ในระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ บริษัทนิติบุคคลอาจเปรียบเสมือนเครื่องจักรทำเงินไร้หัวใจ แต่สำหรับผม บริษัทเหล่านั้นมี ‘วงจรชีวิต’ การเติบโต ที่ดูๆ ไปก็คล้ายกับแมลงปอ

เริ่มตั้งแต่ตัวอ่อนบอบบางที่ซ่อนตัวอยู่ในน้ำ คล้ายกับบริษัทสตาร์ตอัปหรือธุรกิจใหม่ที่อาจมีเจ้าของคนเดียว สร้างรายได้ไม่มาก หิวกระหายกระแสเงินสดรับและกำไรเพื่อนำไปต่อยอดและจ้างลูกจ้าง ฝ่าฟันกับคลื่นลมและเหล่าปลาใหญ่ที่เป็นเจ้าตลาด หากผ่านความยากลำบากเหล่านั้นมาได้ ก็ถึงเวลาเข้าสู่ระยะดักแด้ รอวันเผยปีกใสแล้วโผบินออกสู่ท้องฟ้า เหมือนกับการเข้าเสนอขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์เป็นครั้งแรก หรือที่เราคุ้นหูกันว่า IPOs (Initial Public Offerings) ซึ่งจะแปลงกายเจ้าบริษัทเอกชนตัวน้อย ให้กลายเป็นบริษัทมหาชนนั่นเอง

หลายคนอาจคิดว่าเรื่องราวจะจบลงแค่นี้ และผู้ถือหุ้นจะมีความสุขชั่วนิรันดร์

แต่ช้าก่อน โลกธุรกิจอาจไม่ได้หวานหอมขนาดนั้น และท้องฟ้ากว้างอาจเต็มไปด้วยเหล่านกใจเหี้ยมที่รองาบแมลงปอเสียจนการกลับไปอยู่ใต้น้ำเป็นเรื่องน่าอภิรมย์ เช่นบริษัทรถยนต์ไฟฟ้าเทสลา (Tesla) ที่โผบินอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ NASDAQ ตั้งแต่ พ.ศ. 2553 แต่เมื่อกลางปีที่ผ่านมา อีลอน มัสก์ (Elon Musk) ชายหนุ่มผู้ก่อตั้งและผู้บริหารเทสลากลับให้สัญญาณว่ามีแผนจะนำเทสลาออกจากตลาดโดยซื้อหุ้นกลับจากสาธารณชน

แม้ว่าท้ายที่สุดอีลอน มัสก์ ก็กลับลำกระทันหันและถูกตรวจสอบโดยองค์กรกำกับดูแลที่มองว่าเขาสร้างกระแสข่าวเพื่อปั่นราคา แต่ในประวัติศาสตร์ตลาดหุ้นก็มีแบรนด์ข้ามชาติชื่อดังหลายต่อหลายแบรนด์ที่เปลี่ยนใจถอนตัวออกจากตลาดหลังจาก IPOs ไปได้สักระยะ เช่น แบรนด์ร้านยาและเครื่องสำอาง Boots บริษัทเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ Dell Computers เชนร้านฟาสต์ฟู้ดชื่อดังที่ไม่ได้ถอนตัวจากตลาดเพียงหนึ่งแต่มีถึงสอง Burger King และบริษัทอาหารและซอสแบรนด์ที่หลายคนรู้จักกันดี H.J. Heinz

การเห็นชื่อบริษัทตัวเองปรากฏในกระดานซื้อขายหุ้นดูจะเป็นความฝันของผู้ประกอบการหลายคน แต่อะไรคืออุปสรรคที่ทำให้หลายบริษัทมหาชนเลือกถอยตัวเองกลับมาอยู่อย่างสงบใต้น้ำ ความท้าทาย ข้อดีและข้อด้อยของการเป็นบริษัทที่ซื้อขายในตลาดคืออะไร หาคำตอบได้ในบทความนี้เลยครับ

เหรียญสองด้านของการเป็นบริษัทมหาชน

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยประมาณระยะเวลาที่ใช้ก่อนขาย IPOs อยู่ที่ระหว่าง 18-24 เดือน โดยบริษัทที่จากโผบินสู่ฟ้ากว้างต้องทำงานอย่างใกล้ชิดกับที่ปรึกษาทางการเงิน ผู้ตรวจสอบบัญชี และผู้ตรวจสอบภายใน เพื่อเตรียมความพร้อมทางการเงิน ปรับปรุงระบบการบัญชี และระบบการควบคุมภายในเพื่อให้มั่นใจได้ว่าบริษัทมีความโปร่งใสและรับผิดชอบต่อสาธารณะ ไม่ใช่ระดมเงินทุนจากประชาชนไปทำมิดีมิร้ายที่ไม่ใช่เป้าหมายทางธุรกิจ

ส่วนเหตุผลที่บริษัทเอกชนต่างใฝ่ฝันที่จะ IPOs ก็คือ เงิน เงิน และเงิน จากนักลงทุนเพื่อขยับขยายธุรกิจ หรือซื้อธุรกิจอื่นๆ ช่วยสร้างความเข้มแข็งของฐานที่มั่นในตลาดนั่นเองครั

เหตุผลที่บริษัทเอกชนต่างใฝ่ฝันที่จะ IPOs ก็คือ เงิน เงิน และเงิน จากนักลงทุนเพื่อขยับขยายธุรกิจ หรือซื้อธุรกิจอื่นๆ ช่วยสร้างความเข้มแข็งของฐานที่มั่นในตลาดนั่นเองครั

ข้อจำกัดสำคัญของบริษัทเอกชนก็คือไม่สามารถระดมทุนจากสาธารณะได้ หากจะต้องหาเงินมาถมเพื่อขยายร้านค้า เปิดสาขา ตั้งโรงงาน ก็ต้องวิ่งถามหาจากญาติสนิทมิตรสหาย แถมหุ้นที่ถือไว้ยังไร้ซึ่งสภาพคล่อง ในขณะที่บริษัทมหาชนสามารถเข้าถึงสาธารณะได้ผ่านตลาดที่เป็นตัวกลาง อีกทั้งนักลงทุนไม่ว่าจะรายเล็กรายใหญ่ยังสามารถนำหุ้นมาซื้อขายในตลาดได้อย่างเสรีอีกด้วย

นอกจากนี้ บริษัทเอกชนยังถือว่าไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก ทำให้การไปเปิดตลาดใหม่หรือสร้างความน่าเชื่อถือค่อนข้างทำได้ยาก แตกต่างจากบริษัทมหาชนที่พูดได้เต็มปากเต็มคำว่าเชื่อถือได้ในระดับหนึ่ง เพราะผ่านการตรวจสอบจากเหล่าองค์กรกำกับดูแลที่เข้มข้นกว่า และมีเอกสารเผยแพร่ที่สามารถเข้าถึงได้จากเว็บไซต์ที่น่าเชื่อถือ ไม่ว่าจะเป็นรายงานประจำปี งบการเงิน หรือแบบฟอร์มที่มีข้อมูลของบริษัทอย่างละเอียด

กราฟแสดงปริมาณบริษัท/หลักทรัพย์ที่จดทะเบียนเข้าใหม่ และมูลค่าระดมทุน (ล้านบาท) ระหว่าง พ.ศ. 2546 – 2561 ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

แต่การที่ต้องเปิดเผยข้อมูลจำนวนมากนี่แหละครับที่นับว่าเป็นดาบสองคม เพราะทุกบริษัทมหาชนจะต้องลงทุนลงแรงทำรายงานเหล่านี้เพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แถมยังต้องทำงบการเงินเพื่อเผยแพร่รายไตรมาส แบบแสดงรายการข้อมูลประจำปีซึ่งมีรายละเอียดยิบย่อยตั้งแต่กลยุทธ์ของบริษัท ค่าตอบแทน คุณวุฒิของผู้ที่จะมาเป็นผู้บริหาร หรือคณะกรรมการบริษัท แล้วยังต้องรายงานทุกการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญต่อสาธารณะ และจัดประชุมผู้ถือหุ้นประจำปีและเชิญผู้ถือหุ้นทุกรายไม่ว่าจะถือในสัดส่วนน้อยแสนน้อยแค่ไหนก็ตาม

ที่สำคัญ บริษัทมหาชนไม่เพียงต้องทำตามความคาดหวังของผู้ถือหุ้นและองค์กรกำกับดูแล แต่ต้องให้ความสนใจกับเหล่านักวิเคราะห์เขี้ยวลากดินที่มักตั้งความคาดหวังกับ ‘กำไรต่อหุ้น’ ไว้ค่อนข้างสูง และหากผู้บริหารไม่สามารถทำได้ตามที่คาดหวัง (แม้จะยังสามารถทำกำไรและสร้างการเติบโตให้กับบริษัทได้) ราคาหุ้นก็มักจะร่วง พร้อมกับบทวิเคราะห์กลยุทธ์ที่ผิดพลาด รายงานแนะนำให้ขาย ซึ่งมักสร้างแรงกดดันให้กับผู้บริหารมือใหม่ที่ยังไม่ชินกับคลื่นลมในตลาด และทำให้ผู้ถือหุ้นดั้งเดิมรู้สึกว่าบริษัทที่ก่อตั้งมากับมือ ‘ไม่ได้เป็นของเรา’ อีกต่อไป

บริษัทมหาชนไม่เพียงต้องทำตามความคาดหวังของผู้ถือหุ้นและองค์กรกำกับดูแล แต่ต้องให้ความสนใจกับเหล่านักวิเคราะห์เขี้ยวลากดิน

อีกเงื่อนไขที่มักทำให้รู้สึก ‘ขยับตัวลำบาก’ คือข้อบังคับที่ว่าผู้บริหารและกรรมการบริษัท (รวมถึงคู่สมรสและบุตร) จะต้องรายงาน ‘การเปลี่ยนแปลงการถือหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า’ หรือเอาง่ายๆ ว่าการซื้อขายตราสารทุกอย่างที่เกี่ยวพันกับหุ้นของบริษัท จะต้องถูกเผยแพร่ต่อสาธารณะภายใน 3 วัน

ยังไม่นับค่าใช้จ่ายจำนวนไม่น้อยก่อนที่จะนำบริษัทเข้าตลาด แถมยังต้องเสียค่าธรรมเนียมรายปีอีกจำนวนหนึ่งตามมูลค่าของทุนที่ชำระแล้ว แม้ว่าอัตราดังกล่าวจะดูไม่มากสำหรับบริษัทพันล้านหรือหมื่นล้าน แต่หากการคงสถานะเป็นบริษัทมหาชนอาจไม่คุ้มค่า การถอนตัวออกจากตลาดก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ

เป็นแค่บริษัทเอกชน ดีกว่ายังไง?

นอกจากความยุ่งยากจากสารพัดกฎเกณฑ์ของการเป็นบริษัทมหาชน และแรงกดดันมหาศาลจากนักลงทุนและเหล่านักวิเคราะห์ในตลาด หัวใจสำคัญที่ผู้ประกอบการหลายต่อหลายคนเลือกที่จะไม่ทำ IPOs คือความสามารถในการควบคุมกลยุทธ์และทิศทางของบริษัทแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ แบบไม่ต้องฟังเสียงคนนอก

ข้อกำหนดที่บริษัทมหาชนจะต้องทำงบการเงินรายไตรมาสถือเป็น ‘บ่วงรัดคอ’ ที่ทำให้เหล่าผู้บริหารต้องกระเสือกกระสนเพื่อทำให้งบการเงินดีได้ในระยะสั้น แม้ว่ากลยุทธ์ที่ใช้ในปัจจุบันอาจสร้างต้นทุนมหาศาลในระยะยาวก็ตาม การเรียกร้องให้บริษัททำกำไรในกรอบเวลาแคบๆ ยังทำให้ผู้บริหารไม่มีแรงจูงใจที่จะเปลี่ยนทิศทางการดำเนินธุรกิจ แม้จะรู้อยู่แก่ใจว่าที่ทำๆ อยู่ทุกวันนี้คือการถลำลึกลงไปในบ่อซึ่งปลายทางคือทางตัน แต่ก็ต้องจำใจทำเพื่อรักษาเก้าอี้และตัวเลขรายได้ในบัญชีส่วนตัว

ข้อกำหนดที่บริษัทมหาชนจะต้องทำงบการเงินรายไตรมาสถือเป็น ‘บ่วงรัดคอ’ ที่ทำให้เหล่าผู้บริหารต้องกระเสือกกระสนเพื่อทำให้งบการเงินดีได้ในระยะสั้น

แต่หากใครตัดสินใจก้าวขาเข้าไปในตลาดหลักทรัพย์ ก็ใช่ว่าจะสามารถถอยออกมาง่ายๆ เพราะคงไม่มีผู้ถือหุ้นคนไหนใจดียอมคืนหุ้นให้ฟรีๆ สิ่งที่ผู้บริหาร เจ้าของกิจการ หรือนักลงทุนที่อยากดึงบริษัทออกจากการเป็นบริษัทมหาชนต้องทำ คือการกว้านซื้อหุ้นที่ถือโดยนักลงทุนรายย่อยในราคาที่สูงกว่าตลาด จึงไม่น่าแปลกใจที่หลังจากอีลอน มัสก์ ทวีตว่าจะเอาเทสลาออกจากตลาด ราคาหุ้น TSLA จึงพุ่งกระฉูด ก่อนที่จะตกฮวบหลังมัสก์ทวีตอีกครั้งว่าเขาเปลี่ยนใจไม่เอาเทสลาออกจากตลาด

การได้ IPOs เปรียบเสมือนความฝันของเจ้าของกิจการหลายคน แต่การตัดสินใจดังกล่าวก็ไม่ต่างจากการตัดสินใจทางธุรกิจอื่นๆ ที่ผู้บริหารและผู้ถือหุ้นจะต้องชั่งน้ำหนักระหว่างข้อดีและข้อด้อยอย่างถี่ถ้วน การเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่รายได้มหาศาลก็ไม่จำเป็นต้องเข้าสู่โลกมหาชนเพื่อระดมเงินทุนเพิ่มเติมหากไม่มีแผนใช้เงินดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะนอกจากจะไม่ได้ขยับขยายกิจการ อาจต้องเจอกับสารพัดเรื่องน่าปวดหัวโดยไม่จำเป็น

 

เอกสารประกอบการเขียน

Tags: , , ,