‘When Saturday comes’ ไม่ได้เป็นเพียงแค่วลียอดฮิตในวงการฟุตบอล แต่มันยังสะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตของอุตสาหกรรมฟุตบอลลีกที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับการปฏิวัติอุตสาหกรรมอย่างแยกไม่ออก
วลีดังกล่าวเป็นที่รู้จักจากชื่อนิตยสาร When Saturday Comes (WSC) นิตยสารที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อวัฒนธรรมฟุตบอลในอังกฤษ
WSC เปิดตัวจากการเป็นแฟนซีนในปี 1986 ช่วงที่ฟุตบอลอังกฤษอยู่ในยุคตกต่ำถึงขีดสุด อันเนื่องมาจากความตื่นกลัวต่อฮูลิแกน จนทำให้แฟนบอลทั่วไปไม่เข้าสนาม ซ้ำยังมีเหตุโศกนาฏกรรมที่เฮย์เซลจนทำให้สโมสรจากอังกฤษ (ที่ก่อนหน้านั้นกำลังครองความยิ่งใหญ่) ถูกแบนจากการแข่งฟุตบอลยุโรป
ขณะที่ฟุตบอลอังกฤษอยู่ในภาวะหายใจรวยริน WSC กระตุ้นสัญญาณชีพให้มันอีกครั้งจากเนื้อหาว่าด้วยไลฟ์สไตล์ของแฟนบอลที่มีมากกว่าแค่เรื่องในสนาม เป็นกระบอกเสียงให้กับแฟนบอลที่ไม่ใช่ฮูลิแกน ไม่เหยียดผิว และออกโทนซ้ายๆ เสียด้วย จากประสบการณ์ที่เคยทำแฟนซีนด้านดนตรีมาก่อนของทีมงานรุ่นบุกเบิก ทำให้ WSC มีเนื้อหาที่คูลจับใจแฟนบอล จนขยับจากแฟนซีนที่ทำกันเองมาเป็นนิตยสารที่พิมพ์จำหน่ายไปทั่วอังกฤษ (วลี ‘When Saturday comes’ มาจากชื่อเพลงของ The Undertones)
เพลง ‘When Saturday Comes’ ของ The Undertones
ในปี 1996 วลี ‘When Saturday comes’ ก็ยิ่งเป็นที่รู้จัก เมื่อนำไปใช้เป็นชื่อของภาพยนตร์ที่ว่าด้วยไอ้หนุ่มโรงงานขี้เมาซึ่งไล่ตามความฝันในการเป็นนักฟุตบอลอาชีพ
จนถึงทุกวันนี้ ‘When Saturday comes’ กลายเป็นวลียอดฮิตที่ถูกยกมากล่าวถึงเสมอเมื่อวันเสาร์มาถึง ซึ่งมันหมายความว่าได้เวลาของฟุตบอลแล้วนั่นเอง
ไม่แน่ใจว่าทีมงาน WSC เลือกใช้วลีนี้ด้วยเหตุผลอะไร แต่ในแง่หนึ่ง วลี ‘When Saturday comes’ ก็สะท้อนถึงไลฟ์สไตล์ของแฟนบอลในมิติที่เป็นมนุษย์ในสังคมอุตสาหกรรมได้เป็นอย่างดี มันเผยให้เห็นร่องรอยความสัมพันธ์ที่โยงไปถึงการปฏิวัติอุตสาหกรรมอันเป็นต้นธารของฟุตบอลลีกได้เลย
คำถามที่ว่าทำไมฟุตบอลลีกต้องเตะวันเสาร์-อาทิตย์ ดูจะเป็นคำถามที่บ้าบอพอสมควร ใครๆ ก็ตอบได้ว่าเพราะมันเป็นวันหยุด คนจึงมีเวลาว่างไปดูฟุตบอล แต่ถ้าถามต่อไปว่าแล้วทำไมวันหยุดต้องเป็นวันเสาร์-อาทิตย์ แล้วทำไมต้องมีวันหยุด แล้วทำไมต้องมีวันทำงาน จะตอบคำถามหลังๆ นี้ได้ คงต้องอ้างไปถึงการปฏิวัติอุตสาหกรรม
แต่จะย้อนไปไกลกว่านั้นก็ได้ คือตั้งแต่มนุษย์เริ่มแยกสายพันธุ์จากชิมแปนซีมาเป็นโฮมินิดที่ลงจากต้นไม้มาเดินสองขาเมื่อประมาณ 2-5 ล้านปีก่อน ในช่วงหลายล้านปีแรก มนุษย์เลี้ยงชีพด้วยการเข้าป่าล่าสัตว์และเก็บหาอาหาร วิถีชีวิตเปลี่ยนแปลงน้อยมากในช่วงเวลาหลายล้านปี จนกระทั่งประมาณ 10,000 ปีก่อน มนุษย์ก็เริ่มเลี้ยงชีพด้วยการเพาะปลูก ชีวิตก็เป็นไปแบบนี้เป็นหมื่นปี จนเมื่อประมาณ 300-400 ปีก่อน เกิดการปฏิวัติวิทยาศาสตร์และการปฏิวัติอุตสาหกรรม มนุษย์เปลี่ยนวิถีชีวิตจากเกษตรกรรมมาเป็นอุตสาหกรรม เทคโนโลยีพัฒนาอย่างรวดเร็ว วิถีชีวิตของคนในช่วงไม่กี่ร้อยปีมานี้เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมากเมื่อเทียบกับสองช่วงก่อนหน้า การปฏิวัติอุตสาหกรรมจึงเป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อมนุษย์มากที่สุด
องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และพัฒนาการทางเทคโนโลยีที่รุดหน้าขึ้น ทำให้เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมในช่วงประมาณศตวรรษที่ 18 เครื่องจักรยุคแรกๆ อย่างเครื่องจักรไอน้ำ ทำให้รูปแบบการผลิตของมนุษย์เปลี่ยนแปลงไป จากที่เคยผลิตด้วยแรงงานคนหรือสัตว์ ก็เปลี่ยนมาเป็นผลิตด้วยเครื่องจักร และเกิดโรงงานอุตสาหกรรมขึ้นตามมา
ผลที่ตามมาของการปฏิวัติอุตสาหกรรมคือมนุษย์จำนวนมากเปลี่ยนสถานะจากเกษตรกรมาเป็นผู้ใช้แรงงานในโรงงาน และเมื่อต้องทำงานในโรงงาน ก็ต้องเกิดการย้ายถิ่นไปอาศัยอยู่รอบๆ โรงงาน สิ่งที่ตามมาอีกทีจึงเป็นการเติบโตขึ้นของเมือง
ศูนย์กลางการปฏิวัติอุตสาหกรรมแห่งแรกๆ คืออังกฤษ (และต่อมามันก็ทำให้อังกฤษทรงอิทธิพลจนเป็นเจ้าอาณานิคมรายใหญ่) ซึ่งทำให้เกิดเมืองใหญ่ขึ้นเป็นจำนวนมาก ทั้งที่เป็นเมืองอุตสาหกรรม เมืองผลิตแร่ป้อนให้กับอุตสาหกรรม เมืองท่า (เรือ) ที่รองรับการขนส่ง และเมืองที่เป็นศูนย์กลางการค้า
แผนที่เปรียบเทียบความหนาแน่นประชากรอังกฤษ ก่อนและหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม
แผนที่นี้เป็นการเปรียบเทียบความหนาแน่นของประชากรในอังกฤษระหว่างปี 1701 ซึ่งเป็นช่วงก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม กับปี 1911 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมแล้ว โดยไล่เรียงความหนาแน่นมาตั้งแต่โทนสีขาว (หนาแน่นน้อยที่สุด) สีเหลือง สีส้ม และสีเขียว (หนาแน่นมากที่สุด)
จะเห็นได้ว่าเมื่อเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม ทำให้เกิดพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่นขึ้นมาหลายแห่ง หรือพูดอีกแบบก็คือ เกิดแหล่งอุตสาหกรรมและเมืองขนาดใหญ่ขึ้นมา
การทำงานในระบบอุตสาหกรรมทำให้เกิดวิถีชีวิตแบบใหม่ จากเดิมที่มนุษย์เลี้ยงชีพด้วยการเกษตร เวลาทำงานของพวกเขาจึงขึ้นอยู่กับธรรมชาติซึ่งไม่มีความแน่นอน (คงไม่มีใครบอกให้ฝนตกหรือหยุดตกได้) แต่การทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมนั้นขึ้นอยู่กับเวลาสากล ทั้งนาฬิกาและปฏิทิน สมมติแบบใจดีหน่อยว่าเวลางานอยู่ที่วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.00-17.00 น. เวลาที่เหลือนอกจากนั้นเป็นเวลาว่าง หรือพูดอีกแบบได้ว่า ชีวิตแบบอุตสาหกรรมนั้นทำให้เกิดเวลางาน และเมื่อมีการขีดเส้นแบ่ง ก็ทำให้เกิดเวลาว่างซึ่งเป็นเหมือนกับอีกด้านหนึ่งของเหรียญขึ้นมาด้วย
แม้ชีวิตในระบบอุตสาหกรรมจะดูมีเวลาที่เป็นระบบระเบียบ แต่เวลาที่เป็นระบบระเบียบและการทำงานในระบบสายพานที่ซ้ำซากนั้นมันแสนจะจำเจน่าเบื่อหน่าย นักสังคมวิทยาอย่างนอร์เบิร์ต อีเลียส (Norbert Elias) และอีริก ดันนิง (Eric Dunning) อธิบายว่าการทำงานที่จำเจในสังคมอุตสาหกรรมขั้นสูงทำให้มนุษย์เครียดขึ้นทุกวัน เหมือนกับลูกโป่งที่ถูกอัดลมเข้าไปรอวันระเบิด แต่ระบบอุตสาหกรรมก็มีกลไกหนึ่งที่เป็นเหมือนกับวาล์วนิรภัยซึ่งค่อยๆ ปล่อยลมออกจากลูกโป่ง นั่นคือกิจกรรมหย่อนใจในเวลาว่าง และหนึ่งในกิจกรรมที่ช่วยหย่อนใจได้ดีที่สุดคือการดูกีฬา เพราะผลที่คาดเดาไม่ได้ของกีฬานั้นสร้างความตื่นเต้นที่คลายเบื่อให้กับมนุษย์ได้ หรือพูดแบบมองโลกในแง่ร้ายหน่อยก็ได้ว่าการออกไปดูกีฬา (หรือทำกิจกรรมอื่นๆ) ในวันหยุด ช่วยให้มนุษย์ยังพอจะกล้ำกลืนฝืนทนทำงานที่แสนน่าเบื่อในสายพานอุตสาหกรรม และทำให้ระบบทุนนิยม-อุตสาหกรรมดำเนินต่อไปได้
อันที่จริง เวลางานในระบบอุตสาหกรรมช่วงแรกๆ นั้นโหดเหี้ยมกว่าทุกวันนี้มากมายนัก เรียกว่าแทบไม่มีเวลาพักผ่อนกันเลย แต่เมื่อขบวนการแรงงานเข้มแข็งขึ้น ก็มีการเรียกร้องให้ลดเวลางาน และมีกฎหมายจำกัดชั่วโมงทำงานออกมาเรื่อยๆ งานศึกษาหลายชิ้นบอกว่าความนิยมในกีฬาจำนวนมากเกิดขึ้นในช่วงนี้ คือช่วงที่แรงงานเริ่มมีเวลาว่างมากขึ้น และการแข่งขันฟุตบอลในอังกฤษก็เริ่มขึ้นในช่วงที่แรงงานส่วนใหญ่ได้หยุดพักผ่อนตั้งแต่วันเสาร์ หรืออย่างน้อยก็ตั้งแต่ช่วงบ่ายของวันเสาร์
การแข่งขันฟุตบอลรายการต่างๆ ในอังกฤษเริ่มต้นขึ้นเมื่อประมาณปลายศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นช่วงที่ระบบอุตสาหกรรมเติบใหญ่เต็มที่ FA Cup ฟุตบอลถ้วยที่เก่าแก่ที่สุดในโลก เริ่มแข่งนัดแรกในวันเสาร์ที่ 11 พฤศจิกายน 1871 ส่วนฟุตบอลลีกอังกฤษ (ที่ทุกวันนี้กลายเป็นพรีเมียร์ลีก) ก็เริ่มแข่งนัดแรกในวันที่ 8 กันยายน 1888 ซึ่งแน่นอนว่า มันคือวันเสาร์, When Saturday comes!
ร่องรอยความสัมพันธ์ระหว่างพรีเมียร์ลีกกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมไม่ได้เพียงแค่แสดงให้เห็นว่าทำไมวันเสาร์จึงมีความสำคัญ แผนที่ความหนาแน่นของประชากรในช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรมยังอาจอธิบายได้อีกว่าเพราะอะไรบางสโมสรจึงกลายเป็นสโมสรที่ยิ่งใหญ่และประสบความสำเร็จ
เทียบแผนที่เมืองที่โตขึ้นจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมกับที่ตั้งสโมสรที่เคยเล่นในพรีเมียร์ลีก
เมื่อดูจากความหนาแน่นของประชากร จะเห็นได้ว่าเกือบทุกสโมสรที่เคยร่วมแข่งขันในศึกพรีเมียร์ลีกนั้นอยู่ในพื้นที่สีเขียว ซึ่งหมายความว่าการเติบโตของเมืองอุตสาหกรรมนั้นมีความสัมพันธ์อย่างค่อนข้างชัดเจนกับความสำเร็จของสโมสร
เมื่อมีแฟนบอลจำนวนมากคอยสนับสนุน และเมื่อเติบโตมาก่อนใคร สโมสรนั้นๆ ก็ยิ่งไปได้ดี โดยเฉพาะสโมสรใหญ่ๆ ในเมืองแมนเชสเตอร์ที่เติบโตมากับอุตสาหกรรมสิ่งทอซึ่งเป็นอุตสาหกรรมแรกๆ ของอังกฤษ เมืองลิเวอร์พูลที่เป็นเมืองท่าสำคัญ ไปจนถึงลอนดอนในฐานะศูนย์กลางทางการค้า
การเติบโตของอุตสาหกรรมฟุตบอลจึงเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับการปฏิวัติอุตสาหกรรมอย่างแยกไม่ออก โดยเริ่มต้นจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนคนที่มาพร้อมกับการขยายตัวของเมือง และการมีเวลาว่างในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ที่มาพร้อมกับการทำงานในระบบอุตสาหกรรม
‘When Saturday comes!’
ขอให้ทุกคนสนุกกับการดูฟุตบอล (โดยแกล้งลืมไปก่อนว่ามันเป็นกลไกหนึ่งที่ทำให้การขูดรีดของทุนนิยม-อุตสาหกรรมยังดำเนินต่อไปได้)
Tags: industrial revolution, When Saturday Comes, WSC, Football, ฟุตบอล, ฟุตบอลอังกฤษ