ปีหนึ่งๆ มีการใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวประมาณ 5 แสนล้านใบ นั่นเท่ากับว่าประชากรบนโลกหนึ่งคน ใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว 150 ใบต่อคนต่อปี หรือมีการใช้ถุงพลาสติกวินาทีละ 160,000 ใบ โดย 1 ใน 3 ของถุงพลาสติกเหล่านั้นจะถูกนำกลับมารีไซเคิล
ถุงพลาสติก 1 ใบ มันอาจจะมีอายุการใช้งานแค่จากซูเปอร์มาร์เก็ตมาถึงบ้านของคุณ หลังจากอยู่ในถังขยะแล้ว มันอาจจะไปจบที่บ่อฝังกลบหรือในท้องทะเล ซึ่งมันจะมีอายุต่อไปอีก 1,000 ปี
หรือบางทีมันอาจจะอยู่ในท้องของสัตว์ตัวใดตัวหนึ่งไม่ว่าจะเป็นสัตว์บกหรือสัตว์ทะเล ที่กลายเป็นข่าวสะเทือนใจชาวโลกมาหลายกรณีแล้ว
ซึ่งนั่นนำมาสู่มาตรการทางกฎหมายและมาตรการอื่นๆ ที่แต่ละประเทศใช้เพื่อจำกัดการใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ทั้งการออกกฎหมาย ‘แบน’ การใช้ถุงพลาสติก และการใช้มาตรการทางภาษี หรือทั้งสองอย่างควบคู่กันไป มีอย่างน้อย 32 ประเทศ ที่ใช้กฎหมายแบนการใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว และที่น่าสนใจก็คือกว่า 18 ประเทศ หรือกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนนี้เป็นกลุ่มประเทศในแอฟริกา ซึ่งนอกจากเหตุผลในด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว ขยะพลาสติกยังไปอุดตันท่อระบายน้ำ นำไปสู่การเพิ่มขึ้นของยุง พาหะนำโรคมาลาเรียอีกด้วย หนึ่งในประเทศที่มีมีมาตรการเข้มงวดอย่างมากก็คือเคนย่า การผลิต การขาย และการนำเข้าถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวอาจต้องเสียค่าปรับสูงถึง 19,000 ดอลลาร์สหรัฐและอาจมีโทษจำคุกถึง 4 ปีเลยทีเดียว
สำหรับในประเทศจีน ซึ่งถือเป็นประเทศที่สร้างขยะถุงพลาสติกมากที่สุดในโลกและไหลลงสู่ท้องทะเลและมหาสมุทรมากที่สุดในโลกเช่นเดียวกัน เพิ่งจะมีมาตรการการแบนถุงพลาสติกออกมาเมื่อปี 2008 นี่เอง โดยสามารถลดการสร้างขยะถุงพลาสติกได้ถึง 60-80% แต่แม้จะลดแล้วประเทศจีนก็ยังครองแชมป์ประเทศที่สร้างขยะพลาสติกมากที่สุดในโลกกว่าปีละประมาณ 40 ล้านตัน เช่นเดียวกับอินเดียที่มีมาตรการการแบนออกมาในปี 2002 อันเป็นผลมาจากที่มีวัวเสียชีวิตจากการกินถุงพลาสติกเข้าไป
สหภาพยุโรปเพิ่งจะผ่านกฎหมายแบนพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ไม่ว่าจะเป็นหลอด ช้อนส้อม มีด รวมถึงคอตตอนบัด ซึ่งจะถูกห้ามใช้ในปี 2021 นอกจากนี้ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปยังสามารถเลือกได้ว่าจะใช้วิธีไหนในการลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งอื่นๆ เช่น แก้วกาแฟ โดยภายในปี 2025 กำหนดให้ 25% ของขวดพลาสติกควรจะต้องรีไซเคิลได้ ทั้งนี้ 90% ของขวดเครื่องดื่มจะต้องถูกรวบรวมและรีไซเคิลภายในปี 2029
สำหรับการใช้มาตรการภาษี มีอย่างน้อย 18 ประเทศที่เก็บภาษีจากการใช้ถุงพลาสติก เพื่อจำกัดการใช้ถุงพลาสติกของประชาชน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งมาตรการที่ทำให้มีการใช้ถุงพลาสติกลดลง ดังเช่นประเทศไอร์แลนด์ ซึ่งเก็บภาษีถุงพลาสติก 1 ใบในราคา 22 เซ็นต์ ซึ่งสามารถลดการใช้ถุงพลาสติกได้สูงถึง 90% โปรตุเกสเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ใช้มาตรการนี้ และสามารถลดการใช้ถุงพลาสติกไปได้ 85% ส่วนประเทศที่มีอัตราการใช้ถุงพลาสติกต่ำที่สุดในยุโรปก็คือเดนมาร์ก คือเฉลี่ยแล้วประชากร 1 คน ใช้ถุงพลาสติกเพียง 4 ใบต่อปี
ในขณะที่บางประเทศก็ใช้ทั้งการแบนและภาษีควบคู่กันไป กำหนดโดยท้องถิ่นในแต่ละประเทศนั้นๆ โดยมีอย่างน้อย 17 ประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ปากีสถาน เมียนมา เอธิโอเปีย โซมาเลีย ฯลฯ
สำหรับมาตรการเรื่องถุงพลาสติกในสหรัฐอเมริกานั้น ขึ้นอยู่กับกฎหมายในแต่ละรัฐ โดยแบ่งเป็นทั้งการออกมาตรการการแบน มารตรการทางภาษี การใช้ระบบรีไซเคิลและรียูส และการออกกฎหมายห้ามแบนการใช้ถุงพลาสติก ซึ่งเมื่อดูภาพรวม จะเห็นว่าความก้าวหน้าในเรื่องมาตรการจัดการขยะพลาสติก สหรัฐอเมริกายังตามหลังแอฟริกาอยู่ด้วยซ้ำไป
ในสหรัฐอเมริกามีเพียงสองรัฐเท่านั้นที่มีมาตรการการแบนซึ่งก็คือแคลิฟอร์เนีย และฮาวาย แต่ฮาวายก็ไม่ถือว่ามีการแบนทั้งหมด เพราะใช้มาตรการนี้เพียง 5 เกาะใหญ่เท่านั้น แต่ก็ถือเป็นพื้นที่แรกในการปกครองของสหรัฐอเมริกาที่มีมาตรการนี้ตั้งแต่ปี 2005 ตามมาด้วยแคลิฟอร์เนียในปี 2014 ส่วนในปี 2009 วอชิงตัน ดีซี กำหนดการใช้มาตรการภาษีแก่การใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวอยู่ที่ 5 เซ็นต์ต่อหนึ่งถุง
ตัวอย่างสองเมืองที่ประสบความสำเร็จในการลดขยะพลาสติกได้แก่ เมืองซานโฮเซ รัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งมีมาตรการนี้มาตั้งแต่ปี 2012 พบว่าปริมาณขยะจากถุงพลาสติกที่พบในท่อระบายน้ำลดลง 89% ในแม่น้ำลดลง 60% และจากที่อยู่อาศัยลดลง 59 % ขณะที่เมืองซีแอตเทิล รัฐวอชิงตัน ถุงขยะพลาสติกจากที่อยู่อาศัยลดลง 48% และถุงขยะพลาสติกจากธุรกิจการค้าลดลง 76%
ในขณะที่ก็ยังมีอีก 10 รัฐ ทั้ง แอริโซน่า, ไอดาโฮ, ไอโอวา, มินนิโซตา, มิชิแกน, มิสซูรี, อินเดียนา, มิสซิสซิปปี, ฟลอริดา, และวิสคอนซิน มีกฎหมายห้ามแบนถุงพลาสติก ซึ่งเกิดจากการวิ่งเต้นล็อบบี้อย่างหนักจากบริษัทอุตสาหกรรมที่ผลิตพลาสติกที่จะสูญเสียประโยชน์จากกฎหมายการแบน
สำหรับประเทศไทย ท่ามกลางกระแสการตื่นตัวในเรื่องขยะพลาสติกทั่วโลก รวมไปถึงวิกฤตทางสิ่งแวดล้อมและสัตว์ที่เกิดจากขยะพลาสติก เรายังไม่มีนโยบายหรือมาตรการที่ชัดเจนจากทางภาครัฐในการจัดการกับเรื่องนี้
อ้างอิง:
https://www.reusethisbag.com/articles/where-are-plastic-bags-banned-around-the-world/
https://www.businessinsider.com/plastic-bans-around-the-world-2019-4#a-somali-terrorist-group-alsobannedsingle-use-plastic-bags-in-the-areas-it-controls-7
https://study.com/blog/which-countries-have-banned-plastic-bags.html
Tags: กฎหมายสิ่งแวดล้อม, ถุงพลาสติก, ขยะพลาสติก