เป็นเวลากว่า 100 ปี นับตั้งแต่พรรคบอลเชวิกขึ้นสู่อำนาจและประกาศใช้ระบอบคอมมิวนิสต์ในรัสเซีย ก่อนที่ทั่วโลกจะเข้าสู่สงครามเย็น ฝั่งขวาเสรีและฝั่งซ้ายคอมมิวนิสต์แข่งขันขับเคี่ยวกัน ‘หาพรรคพวก’ โดยจูงใจรัฐบาลแต่ละประเทศให้มาใช้ระบอบการปกครองที่ตนเองเชื่อ จากการทุ่มทรัพยากรของสหรัฐอเมริกาเพื่อทานไม่ให้ไทยกลายเป็นประเทศสีแดง เราจึงได้เห็นโฆษณาชวนเชื่อที่วาดภาพคอมมิวนิสต์ไม่ต่างจากปีศาจ ฉายความเลวร้ายน่าหวั่นเกรงจนเกินเลย เกิดเป็น ‘ผีคอมมิวนิสต์’ ที่เอ่ยชื่อถึงเมื่อไหร่ก็ชวนให้หวาดหวั่น

ปฏิเสธไม่ได้ว่าช่วงเปลี่ยนผ่านสู่การปกครองระบอบคอมมิวนิสต์ของหลายประเทศมีผู้นำเป็นทรราชย์ กดขี่ข่มเหงประชาชน ภาวะทุกข์ยากขาดแคลนจนมีคนเสียชีวิตจำนวนมากจนนักเศรษฐศาสตร์ต่างขยาดกับกลไก ‘การวางแผนโดยส่วนกลาง’ ที่ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง

แต่อุดมการณ์คอมมิวนิสต์นั้นเลวร้ายตั้งแต่วิธีคิดเชิงปรัชญาหรือมีปัญหาเฉพาะในทางปฏิบัติ บทความนี้จะพาไปทำความเข้าใจสาเหตุที่ระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์ล่มสลาย และหาคำตอบว่าอุดมการณ์ดังกล่าวยังมีค่าหรือไม่ในยุคปัจจุบัน

ระบบเศรษฐกิจที่ไม่มีกลไกตลาด

คำถามพื้นฐานที่สุดของวิชาเศรษฐศาสตร์คือการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดแต่ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่หลงลืมความเป็นธรรมในการกระจายทรัพยากรเหล่านั้น ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมเสรีมอบหน้าที่การจัดสรรดังกล่าวให้กับกลไกตลาด ขณะที่ระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์จะมอบหน้าที่ดังกล่าวให้เป็นของ ‘ส่วนกลาง’

ภายใต้ระบบทุนนิยมเสรี หากผู้ซื้อยินดีจะซื้อและมีผู้ขายยินดีจะขาย ทั้งสองฝ่ายก็ตกลงแลกเปลี่ยนกันโดยใช้ ‘เงิน’ เปรียบเสมือนตัวแทนมูลค่าเพื่ออำนวยความสะดวก หากสินค้าประเภทไหนผลิตออกมาล้นตลาด เหล่าพ่อค้าก็ต้องยอมลดราคาเพื่อระบายสินค้าเหล่านั้นออกไป ในทางกลับกัน หากสินค้าประเภทไหนมีความต้องการซื้อสูงราคาก็ย่อมสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว ความขาดแคลนจะกลายเป็นแรงจูงใจให้นายทุนหันมาลงทุนเพื่อช่วงชิงผลกำไร

นี่คือ ‘มือที่มองไม่เห็น’ หรือกลไกตลาดที่คอยจัดสรรทรัพยากรโดยสะท้อนในราคาซึ่งเป็นข้อมูลที่ฉายภาพให้เห็นว่าสินค้าซื้อขายกันอยู่ในตลาดนั้นพอเพียงหรือไม่หากเทียบกับความต้องการซื้อหรือภาษาทางเศรษฐศาสตร์ก็คืออุปสงค์และอุปทาน ราคายังเป็นข้อมูลที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับการปรับปรุงและพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ๆ เนื่องจากเป็นวงจรป้อนกลับ (Feedback Loops) ข้อมูลชิ้นสำคัญว่าผู้บริโภคคิดเห็นอย่างไรกับสินค้าที่วางจำหน่าย นำไปสู่การแข่งขันกันตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค

ในทางกลับกัน ระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์เลือกใช้ ‘ส่วนกลาง’ หรือหากจะเปรียบเทียบให้พอนึกภาพออกก็คือรัฐบาลซึ่งทำหน้าที่รวบรวม ออกคำสั่ง และจัดสรรทรัพยากรทั้งหมด นั่นหมายความว่ารัฐบาลต้องทุ่มเทสรรพกำลังในการรวบรวมข้อมูลความต้องการของประชาชน พร้อมทั้งออกแบบการผลิตและการลงทุนเพื่อตอบสนองต่อความต้องการทุกด้านของทุกคนอย่างเสมอหน้า

แม้วิธีคิดดังกล่าวจะฟังดูสวยหรูแต่ในทางปฏิบัติกลับล้มเหลวโดยสิ้นเชิง เพราะแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่ผู้วางแผนจากส่วนกลางจะทราบว่าควรผลิตอะไร ผลิตอย่างไร และผลิตเท่าไหร่ เนื่องจากขาดแคลนข้อมูล ความขาดแคลนสินค้าในชีวิตประจำวันรวมถึงความอดอยาก หรือการผลิตสินค้าบางอย่างในปริมาณมหาศาลทั้งที่ประชาชนไม่ต้องการใช้ จึงเป็นลักษณะร่วมของประเทศภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์  

ระบบเศรษฐกิจที่ขาดแรงจูงใจ

เงื่อนไขพื้นฐานที่ทำให้กลไกตลาดทำงานได้อย่างเต็มที่คือการรับรองกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน (property rights) หมายความว่าประชาชนทุกคนมีสิทธิที่ได้รับการรับรองจากกฎหมายหรือสถาบันทางสังคมในการถือครองทรัพย์สิน ซึ่งเรามีสิทธิขาดในการใช้ประโยชน์ นำไปจำหน่าย ให้โดยเสน่หา รวมถึงส่งต่อความมั่งคั่งให้กับลูกหลานในอนาคต กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนี่เองที่ทำให้เรามีแรงจูงใจกระเสือกกระสนไปทำงานทุกวัน แม้ว่าจะเหนื่อยล้าตรากตำแต่หลายคนก็ทนทำงานโดยหวังว่าความขยันหมั่นเพียรจะทำให้เราสามารถเลื่อนชนชั้นทางเศรษฐกิจและสังคม

ถึงรุ่นเราจะไปไม่ถึงฝัน อย่างน้อยก็จะส่งต่อรากฐานชีวิตที่สูงขึ้นเพื่อส่งให้ลูกหลานรุ่นต่อไป

ในทางกลับกัน ภายใต้ระบบคอมมิวนิสต์ กรรมสิทธิ์ทุกอย่างเป็นของรัฐไม่ว่าจะเป็นที่ดิน อาคาร อุปกรณ์ ไปจนถึงแรงงาน ทุกอย่างถูกกำหนดอย่างตายตัวว่าใครต้องทำอะไร กี่วันต่อสัปดาห์ และวันละกี่ชั่วโมง ส่วนผลผลิตทั้งหมดจะถูกรวบรวมเข้าส่วนกลางแล้วจัดสรรให้กับทุกคนอย่างเท่าเทียม

แน่นอนครับว่าระบบดังกล่าวคงเดินหน้าได้หากมนุษย์เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมเทียบเท่ากับประโยชน์ส่วนตน แต่มนุษย์นั้นขี้เกียจโดยธรรมชาติ หากเป็นไปได้ก็อยากจะทำงานให้น้อย น้อยมาก หรือน้อยที่สุด คอมมิวนิสต์จึงเป็นระบบที่คนขี้เกียจจะได้เปรียบ เนื่องจากทำงานหนักตรากตรำหรือแสร้งทำงานไปวันๆ ก็ยังได้ส่วนแบ่งที่เท่ากันอยู่ดี 

นี่คือสาเหตุที่ผลผลิตภาคเกษตรของประเทศจีนตกต่ำลงอย่างน่าใจหายหลังจากเปลี่ยนผ่านสู่ระบบคอมมิวนิสต์ แต่ในช่วงเวลาเดียวกัน ชาวนา 18 คนแห่งหมู่บ้านในชนบทของประเทศจีนตัดสินใจเสี่ยงชีวิตโดยทำสัญญาลับเพื่อแบ่งที่ดินของชุมชนให้แต่ละครอบครัว โดยทุกครอบครัวจะต้องผลิตตามโควตาของรัฐบาลแต่ส่วนเกินสามารถเก็บไว้ได้ ทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นถึง 6 เท่า หมู่บ้านดังกล่าวกลายเป็นโครงการนำร่องของรัฐบาลเติ้ง เสี่ยวผิง ก่อนจะนำไปสู่การปฏิรูปเกษตรกรรมทั่วประเทศจีนในปีค.ศ. 1979 ที่ทลายระบบนารวม และค่อยๆ ปรับเปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจให้เอนเอียงสู่ฝั่งเสรีนิยม

‘คอมมิวนิสต์’ ในศตวรรษที่ 21

ปัญหาสองประการข้างต้นคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ระบอบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์ล้มเหลว ขณะที่เป็นกลไกสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจทุนนิยมเสรีพัฒนาไปได้ไกลกว่า แต่นั่นแปลว่า ‘คอมมิวนิสต์’ เป็นอุดมการณ์ล้าสมัยที่ไม่ควรค่าแก่การกล่าวถึงกระนั้นหรือ?

คำตอบคือไม่ใช่! ในทางกลับกัน คาร์ล มาร์กซ (Karl Marx) นักเศรษฐศาสตร์ผู้ออกแบบรากฐานอุดมการณ์คอมมิวนิสต์คือผู้ที่ได้รับเลือกว่าเป็นผู้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในรอบหนึ่งพันปีจากการสำรวจความคิดเห็นของสำนักข่าวบีบีซี เมื่อ ค.ศ.1999 ตามติดมาด้วยอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) นักวิทยาศาสตร์เจ้าของทฤษฎีสัมพันธภาพ ไอแซก นิวตัน (Isaac Newton) ผู้ค้นพบแรงโน้มถ่วง และชาร์ลส์ ดาร์วิน (Charles Darwin) นักชีววิทยาผู้เสนอทฤษฎีการวิวัฒนาการ ทฤษฎีของมาร์กซในแวดวงวิชาการก็มีการกล่าวถึงอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับหนังสือเกี่ยวกับมาร์กซซึ่งอาจมีมากกว่าอดัม สมิธ (Adam Smith) เจ้าสำนักเศรษฐกิจทุนนิยมเสรีเสียด้วยซ้ำ

ถึงเราจะอยู่ในโลกใบที่ทุนนิยมเสรีเป็นฝ่ายกำชัย แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าระบอบเศรษฐกิจในปัจจุบันเป็นเพียงทางเลือกที่เลวร้ายน้อยกว่า แม้ว่าทุนนิยมจะทำให้หลายคนมีชีวิตที่หรูหราและคนอีกจำนวนไม่น้อยได้ขยับฐานะทางเศรษฐกิจ แต่ในขณะเดียวกัน คนจำนวนมหาศาลก็ยังต้องทนทุกข์ยากกระทั่งเสียชีวิตจากความขาดแคลนหรือโรคภัยไข้เจ็บเนื่องจากมี ‘เงิน’ และ ‘โอกาสทางเศรษฐกิจ’ ไม่เพียงพอ ยังไม่นับถึงความผันผวนและวิกฤติเศรษฐกิจครั้งแล้วครั้งเล่าที่เกิดจากเหล่านายทุน แต่คนที่เจ็บหนักกลับเป็นผู้มีรายได้น้อยที่ไม่อาจต้านทานการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงและรวดเร็วได้เพราะ ‘ทุนชีวิต’ ไม่ได้มีมากมาย

ความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรมในการจัดสรรทรัพยากรคือสิ่งที่มาร์กซมองว่าเป็นสิ่งเลวร้ายจากระบอบทุนนิยม นี่คือคำวิพากษ์ที่ยากจะปฏิเสธ ปัญหาดังกล่าวดูจะบานปลายยิ่งขึ้นในปัจจุบันจากช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนที่ถ่างกว้างขึ้น กลายเป็นสังคมที่ชนชั้นนำไม่อาจจินตนาการว่าจะใช้ชีวิตอย่างไรในหนึ่งวันจากรายได้ค่าแรงขั้นต่ำ ส่วนคนจนก็สิ้นหวังที่จะลืมตาอ้าปากเพราะแค่ปัจจัยพื้นฐานเพื่อดำรงชีพในฐานะมนุษย์คนหนึ่งก็ยังไม่เพียงพอ

ในมุมมองของผู้เขียน ระบบเศรษฐกิจไม่ว่าจะซ้ายสุดขั้วหรือขวาตกขอบต่างก็มีปัญหา ไม่ดีกว่าหรือที่เราจะหยิบข้อดีจากแต่ละระบบมาผสมผสานให้ลงตัว หยิบกลไกตลาดเพื่อช่วยในการจัดสรรทรัพยากรแทนที่จะหวังพึ่งกลไกของส่วนกลาง หยิบหลักการกระจายทรัพยากรอย่างเป็นธรรมมาใช้สำหรับปัจจัยพื้นฐานเพื่อสร้างรัฐสวัสดิการ ทั้งสองอย่างเป็นไปได้ภายใต้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยและระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม เพียงแต่เราต้องตีกรอบบทบาทของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมกันเสียใหม่ โดยอาจใช้โมเดล ‘สังคมนิยมประชาธิปไตย (social democracy)’ ที่หลายประเทศประสบความสำเร็จ

น่าเสียดายที่ฝ่ายที่เรียกตนเองว่าก้าวหน้าของไทย กลับหยิบแนวคิด ‘คอมมิวนิสต์’ โดยไม่มีการปรับเปลี่ยนให้ทันยุคสมัย มองข้ามบทเรียนจากประวัติศาสตร์ร่วมหนึ่งร้อยห้าสิบปีหลัง ‘ทุน (Das Kapital)’ ผลงานชิ้นเอกของมาร์กซได้รับการตีพิมพ์ อีกทั้งยังไม่ได้เสนอทางออกของข้อบกพร่องที่ทำให้ระบบเศรษฐกิจคอมมิวนิสต์ในอดีตล่มสลาย สุดท้ายจึงกลายเป็นเพียงข้อเสนอที่ดูดีบนหน้ากระดาษที่ขาดแนวทางในการนำไปปฏิบัติ เช่นเดียวกับมาร์กซที่โจมตีนายทุนและทุนนิยมอย่างเผ็ดร้อน แต่แทบไม่ให้รายละเอียดว่าระบอบคอมมิวนิสต์จะสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนได้อย่างไร

เอกสารประกอบการเขียน

How Communism Works

Lessons from a century of communism

Marx after communism

Why Communism Failed

Tags: ,