ในสหรัฐอเมริกา มักจะมีเรื่องเล่าซ้ำซากจากเสรีนิยมฝั่งทะเลตะวันออก ที่หมายถึงครอบครัวหรือบุคคลที่มีรายได้มหาศาลในศูนย์กลางธุรกิจอย่างบอสตันหรือนิวยอร์ก และส่งลูกหลานเข้าเรียนในโรงเรียนเอกชนค่าเทอมแพง แต่กระนั้นก็ยังฝักใฝ่การเมืองฝ่ายซ้าย หรือเลือกเข้าสู่เส้นทางการเมืองฝ่ายซ้ายเสียเอง จอห์น เอฟ. เคนเนดีคือตัวอย่างหนึ่งของเสรีนิยมฝั่งทะเลตะวันออก แล้วยังมีเสรีนิยมฝั่งทะเลตะวันตกอีกเช่นกัน ที่ฐานะมั่งคั่งร่ำรวย และมีใจเอนเอียงมาทางฝ่ายซ้าย จนถูกจัดหมวดหมู่อย่างดูแคลนว่าเป็น ‘พวกกินซูชิ-ดื่มคาปูชิโน’ ยามนี้มีตัวแทนเป็นคนมีชื่อเสียงจากคนกลุ่มนี้คือ แนนซี เพโลซี (Nancy Pelosi)

ตัวแทนจากพรรคเดโมแครตวัย 78 ปี เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในซานฟรานซิสโกมากว่า 30 ปี ซึ่งเป็นเมืองที่มีแนวคิดเสรีนิยมและก้าวหน้าที่สุดเมืองหนึ่งในสหรัฐอเมริกา และแน่นอนว่ามีฐานะร่ำรวย เพโลซีกับสามีของเธอมีรายได้อย่างงามในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ แม้ว่าเธอจะเริ่มเข้าสู่เส้นทางการเมืองตอนวัย 47 ปีและมีลูกแล้วห้าคน แต่เธอก็สามารถก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดได้ ตำแหน่ง ‘Speaker of the House’ หรือประธานสภาคองเกรส เป็นผู้หญิงคนแรกในตำแหน่งนี้ที่ทรงอำนาจทางการเมืองของสหรัฐฯ และเป็นคู่ปรับคนสำคัญของโดนัลด์ ทรัมป์ อีกทั้งยังทำสถิติในการปราศรัยในสภายาวนานถึง 8 ชั่วโมงโดยไม่มีการหยุดพัก และโดยที่ยังสวมรองเท้าส้นสูง ที่เรียกกันว่า ‘Pelosi-Heels’ ในหมวดหมู่ข่าวซุบซิบ

แนนซี เพโลซี ผู้มีพื้นเพเดิมจากบัลติมอร์ รัฐแมรีแลนด์ ไม่ได้ทรงอิทธิพลเฉพาะเรื่องธุรกิจและการเมืองเท่านั้น หากเธอยังมีบทบาทในเรื่องของแฟชั่นด้วย อย่างน้อยเธอก็มีส่วนทำให้วงการเชื่อมั่นได้ว่า Max Mara แฟชั่นอิตาเลียนแบรนด์โปรดของเธอ จะออกแบบตัดเย็บเสื้อคลุมตัวเก่าที่เธอมีออกมาอีกครั้ง เป็น Nancy-Re-Edition เพราะจู่ๆ ผู้คนทั้งอเมริกาเกิดอยากรู้ขึ้นมาว่าเธอชอบสวมใส่เสื้อผ้าแบรนด์ไหน เหมือนที่เคยอยากรู้ว่าสตรีหมายเลขหนึ่งสวมใส่อะไรตอนที่เข้ารับตำแหน่ง

เพโลซีรู้ดีว่าต้องสวมใส่อะไรในวันไหน อย่างเช่นวันที่เธอประสบความสำเร็จกับการ ‘ชัตดาวน์’ ฝ่ายรัฐบาลของทรัมป์ โดยการปฏิเสธข้อเสนอขยายการคุ้มครองผู้อพยพวัยเยาว์ที่เดินทางเข้ามาในสหรัฐอเมริกาอย่างผิดกฎหมายตั้งแต่เด็ก ภายใต้โครงการ DACA เพื่อแลกกับการอนุมัติเงินงบประมาณสร้างกำแพงกั้นชายแดนสหรัฐอเมริกา-เม็กซิโกมูลค่า 5.7 พันล้านดอลลาร์ เธอก้าวเดินออกจากทำเนียบขาวด้วยสีหน้าของผู้ชนะ และสวมเสื้อคลุมยาวจรดเข่าสีส้ม-แดง สะท้อนให้เห็นภาพเธอเพิ่ง ‘กริลล์’ ประธานาธิบดีมาหมาดๆ เมื่อเสร็จภารกิจแล้วเธอจึงค่อยๆ ย่างเข้าไปนั่งผ่อนคลายอารมณ์ แต่ยังคงสวมแว่นตากันแดดอยู่ ในแคปิตอล เลานจ์

“เวลาแม่ตัดหัวใคร ใครคนนั้นจะไม่รู้สึกตัวด้วยซ้ำว่ามีเลือดไหลหรือเปล่า” อเล็กซานดรา  บุตรสาวของเพโลซีเคยเล่าผ่านสื่อ แนนซี เพโลซีไม่เคยเกรงกลัวผู้ใด ไม่เคยก้มหัวให้ใคร อาจเพราะเธอเป็นลูกสาวคนเดียวของครอบครัวพี่น้องหกคน ที่ผู้เป็นพ่อเคยนั่งตำแหน่งนายกเทศมนตรีในฐานะอิตาเลียน-อเมริกันคนแรกของบัลติมอร์ถึง 3 วาระ เธอเรียนรู้มาตั้งแต่เด็กถึงวิธีการเอาชนะเพศตรงข้ามที่เข้มแข็งกว่า

โดนัลด์ ทรัมป์เองก็ไม่เคยคุ้นชินกับผู้หญิงแบบเพโลซี จึงไม่แปลกที่จนถึงนาทีนี้เขายังไม่มีชื่อเสริมเติมให้ ไม่มีทั้ง แนนซี ‘ขี้แย’ หรือ ‘ขี้ปด’ แค่แนนซีเฉยๆ ในขณะที่ผู้หญิงคนอื่นๆ เขามักมีคำประณามตามท้ายชื่อเสมอ เป็นไปได้ว่าเขาอาจจะไม่กล้า เพราะเพโลซีมีในสิ่งที่ตัวเขาเองยำเกรง นั่นคือ อำนาจ

“นี่เป็นครั้งแรกที่เขาต้องสู้รบปรบมือกับคนมีอำนาจทัดเทียมเขา ทรัมป์มองตัวเองว่าเป็นบุคคลที่มีอำนาจที่สุดในโลกนี้ แต่ตอนนี้เขากำลังเจอใครคนหนึ่งที่มีอำนาจเหมือนกัน ทำให้เขารู้สึกช็อค และการที่ใครคนนั้นเป็นผู้หญิงเสียด้วย ยิ่งทำให้ดูเป็นเรื่องยากสำหรับเขาขึ้นไปอีก” บาร์บารา เรส (Barbara Res) อดีตรองประธานองค์กรทรัมป์กล่าวกับนิวยอร์ก ไทม์ส

นอกจากนั้นเพโลซียังใช้ความโง่ของคู่ต่อสู้ให้ย้อนกลับมาทำลายตัวเขาเองด้วย…อย่างเลือดเย็น จากคำพูดของทรัมป์ในช่วงชัตดาวน์ ที่ไม่รู้ร้อนรู้หนาวเกี่ยวกับความเดือดร้อนของเจ้าหน้าที่ระดับล่างราว 800,000 คน แถมยังพูดตลก “งั้นกินเค้กกันก็ได้” หรือ “ไปกู้เงินที่ไหนก่อนก็ได้” เพโลซีย้อนคำพูดของทรัมป์ด้วยความเห็นว่า “มันไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับคนธรรมดาสามัญที่จะรอให้พ่อมาช่วยปั๊มเงินให้” เป็นการขยี้ข่าวที่นิวยอร์ก ไทม์สเปิดเผยเมื่อเร็วๆ นี้ว่า ทรัมป์เคยได้รับมรดกจากพ่อของเขามากกว่า 400 ล้านดอลลาร์ และกล่าวหาประธานาธิบดีว่าจงใจเลี่ยงภาษี

“เวลาแม่ตัดหัวใคร ใครคนนั้นจะไม่รู้สึกตัวด้วยซ้ำว่ามีเลือดไหลหรือเปล่า” อเล็กซานดรา  บุตรสาวของเพโลซีเคยเล่าผ่านสื่อ

การชัตดาวน์เป็นเสมือน “บทพิสูจน์ความเป็นชายสำหรับเขา” เพโลซีเปรยให้คนวงในฟังหลังจากพบปะกับประธานาธิบดีในทำเนียบขาว ส่วนตัวเธอเองนั้นไม่จำเป็นต้องพิสูจน์อะไร เธอเดินเกมทุกอย่างตามตำราพิชัยสงครามของซุนวู ที่ว่า “นักรบที่ยิ่งใหญ่จะคว้าชัยชนะก่อนเข้าสู่สงครามเสมอ แต่นักรบขี้แพ้จะเข้าสู่สงครามก่อน และพยายามจะรบเพื่อให้ชนะ”

ถึงแม้การชัตดาวน์จะยุติลงแล้วก็ตาม แต่เพโลซียังคงตามจี้โดนัลด์ ทรัมป์พร้อมกับคณะกรรมการสอบสวนเกี่ยวกับเงินภาษีและคดีความสัมพันธ์ของเขากับรัสเซีย ซึ่งงานนี้เพโลซีน่าจะกัดไม่ปล่อย จนเพื่อนๆ สมาชิกในพรรคดูจะไม่ค่อยมีความสุขนัก โดยเฉพาะในกลุ่มนักการเมืองหญิงรุ่นใหม่ของเดโมแครตที่ปรารถนาจะเห็นคนรุ่นใหม่ก้าวขึ้นเป็นผู้นำ พวกเขารู้ว่า เพโลซีจะทำให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งถูกแบ่งเป็นฝ่าย ส่วนหนึ่งต้องโทษสื่อล่าแม่มดฝ่ายขวาที่คอยสร้างภาพเธอให้เป็นฝ่ายซ้ายตัวตลก อีกส่วนหนึ่งเป็นที่ตัวเธอเองที่มักแสดงคุณลักษณะของนักการเมืองแบบเก่าๆ ที่ไม่รู้ตัวเองว่า เมื่อไหร่ถึงจะพอ

แย่ไปกว่านั้น เพโลซียังแชร์ชะตากรรมนี้กับเพื่อนร่วมพรรคอย่างฮิลลารี คลินตัน ซึ่งแม้จะพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งไปแล้ว แต่ยังคงชอบแทรกแซงในทุกเรื่องต่อไป ตราบถึงทุกวันนี้ พรรคเดโมแครตยังไม่มีตัวเลือกที่ชัดเจน สำหรับลงสนามแข่งกับทรัมป์ในปีถัดไป

และตราบใดที่เพโลซีและคลินตันยังคงแย่งซีนแย่งแสงฉายกันอยู่ แล้วจะมีตัวเลือกใหม่ไม่ว่าชายหรือหญิงจากที่ไหนก้าวขึ้นมาแทน

 

อ้างอิง:

ภาพเปิดโดย Joshua Roberts / Reuters

 

ติดตามบทความใหม่ๆ จาก The Momentum ทางอีเมล

* indicates required


Tags: , , , , ,