หากใครกำลังขุ่นข้องหมองใจกับการทำงานของรัฐบาลในประเทศไทย ไม่ต้องรู้สึกแปลกแยกนะครับ เพราะคุณคือหนึ่งในคนอีกจำนวนมหาศาลทั้งในไทยและต่างประเทศที่รู้สึกไม่พอใจกับประสิทธิภาพในการทำงานของรัฐบาลตัวเองเช่นกัน ยิ่งในช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่หลายคนจับจ้องและคาดหวังว่ารัฐบาลจะเป็นพระเอกขี่ม้าขาว แต่หลายครั้งที่มาตรการภาครัฐนอกจากจะไม่รวดเร็วทันใจ ยังทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ลงไปอีก

นักเศรษฐศาสตร์เสรีนิยมอ่านคอมเมนท์ก่นด่ารัฐบาลแล้วคงยักไหล่ เพราะพวกเขาและเธอพร่ำเตือนมาหลายทศวรรษถึงความด้อยประสิทธิภาพของรัฐบาล พลางชื่นชมบูชาประสิทธิภาพของกลไกตลาดและเสนอรัฐบาลในอุดมคติคือรัฐบาลขนาดเล็ก เก็บภาษีต่ำ และปล่อยให้ตลาดจัดการตัวเองมากที่สุดเท่าที่จะมากได้

แต่ข้อเสนอดังกล่าวเป็นไปได้ยากในโลกแห่งความเป็นจริง เพราะกลไกตลาดเองก็เผชิญกับภาวะ ‘ความล้มเหลวของตลาด (Market Failure)’ ในการจัดการสินค้าสาธารณะ (public goods) กล่าวคือสินค้าหรือบริการที่ไม่จำเป็นต้องแย่งชิงเพื่อบริโภค และไม่สามารถกีดกันไม่ให้ผู้อื่นมาบริโภคได้ รวมถึงเหล่าผลกระทบภายนอก (externalities) ไม่สามารถรวมคำนวณเป็นราคาซึ่งอาจทำให้มีการผลิตสินค้าหรือบริการบางชนิดสูงหรือต่ำกว่าที่ควรจะเป็น

นี่คือสาเหตุที่ต้องมีรัฐบาล ซึ่งจัดหาเงินจากการเก็บรวบรวมเงินจากคนในสังคมมาร่วมจ่ายค่าสินค้าสาธารณะ อาทิ การป้องกันประเทศ ไฟริมทางเท้า รวมถึงกระบวนการยุติธรรม เพื่อสร้างสังคมที่สงบเรียบร้อยเอื้อต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมถึงอุดหนุนสินค้าซึ่งสร้างผลกระทบภายนอกเชิงบวก เช่น การศึกษา หรือโรงพยาบาล และเก็บค่าธรรมเนียมสินค้าซึ่งสร้างผลกระทบภายนอกเชิงลบ เช่น มลภาวะจากโรงงาน 

ที่ขาดไม่ได้ คือการกระจายรายได้เพื่อสร้างความเท่าเทียม โดยจัดเก็บภาษีของเหล่าเศรษฐีผู้มั่งคั่งมาสร้างตาข่ายความปลอดภัยทางสังคม เพื่อเป็นสวัสดิการโอบอุ้มคนทุกชนชั้นให้การดำรงชีวิตไม่ลำเค็ญเกินไปนัก เหล่านี้คือบทบาทเบื้องต้นที่เราคาดหวังให้รัฐบาลดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โควิด-19 ถือเป็นสาธารณภัยซึ่งทดสอบประสิทธิภาพในการรับมือของรัฐบาล ที่ต้องชั่งน้ำหนักทั้งมาตรการป้องกันการระบาด ชีวิตของประชาชน รวมถึงต้นทุนทางเศรษฐกิจที่ต้องจ่ายเพื่อยับยั้งการระบาดไม่ให้ลุกลาม ซึ่งหลายคนอาจมองว่ารัฐบาลยังทำงานไม่ได้ดั่งใจหวัง ในบทความนี้ ผู้เขียนจะชวนมาหาคำตอบว่าทำไมความไร้ประสิทธิภาพจึงเป็นธรรมชาติของทุกรัฐบาล และเรามีทางเลือกใดบ้างที่จะพัฒนาประสิทธิภาพดังกล่าว

ผู้เขียนขอสปอยล์ตอนจบก่อนว่า ต่อให้รัฐบาลจะถูกออกแบบมาเพื่อให้มีประสิทธิภาพต่ำ แต่เราก็ยังไม่มีทางเลือกอื่นเพื่อบรรเทาปัญหาความล้มเหลวของตลาด สิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์เสนอเป็นเพียงการเพิ่มประสิทธิภาพ อย่างไรก็ดี สุดท้ายแล้วประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรของรัฐบาลก็ไม่มีทางเทียบเท่าภาคเอกชน

ทำไมรัฐบาลถึงล้มเหลว?

รัฐบาลคือหน่วยงานที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาความล้มเหลวของตลาดในการจัดสรรทรัพยากรบางชนิด แต่การทำงานของรัฐบาลเองก็นำไปสู่ความล้มเหลวได้เช่นกัน โดยอาจแบ่งเป็นความล้มเหลว 2 ประเภทคือ ความล้มเหลวเชิงปฏิบัติการ กล่าวคือปัญหาในกระบวนการราชการและบัญญัติกฎหมาย ซึ่งเผชิญกับปัญหาคอร์รัปชัน อิทธิพลทางการเมือง ขาดการกำกับดูแลที่เพียงพอ และใช้ต้นทุนที่สูงเกินไป อีกประการคือความล้มเหลวเชิงนโยบาย โดยการดำเนินนโยบายสร้างต้นทุนมากกว่าประโยชน์ ลิดรอนสิทธิเสรีภาพ หรือเข้าไปข้องเกี่ยวกับกิจกรรมที่ภาคเอกชนทำได้ดีอยู่แล้วและภาครัฐไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องยื่นมือเข้าไป

ความล้มเหลวเหล่านี้เกิดจากธรรมชาติ 4 ประการของรัฐบาลคือ

1.ตัดสินใจแบบบนลงล่างโดยไม่ได้อิงข้อเท็จจริง 

ข้อดีของกลไกตลาดคือการขยับของราคาซึ่งเป็นภาพสะท้อนของข้อมูลข่าวสารโดยสาธารณชนจำนวนมหาศาล หากราคาสูงเกินไปผู้บริโภคก็จะหนีไปซื้อสินค้าเจ้าอื่น แต่หากราคาต่ำเกินไปบริษัทก็อาจผลิตสินค้าไม่ทันจนเกิดภาวะขาดแคลน ธุรกรรมที่เกิดขึ้นโดยสมัครใจจำนวนนับไม่ถ้วนจึงไม่ต่างจากการระดมสมองเพื่อนำไปสู่การตั้งราคาและปริมาณการผลิตที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด

ในทางกลับกัน รัฐบาลไม่ได้มีข้อมูลในมือเฉกเช่นในกลไกตลาด การตัดสินใจใช้งบประมาณของภาครัฐจึงอ้างอิงกับข้อมูลเพียงหยิบมือและผู้มีอำนาจไม่กี่คน แม้ว่ากลุ่มคนเหล่านั้นจะคิดว่านโยบายที่นำไปใช้จะสร้างประโยชน์ได้สูงกว่าต้นทุน แต่ทั้งหมดก็เป็นเพียงการลองผิดลองถูก ตัวอย่างเช่นการตัดสินใจใช้งบประมาณซื้อเรือดำน้ำที่รัฐบาลต้อง ‘เดา’ ระดับความเสี่ยงของภัยคุกคามความมั่นคง โดยไม่มีใครตอบได้ว่าประโยชน์จากการใช้งบประมาณดังกล่าวเป็นมูลค่าเท่าไร

เพื่อให้เห็นภาพชัด หากสมมติว่ารัฐบาลได้งบประมาณเพิ่มมาหนึ่งก้อน ภาครัฐก็ไม่มีเครื่องมือช่วยตัดสินใจเปรียบเทียบทางเลือกที่ดีที่สุดระหว่างการซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์เพื่อความมั่นคง อุดหนุนราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำ หรือร่วมทุนสร้างรถไฟฟ้าในเมืองหลวง แม้ในทางทฤษฎี ภาครัฐสามารถใช้เครื่องมืออย่างการวิเคราะห์ต้นทุนและผลประโยชน์ (Cost-Benefit Analysis) ในการเปรียบเทียบมูลค่าของโครงการต่างๆ หรือประเมินผลกระทบก่อนบังคับใช้กฎหมายที่สำคัญ แต่ในภาคปฏิบัติกลับพบว่าการวิเคราะห์ดังกล่าวมีข้อมูลไม่เพียงพอ เต็มไปด้วยอคติ และมีสมมติฐานที่ชวนสงสัย ผลลัพธ์ที่ได้คือการ ‘เดา’ ล้วนๆ หรือตัดสินตามความพึงพอใจของผู้มีอำนาจซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของสาธารณะ

2.รายได้มั่นคงแบบไม่เชื่อมโยงกับผลงาน

การตัดสินผิดพลาดเป็นเรื่องปกติของกิจการในตลาด แต่หากผู้บริหารตัดสินใจผิดพลาดบ่อยครั้ง สุดท้ายบริษัทก็ต้องถอนตัวออกจากตลาดเนื่องจากทุนทรัพย์เพื่อการลองผิดลองถูกได้ถูกนำมาใช้จนหมดนี่คือกลไกการทำลายอย่างสร้างสรรค์ (Creative Destruction) ที่จะเปิดทางให้บริษัทซึ่งมีประสิทธิภาพสูงกว่าและตอบโจทย์ผู้บริโภคมากกว่าอยู่รอดในตลาด รวมถึงเป็นการโอนย้ายถ่ายทรัพยากรทั้งทุนและแรงงานไปยังกิจการที่ดูมีอนาคตมากกว่า 

สำหรับฝั่งรัฐบาล หากเรามีสมมติฐานว่าผู้บริหารภาครัฐมีศักยภาพไม่แตกต่างจากภาคเอกชน การดำเนินนโยบายก็ย่อมมีโอกาสผิดพลาดเช่นกัน แต่ความผิดพลาดของภาครัฐกลับคงทนยาวนานเนื่องจากรัฐบาลมีแหล่งรายได้ที่มั่นคงจากภาษีซึ่งเชื่อมโยงกับประสิทธิภาพในการดำเนินนโยบายเพียงเล็กน้อย ทำให้ขาดวงจรสะท้อนกลับ (feedback loop) ระหว่างผู้ผลิตและผู้ใช้บริการซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างประสิทธิภาพในภาคเอกชน ทั้งสองประการนี้นำไปสู่ความเฉื่อยชาของภาครัฐในการแสวงหาหนทางเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ หรือกระทั่งวัดผลลัพธ์ในการใช้งบประมาณของตน

3.ผลลัพธ์ที่ไม่ตั้งใจจากนโยบายของภาครัฐ

ธรรมชาติของนโยบายภาครัฐคือการหนุนเสริมการกระทำหรือห้ามการกระทำของสาธารณชน หลายครั้งที่ภาครัฐเข้าไปข้องเกี่ยวกับกลไกตลาด เช่น การตั้งเพดานราคาหรือการอุดหนุนราคา จนนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ไม่ตั้งใจ (Unintended Consequences) ซึ่งกลายเป็นความสูญเปล่าของสังคมในภาพรวม

ตัวอย่างคลาสสิกคือการอุดหนุนราคาสินค้าเกษตรบางชนิดที่เผชิญภาวะราคาตกต่ำ ซึ่งจะจูงใจให้เกษตรกรเพิ่มการปลูกสินค้าเกษตรที่ได้รับการอุดหนุน ไม่พยายามลดต้นทุนการผลิต ขาดแรงจูงใจที่จะปรับตัว รวมถึงรับความเสี่ยงที่มากเกินไปโดยปลูกพืชเพียงชนิดเดียว ทั้งที่การปลูกพืชหลายชนิดจะสร้างรายได้มากกว่าและมีความเสี่ยงต่ำกว่า นโยบายภาครัฐเพื่อช่วยเหลือระยะสั้นจึงสร้างผลลัพธ์ที่ไม่พึงประสงค์โดยกลายเป็นปัญหาเรื้อรังในภาคการเกษตร (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ ภาคเกษตรไทย ทำไมยิ่งทำยิ่งจน แล้วจะแก้ปัญหาอย่างไรดี?)

นอกจากตัวอย่างข้างต้นแล้ว ยังมีอีกหลายนโยบายภาครัฐที่สร้างผลลัพธ์ที่ไม่ตั้งใจ เช่น การก่อสร้างเขื่อนหรือแหล่งน้ำกลับทำให้น้ำขาดแคลนเนื่องจากเกษตรกรปรับมาปลูกพืชที่ใช้น้ำมากขึ้น การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำกลับลดอัตราการจ้างงานของแรงงานไร้ฝีมือ การตั้งเพดานราคาหน้ากากอนามัยนำไปสู่การกักตุนหรือการลักลอบส่งขายไปยังต่างประเทศที่ให้ราคาสูงกว่า หรือกระทั่งมาตรการนอกตลาด เช่น การประกาศปิดเมืองกรุงเทพฯ เพื่อป้องกันการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้แรงงานในกรุงเทพฯ เดินทางกลับต่างจังหวัดจนกลับกลายเป็นว่าตัวเลขผู้ระบาดในต่างจังหวัดเพิ่มสูงขึ้น

อย่างไรก็ดี การเกิดผลลัพธ์ที่ไม่ตั้งจากนโยบายภาครัฐไม่ได้หมายความว่าการดำเนินนโยบายดังกล่าวคือความล้มเหลว แต่เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่ผู้ออกแบบนโยบายจะต้องมองให้กว้างกว่าเป้าหมายที่หวังผล เพื่อพิจารณาการตอบสนองในระยะยาวของประชาชนและภาคธุรกิจต่อนโยบายดังกล่าว

4. แรงจูงใจของนักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐ

ระบอบประชาธิปไตยในอุดมคติ แรงจูงใจของนักการเมืองคือการสร้างประโยชน์ต่อสาธารณะโดยทุกนโยบายและกฎหมายฉบับใหม่จะต้องยึดเอาประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง แต่ความเป็นจริงดูจะไม่เป็นเช่นนั้น หลายครั้งที่สภาฯ ที่มาจากการเลือกตั้งผ่านกฎหมายซึ่งขัดกับความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ โครงการหลายโครงการซึ่งต้นทุนสูงกว่าผลประโยชน์ก็ยังดำเนินการต่อไป การตรวจสอบอย่างเข้มข้นจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อปัญหาคอร์รัปชันเป็นพาดหัวหนังสือพิมพ์ 

นักเศรษฐศาสตร์จึงหมางเมินทฤษฎีที่ว่านักการเมืองทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ และเสนอว่าแรงจูงใจสำคัญของนักการเมืองของประโยชน์ส่วนบุคคลนั่นก็คือการได้รับตำแหน่งในสมัยหน้า นำไปสู่การออกแบบนโยบายที่แจกจ่ายผลประโยชน์ในระยะสั้นโดยไม่สนใจต้นทุนที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว

หลายคนอาจถกเถียงว่าหากนักการเมืองไร้ประสิทธิภาพ กลไกประชาธิปไตยจะคัดกรองคนเหล่าให้ไม่ได้รับตำแหน่งในสมัยหน้า แต่ในโลกความจริงคือประชาชนคนส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ การเมือง หรือสังคม และยุ่งเหยิงกับชีวิตตัวเองเกินกว่าจะให้เวลากับการประเมินประสิทธิภาพของนโยบายรัฐบาล 

ไบรอัน แคปแลน (Bryan Caplan) นักเศรษฐศาสตร์การเมืองมองว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้ง นอกจากจะไม่ตระหนักหรือใส่ใจกับผลลัพธ์ของนโยบายแล้ว ยังลงคะแนนเสียงอย่าง ‘ไม่สมเหตุสมผล’ โดยใช้อารมณ์ความรู้สึกต่อพรรคการเมืองหรืออุดมการณ์ของพรรคเป็นที่ตั้งแทนที่จะพิจารณาถึงข้อเสนอเชิงนโยบาย ส่วนหนึ่งเพราะการพิจารณาประสิทธิผลของรัฐบาลเป็นเรื่องยุ่งยาก หากเทียบกับภาคเอกชนที่มีตัวชี้วัดที่เข้าใจง่ายอย่างผลกำไรหรือขาดทุน

ระบบราชการเองก็เผชิญกับปัญหาแรงจูงใจเช่นกัน นอกจากจะขาดตัวชี้วัดภาพใหญ่อย่างผลประกอบการ การวัดผลผลิตของข้าราชการยังยุ่งยาก เช่น โจทย์ว่าเราจะวัดผลสัมฤทธิ์ของครูอย่างไร เราอาจพิจารณาจากคะแนนการสอบมาตรฐานของนักเรียนในชั้นเรียน เอกสารแผนการสอน เวลาเข้าทำงาน หรือกระทั่งคุณธรรมจริยธรรม ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ซับซ้อนกว่าหากเทียบกับการวัดผลผลิตในภาคเอกชน เช่น ยอดขาย กำไร หรือส่วนแบ่งตลาด ซึ่งมีความชัดเจนมากกว่า

เมื่อประสิทธิผลวัดได้ยาก โครงสร้างผลตอบแทนของข้าราชการจึงแข็งทื่อโดยให้ค่ากับจำนวนปีที่ทำงานมากกว่าผลงาน ซ้ำเติมด้วยอัตราการเลิกจ้างที่ต่ำโดยแทบไม่พบการเลิกจ้างเนื่องจากทำงานไม่มีประสิทธิภาพ แต่ประเด็นที่บั่นทอนประสิทธิภาพการทำงานของข้าราชการมากที่สุดก็หนีไม่พ้นระเบียบราชการ (Red Tape) ซึ่งอาศัยกฎเกณฑ์ที่เคร่งครัด เอกสารที่รัดกุม รวมถึงการอนุมัติที่ซับซ้อน เพื่อป้องกันการคอร์รัปชัน สร้างความโปร่งใส และเพิ่มการตรวจสอบในแต่ละขั้นตอน ในทางกลับกันระเบียบดังกล่าวเองก็เป็นสิ่งที่ลดทอนประสิทธิภาพของระบบราชการ พร้อมทั้งสร้างแรงจูงใจให้เจ้าหน้าที่รัฐให้ความสำคัญกับการทำตามกฎระเบียบ มากกว่าเน้นที่ผลลัพธ์หรือประสิทธิภาพ

เราจะเพิ่มประสิทธิภาพรัฐบาลได้อย่างไร

การศึกษาเพื่อวิเคราะห์ความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลนั้นมีค่อนข้างแพร่หลาย แต่ข้อเสนอเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวมีไม่มากนัก ส่วนหนึ่งเนื่องจากนักเศรษฐศาสตร์จำนวนหนึ่งถอดใจที่จะเพิ่มประสิทธิภาพ โดยเสนอว่าทางที่ดีที่สุดคือการมีรัฐบาลขนาดเล็กที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ กล่าวคือภาครัฐไม่จำเป็นต้องเข้าไปข้องเกี่ยวกับสินค้าและบริการที่ภาคเอกชนพอจะจัดหาได้ แล้วปล่อยให้กลไกตลาดเป็นใหญ่

อย่างไรก็ดี คนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ให้ค่ากับข้อเสนอดังกล่าวสักเท่าไร เพราะวิกฤตในอดีตหลายต่อหลายครั้ง เช่น วิกฤตซับไพรม์ก็เกิดจากกลไกราคาในตลาดการเงินที่ควรจะมีประสิทธิภาพแต่กลับกลายเป็นต้นเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจถดถอย นอกจากนี้ ภัยทั้งจากธรรมชาติและโรคระบาดที่บ่อยครั้งและรุนแรงขึ้นในปัจจุบันก็ทำให้ประชาชนหวั่นใจว่าหากรัฐบาลถูกลดขนาดลงแล้วจะไม่มีทรัพยากรเพียงพอในการบรรเทาสาธารณภัย

ทางเลือกหนึ่งในการเพิ่มประสิทธิภาพรัฐบาลที่กำลังได้รับความสนใจในปัจจุบันคือการออกแบบนโยบายผ่านการศึกษาเชิงประจักษ์โดยใช้วิธีการทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม (randomized controlled trial) ที่ทลายมายาคติดั้งเดิมเกี่ยวกับนโยบายส่งเสริมคุณภาพชีวิต ไม่ว่าจะเป็นในมิติทางการศึกษาที่พบว่าการเพิ่มทรัพยากรครูหรืออุปกรณ์การเรียนไม่ส่งผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา หรือสินเชื่อขนาดจิ๋วสำหรับคนจนนั้นไม่ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์แนวหน้าที่พัฒนาแนวทางนี้ให้เป็นที่แพร่หลายซึ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์เมื่อปีที่ผ่านมา (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ เศรษฐศาสตร์ขจัดความจน จากภาคทฤษฎีถึงวิธีปฏิบัติโดยกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล

ส่วนทางเลือกอื่นๆ ก็เช่น การเพิ่มการแข่งขันในบริการของภาครัฐโดยเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามา เช่น สาธารณูปโภค คมนาคม รวมถึงทัณฑสถาน ออกแบบแรงจูงใจให้พนักงานภาครัฐโดยผูกกับประสิทธิผลของการทำงาน เช่น การเพิ่มส่วนแบ่งรายได้จากจำนวนภาษีที่เก็บได้ให้กับพนักงานเก็บภาษีภาคสนามซึ่งประสบความสำเร็จในปากีสถาน รวมถึงการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน หรือการแปลงรัฐวิสาหกิจให้เป็นบริษัทมหาชน

ทางเลือกเหล่านี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของภาครัฐได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น แต่ต่อให้รัฐบาลจะมีประสิทธิภาพต่ำ แต่เราก็ยังไม่มีทางเลือกอื่นเพื่อบรรเทาปัญหาความล้มเหลวของตลาด นักเศรษฐศาสตร์ธรรมภิบาลจึงเสนอให้รัฐบาลเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชนอย่างโปร่งใส เพราะถึงรัฐบาลอาจไม่มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับเอกชน แต่อย่างน้อยประชาชนก็ยังสามารถสืบเสาะข้อมูลได้ว่ารัฐเอาเงินภาษีไปทำอะไร

สิ่งที่ปุถุชนคนธรรมดาอย่างเราทำได้คือ ‘ทำใจ’ กับประสิทธิภาพการทำงานของรัฐบาล ในขณะเดียวกันก็ต้องร่วมตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลอย่างเข้มแข็ง และส่งเสียงดังๆ หากพบเห็นอะไรนอกลู่นอกทาง เพราะนี่เป็นทางเลือกที่ ‘เลวร้ายน้อยที่สุด’ เพื่อจัดการกับปัญหาความล้มเหลวของตลาด 

เอกสารประกอบการเขียน

Why the Federal Government Fails

Why Government Fails So Often

Market Failure and Government Failure

The Inherent Inefficiency of Government Bureaucracy

The Quiet Movement to Make Government Fail Less Often

Tags: ,