มีข่าวลือออกมาสักพักว่า Apple จะปิดแอป iTunes และเมื่องาน WWDC ที่ผ่านมา Apple ก็ประกาศอย่างเป็นทางการว่า “ปิดจริง”

แต่การปิดครั้งนี้ไม่ได้ปิดแล้วปิดเลย

iTunes เปิดให้บริการในปี 2003 ด้วยความตั้งใจของสตีฟ จอบส์ เพื่อที่จะช่วยเหลืออุตสาหกรรมเพลงที่กำลังประสบกับปัญหาการดาวน์โหลดแบบผิดกฎหมายในอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะจาก Napster (ในขณะนั้นมีแบบถูกกฎหมายคือ Rhaposody) สิ่งที่ทำให้ iTunes ประสบความสำเร็จก็คือ Apple สามารถจับมือกับค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ในวงการได้ทั้งหมด ทั้ง Sony, BMG, EMI, Warner Music, Universal และที่สำคัญยังเปิดโอกาสให้ค่ายเล็กๆ สามารถขายเพลงในระบบ iTunes ได้อีกด้วย

iTunes เปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมเพลงและพฤติกรรมการฟังเพลงของผู้คนไปมากมาย ทั้งในแง่บวกและลบ อย่างแรกเลยด้วยราคาที่ตั้งไว้ 0.99 เหรียญสหรัฐฯ ทำให้การซื้อขายดาวน์โหลดเพลงผ่าน iTunes ที่หลายคนปรามาสในช่วงต้นไว้ว่า “จะรอดเหรอ” นั้นได้รับความนิยมอย่างมาก (นอราห์ โจนส์ เคยขายเพลงใน iTunes เพียงแค่ 0.50 เหรียญฯ เท่านั้น) แต่ในขณะเดียวกันมันก็ได้ทำลายการซื้อขายเพลงผ่านการทำเป็นซีดีอัลบั้มลงอย่างราบคาบ และพฤติกรรมการฟังเพลงของผู้คนที่ไม่ฟังเป็นอัลบั้มอีกต่อไปแล้ว รวมไปถึงสิ่งที่เรียกว่า ‘ปกอัลบั้ม’ ก็ไม่มีความสำคัญต่อวงการเพลงอีกต่อไป

ที่สำคัญคือการเกิดขึ้นของวัฒนธรรม iPod ซึ่งแน่นอนว่าก็มาจาก Apple นั่นแหละ

แต่ใช่ว่า iTunes จะไม่ประสบปัญหาเลย วัฒนธรรมการฟังเพลงของผู้คนเริ่มเปลี่ยนไปตามเทคโนโลยีใหม่ๆ หรือผู้เล่นใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งการก่อตั้ง Youtube ในปี 2005, ช่องทางการดาวน์โหลดที่ถูกกฎหมายต่างๆ ของบรรดาค่ายเพลงหรือบริษัทอื่น ที่ไม่จำเป็นต้องง้อ iTunes อีกต่อไป จนมาถึง Spotify ในปัจจุบัน ขณะที่ตัว iTunes เองก็ไม่ได้รับการพัฒนาเท่าไรหลังการจากไปของสตีฟ จอบส์ และด้วยความที่มันเป็นแอปฯ ที่ไม่ได้มีแค่เพลงอย่างเดียว แต่รวมอย่างอื่นไว้ด้วย การใช้ระบบการอัปเดต iOS ของ Apple ซึ่งก็สร้างความรำคาญไม่น้อย

16 ปีผ่านไป ก็ถึงวันที่ iTunes ปิดตัวลง

ภาพ: Burst/ Pexel

การประกาศปิดตัวของ iTunes ในงาน WWDC ปีนี้ ไม่ใช่การปิดตัว แบบหายวับไปเลย แต่เป็นการเปลี่ยนผ่านไปสู่สิ่งอื่นมากกว่า โดยมีการประกาศว่าในอนาคต iTunes จะถูกแยกออกเป็น 3 แอปฯ ด้วยกัน คือ Apple Music ที่เน้นการฟังเพลงเป็นหลัก Apple Podcasts กับการตอบรับกระแสพอดแคสต์ที่กำลังมาแรง และ Apple TV ในการรับชมทีวีและภาพยนตร์ หรืออื่นๆ ในการบริการของ Apple เอง ซึ่งไม่แน่ว่าในอนาคต Apple อาจจะลุกขึ้นมาสร้างบริการแบบ Netflix ก็ได้ ใครจะไปรู้

สิ่งที่ยืนยันว่าอย่างไร Apple ก็ไม่ปิด iTunes แบบลบล้างไม่เหลืออยู่เลยเป็นแน่ ก็คือตัวเลขด้านผลกำไร ในขณะที่ยอดขายไอโฟนลดลงเรื่อยๆ (แต่ราคาไอโฟนสูงขึ้นเรื่อยๆ) ผลประกอบการไตรมาสแรกของของ Apple ในปีนี้เฉพาะในส่วนของ ‘การให้บริการ’ สูงขึ้นถึง 19% ตัวเลขรายได้อยู่ที่ 1.09 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ แยกออกเป็นเครื่องแมค 7.4 พันล้านเหรียญฯ ไอแพด 6.7 พันล้านเหรียญ บริการและผลิตภัณฑ์อื่นๆ 7.3 พันล้านเหรียญฯ ซึ่ง Apple มีผู้ลงทะเบียนใช้บริการในทุกบริการสูงถึง 360 ล้านทะเบียนทั่วโลก เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วถึง 120 ทะเบียนด้วยกัน

ทีนี้หันมาดูกันที่ iTunes กันบ้าง ในเวอร์ชั่นเดิม iTunes รวมบริการ Apple Music และอื่นๆ เอาไว้ ซึ่ง Apple Music นี่แหละคือตัวทำเงินมหาศาลของ Apple และเพียงการหาเงินจาก iTunes ที่เดียวก็สามารถทำให้บริษัท Apple ขึ้นไปอยู่ที่อันดับ 130 ของการจัดอันดับ 500 บริษัทที่ทำไรสูงสุดของโลกในนิตยสาร The Fortune ได้ เพราะฉะนั้นจึงไม่มีทางเลยที่ Apple จะทิ้งบ่อน้ำมันของตัวเอง และการแตก iTunes ออกเป็น 3 แอปฯ คงบอกได้ว่า Apple เตรียมรุกตลาดการให้บริการอย่างหนักเพื่อเพิ่มตัวเลขผลกำไรที่กำลังเติบโตจากการให้บริการนี้

Apple Music vs Spotify vs YouTube Music

จากการที่ Apple Music คือตัวทำเงินมหาศาลของ Apple และการแตกออกจาก iTunes มาเป็นแอปเดี่ยว ทำให้เห็นว่าปีนี้น่าจะเป็นการแข่งขันอย่างดุเดือดในวงการการสตรีมมิ่งเพลง

ปัจจุบัน Apple Music มีผู้ลงทะเบียนทั่วโลกประมาณ 56 ล้านทะเบียน และมีเพลงในคลังกว่า 45 ล้านเพลง ในขณะที่ Spotify ซึ่งเปิดให้บริการในปี 2006 มีผู้ลงทะเบียนแบบจ่ายเงินทั่วโลกสูงถึง 96 ล้านทะเบียนด้วยกัน แม้จะมีคลังเพลงน้อยกว่าที่ 30 ล้านเพลง แต่ด้วยความที่ Spotify เติมเพลงใหม่ๆ วันละ 20,000 เพลง ทำให้ในอนาคตข้อเสียเปรียบตรงนี้อาจจะหมดไป และแซงหน้า Apple Music ด้วยซ้ำ เพราะในขณะนี้ทั้งสองค่ายมีค่าใช้จ่ายต่อแอคเคาต์อยู่ที่ 9.99 เหรียญฯ ต่อเดือน โดย Apple Music ได้เปรียบตรงที่หากสมัครเป็นรายปีจะถูกกว่า แต่ Spotify ได้ชื่อในเรื่องการค้นหาเพลงและเพลย์ลิสต์มากกว่า รวมไปถึงลูกเล่นต่างๆ และคุณภาพของเสียงเพลงที่ดีกว่า

ถึงอย่างนั้นก็ใช่ว่าทั้งสองค่ายจะสู้กันเพียงลำพัง เพราะในอุตสาหกรรมการสตรีมมิ่งเพลงยังมีเจ้าใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นมาเป็นคู่แข่งที่สำคัญอีกด้วย หนึ่งในนั้นก็คือ YouTube Music ที่มาแทน Google Play Music และอย่างที่เรารู้ๆ กันว่าโลกแห่งเสียงเพลง YouTube มีฐานที่ดีอยู่แล้ว YouTube Music ใช้ข้อได้เปรียบเรื่องมิวสิกวิดีโอ มาทำให้การแข่งขันครั้งนี้น่าสนใจและเข้มข้น และใช้การเป็นฮับเพลงที่ใหญ่ที่สุดในโลกมาเป็นจุดแข็งในการบริการ ที่มีทั้งเพลงเวอร์ชั่นออริจินัล เวอร์ชั่นรีมิกซ์ และเวอร์ชั่นคัฟเวอร์ (ซึ่งเป็นสิ่งที่แฟนๆ Spotify เรียกร้องให้มีมากที่สุดในตอนนี้) และจากการพรีเมียร์มิวสิกวิดีโอเพลง thank u, next ของอารีอานา แกรนเด ที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้คนเข้ามาดูพร้อมกันในช่วงพรีเมียร์เกือบล้านแอคเคาต์ (แม้จะเป็นการดูฟรีก็ตาม) ก็ทำให้เห็นประสิทธิภาพของแพลตฟอร์มยูทูบที่จะช่วยเสริมส่ง YouTube Music ได้ในอนาคต และด้วยราคาที่เท่ากันกับ Apple Music และ Spotify ทำให้ YouTube Music เป็นคู่แข่งที่น่ากลัวมากในตอนนี้

อีกหนึ่งผู้เล่นหน้าใหม่ในตลาดการสตรีมมิ่งเพลงก็คือ Amazon Music ที่มีเพลงในคลังถึง 2 ล้านเพลง และในแบบอันลิมิเต็ดถึง 40 ล้านเพลง แถมมาในราคาที่ถูกกว่าเพียงแค่ 7.99 เหรียญสหรัฐฯ และจ่ายรายปีแค่ 79 เหรียญฯ เท่านั้น และจะถูกสุดๆ ถ้าคุณซื้อและใช้ผ่าน Amazon Echo ลำโพงของแอมะซอนนั่นเอง แม้ Amazon Music จะเพิ่งเปิดบริการทั่วโลกในปี 2008 แต่ด้วยเครือข่ายของแอมะซอนเอง การทำราคา และการพัฒนาในอนาคตก็ทำให้ Amazon Music เป็นอีกหนึ่งคู่แข่งที่น่ากลัวเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ในโลกของการสตรีมมิ่งเพลง ยังมี Tidal ของเจย์ซี ที่มีข้อได้เปรียบผู้อื่นในเรื่องของเพลงที่หาจากที่ไหนไม่ได้ โดยเฉพาะของเจย์ซีและบียอนเซ่เอง และในราคา 9.99 เหรียญฯ ก็มีเพลงให้บริการถึง 50 ล้านเพลง ในระดับที่ใกล้เคียงกันกับค่ายอื่นๆ หรือ SoundCloud โลกแห่งศิลปินหน้าใหม่ ศิลปินอินดี้ และเพลงรีมิกซ์ของดีเจต่างๆ ที่มีกลุ่มก้อนเป็นของตัวเอง และกำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ จากการที่ปีที่ผ่านมาถือได้ว่าเป็นปีแห่งศิลปินอินดี้ที่ผุดมาจาก SoundCloud นี่แหละ

ความท้าทายของทุกค่ายสตรีมมิ่งเพลงก็คือ จะทำอย่างไรให้คนหันมาใช้บริการแบบจ่ายเงินในขณะที่โลกของสมาร์ตโฟนและอินเทอร์เน็ตนั้นครอบคลุมพื้นที่กว้างไกลขึ้นเรื่อยๆ และเรายังอยู่ในคอนเซ็ปต์การฟังเพลงที่ว่า อยากฟังเพลงอะไรก็เปิดยูทูบก็แล้วกัน

 

อ้างอิง

https://www.latimes.com/entertainment/music/la-et-ms-apple-kills-itunes-20190531-story.html

https://www.cultofmac.com/266039/itunes-revenue-alone-rank-apple-130-fortune-500-chart/

https://www.aimm.edu/blog/how-itunes-changed-the-music-industry

https://www.telegraph.co.uk/technology/0/best-music-streaming-services-apple-music-spotify-amazon-music/

https://www.theverge.com/2018/12/31/18156503/2018-tech-recap-streaming-music-spotify-apple-soundcloud-tidal

 

Tags: , , , , , ,