ฉันยังฟังเพลงนอราห์ โจนส์อยู่ คำว่ายังฟังอยู่หมายถึงนอกจากเพลง Don’t Know Why ในอัลบั้มแรก Come Away With Me ในปี ค.. 2002 จนถึงอัลบั้มล่าสุด Begin Again ที่เพิ่งจะปล่อยเต็มอัลบั้มเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ก็ยังคอยติดตามและเปิดฟังอยู่

มีไม่กี่อัลบั้มที่เราจะเปิดฟังทุกแทร็กตั้งแต่แทร็กแรกไปจนถึงแทร็กสุดท้ายของอัลบั้ม อ้อฉันลืมบอกไปว่าฉันฟังจากซีดีนะ ไม่ได้เปิดจากยูทูบ ฉันมักจะเปิดอัลบั้ม Fanmail ของ TLC ในยามเช้าที่ฉันงัวเงียไม่ยอมตื่น แทร็กแรก Fanmail นั้นอาจจะยังงุ่นง่านอยู่บนที่นอน ก่อนจะลุกขึ้นมาขยับแข้งขยับขาร้องแร็พในท่อนของ Left Eye ใน No Scrubs และแทร็กที่ฉันชอบที่สุดอย่าง I’m Good at Being Bad

หรือถ้าฉันต้องกวาดบ้าน ถูบ้าน ล้างจาน หรือทำงานบ้านอะไรสักอย่าง ฉันมักจะเปิดอัลบั้ม Jagged Little Pill ของ Alanis Morissette เป็นซาวนด์แทร็กประกอบชีวิต เสียงอันแหบกร้าวของเธอใน All I Really Want และ You Oughta Know มันช่างส่งแรงสั่นสะเทือนมาถึงปลายนิ้วของฉันยามที่จับขยับไม่กว่าจะเป็นไม้กวาดหรือไม้ถูพื้น

แต่สำหรับอัลบั้ม Come Away With Me ของนอราห์ โจนส์ ฉันมักจะเปิดในค่ำคืนที่ฉันเพิ่งกลับจากปากคลองตลาด หอบดอกกุหลาบและใบไม้ ดอกไม้สารพัดเตรียมจัดลงแจกัน เปิดหน้าต่างให้ลมเข้า จุดเทียนหอม วางห่อกระดาษดอกไม้ไว้บนพรมกลางบ้าน เดินไปเดินมาให้ว่อน ปล่อยให้เสียงเพลงจากแทร็กแรก Don’t Know Why เลื้อยไล่ไปจนถึงแทร็กสุดท้าย The Nearness of You เป็นเสียงที่เหมือนได้ยินแว่วมาจากที่ไกลๆ ที่ไหนสักแห่ง ไม่ว่าในโลกนี้หรือโลกที่จากมา ทำให้นึกถึงใครสักคนอย่างไม่ตั้งใจ เรื่องบางเรื่องที่ถูกฝังอยู่ลึกเกินกว่าจะขุดค้นผุดพรายขึ้นมาอีกครั้ง

ความพลิ้วสวยของเสียงเปียโนของนอราห์มันทำให้ฉันดัดจริตได้ถึงเพียงนั้น

อัลบั้ม Come Away With Me ประสบความสำเร็จทั้งในแง่ยอดขาย คำวิจารณ์และรางวัลกับ 5 รางวัลแกรมมี่อวอร์ดส แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีเสียงนกเสียงกาบอกว่ามันป็อปเกินไป หากนอราห์ โจนส์ จะถูกจัดแคตตากอรี่ว่าเป็นศิลปินป็อปแจ๊ซคนใหม่ แม้ว่าที่สุดแล้วรางวัลแกรมมี่ที่เธอได้คือสาขา Best Pop Vocal Album และ Best Female Pop Vocal Performance ก็ตาม

สำหรับคนดัดจริตอย่างฉัน ถ้าจะให้ไปฟังเพียวแจ๊ซก็คงจะยากไปร้องแบบอิมโพรไวส์ตามไม่ได้ หรือถ้าจะให้ฟังสแตนดาร์ดป็อปมันก็คงไม่เก๋ใช่ไหม อาหารยังมีฟิวชั่นเลย แล้วถ้าไม่ป็อปจ๋าและไม่แจ๊ซจ๋ามันจะเป็นไรไป

อัลบั้มที่สอง Feel Like Home ในปี 2004 ยังคงประสบความสำเร็จเช่นเคย แม้จะเปิดตัวด้วยเพลงสดใสอย่าง Sunrise แต่ก็มีเพลงในแบบที่เราคุ้นเคยจากอัลบั้มแรกอย่าง Those Sweet Words, Carnival Town, Be Here To Love Me, Don’t Miss You at All (ฉันชอบเพลงนี้ที่สุด) หรือ What Am I to You ที่เหมือนถอดแบบมาจากอัลบั้มแรกเปี๊ยบเลย อาจด้วยเพราะการประสบความสำเร็จจากอัลบั้มแรกและตัวเพลงที่เหมือนอัลบั้มแรก ทำให้นอราห์ โจนส์ ยังคงขายได้ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังได้ยินคำว่าไม่มีอะไรแปลกใหม่

จนมาถึงอัลบั้มสาม Not Too Late ในปี 2007 จากความเหงาเศร้าที่วนเวียนอยู่ในอารมณ์แห่งรัก แฟนเพลงของนอราห์ โจนส์ ช็อกไปตามๆ กันเมื่อได้ยินเพลง “My Dear Country” แทร็กที่ 8 ของอัลบั้มนี้ เพลงที่เธอแต่งจากความรู้สึกส่วนตัวทางการเมืองในการเลือกตั้งสหรัฐอเมริกาในปี 2004 ที่ทำให้จอร์จ ดับเบิลยู บุช ก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เนื้อเพลงเขียนไว้ว่า

But fear’s the only thing I saw,
           And three days later ’twas clear to all,
          That nothing is as scary as election day.
          But the day after is darker,
          And darker and darker it goes,
          Who knows, maybe the plans will change,
          Who knows, maybe he’s not deranged”

ในการเลือกตั้งครั้งนั้น เธอสนับสนุนจอห์น แคร์รี่ จากพรรคเดโมแครต ด้วยการบริจาคเงินสนับสนุนพรรคเป็นจำนวน 2,000 เหรียญสหรัฐฯ และเพลง My Dear Country ก็ถูกกลั่นกรองออกมาจากอารมณ์ของเธอหลังจากการเลือกตั้งเสร็จสิ้นแล้ว เหมือนกับที่เธอเขียนไว้ท่อนหนึ่งในเพลงว่า “Who knows maybe it’s all a dream, who knows if I’ll wake up and scream.”

ฉันเปิดเพลงนี้ฟังบ่อยๆ ทุกการเลือกตั้ง รวมไปถึงการเลือกตั้งในประเทศไทยในครั้งนี้ ที่ฉันก็อยากจะกรีดร้องเหมือนนอราห์ โจนส์ เช่นเดียวกัน

เพลง “My Dear Country” ทำให้นอราห์ โจนส์ต้องตอบคำถามเรื่องการเมืองมากขึ้น และกลายเป็นประเด็นทุกครั้งในการสัมภาษณ์มากกว่าตัวอัลบั้มเสียอีก โดยเฉพาะการที่เธอแต่งเพลงนี้ด้วยตัวเธอเอง ซึ่งปกติแล้วส่วนมากเพลงในอัลบั้มของเธอ จะร่วมแต่งเนื้อร้องกับ ลี อเล็กซานเดอร์ แฟนหนุ่มของเธอ

ในปี 2008 เธอบริจาคเงินจำนวน 2,300 เหรียญสหรัฐฯ ให้กับแคมเปญการหาเสียงของโอบามา และหลังจากนั้นเราก็ไม่ได้ยินเรื่องการเมืองในบทเพลงของเธออีกเลย นอราห์ โจนส์ นำเพลงนี้ขึ้นร้องบนเวทีหลากหลายครั้ง รวมไปถึงการร้องก่อนจะมีการเลือกตั้งครั้งล่าสุดของสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นการแข่งขันกันระหว่างโดนัลด์ ทรัมป์ และฮิลลารี คลินตัน แต่คงไม่เป็นผลในเมื่อตอนนี้เรารู้แล้วว่าใครเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา

และนั่นคงเป็นที่มาของซิงเกิลล่าสุด ซิงเกิลแรกจากอัลบั้มใหม่ของเธอ “ Begin Again” และเธอก็ไม่ประนีประนอมที่จะปล่อยเพลงนี้ออกมาเป็นซิงเกิลแรก แม้เนื้อเพลงจะบ่งบอกอย่างชัดเจนว่านี่คือบทเพลงทางอารมณ์การเมืองบทเพลงใหม่ของนอราห์ โจนส์ ในขณะที่แฟนเพลงอาจจะรอเพลงในสไตล์เหงาเศร้าจากเธออยู่ก็ตาม เนื้อเพลงในท่อนสุดท้ายเขียนไว้ว่า

Can a nation built on blood
           Find its way out of the mud?
           Will the people at the top
           Lose their way enough to stop?”

ชาติที่เปื้อนไปด้วยเลือดนี้หมายถึงสหรัฐอเมริกาภายใต้การนำของโดนัลด์ ทรัมป์ และคงปฏิเสธไม่ได้ว่าชาติที่เธออยากให้กลับมาเริ่มต้นใหม่อีกครั้งที่กล่าวถึงในเนื้อเพลงก็คือสหรัฐอเมริกาภายใต้การนำของบารัก โอบามา จากพรรคเดโมแครตที่เธอสนับสนุน ไม่ใช่แค่เพลงนี้เพลงเดียวในอัลบั้มล่าสุดของเธอที่ได้แรงบันดาลใจจากสภาพบ้านเมืองภายหลังการขึ้นเป็นประธานาธิบดีของโดนัลด์ ทรัมป์ ‘My Heart Is Full’ คืออีกหนึ่งเพลงที่กลั่นออกมาจากความรู้สึก ‘เจ็บปวด’ ภายใต้นโยบายการบริหารประเทศของโดนัลด์ ทรัมป์ ถึงแม้ว่าเธอจะไม่ได้พูดเรื่อง “การเมือง” โดยตรงในเนื้อเพลงเหมือนดังซิงเกิลแรกก็ตาม  

People hurting (hurting, hurting)
           People preaching (preaching, preaching)
           People watching (watching, watching)”

ซาวนด์ดนตรีในแบบอิเล็กทรอนิกส์ในเพลงนี้ได้มาจากการร่วมงานกับ โทมัส บาร์ทเล็ตต์ ฉันชอบเพลงนี้นะ แต่มันฟังเหมือนเพลงของ Lorde มากกว่า ซาวนด์มันเหมือนเพลงที่มาจากหนังอย่าง Hunger Games หรือ Fifty Shades of Grey ที่มีซาวนด์อิเล็กทรอนิกส์หลอกหลอน

“A Song With No Name” คือเพลงที่ฉันรักที่สุดในอัลบั้มนี้ สวยเศร้าในแบบงานคันทรีโฟล์ก มันทำให้ฉันนึกถึงเพลง “A Love That Wil Never Grow Old” ของ Emmylou Harris ในหนังเรื่อง Brokeback Mountain เนื้อเพลงท่อนหนึ่งร้องว่า

If I had a gun
           If I had a knife
           If I had your love
           If I was your wife

แม้จะฟังเหมือนเพลงรักเมียน้อยที่กำลังอกหัก แต่ที่จริงแล้วเนื้อเพลงนี้กำลังพูดถึงสถานการณ์ความรุนแรงในสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะเรื่องปืน นอราห์ โจนส์ บอกว่าเธอเปลี่ยนเนื้อเพลงเพลงนี้หลายครั้งเพื่อที่จะทำให้เนื้อหา “เข้าถึง” คนได้มากขึ้น แม้ว่าความเจ็บปวดของเพลงนี้ที่เธอถ่ายทอดออกมาจริงๆ แล้วจะเป็นเรื่องสังคมการเมืองก็ตามที

คนเราไม่ต้องเจ็บปวดเรื่องความรักเสมอไปก็ได้ไม่ใช่เหรอ…ฉันก็คิดอย่างนั้นนะ

อัลบั้มนี้เป็นอัลบั้มที่เปิดโอกาสให้นอราห์ โจนส์ ได้ทำสิ่งใหม่อย่างแท้จริง ในบรรดา 7 เพลงที่ประกอบกันขึ้นเป็นอัลบั้ม Begin Again ทุกเพลงต่างมีซาวนด์ดนตรีที่ไม่ได้ไปในทิศทางเดียวกันอย่างอัลบั้มที่ผ่านมาของเธอ เสมือนกับว่าเธอได้ปลดปล่อยอิสรภาพในการทำเพลงของตัวเอง ให้แต่ละแทร็กได้ให้มีชีวิตและเรื่องราวเป็นของตัวเองอย่างแท้จริง

“Wintertime” คือแทร็กที่ยังทำให้เราจดจำสำเนียงอันคุ้นเคยของนอราห์ โจนส์ ได้ด้วยตัวเมโลดี้แทบจะสามารถจับไปอยู่ในอัลบั้มแรกและสองของเธอได้เลย ทั้งเสียงเปียโนและเสียงเบสที่แทรกขึ้นมาเป็นระยะ ประกอบกับเนื้อเพลงที่บรรยายถึงความเหงาเศร้าในช่วงฤดูหนาว ที่แม้ฉันจะไม่เคยรู้สึกถึงฤดูหนาวก็ตาม แต่ฉันก็ยังชอบเพลงนี้

“It Was You” แทร็กที่เธอปล่อยออกมาเกือบปีแล้ว และนำมารวมไว้ในอัลบั้มนี้ ฉันชอบท่อนคอรัสของเพลงที่สุดแสนจะเซ็กซี่ที่เธอร้องว่า

And I knew, and I knew
           And I knew, and I knew it was you
           And I knew, and I knew
           And I knew, and I knew it was you

ก่อนที่เสียงเปียโน ออร์แกนและแตรจะทำให้เรารู้สึกราวกับกำลังนั่งสารภาพบาปอยู่ในโบสถ์ ก่อนจะชักชวนบาทหลวงออกมาเต้นรำไปด้วยกัน

“Uh Oh” อีกหนึ่งแทร็กที่ทำให้เรามองงานของนอราห์ โจนส์ เปลี่ยนไป จังหวะกรูฟแบบที่เราเคยได้ยินในเพลง “Life In Mono” จากหนังเรื่อง The Great Expectations ผสมผสานกับเสียงเครื่องสาย เบส เปียโน ที่ดังสลับกันเป็นระยะ และเสียงร้องสุดกระเส่าของนอราห์ โจนส์

Just a Little Bit” แทร็กสุดท้ายในอัลบั้มนี้ ฉันชอบเสียงเครื่องเป่าที่ทำให้เพลงนี้ดูแตกต่างและพาเราไปยังอีกหนึ่งช่วงเวลา ที่ไหนสักแห่งที่มีเสียงลมแหวกอากาศที่เวิ้งว้าง เสียงกระซิบของใครสักคนที่ล่องลอยมาพร้อมกับความน้อยใจ ก่อนจะปลุกให้ความเงียบเหงาเวิ้งว้างนั้นตื่นขึ้นมาเฉลิมฉลองไปพร้อมกับเสียงเปียโนที่ไหลริน จังหวะของกลอง เครื่องเป่า ที่เหมือนดังมาจากคนละฟากฝั่งของเวลาแต่สอดประสานกันราวกับการสมรสหมู่

นอราห์ โจนส์ ใช้วิธีการทำอัลบั้มนี้จากวอยซ์เมโมของตัวเองที่บันทึกเสียงสั้นๆ ทั้งเนื้อร้อง เมโลดี้ หรือแรงบันดาลใจในแต่ละเพลงเอาไว้ ก่อนจะเข้าห้องอัดด้วยวิธีการทำงานแบบใหม่ที่ต้องง่ายและรวดเร็ว และตั้งเป้าว่าแต่ละเพลงไม่ควรทำเกิน 3 วัน ผลลัพธ์ที่ได้คือเพลงที่มีความแตกต่าง สดใหม่จากที่เราเคยได้ยินจากนอราห์ โจนส์ ความเข้มข้นของเนื้อเพลงที่ดาร์กขึ้นจากปัจจัยการเมืองหลังจากที่เราเคยได้ยินมาแล้วในปี 2007 กลับมาอีกครั้งพร้อมอัลบั้มใหม่ในปี 2019 ที่อาการอกหักทางการเมืองยังไม่จางหายไปไหน แม้ว่าจะเปลี่ยนตัวประธานาธิบดีไปแล้วก็ตาม

Tags: