แม้ว่าการเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2020 จะยังเหลือเวลาอีกนานโขก็ตาม แต่การหาเสียงเพื่อแข่งขันได้เริ่มต้นกันไปแล้วอย่างหนักหน่วง คำถามอันดับต้นๆ เกี่ยวกับการเลือกตั้งครั้งนี้คือ ใครจะเป็นผู้สมัครอย่างเป็นทางการของพรรคเดโมแครต ในการต่อสู้ช่วงชิงตำแหน่งกับโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งยังครอบครองเก้าอี้ในฝ่ายพรรครีพับลิกัน

ปลายเดือนมิถุนายนนี้ จะมีการดีเบตทางทีวีครั้งแรกของผู้สมัครฝ่ายพรรคเดโมแครต จนถึงตอนนี้ผู้สมัครทั้งชายหญิงต่างกำลังวุ่นอยู่กับการสร้างเครือข่ายในรัฐที่เป็นยุทธศาสตร์ในการหาเสียง รวมถึงการแสวงหาช่องทางติดต่อกับผู้บริจาค เพื่อจะมีโอกาสเข้าร่วมในการอภิปราย ให้แสงไฟฉาบฉายเป็นที่รู้จักของคนในชาติ และดูโดดเด่นจากคู่แข่งขัน

พรรคเดโมแครตจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมอภิปรายสองครั้งแรกในวันที่ 26 และ 27 มิถุนายนเพียง 20 คน (ครั้งละ 10 คน) เป็นผลให้นักการเมืองทุกคนที่ไม่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งจะถูกคัดออกจากการแข่งขัน คุณสมบัติดังกล่าวคือ ผู้สมัครจะต้องได้รับการสนับสนุนอย่างน้อย 1 เปอร์เซ็นต์ในการเลือกตั้งสามครั้งในกลุ่มผู้ลงคะแนนเสียงของพรรคเดโมแครต หรือมีรายนามผู้บริจาคอย่างต่ำ 65,000 ราย มีนักการเมืองของพรรคที่ต้องเผชิญกับอุปสรรคนี้อย่างเช่น สตีฟ บูลล็อค (Steve Bullock) สมาชิกสภาคองเกรส และเซธ โมลตัน (Seth Moulton) อดีตทหารผ่านศึก

ความฝันที่จะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีของผู้สมัครคนต่อๆ ไปอาจแตกดับในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ไม่ว่าเพราะขาดทุนรอน ขาดการสนับสนุนจากพรรคของตนเอง มีจุดอ่อนในการจัดการ หรือทั้งหมดรวมกัน ในการอภิปรายทางทีวีอีกครั้งช่วงฤดูใบไม้ร่วง เกณฑ์คุณสมบัติของพรรคจะเข้มข้นขึ้น

และสุดท้ายความจริงจะปรากฏชัดขึ้นในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2020 เมื่อการเลือกตั้งภายในพรรคเดโมแครตครั้งแรกในรัฐไอโอวาเกิดขึ้น

พรรคเดโมแครต

นับตั้งแต่ความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของฮิลลารี คลินตัน เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2016 ทำให้พรรคเดโมแครตคุกรุ่นไปด้วยแรงแค้น สมาชิกทุกคนในพรรคล้วนมีเป้าหมายหลักเป็นหนึ่งเดียวกันในการเลือกตั้งครั้งใหม่นี้ คือ ‘โดนัลด์ ทรัมป์จะต้องพ่ายแพ้’ แต่ใครจะเป็นผู้ชนะในการแข่งขันภายในพรรคนั้น ยามนี้คำถามยังเปิดอยู่ การสำรวจความคิดเห็นมีความแตกต่างกันมาก และผลการสำรวจก็ไม่ได้มีความหมายมากนักในช่วงแรกๆ

ผู้สมัครตัวเต็งของพรรคเดโมแครต

โจ ไบเดน (Joe Biden) อดีตรองประธานาธิบดีระหว่างปี 2009-2017 และอดีตวุฒิสมาชิกจากรัฐเดลาแวร์ ได้เปรียบผู้สมัครอื่นในหลายด้าน ทั้งประสบการณ์การทำงานในทำเนียบ และการทำงานร่วมกับสภาคองเกรส นอกเหนือจากนั้น ไบเดนยังเป็นที่รู้จักของคนในชาติอย่างดี อีกทั้งเคยได้รับการยกย่องยอมรับจากนานาชาติด้วย ทว่าในสนามเลือกตั้ง ไบเดนยังเป็นนักสู้ที่มีจุดอ่อน เขาเคยพ่ายแพ้มาก่อนถึงสองครั้ง เมื่อปี 1988 และ 2008 ด้วยวัยก็เช่นกัน หากว่าเขาได้รับชัยชนะ นั่นหมายความว่าเขาจะเข้ารับตำแหน่งสำคัญในวัย 78 ปี ซึ่งจะได้ชื่อว่าเป็นประธานาธิบดีที่ชราสุดเท่าที่ชาวอเมริกันเคยมี

เบอร์นี แซนเดอร์ส (Bernie Sanders) วุฒิสมาชิกจากรัฐเวอร์มอนต์ เคยก้าวขึ้นเป็นอันดับสองเมื่อคราวเลือกตั้งพรีโหวตในปี 2016 รองจากฮิลลารี คลินตัน มาครั้งนี้ แม้เขาจะปรับแผนการต่อสู้ใหม่จนได้รับความนิยมติดอันดับต้น เป็นความหวังทางปีกซ้ายของพรรคก็จริง แต่นโยบายโดดเด่นที่เขาพยายามชู ไม่ว่าการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ การเพิ่มเบี้ยประกันสุขภาพ หรือความใส่ใจเรื่องอุณหภูมิโลกที่เปลี่ยนแปลง ก็ไม่แตกต่างจากผู้สมัครคนอื่น นอกจากนั้น หากแซนเดอร์สสามารถก้าวถึงเส้นชัยได้จริง เขาก็จะเข้ารับตำแหน่งในวัย 79 ปี และเป็นประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาที่ชราที่สุดเช่นกัน

เอลิซาเบธ วอร์เรน (Elizabeth Warren) อดีตศาสตราจารย์ด้านกฎหมายแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ดและผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายล้มละลาย เข้าเป็นสมาชิกวุฒิสภารัฐแมสซาชูเส็ตส์ตั้งแต่ปี 2013 เป็นที่รู้จักของชาวอเมริกันเมื่อครั้งเธอวิพากษ์วิจารณ์ธนาคาร บริษัทยักษ์ใหญ่ และตลาดหุ้นวอลล์สตรีท หลังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี 2008 และเคยเสนอกฎหมายเพื่อลดอำนาจของบริษัทนายทุน โดยเพิ่มอำนาจรัฐบาลในการควบคุมดูแลบริษัทเพื่อขยายผลประโยชน์จากเดิมที่จำกัดอยู่เพียงผู้ถือหุ้นไปสู่สาธารณชน หากนักการเมืองวัยย่าง 70 ปี ผู้นี้ได้รับชัยชนะ เธอจะจัดการกับบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่างแอมะซอน กูเกิล และเฟซบุ๊ก เพื่อส่งเสริมการแข่งขันในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี

พีท บุตอาเจจ (Pete Buttigieg) นายกเทศมนตรีวัย 37 ปีของเมืองเซาธ์ เบนด์ รัฐอินเดียนา ก่อนเคยถูกมองว่าเป็นนักการเมืองระดับท้องถิ่นที่ฉวยโอกาส แต่ทุกวันนี้เขากลับได้รับความสนใจจากสื่อระดับชาติแล้ว นอกเหนือจากประกาศนียบัตรจากสถาบันแถวหน้าอย่างฮาร์วาร์ดและอ็อกซ์ฟอร์ดแล้ว เขายังสามารถพูดได้หลายภาษา เคยผ่านประสบการณ์ในสนามรบที่อัฟกานิสถาน และมีพรสวรรค์ในมุมการเมือง บุตอาเจจยืนยันความคิดของเขาชัดเจนว่า การทำงานของเขาจะต้องตอบโจทย์มากกว่าตามอุดมการณ์ และหากเขาสามารถก้าวไปถึงปลายทางด้วยชัยชนะจริง สหรัฐอเมริกาก็จะมีประธานาธิบดีเกย์คนแรก และอายุน้อยที่สุด

คามาลา แฮร์ริส (Kamala Harris) นักการเมืองวัย 54 ปีมีพื้นเพจากแคลิฟอร์เนีย เปิดตัวเข้าสู่สนามแข่งขันด้วยคลิปวิดีโอและการสัมภาษณ์รายการทีวีตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา อดีตทนายอัยการได้รับชัยชนะเข้าสู่วุฒิสภาในปี 2016

ในฐานะผู้สมัครสังกัดพรรคเดโมแครตในการแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีครั้งนี้ นอกเหนือจากนโยบายเกี่ยวกับผู้อพยพ และประกันสุขภาพที่เธอต้องการเปลี่ยนแปลงแล้ว ในวิดีโอเปิดตัวของเธอยังเน้นย้ำความหมายของคุณค่าพื้นฐานแบบอเมริกันที่เธอต้องการยืนหยัดอีกด้วย

เบโต โอ’รูร์ค (Beto O’Rourke) อดีตสมาชิกสภาคองเกรสจากเอล ปาโซ เคยได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาเมื่อปี 2018 มาอย่างเฉียดฉิว นับแต่นั้นมาเขาจึงกลายเป็นดาวเด่นของพรรคเดโมแครต นักการเมืองวัย 47 ปีนิยมชมชอบและเดินตามรอยตระกูลเคนเนดี้ และบารัก โอบามา แต่ดูเหมือนผลงานด้านการเมืองของเขายังไม่เป็นที่พอใจของใครๆ มากนัก โอ’รูร์คเรียนจบด้านวรรณกรรมอังกฤษ เคยเป็นมือกีตาร์ในวงร็อก และหลังจากเปลี่ยนงานบ่อยครั้งเขาก็ก่อตั้งบริษัทอินเทอร์เน็ตเป็นของตนเอง รวมถึงผลิตหนังสือพิมพ์ออนไลน์ออกมาด้วย การก้าวสู่วิถีการเมืองครั้งแรกของเขาคือตอนที่ได้รับตำแหน่งในสภาเทศบาลเมืองเอล ปาโซนั่นเอง

คอรี บุคเกอร์ (Cory Booker) วุฒิสมาชิกจากนิวเจอร์ซีย์ เป็นหนึ่งในสมาชิกสภาคองเกรสจำนวน 11 คนที่ประกาศตัวเข้าร่วมเป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี เขาเกิดเมื่อปี 1969 เรียนจบจากมหาวิทยาลัยชั้นนำ เป็นนักกฎหมายที่มีประวัติการทำงานด้านการเมืองท้องถิ่นมายาวนาน จากปี 2006 ถึง 2013 เขาปฏิบัติหน้าที่เป็นนายกเทศมนตรีของนิวอาร์ค ถูกจัดเป็นนักการเมืองฝ่ายซ้ายในวุฒิสภา มีแนวคิดจะขยายโครงสร้างนโยบายรัฐสวัสดิการ มอบประกันสุขภาพให้กับทุกคน เงินช่วยเหลือ รวมทั้งหลักประกันตำแหน่งงานจากรัฐ

เอมี โคลบุชาร์ (Amy Klobuchar) วุฒิสมาชิกวัย 58 ปีจากมินเนโซตา เป็นผู้สมัครอีกคนนอกเหนือจากบุตอาเจจ ที่มาจากฟากตะวันตกตอนกลาง พื้นที่สำคัญของพรรครีพับลิกันเมื่อคราวเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งก่อน อดีตทนายความบริษัทผู้นี้ไม่ใช่ดาวเด่นของแวดวงสื่อ แต่เธอสามารถสร้างคะแนนนิยมได้ด้วยผลงานด้านกฎหมายในวุฒิสภา และยังเป็นนักการเมืองที่ใกล้ชิดประชาชน

จูเลียน คาสโตร (Julián Castro) อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการเคหะและพัฒนาเมือง (2014-2017) สมัยรัฐบาลบารัก โอบามา และอดีตนายกเทศมนตรีเมืองซาน อันโตนิโอ รัฐเท็กซัส วัย 44 ปี เป็นทายาทของครอบครัวซึ่งแม่มีพื้นเพจากเม็กซิโกและเป็นนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิพลเมือง คาสโตรสำเร็จการศึกษาจากสแตนฟอร์ดและฮาร์วาร์ด ระดับปริญญาเอกด้านกฎหมาย เมื่อปี 2016 เขาได้รับการเสนอชื่อสำหรับตำแหน่งรองประธานาธิบดี ส่วนนโยบายการเมืองของเขาอยู่บนฐานเดียวกันกับของพรรคเดโมแครต นั่นคือ ตอบโจทย์สังคมและสิ่งแวดล้อม

ไมเคิล เบนเน็ต (Michael Bennet) วุฒิสมาชิกจากโคโลราโดวัย 54 ปี เกิดที่นิวเดลี ประเทศอินเดีย ระหว่างที่พ่อของเขาเป็นนักการทูตประจำการอยู่ที่นั่น เขาเริ่มเข้าสู่เส้นทางการเมืองในยุคของประธานาธิบดีบิล คลินตัน ได้รับตำแหน่งที่ปรึกษาผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมก่อนวัย 30 และได้ขึ้นเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีรับผิดชอบงานด้านการต่างประเทศในทำเนียบขาว เบนเน็ตเป็นผู้สมัครหนึ่งในจำนวนน้อยคนที่ถูกเมินเฉยจากแกนนำปีกซ้ายของพรรค อาจเพราะเหตุผลที่เขาไม่เห็นด้วยกับผู้สมัครคนอื่นๆ เกี่ยวกับนโยบาย Medicare for all – นโยบายสวัสดิการสาธารณสุขเพื่อทุกคนของพรรคเดโมแครต

แอนดรูว์ หยาง (Andrew Yang) เจ้าของธุรกิจสตาร์ตอัปและคนใจบุญวัย 44 ปี ไม่เคยมีประสบการณ์ด้านการเมืองมาก่อน แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็สามารถปลุกความสนใจจากสมาชิกและคนในพรรคได้ ด้วยนโยบาย ‘รายได้หลัก’ สำหรับชาวอเมริกันอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป หยางกล่าวถึง ‘เงินปันผลอิสระ’ นอกจากนั้นยังแสดงให้เห็นถึงมาตรการที่ส่ออันตรายจากการสูญเสียงาน ซึ่งถูกคุกคามโดยกระบวนการทางเศรษฐกิจ

เคิร์สเทน จิลลิแบรนด์ (Kirsten Gillibrand) วัย 52 ปี เข้ารับตำแหน่งวุฒิสมาชิกของนิวยอร์กในปี 2009 เมื่อฮิลลารี คลินตันได้รับตำแหน่งใหม่เป็นรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ ทิศทางการเมืองของจิลลิแบรนด์เคยอยู่ในปีกขวาฝ่ายอนุรักษนิยมของพรรคเดโมแครต เธอเคยสนับสนุนกฎหมายสิทธิการครอบครองอาวุธ แต่เมื่อเข้าดำรงตำแหน่งในวุฒิสภา ทิศทางการเมืองของเธอเริ่มหันเหไปทางซ้ายมากขึ้น ทุกวันนี้เธอมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างมากในการเคลื่อนไหวเพื่อต่อสู้กับการล่วงละเมิดทางเพศ

ผู้สมัครพรรคเดโมแครตที่หมดสิทธิ์เข้าร่วมการอภิปราย

สตีฟ บูลล็อค นายกเทศมนตรีแห่งมอนทานา วัย 53 ปี มีความแตกต่างจากผู้สมัครคนอื่นๆ ของพรรคตรงที่เขาบริหารงานฝ่ายปกครองในพื้นที่ฟากอนุรักษนิยม ในรัฐมอนทานา การเมืองของพรรคเดโมแครตจะประสบความสำเร็จได้นั้น ต้องทิ้งห่างแนวความคิดแบบซ้าย และต้องทำความเข้าใจกับความเป็นไปแบบขวา ซึ่งบูลล็อคทำได้สำเร็จ แต่เขาจะก้าวไปเพื่อชิงชัย-ขั้นแรก-ภายในพรรคสำเร็จหรือไม่นั้น ยังเป็นคำถาม เพราะนอกจากจะไม่เป็นที่รู้จักของชาวอเมริกันในวงกว้างแล้ว เขายังขาดแคลนผู้สนับสนุนทั้งในเรื่องฐานเสียงและด้านทุนทรัพย์อีกด้วย

เซธ โมลตัน สมาชิกสภาคองเกรสวัย 40 ปี มีพื้นเพจากเมืองซาเลม รัฐแมสซาชูเส็ตส์ เมืองเก่าแก่เมืองหนึ่งของสหรัฐอเมริกา ลงสนามเลือกตั้งในนามพรรคเดโมแครตที่นั่นตั้งแต่ปี 2015 โมลตันเคยรับราชการตำแหน่งผู้พันในนาวิกโยธิน เคยร่วมทัพบุกอิรัก-สงครามที่ส่วนตัวเขาไม่ยอมรับ แนวทางการเมืองที่ชัดเจนของเขาคือ การสนับสนุนกฎหมายเกี่ยวกับอาวุธที่เข้มงวด และการยกเลิกปฏิบัติการทางทหารในต่างแดน อีกทั้งยังเรียกร้องให้จัดสรรเงินงบประมาณด้านกลาโหมเสียใหม่ เพื่อไปใช้ในด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมแทน

พรรครีพับลิกัน

“ความไม่ซื่อสัตย์และความหวาดระแวงที่มากเกินไปของทรัมป์ ทำให้เขาไม่สามารถดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีได้ ถ้าจะถือเป็นการทำดีต่อสหรัฐอเมริกาสักครั้งหนึ่ง เขาควรจะลดอัตตาตัวเอง และลาออกซะ”

นั่นเป็นประโยคของบิล เวลด์ ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี จากพรรครีพับลิกัน ซึ่งเป็นสังกัดเดียวกันกับโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ประกาศตัวจะลงสนามแข่งขันอีกรอบ เพื่อชัยชนะและการครอบครองเก้าอี้สำคัญในทำเนียบขาวเป็นวาระที่สอง

 

ผู้สมัครที่น่าสนใจในฟากพรรครีพับลิกัน

บิล เวลด์ (Bill Weld หรือ William (Bill) Floyd Weld) วัย 73 ปี เคยดำรงตำแหน่งเป็นนายกเทศมนตรีสังกัดพรรครีพับลิกัน ในรัฐแมสซาชูเส็ตส์ ระหว่างปี 1991 ถึง 1997 ก่อนการเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อปี 2016 เขาลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรครีพับลิกัน เพื่อเสนอตัวเป็นรองประธานาธิบดีของผู้สมัครแกรี จอห์นสัน (Gary Johnson) พรรคลิเบอร์เทเรียน (LP) ในการเลือกตั้งปี 2016 ทั้งจอห์นสันและเวลด์ได้รับคะแนนเสียงสูงสุดในประวัติศาสตร์ของพรรค คือ 3.3 เปอร์เซ็นต์ (ราว 4.5 ล้านเสียง) ต้นปีที่ผ่านมา บิล เวลด์กลับเข้าเป็นสมาชิกพรรครีพับลิกันอีกครั้ง และประกาศลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี หากทรัมป์ได้ชัยชนะในการเลือกตั้งปี 2020 อีกละก็ สำหรับเขาแล้วนั่นคือ “โศกนาฏกรรมทางการเมือง”

ไมค์ เพนซ์ (Mike Pence) นักการเมืองวัย 60 ปีจากอินเดียนา เริ่มงานทางการเมืองจากอาชีพทนายความและผู้จัดรายการวิทยุ ปี 2001-2013 เขาได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรัฐอินเดียนา เพนซ์นับเป็นรองประธานาธิบดีที่มีแนวคิดอนุรักษนิยมสุดโต่ง เขาต่อต้านกฎหมายทำแท้งเสรี และการสมรสของเพศเดียวกัน เขาเห็นด้วยกับกฎหมายจำกัดสิทธิและจำนวนผู้อพยพ รวมถึงโทษประหาร แม้ว่าเพนซ์จะได้เสียงตอบรับอย่างดีจากผู้สนับสนุน แต่เขาออกตัวอย่างชัดเจนว่า เขาจะไม่ลงสนามแข่งขันกับโดนัลด์ ทรัมป์ในครั้งนี้ แต่จะขอเป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในการเลือกตั้งปี 2024 แทน

นิกกี เฮลีย์ (Nikki Haley หรือ Nimrate Haley) เป็นบุตรสาวของผู้อพยพชาวอินเดียในรัฐเซาธ์ คาโรไลนา ร่ำเรียนมาทางด้านการบัญชี ปี 2010 เธอชนะการเลือกตั้งตำแหน่งนายกเทศมนตรี ทำงานอยู่จนครบหกปี ระหว่าง 2017-2018 เธอได้รับเลือกเป็นทูตขององค์การสหประชาชาติ อย่างไรก็ตาม เฮลีย์ให้ข่าวว่า เธอจะไม่ขอลงสนามแข่งขันกับโดนัลด์ ทรัมป์ แต่วางแผนที่จะลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในการเลือกตั้งปี 2024

เจฟฟ์ เฟลค (Jeff Flake) อดีตสมาชิกวุฒิสภารัฐอริโซนาวัย 56 ปี ที่แม้จะร่วมสังกัดพรรคเดียวกับทรัมป์ แต่เขาก็เปรียบเสมือนไม้เบื่อไม้เมา นอกจากไม่ยอมให้ความช่วยเหลือในการเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อปี 2016 แล้ว ระหว่างที่ทรัมป์ดำรงตำแหน่ง เฟลคยังเขียนหนังสือออกเผยแพร่ในชื่อ Conscience of a Conservative: A Rejection of Destructive Politics and a Return to Principle วิพากษ์วิจารณ์การทำงานตัวตนและการทำงานของทรัมป์อย่างไม่เกรงใจ การเลือกตั้งครั้งนี้เขาจึงประกาศลงแข่งขันกับทรัมป์ แม้ว่าความหวังนั้นจะริบหรี่ก็ตาม

ผู้สมัครอิสระและพรรคทางเลือก

พรรคการเมืองพรรคใหญ่ของสหรัฐอเมริกา เดโมแครตและรีพับลิกัน ทำหน้าที่เป็นจ่าฝูงในการเลือกตั้งมายาวนานกว่า 150 ปี    แต่ไม่ใช่ว่าชาวอเมริกันทุกคนจะเห็นดีเห็นงามตามนั้นทั้งหมด ความฝันว่าจะมีผู้สมัครอิสระยังคงผุดพรายขึ้นเสมอ ทว่ามักจะดับหายไปกับระบบการเลือกตั้ง ที่พรรคใหญ่ทั้งสองพรรคมักกุมความได้เปรียบ ผู้สมัครอิสระหรือจากพรรคทางเลือกจึงกลายเป็นส่วนเกินของเกมการเลือกตั้งไปในที่สุด

อย่างเช่นกรณีของรอสส์ เพโรต์ (Ross Perot) นักธุรกิจจากรัฐเท็กซัส ที่ลงสมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งประธานาธิบดีสองครั้ง เมื่อปี 1992 ในฐานะผู้สมัครอิสระ ในการเลือกตั้งทั่วไปเขาได้คะแนนเสียงสูงสุดถึง 18.91 เปอร์เซ็นต์ ในรัฐเมน 30.44 เปอร์เซ็นต์ และยูทาห์ 27.34 เปอร์เซ็นต์ สามารถไต่ถึงอันดับสอง แซงหน้าจอร์จ บุช และบิล คลินตันด้วยซ้ำ แต่ก็สอบตกในการเลือกตั้งประธานาธิบดี อีกครั้งในปี 1996 เพโรต์ลงสมัครสังกัดพรรครีฟอร์ม ที่เขาก่อตั้งขึ้นเอง แต่เขากลับไม่ได้รับความนิยมเหมือนเช่นครั้งก่อนหน้า จนต้องวางมือจากการเลือกตั้งไปเอง เพโรต์นับเป็นผู้สมัครอิสระที่ประสบความสำเร็จอีกคนหนึ่ง หลังจากที่เธโอดอร์ รูสเวลต์เคยทำสำเร็จมาแล้วในศตวรรษที่ 19

จะว่าไป ชาวอเมริกันไม่ว่าชายหรือหญิงก็มีสิทธิเสนอตัวสมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งประธานาธิบดีได้ หากผู้นั้นอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปี และเคยมีผู้ใช้สิทธินี้ แม้ว่าจะเป็นคนไม่มีชื่อเสียงหรือแทบไม่มีใครรู้จักเลย

รายงานของคณะกรรมการเลือกตั้งเดือนมิถุนายน 2019 ระบุว่ามีบุคคลสัญชาติอเมริกันลงทะเบียนสมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งประธานาธิบดีไม่ต่ำกว่า 737 คน ในจำนวนนั้นเป็นสมาชิกพรรคเดโมแครต 256 คน และสมาชิกพรรครีพับลิกัน 95 คน

 

อ้างอิง:

https://www.us-wahl-2020.com/

https://www.spiegel.de/politik/ausland/us-praesidentschaftswahl-2020-demokraten-kandidaten-im-ueberblick-a-1266099.html

https://www.sueddeutsche.de/politik/trump-us-wahl-2020-demokraten-1.4440614

 

Tags: , , ,