เวลาเราไปเดินเลือกซื้อผักและผลไม้ตามตลาดนัดหรือซูเปอร์มาร์เก็ต ตัวแปรหนึ่งที่สะกิดใจได้ไม่แพ้ราคา, ความสวยงาม, และคุณภาพ ก็คือขนาดครับ (ซึ่งมักจะแปรผันตรงตามราคาอยู่แล้วนั่นเอง) แต่ทั้งหมดนี้เป็นแค่ตัวอย่างในกรณีสำหรับพวกเราเหล่าผู้บริโภคธรรมดาๆ เท่านั้น เพราะในอีกฟากหนึ่งของวงการเกษตร การแข่งขันอันร้อนแรงในการสร้างอภิมหาพืชยักษ์ก็ยังคงดำเนินกันต่อไป แน่นอนครับว่าไม่ได้เน้นไปที่การบริโภคหรือรสชาติ แต่เจาะจงไปที่รูปลักษณ์ของพืชพรรณนั้นเสียมากกว่า ดังนั้นแล้วคงไม่มีช่วงเวลาไหนที่เหมาะสมมากไปกว่าปลายเดือนตุลาฮาโลวีนอีกแล้วครับ ที่พืชผลทางการเกษตรขนาดใหญ่กว่าปกติเหล่านี้จะได้ออกมาโชว์พาวกันแบบจริง ๆ จัง ๆ กันเสียที ตั้งแต่ฟักทอง, บวบ, แตงโม และอีกสารพัดผลไม้ที่ขึ้นชื่อเรื่องความใหญ่โตล้วนพาเหรดกันออกมาในช่วงเก็บเกี่ยวแห่งฤดูใบไม้ร่วง อะไรคือเหตุผลที่ทำให้เราพร้อมที่จะไปให้สุดในการปลูกพืชยักษ์ แล้วทำไมฟักทองถึงกลายมาเป็นดาวเด่นในวัฒนธรรมร่วมไปเสียได้ เรื่องราวทั้งหมดคงต้องย้อนกลับไปตั้งแต่ยุคที่มนุษย์เราเริ่มรู้จักการทำเกษตรกรรมเลยทีเดียวครับ
ทุกอย่างเริ่มจากเรา – หลายพันปีแห่งการตัดต่อพันธุกรรม
ก่อนที่เราจะเราจะพูดถึงฟักทอง ผมคงต้องขอเกริ่นถึงพืชฟาร์มกันก่อนครับ ในสมัยที่มนุษย์เราเริ่มเปลี่ยนวัฒนธรรมและการใช้ชีวิตจากการ “ล่าและเก็บ” มาเป็นการ “เลี้ยงและปลูก” เมื่อกว่าหมื่นปีที่แล้วนั้น มนุษย์แทบไม่มีตัวเลือกอะไรนอกไปจากองค์ความรู้อันแสนจำกัดและพืชป่าไม่กี่สายพันธุ์ที่พอเอามาปลูกแล้วรอดพอที่จะเก็บเกี่ยวมาประทังชีวิตแล้วสามารถเก็บเมล็ดหรือชิ้นส่วนของพืชนั้นไปทำการปลูกใหม่เพื่อให้วัฏจักรการเกษตรนี้หมุนเวียนต่อไปได้
ดังนั้นแล้วพืชป่าที่ว่าจึงไม่มีอะไรใกล้เคียงกับสิ่งที่เรามีในปัจจุบันเลยครับ พืชในสมัยนั้นมักจะมีเนื้อหรือส่วนที่นำมากินได้ไม่ถึงครึ่งของเมล็ดและเปลือก (หรืออะไรก็ตามที่เอามากินไม่ได้แน่ ๆ) เสียด้วยซ้ำ แถมส่วนมากยังมีขนาดเล็กแบบสุด ๆ ไปเลย ด้วยความที่พืชถูกวิวัฒนาการมาเพื่อตอบโจทย์กับสัตว์ป่าในการขยายพันธุ์ตั้งแต่แรก มิใช่มนุษย์ช่างเลือกอย่างพวกเรา พอเป็นแบบนี้แล้วมนุษย์ในยุคแรกเริ่มการเกษตรจึงไม่อยู่เฉยแน่ครับ ความช่างเลือกของเราได้เป็นตัวแปรหลักในการบังคับวิวัฒนาการของพืชทางการเกษตรหลากหลายสายพันธุ์เป็นเวลาหลายพันปี จะพูดว่ามนุษย์ทำการตัดต่อพันธุกรรมพืชผ่านหลายล้านเจนเนอเรชั่นเลยก็ว่าได้ครับ โดยเราเลือกที่จะปลูกหรือผสมพืชที่ให้ผลผลิตได้ตอบโจทย์กับพวกเรามากกว่า ไม่ว่าจะเป็นพืชที่ให้ผลผลิตดีกว่า, รสชาติอร่อยกว่า, มีขนาดใหญ่กว่า เป็นต้น
กาลเวลาผ่านไปเรื่อย ๆ พืชป่าในยุคแรกจึงกลายเป็นพืชเกษตรที่เราเห็นและคุ้นเคยกันในปัจจุบันจนได้ครับ ซึ่งถ้าหากจะเปรียบเทียบกับบรรพบุรุษพืชป่าแล้วล่ะก็ พืชเกษตรเหล่านี้ก็คงเทียบได้กับสัตว์ประหลาดด้วยซ้ำครับ ยกตัวอย่างเช่นกล้วยที่กลายสภาพมาเป็นก้อนเนื้อชุ่มฉ่ำที่เมล็ดภายในไม่ต่างจากความเป็นหมันไปแล้ว หรือแตงโมที่มีเนื้อเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จนแทบจะระเบิด แถมยังถูกกำจัดเอาเมล็ดออกไปได้สำเร็จแล้วอีกด้วย เพื่อให้มนุษย์อย่างเรา ๆ สามารถรับประทานพืชชนิดนี้ได้ง่ายขึ้น เพราะความขี้เกียจแกะเมล็ดนั่นเอง กระบวนการทั้งหมดนี้คือการ “Domestication” หรือ “การปรับปรุงพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตให้เชื่องและเหมาะสมต่อการใช้งานของมนุษย์” ถ้าเราพยายามปรับสายพันธุ์สิ่งมีชีวิตให้เข้าทางความต้องการของพวกเราแล้ว นั่นแหละครับคือการ Domestication
แต่กระบวนการ Domestication ที่เราทำกับพืชนี้กลับเห็นได้ชัดเจนที่สุดในสัตว์ครับ โดยเฉพาะในกลุ่มสัตว์เลี้ยงและปศุสัตว์ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นหมาบ้านที่มีจุดเริ่มต้นจากหมาป่า, หมูฟาร์มสีชมพูที่กำเนิดมาจากหมูป่า, หรือไก่ไข่ที่มีที่มาจากไก่ป่า เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นถึงความสามารถของมนุษยชาติในการพัฒนาสายพันธุ์สิ่งมีชีวิตมาตั้งแต่สมัยเรายังไม่เข้าใจถึงการมีอยู่ของ DNA เลยด้วยซ้ำ
เร่งสปีดขึ้นไปอีกด้วยการดัดแปลงพันธุกรรม
กาลเวลาผ่านไปจนถึงยุคปัจจุบัน มนุษย์เราได้สายพันธุ์พืชทางการเกษตรที่ดีขึ้นมามากแล้วก็จริง แต่พวกเราย่อมไม่หยุดยั้งอยู่แค่นี้ ด้วยความเข้าใจในการหลักการปลูกพืช, การคัดเลือกพันธุ์, การทำการเกษตรเชิงอุตสาหกรรม รวมไปถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เช่น GMO (Genetically Modified Organism) ที่เป็นการย่นระยะเวลาหลายร้อยหลายพันปีในการปรับปรุงพันธุ์ที่เราทำมาตลอดอยู่แล้วจนเหลือแค่ไม่กี่ปีเท่านั้น ซึ่งเป็นการเปิดประตูบานใหม่ให้ความเป็นไปได้ไม่สิ้นสุดในวงการเกษตรเลยก็ว่าได้ครับ
ผลลัพธ์ของชนิดพันธุ์จากการค้นคว้าและวิจัยในปัจจุบัน (ไม่ว่าจะด้วย GMO หรือไม่ก็ตาม) มีตั้งแต่พริก Carolina Reaper (Capsicum chinens) หรือชื่อไทยคือยมทูตแห่งแคโรไลนา เป็นพริกที่ถูกพัฒนาสายพันธุ์โดยนาย Ed Currie ซึ่งเขาใช้เวลาไม่กี่ปีเท่านั้นในการผสมจนได้พริกที่มีความเผ็ดระดับที่ทำให้คนธรรมดาแทบจะพ่นไฟออกมาได้ เพราะเจ้าพริกชนิดนี้มีค่าความเผ็ดตามหน่วย Scoville Heat Units (SHU) เฉลี่ยสูงถึง 1,641,183 หน่วย ในขณะที่พริกขี้หนูบ้านเรามีค่า SHU อยู่ที่ 50,000-100,000 หน่วยเท่านั้นเอง นับว่าห่างกันเกือบ 20 เท่าตัวเลยทีเดียว
นี่เป็นตัวอย่างที่โดดเด่นที่สุดอย่างหนึ่งครับ และแน่นอนว่าพืชแทบทุกชนิดที่มนุษย์บริโภคในปัจจุบันล้วนยังคงได้รับการปรับปรุงพันธุ์กันอยู่เรื่อยๆ รวมไปถึง “ฟักทอง” ที่เรากำลังจะพูดถึงกันต่อจากนี้ด้วย (หลังจากที่เกริ่นกันมาซะนาน) เราสามารถสรุปได้ว่ามนุษย์ตั้งใจดัดแปลงพืชพรรณทั้งหลายให้เป็นไปตามความต้องการของเรามาช้านานแล้ว และเมื่อเทคโนโลยีและองค์ความรู้เข้ามามีบทบาทและกลายเป็นปัจจัยสำคัญในยุคปัจจุบัน กระบวนการเหล่านี้ยิ่งสามารถทำได้เร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้นจนกลายเป็นปฏิบัติการณ์ปกติไปแล้วในปัจจุบันนั่นเอง
เทศกาลพืชยักษ์
แล้วทำไมชาวไร่ต้องแข่งกันปลูกผักให้ใหญ่โตด้วยล่ะ ทำไมชาวสวนฟักทองไม่ไปเลือกปรับปรุงพันธุ์ให้ฟักทองอร่อยขึ้นหรือทนโรคมากขึ้นแทน คำตอบคือพวกเขาตั้งใจพัฒนาสายพันธุ์พืชเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคและการผลิตในรูปแบบนี้อยู่แล้วครับ แต่กับเรื่องขนาดนั้น ดูจะเป็นการตอบโจทย์การแข่งขันของชาวไร่กันเป็นหลัก
ในส่วนของเทศกาลการประกวดฟักทองนั้น เราคงต้องแยกออกเป็นสองประเภทครับ คือการประกวดการแกะสลักตกแต่งที่เป็นวัฒนธรรมกระแสหลักในยุคนี้และอยู่คู่กับวันฮาโลวีนไปแล้ว (ซึ่งเราจะมูฟออนไปถึงเหตุผลเบื้องหลังต่อจากนี้ครับ) กับการประกวดฟักทองกันที่ลักษณะทางกายภาพ ทั้งน้ำหนัก, รูปทรง, และขนาด ซึ่งเป็นหัวข้อหลักที่เราจะโฟกัสกันครับ
การประกวดฟักทองและผลผลิตทางการเกษตรที่ขนาดคาดว่าเริ่มทำกันมาตั้งแต่ยุคโบราณแล้วครับ แต่การบันทึกอย่างเป็นทางการพึ่งจะเกิดขึ้นกันในยุคสมัยใหม่ ผ่านบริการทางด้านสถิติที่ผู้คนรู้จักกันดีอย่าง Guiness World Record ที่เป็นเครื่องมือผลักดันให้ชาวไร่ทั้งหลายพร้อมใจกันแข่งขันเพื่อชื่อเสียงและเกียรติยศนี้ เงินรางวัลอาจจะเป็นอีกปัจจัยหนึ่ง (ถึงแม้จะแตกต่างกันไปตามเทศกาลก็ตาม) แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้ชนะได้มาแน่ ๆ คือชื่อเสียงในวงการและการตลาดของสินค้าครับ (แค่แปะคำว่า “…ที่สุดในโลกไปเฉย ๆ คงไม่พอ – ต้องมีหลักฐานด้วย”) ซึ่งถ้าหวังผลในระยะยาวก็อาจจะช่วยเพิ่มยอดขายให้ไร่ฟักทองนั้น ๆ ได้ ถึงแม้ส่วนใหญ่ชาวไร่เหล่านี้จะเข้าแข่งกันเป็นงานอดิเรกก็ตาม (ถ้าซีเรียสจริง ๆ ก็แข่งกันเป็นอาชีพได้เหมือนกัน)
ในปัจจุบัน เทศกาลประกวดฟักทองมักจะจัดกันในช่วงปลายปี ประมาณช่วงสิ้นสุดฤดูใบไม้ร่วงย่างเข้าฤดูหนาว อันเป็นเวลาเก็บเกี่ยวของเกษตรกรในซีกโลกเหนือ พืชตระกูลฟักอันเป็นไม้ที่ให้ผลผลิตในช่วงนี้ก็จะกลายเป็นดาวเด่นในช่วงเก็บเกี่ยวไปอย่างไม่ต้องสงสัย สถานที่จัดเทศกาลส่วนใหญ่เริ่มต้นกันในยุโรป ก่อนที่จะไปเป็นที่นิยมกันในสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะในหลายรัฐฝั่งตะวันตก (ในฝั่งตะวันออกเองก็มีงานใหญ่ ๆ อย่างเทศกาลประกวดฟักทองแห่งเมือง Half Moon Bay รัฐแคลิฟอเนียร์เหมือนกัน) เทศกาลเหล่านี้มักจะจัดกันโดยคนในพื้นที่ซะส่วนใหญ่ แต่ก็มีหลายครั้งที่เป็นงานใหญ่พร้อมสปอนเซอร์ทุนหนาเข้ามาสนับสนุน หรือหน่วยงานอย่าง Guiness เข้ามาเป็นกรรมการให้ แต่ผลลัพธ์ที่ได้ไม่ต่างกันมากนักในแง่มุมของการดึงเอาฟักทองขนาดใหญ่ที่สุดในย่านนั้นไปรวมกันไว้ในที่เดียวได้สำเร็จ
งานประกวดแทบทั้งหมดมักจะจัดไว้ได้ไม่กี่วัน หลายงานเป็นงานฉลองวันเดียวจบที่จัดร่วมกันกับเทศกาลเฉลิมฉลองฤดูใบไม้ร่วงอื่นๆ เพราะฟักทองขนาดยักษ์ทั้งหลายที่นำมาร่วมงานไม่สามารถเก็บเอาไว้ได้นานนัก เมื่องานเลิกรา เกษตรกรถ้าไม่ขายเจ้าผลผลิตขนาดมโหฬารนั้นเลยก็มักจะนำกลับไปแปรรูปเพื่อบริโภคหรือใช้งาน ไม่ก็กำจัดทิ้งตามสมควรกันต่อไป
จนกลายเป็นฟักทองที่ใหญ่ที่สุด
อาจจะดูเป็นเรื่องง่ายที่ในแต่ละปีมีการส่งฟักทองยักษ์เข้าประกวดกันในหลักร้อยไปจนถึงพัน แต่ก็ไม่ใช่ว่าใคร ๆ อยากจะเลี้ยงฟักทองให้ออกมาหนักเท่ารถมินิแล้วจะเดินออกไปซื้อเมล็ดแถวจตุจักรมาลุยได้เลยหรอกนะครับ การเลี้ยงฟักทองประกวดนั้นแทบไม่ต่างกับการปลูกบอนไซเลยหรือเลี้ยงปลาคาร์ปสวยงามไปแข่งซักเท่าไรในความเห็นส่วนตัวของผม (ต่างกันที่เหนื่อยคนละแบบ และหลักการต่างกันไป) ฟักทองที่ใช้แข่งขันกันเป็นพืชเมืองหนาวในกลุ่มชนิดพันธุ์ Cucurbita maxima (สปีชีส์นี้โด่งดังที่สุดในวงการนี้เลย) ฟักทองพันธุ์นี้ถูกคัดเลือกสายพันธุ์มาอย่างเต็มที่ โดยมีต้นกำเนิดในแถบอเมริกาใต้ แต่ผ่านกระบวนการ Domestication มากว่า 4,000 ปี เอกลักษณ์ของสายพันธุ์นี้คือผลสีส้มสดใส ที่ส้มจริง ๆ ยังต้องอาย เวลาเห็นฟักทองพันธุ์นี้ในไร่ช่วงฤดูเก็บเกี่ยวย่อมเป็นภาพที่ดูเซอเรียลมาก ๆ สำหรับคนเมืองร้อนอย่างผม อารมณ์เหมือนคนเอาลูกบอลชายหาดทาสีไปวางไว้กลางทุ่งเลยทีเดียว
แต่จริง ๆ แล้วก็มีอีกหลายสายพันธุ์เหมือนกันที่นำมาปลูกเพื่อแข่งได้อย่างเช่นกลุ่ม Atlantic Giant Pumpkin หากเราแน่ใจแล้วว่าจะเข้าต่อสู้ในการแข่งขันอันดุเดือดนี้แล้ว การตามล่าเมล็ดของสายพันธุ์ที่เราต้องการจะกลายเป็นขั้นตอนต่อไป ส่วนใหญ่แล้วควรจะหาซื้อจากแหล่งท้องถิ่นหรือฟาร์มที่ได้มาตรฐาน เพราะพืชชนิดนี้ไม่ใช่พืชตลาดที่สามารถตามหาได้ทั่วไป (ไม่แน่ว่าคุณต้องนั่งเครื่องไปโผล่กลางทุ่งในอเมริกาเลยก็ได้) แต่หากโชคดีจริง ๆ อาจจะหาสั่งออนไลน์มาได้ครับ แต่ก็ต้องระวังเจอเมล็ดปลอมกันด้วยนะ
เมื่อได้เมล็ดมาแล้ว ขั้นตอนสำคัญจึงจะเริ่มต่อได้ นั่นก็คือการปลูกนั่นเองครับ แน่นอนว่าสถานที่และภูมิอากาศมีผลอย่างมาก ดังนั้นแล้วจึงต้องเลือกให้ดี จากนั้นจึงทำการหว่านเมล็ดและเพาะกล้า เมื่อต้นฟักทองงอกเงยขึ้นมาในฤดูร้อน ขั้นตอนต่อไปคือการต่อสู้กันในรูปแบบ Hunger game ครับ เราต้องเลือกต้นกล้าที่ดูมีแววที่สุดและแข็งแรงมากที่สุดเพื่อนำไปลงดินจริง ๆ กันต่อไป ต้นฟักทองที่ผ่านการคัดเลือกแล้วจะเป็น Candidate หลักไปโดยปริยาย
ในระหว่างนี้เราต้องมั่นใจว่าต้นฟักทองแต่ละต้นมีพื้นที่ในการเจริญเติบโตที่เหมาะสม ฟักทองเป็นไม้เลื้อยคลุมดินที่ไหลและโตไปเรื่อย ๆ ในแนวราบ เราสามารถทำการควบคุมได้โดยใช้เอ็นหรือเชือกช่วยให้ยอดอ่อนของฟักทองเกาะเกี่ยวไปเรื่อย ๆ ได้ครับ
เมื่อต้นฟักทองโตจนพร้อมออกดอกและติดผลแล้ว เราต้องมั่นใจว่าสามารถทำการผสมให้เกิดการติดผลได้จริง การผสมเทียมแทบจะเป็นสิ่งที่ทุกคนทำกัน (โดยการนำละอองเกสรไปผสมด้วยเครื่องมือง่าย ๆ อย่างพู่กัน) เพราะฟักทองเป็นพืชผสมข้ามต้นตามธรรมชาติที่มีดอกเพศผู้และเพศเมียแยกกันชัดเจน เมื่อฟักทองติดผลแล้ว การแข่งขันจะเกิดขึ้นอีกรอบแต่ในครั้งนี้คือการเลือกผลที่ดูดีที่สุดแล้วตัดยอดที่เหลือทิ้งไป ทำการประคบประหงมเจ้าผลฟักทองน้อย ๆ นี้ไปเรื่อย ๆ จนถึงช่วงเวลาเก็บเกี่ยว ไม่แน่ว่าเราจะได้ฟักทองขนาดยักษ์ขึ้นมาจริง ๆ ก็ได้ครับ
ที่สำคัญยิ่งกว่าคือตลอดขั้นตอนการปลูกและเก็บเกี่ยว เราต้องป้องกันฟักทองจากศัตรูพืชนานาชนิด ทั้งแมลงศัตรูเช่นด้วงเต่าแตง, แมลงหวี่, และเพลี้ย หรือโรคระบาดอย่างเชื้อราอย่างราน้ำค้างและโรคเถ้าเหี่ยว เป็นต้น แถมต้องแน่ใจว่าต้นฟักทองของเราได้รับน้ำและแร่ธาตุอาหารเพียงพอต่อการสร้างผลที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่ฟักทองต้นนึงจะทำได้ อย่าลืมด้วยนะครับว่าผลฟักทองยักษ์ที่ค่อย ๆ ขยายขนาดอยู่กลางทุ่งคือเป้านิ่งสำหรับนกและสัตว์ทั้งหลายดี ๆ นี่เอง การป้องกันไม่ให้ผลฟักทองถูกทำลายไปก่อนกาลและในขณะเดียวกันก็ต้องไม่ให้การขุนผลฟักทองฆ่าต้นแม่ไปในระหว่างกระบวนการทั้งหมดนี้ นับว่าเป็นศิลปะและยุทธวิธีที่เกษตรกรทั้งหลายใช้ในการแข่งขันนั่นเองครับ
เพิ่มเติมในส่วนการปลูกซักหน่อย เกษตรกรส่วนมากจะมีกลุ่ม (Community) ของตนเองในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างกัน จึงไม่น่าแปลกใจที่บ้างครั้งจะมีกลวิธีใหม่ ๆ เข้ามาให้เห็นเช่นเดียวกับวงการปลูกพืชสวยงามอื่น ๆ บางครั้งการจะเฉือนชนะกันได้ต้องพึ่งทั้งการปฏิบัติการจริงและข้อมูลที่จำเป็นด้วย
และสำหรับใครที่สนใจที่จะทำลายล้างสถิติอย่างเป็นทางการให้ได้ นี่เป็นผลของผู้ชนะ 3 อันดับแรกโดยน้ำหนักครับ (แน่นอนว่าการแข่งขันมักจะวัดกันที่น้ำหนักเป็นหลัก แต่ไม่ต้องห่วงครับเพราะขนาดของฟักทองเหล่านี้ไม่เป็นสองรองใครอย่างแน่นอน)
1.ปี 2016 โดยคุณ Mathias Willemijns จากประเทศเบลเยียม, ทำน้ำหนักไป 2,624.6 ปอนด์ (1,190.5 กิโลกรัม)
2.ปี 2014 โดยคุณ Beni Meier จากประเทศสวิตเซอร์แลนด์, ทำน้ำหนักไป 2,323.7 ปอนด์ (1,054.0 กิโลกรัม)
3.ปี 2013 โดยคุณ Tim Mathison จากรัฐแคลิฟอเนียร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา, ทำน้ำหนักไป 2,032 ปอนด์ (922 กิโลกรัม)
จะเห็นได้ว่าแค่อันดับที่หนึ่งในปัจจุบันก็ปาไปเกินหนึ่งตันแล้ว นั่นหนักกว่ารถเล็กอย่าง Honda Jazz (1,038 กิโลกรัม) คันนึงซะอีกครับ การจะขนฟักทองเหล่านี้ไปไหนมาไหนได้ต้องพึ่งรถยกหรือเครนเลยทีเดียว และถ้าต้องการจะเปรียบเทียบเพิ่มอีก น้ำหนักเกือบ 1,200 กิโลกรัมสามารถเทียบได้กับน้ำหนักผู้ใหญ่ถึง 20 คน
นอกจากบันทึกอย่างเป็นทางการแล้ว ผมเชื่อว่ายังมีอีกหลายการประกวดเหมือนกันที่ได้ฟักทองออกมาในขนาดที่ใกล้เคียงแชมป์เปี้ยนเหล่านี้ (หรือเกินกว่า) แต่ไม่ได้มีการบันทึกเอาไว้ การประกวดล่าสุดในปี ค.ศ. 2019 ที่ผ่านมาในนิวอิงแลนด์ เกษตรกรจากรัฐคอนเนตทิคัตสมารถเอาชนะเทศกาลนี้ไปได้ด้วยฟักทองน้ำหนักถึง 2,294.5 ปอนด์ (1040.76 กิโลกรัม) เกินอันดับที่สามไปพอสมควรเลยครับ ดังนั้นแล้วโอกาสที่จะมีม้ามืดมาชิงจ้าวแห่งฟักทองที่ใหญ่และหนักที่สุดจึงมีโอกาสเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน ยิ่งด้วยเทคโนโลยีและกรรมวิธีการปลูกพืชสมัยใหม่ด้วยแล้ว เราอาจจะเห็นฟักทองขนาดสองตันที่ฉีกกฎธรรมชาติไปเลยในอนาคตอันใกล้ครับ
ทำไมต้องเป็นฟักทองในวันฮาโลวีน (และวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้อง)
อีกหนึ่งสาเหตุที่เทศกาลประกวดฟักทองยักษ์ยังคงเป็นภาพติดตราตรึงใจในช่วงเวลานี้ คือการที่มีวัฒนธรรมวันฮาโลวีนเข้ามาเกี่ยวข้องโดยตรง แถมทั้งสองงานดันใช้ฟักทองเป็นหลักเหมือนกันทั้งคู่
ฟักทองเข้ามาข้องเกี่ยวกับวัฒนธรรมของมนุษย์มาอย่างยาวนาน ในวรรณกรรมคลาสสิกเรื่องซินเดอเรลล่าที่ดิสนีย์นำมาสร้างใหม่ ฟักทองก็มีบทบาทเป็นถึงราชรถของนางเอกมาแล้ว ส่วนการแกะสลักโคมเป็นหน้าต่าง ๆ เพื่อใช้ตกแต่งในวันฮาโลวีนก็สามารถย้อนกลับไปได้ในศตวรรษที่ 19 ในแถบประเทศไอร์แลนด์ ผู้คนเชื่อว่าการแกะสลักฟักทองหรือพืชหัวและน้ำเต้าเป็นหน้าคน (ซึ่งน่าสยดสยองมาก ๆ) สามารถช่วยขับไล่ภูติผีปีศาจและนำความโชคดีมาให้ได้
วัฒนธรรมเหล่านี้ถูกนำเข้าไปสร้างความนิยมในสหรัฐอเมริกาพร้อมการอพยพของชาวไอริช ร่วมกันกับตำนานเล่าขานของ “แจ็คผู้น่ารังเกียจ” ที่เป็นต้นเหตุของโคมไฟฟักทอง เรื่องเล่านี้มีหลายเวอร์ชันมาก ๆ ครับ แต่พอจะสรุปใจความได้ว่าแจ็คเป็นหนึ่งในคนที่ชั่วที่สุดที่โลกนี้เคยมีมา เขาโกง, เขาขโมย, เขาป่วน, และเขาเมาหยำเปอยู่ตลอดทั้งวัน ชื่อเสียงเรียงนามในความเลวร้ายของแจ็คทำให้ซาตาน เจ้าผู้ครองนรกทนไม่ไหวถึงกับต้องขึ้นมาสู่ภพภูมิของมนุษย์เพื่อยลความร้ายกาจของแจ็คให้เห็นเต็มขวัญตา เมื่อแจ็คได้พบกับซาตานเขากลับไร้ซึ่งความกลัว แต่กลับเยาะเย้ยซาตานเสียอีกว่าถ้าหากจะมานำพาวิญญาณเขาไปต้องไปเลี้ยงเหล้าเขาที่ผับแถวนั้นเสียก่อน เรื่องเล่าเกี่ยวกับแจ็คแตกออกเป็นหลายรูปแบบนับจากจุดนี้ครับ แต่ผลลัพธ์คือแจ็คสามารถหลอกซาตานให้ไม่สามารถเก็บวิญญาณเขาสู่นรกภูมิไปได้ตลอดกาล ด้วยการหักหลังซาตานให้แปลงร่างเป็นเหรียญเงินแล้วขังซาตานไว้ในกระเป๋าเงินด้วยไม้กางเขนบ้าง ไม่ก็ชวนให้ซาตานไปปีนต้นแอปเปิลแล้วกรีดไม้กางเขนลงบนต้นไม้นั้น เป็นการกักขังซาตานไว้บ้างก็มี ที่แน่ ๆ คือซาตานโดนแจ็คบุลลี่ไปซะเต็มคราบและต้องจำใจให้สัญญาไปตามที่ได้กล่าวไว้
อนิจจาเมื่อกาลเวลาผ่านไป พิษสุราได้คร่าชีวิตแจ็คลงในที่สุด เมื่อวิญญาณของเขาเดินทางไปยังประตูสวรรค์ แน่แหละครับว่าพระเจ้าย่อมไม่ให้คนชั่วช้าอย่างแจ็คได้อย่างกรายเข้าสู่ภพภูมิอันศักดิ์สิทธิ์นั้นแน่ ๆ วิญญาณของแจ็คถูกขับไล่ไปยังนรก ที่ซึ่งซาตานได้เฝ้ารออยู่แล้วด้วยความสะใจ ซาตานบอกกับแจ็คว่าด้วยพันธะที่ให้เอาไว้กับเขาทำให้นรกไม่สามารถต้อนรับแจ็คเข้าไปได้ วิญญาณของเขาจะต้องร่อนเร่อยู่ในความเวิ้งว้างอันมืดมิดระหว่างความดีและความชั่วไปตลอดกาล แจ็คอ้อนวอนให้ซาตานช่วยเหลือเขาอย่างไรก็ได้ แต่ซาตานได้แต่เยอะเย้ยและหัวเราะใส่วิญญาณของแจ็ค พร้อมกับให้หัวแรดดิช (หรือฟักทองในตำนานสมัยใหม่) กับแจ็คพร้อมด้วยถ่านไหม้ไฟภายในนั้น เพื่อให้แจ็คใช้ส่องนำทางไปตลอดชั่วกัปล์ชั่วกัลในโลกอันมืดมิดนั้น จนกว่าจักรวาลจะถึงกัลปาวสาน…
ตำนานของแจ็คนี่เองที่ทำให้เทศกาลฮาโลวีนมีสีสันและเอกลักษณ์ขึ้นมาอย่างที่เห็นในปัจจุบัน แถมช่วยให้เกษตรกรขายฟักทองและพืชผลทั้งหลายได้ดีแบบเทน้ำเทท่าอีกด้วย ดังนั้นแล้วการตลาดจึงเข้ามามีบทบาทในการทำให้ตำนานและประเพณีเหล่านี้เป็นที่นิยมมากขึ้นไปอีกในลักษณะของโมเดลซานตาแห่งวันคริสต์มาสเลยครับ
ทั้งหมดนี้จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ฟักทองกลายเป็นสัญลักษณ์ของฮาโลวีนไปในที่สุด ไม่ต่างจากภูติผีปีศาจทั้งหลายเลย และหยั่งรากลึกในวัฒนธรรมร่วมสมัยมาอย่างได้ยาวนาน
บทส่งท้าย
การสร้างฟักทองที่ใหญ่ที่สุดไม่ใช่แค่การแข่งขันธรรมดา ๆ ในความเห็นของผม แต่มันคือเครื่องแสดงถึงแสนยานุภาพด้านความสามารถทางการเกษตร, การวิจัย, และนวัตกรรมด้านการปรับปรุงพันธุ์ที่ถูกดันไปจนถึงขีดสุดในแต่ละปี มนุษย์เรามักจะวาดภาพถึงพืชยักษ์ที่สามารถเลี้ยงดูผู้คนจำนวนมากได้ไม่ต่างจากกัลลิเวอร์หรือคนแคระที่มาเจอพืชขนาดปกติของผู้คนทั่วไป แนวคิดลักษณะนี้ถูกพบได้ในนวนิยายไซไฟหลายเรื่อง แต่ในความเป็นจริง ธรรมชาติกลับบังคับให้เราเลือกพัฒนาในปริมาณการผลิตมากกว่าขนาดแทน ซึ่งถึงแม้จะดูไม่น่าติ่นตาตื่นใจ แต่ก็เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดแล้วในปัจจุบัน
ส่วนตัวผู้เขียนนั้นไม่เคยได้ลองลิ้มชิมรสฟักทองยักษ์ขนาดหนึ่งตันมาก่อนครับ และรายงานถึงความสามารถในการบริโภคของฟักทองเหล่านั้นก็ไม่ได้มีให้เห็นซักเท่าไหร่ ผมจึงไม่อาจคอนเฟิร์มได้แน่ชัดว่าหลังการประกวดแล้วมีคนเอาฟักทองยักษ์เหล่านั้นไปกินกันจริง ๆ หรือเปล่า แต่ถ้าพูดถึงการเอาไปทำปุ๋ยล่ะก็ เชื่อว่าสามารถทำเป็นปุ๋ยหมักฟักทองได้แน่ ๆ ร้อยเปอร์เซ็นเลยครับ
สรุปแล้วฟักทองจึงเป็นพืชที่เข้ามามีบทบาททั้งในเชิงวิทยาศาสตร์, ศิลปะ, และวัฒนธรรมได้เช่นเดียวกันกับองุ่นและเครื่องดื่มในตำนานอย่างไวน์หรือแอปเปิลและความเชื่อด้านการรักษาโรคในฐานะผลไม้สารพัดประโยชน์ แต่ที่เหนือกว่าคือการที่ฟักทองมีเทศกาลของตนเองที่ผู้คนทั่วโลกรู้จักไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วนั่นเอง
อ้างอิง
https://en.wikipedia.org/wiki/Giant_pumpkin
https://www.britannica.com/video/197162/pumpkin-symbol-Halloween
https://www.history.com/news/history-of-the-jack-o-lantern-irish-origins
https://en.wikipedia.org/wiki/Cucurbita
https://www.guinnessworldrecords.com/search?term=pumpkin&page=1&type=all&max=20&partial=_Results&
https://thekidshouldseethis.com/post/how-to-grow-a-giant-pumpkin-for-a-giant-pumpkin-contest
(ตัวอย่างของการใช้งานในสายพันธุ์ Maxima)
https://www.smithsonianmag.com/science-nature/surprising-science-giant-pumpkins-180957099/
https://www.smithsonianmag.com/science-nature/surprising-science-giant-pumpkins-180957099/
https://www.popularmechanics.com/home/a25997168/grow-giant-pumpkin/
https://edition.cnn.com/2019/10/07/us/small-car-heavy-pumpkin-record-trnd/index.html
Tags: ฟักทอง