประเทศแรกนั้น ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ล้วนแล้วแต่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงต่อเนื่องมาโดยตลอด เศรษฐกิจของอินโดนีเซีย ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ เติบโตอย่างมั่นคงจนเป็น 1 ใน 7 ประเทศที่ธนาคารโลกเรียกว่า “East Asian Miracle Economies” การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจนี้เองที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในภูมิภาคจากหน้ามือเป็นหลังมือ สะท้อนจากตัวเลขของความยากจนที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด เมื่อเศรษฐกิจไปได้สวย (แม้จะมีสะดุดบ้างเป็นบางปีจากวิกฤตเศรษฐกิจในปี ค.ศ. 1997 และ 2008 แต่ก็ไม่ทำให้เศรษฐกิจโดยรวมถึงขั้นชะงักงัน) ประชาชนในประเทศ (โดยเฉลี่ย) ก็น่าจะมีความสุขตามไปด้วย

เมื่อมาดูนโยบายและทัศนคติของคนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อการแข่งขันกับต่างประเทศ การค้าการลงทุน รวมไปถึงการเปิดเสรี ก็พบว่า โดยพื้นฐานแล้ว ระบบเศรษฐกิจมีลักษณะ “เปิด” อยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งไทยและมาเลเซีย (รวมไปถึงสิงคโปร์) อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ที่ก็เปิดเสรีการค้ามาตั้งแต่ ค.ศ. 1980s ตามมาด้วยเวียดนามที่มีการปฏิรูปเศรษฐกิจ (ที่รู้จักกันดีในชื่อ “Doi Moi”) นอกจากนั้น การเปิดเสรีการค้าของกลุ่มประเทศในภูมิภาคนี้ได้แรงเสริมจากกรอบความตกลงทางด้านเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ยิ่งไปกว่านั้น ทัศนคติของประชาชนที่มีต่อโลกาภิวัตน์ยังเป็นบวก เมื่อเทียบกับหลายประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกา จากการสำรวจโดย Pew Research Center พบว่า มากกว่า 70% ของผู้ตอบแบบสอบถามชาวเวียดนามเชื่อว่าการค้าจะทำให้ค่าจ้างแรงงานเพิ่มขึ้น นอกจากนั้น มากกว่า 60% ของผู้ตอบแบบสอบถามชาวอินโดนีเซีย เชื่อว่าการค้าระหว่างประเทศจะทำให้เกิดการจ้างงาน ดังนั้น CH จึงสรุปว่า กลุ่มประเทศในแถบอาเซียนมีความคุ้นเคยกับการเปิดเสรีทางการค้าอยู่แล้ว ความขุ่นข้องใจที่จากการเปิดเสรีที่เกิดขึ้นเหมือนในประเทศร่ำรวยจึงไม่น่าจะเกิดขึ้น 

อย่างไรก็ตาม แม้ CH จะค่อนข้างมั่นใจว่ากระแส populism จะไม่ทำลายลัทธิเสรีนิยมในกลุ่มประเทศอาเซียน แต่ไม่ได้หมายความว่า การพัฒนาเศรษฐกิจจะสวยหรูและทั่วถึง CH ระบุว่า แม้ GDP per capita จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่นั่นก็เป็นเพียงแค่ค่าเฉลี่ย ไม่ใช่ทุกภูมิภาคจะเติบโตเท่ากัน มีหลายพื้นที่ที่ไม่ได้รับประโยชน์ของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และในอนาคต ความขุ่นเคืองของคนในพื้นที่เหล่านี้อาจจะลุกลามใหญ่ขึ้นได้ ยกตัวอย่างเช่น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยที่ประสบปัญหาความรุนแรงมานับสิบปี บริเวณปาปัวของอินโดนีเซีย และกลุ่มชาติพันธุ์ในมาเลเซีย 

นอกจากนั้น CH ยังระบุว่า แม้ว่าเศรษฐกิจจะเติบโตก็จริง แต่ก็ระบบสวัสดิการยังเปราะบางอยู่มาก แม้คนจนจะลดลงแต่ยังมีแรงงานนอกระบบและคนที่พร้อมจะกลายเป็นคนจนทุกเมื่อ สิ่งที่กังวลคือระบบสุขภาพถ้วนหน้าและระบบการศึกษาที่ไม่เหลื่อมล้ำ แม้รัฐบาลจะมีโครงการให้เงินช่วยเหลือ (เช่น โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐของไทย และ Program Keluarga Harapan ของอินโดนีเซีย เป็นต้น) แต่ก็ไม่มีประเทศไหนเลยที่ทุ่มงบประมาณกับสวัสดิการประชาชนจนเกิดเป็น “รัฐสวัสดิการ”

เรื่องของความเหลื่อมล้ำก็ยังน่ากังวลเช่นกัน เพราะความเหลื่อมล้ำในมาเลเซียและฟิลิปปินส์สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน (เพราะผลพวงจากยุคล่าอาณานิคม) สำหรับไทยและเวียดนาม แม้ความความเหลื่อมล้ำจะต่ำกว่า แต่ก็ยังมีประเด็นเรื่องของความเหลื่อมล้ำด้านทรัพย์สินและที่ดินที่ยังเป็นปัญหา สำหรับเรื่อง “สถาบัน” CH ใช้ข้อมูลจาก World Governance Indicators ก็พบว่า ทั้ง 5 ประเทศมีระดับของคุณภาพของสถาบันทางการเมืองและสถาบันทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น คะแนนด้านคอร์รัปชัน หลักนิติธรรม รวมไปถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนถือว่าทรงๆ ตัว ไม่แย่เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ยกเว้นของไทย ที่มีปัญหาจากการปฏิวัติ 2 ครั้งในปี 2549 และ 2557 รวมถึงการผลการเลือกตั้งในปี 2561 ที่มีข้อสงสัยในเรื่องของความบริสุทธิ์ยุติธรรม และอาจเป็นต้นตอของความขุ่นเคืองของคนในสังคม 

แม้ว่าจะมีข้อกังวลอยู่บ้าง แต่ CH ก็ค่อนข้างมั่นใจว่า ประชากรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้น่าจะไม่อินกับกระแส populism อย่างไรก็ตาม มีประเด็นเพิ่มเติม 3 ข้อที่น่าขบคิดต่อ ประเด็นแรก คือ นิยามคำว่า “populism” เหมือนจะแตกต่างหลากหลาย ซึ่งถ้านิยามต่างกันหรือมองคนละมุม ก็อาจนำไปสู่ข้อสรุปที่ต่างกันได้ ขณะที่ CH สรุปว่า อาเซียนน่าจะไม่มีตอบรับกับกระแส populism แต่ก็มีนักวิชาการหลายคน ที่บอกว่า “populism” ได้ฝังตัวอยู่ในอาเซียนตั้งนานแล้ว ไม่ว่าจะนโยบายประชานิยมของสองพี่น้องตระกูลชินวัตร Hun Sen ของกัมพูชา Duterte ของฟิลิปปินส์ และ Jokowi ของอินโดนีเซีย สำหรับนโยบายในอดีตของไทยที่เรียกว่าเป็นประชานิยมจ๋า ก็คือ โครงการรับจำนำข้าว ที่ฟังผ่านๆ แล้วเหมือนจะเป็นประโยชน์ต่อชาวนาและคนรากหญ้า แต่ประโยชน์ส่วนใหญ่กลับไม่ถึงมือชาวนา และทั้งโครงการก็มีต้นทุนที่แพงหลายแสนล้านบาท อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ใช่ว่าทุกนโยบายที่เป็นประชานิยมจะแย่ไปเสียหมด อย่างที่ ดร. สมชัย จิตสุชน ได้บอกว่า นโยบายประชานิยมไม่จำเป็นต้องแย่เสมอไป ถ้าเป็นนโยบายที่เห็นหัวคนจน ไม่ลำเอียง และเป็นประโยชน์ต่อรากหญ้าก็ทำได้ 

ประเด็นที่ 2 คือ ชุดคำอธิบายของกระแส “populism” ที่น่าจะบางเบากว่าในกลุ่มประเทศอาเซียน CH ใช้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการลดความยากจนในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมามาอธิบาย แต่จริงๆ แล้ว มีอีกหนึ่งทฤษฎีสำคัญที่นักเศรษฐศาสตร์มักหลงลืมเวลาเชื่อมโยงความเหลื่อมล้ำเข้ากับความเข้าใจและการตอบสนองของคนในสังคม นั่นก็คือทฤษฎี “Tunnel Effect” ของ Albert Hirschman ซึ่งบอกว่า ในช่วงแรกๆ ของการพัฒนาเศรษฐกิจ แม้จะเกิดความเหลื่อมล้ำ คนทั่วๆ ไปอาจจะไม่รู้สึกต่อต้าน โกรธเกลียดนายทุน หรือเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลง (หรือขึ้นภาษี) นั่นเป็นเพราะพวกเขามีความหวัง (หรือทัศนคติที่ดี) ต่อการเติบโตว่า เดี๋ยวก็ถึงทีของเรา/เดี๋ยวผลพวงของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจก็กระจายมาถึงเราเอง ทัศนคตินี้ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “tolerance for inequality” หรือการอดทนต่อความเหลื่อมล้ำ แต่หากจนแล้วจนรอด การพัฒนายังไม่มาถึงตน คนก็เลิกรอ เลิกหวัง และเริ่มแสดงท่าทีว่าไม่พอใจต่อสิ่งที่เป็นอยู่ ลงเอยด้วยการเรียกร้องให้รัฐบาลทำอะไรสักอย่างเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งคำอธิบายชุดนี้ “อาจ” นำมาใช้อธิบายสถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองของไทยได้ ในช่วงปี ค.ศ. 1989-1991 ที่เศรษฐกิจไทยโตมากๆ และความเหลื่อมล้ำก็สูงมากเช่นกัน ช่วงนั้น แม้จะมีความเหลื่อมล้ำแต่ก็ไม่มีการเดินขบวน หรือการประท้วงใดๆ จากการสำรวจโดย World Value Surveys พบว่า คนส่วนใหญ่ในช่วงนั้นกลับมองว่าความเหลื่อมล้ำเป็น “motivation” ให้ตัวเองขยันขันแข็ง จนแล้วจนรอด ความเหลื่อมล้ำของไทยก็ไม่มีทีท่าจะลดลง ผนวกกับเรื่องการเติบโตที่ไม่เท่ากันระหว่างกรุงเทพ เมืองใหญ่ๆ และชนบท เราจึงเห็นการประท้วงของคนหลายสีเสื้อ ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าความเหลื่อมล้ำ คือ หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดวิกฤตทางการเมืองนับตั้งแต่นั้นมา 

ประเด็นสุดท้ายอยู่ที่ทัศนคติของคนในชาติต่อประเด็นการค้าระหว่างประเทศ ยกตัวอย่างของไทยก็พอจะเห็นภาพ ในช่วงเดือนที่ผ่านมา มีความพยายามที่จะนำเอาข้อตกลง CPTPP เข้าสภา ไม่กี่ชั่วโมง ก็มีบทความจำนวนมากที่ออกโรงเตือนถึงข้อเสียที่อาจเกิดขึ้นหากไทยเข้าร่วมการตกลงดังกล่าว โดยเฉพาะการแสดงออกของพลเมืองโลกในโซเชียล (หรือที่หลายคนเรียกว่า Mob from Home) จนทำให้แฮชแท็ก #NOCPTPP ติดเทรนด์ทวิตเตอร์เพียงชั่วข้ามคืน แม้ว่าประเทศเพื่อนบ้านจะเรียงแถวเข้าร่วมวงภาคี และการเมินเฉย CPTPP “อาจ” ทำให้เสียโอกาส แต่ปรากฏการณ์นี้สะท้อนให้เห็นถึงอาการ “ยี้” เมื่อพูดถึงการร่วมกลุ่มทางเศรษฐกิจ 

โจทย์ใหญ่ของประเทศกำลังพัฒนา คือ จะทำอย่างไรให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน และจะทำอย่างไรให้มั่นใจได้ว่ากระบวนการดังกล่าวไม่ได้ทิ้งใครไว้ข้างหลัง หากนักการเมืองและกลุ่มชนชั้นนำ หลงลืมความคิด ความรู้สึก และความกังวลของประชาชน ความโกรธและความไม่พอใจที่เกิดขึ้น อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่คาดไม่ถึง ดังที่ได้เห็นจากตัวอย่างในประเทศที่ร่ำรวยในทศวรรษที่ผ่านมา 

Tags: , , ,