ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจมหภาค ไม่ว่าจะเป็นธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) รวมไปถึงศูนย์วิจัยของธนาคารพาณิชย์ และองค์กรระหว่างประเทศเช่นธนาคารโลก ต่างพร้อมใจกันปรับลดตัวเลขคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจลดจากการประเมินเมื่อกลางปี โดยคาดว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยตลอดทั้งปี 2562 นี้ น่าจะอยู่ที่ประมาณ 2.8% เท่านั้น
ความเข้าใจผิดประการแรก: GDP คือตัวบอกการเติบโตทางเศรษฐกิจ
เมื่อพูดถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจ ตัวชี้วัดแรกที่เรามักจะนึกถึงคือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือผลิตภัณฑ์ในประเทศเบื้องต้น หรือจีดีพี (Gross Domestic Product: GDP) แม้คนส่วนใหญ่จะรู้จักและคุ้นเคยกับตัวชี้วัดนี้ดี แต่จีดีพีไม่ใช่ตัวเลขที่แสดงถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจแต่อย่างใด
โดยนิยามแล้ว จีดีพีหมายถึงมูลค่ารวมของสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายที่ผลิตขึ้นในระบบเศรษฐกิจในช่วงระยะเวลาหนึ่ง (ซึ่งโดยมากแล้วเป็นระยะเวลาหนึ่งปี) หากจะกล่าวอีกแบบหนึ่งก็คือ จีดีพีเป็นตัวเลขที่เกิดจากการวัดมูลค่าของกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศภายในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งสะท้อนถึงขนาดของระบบเศรษฐกิจของประเทศ
ด้วยเหตุนี้ จีดีพีจึงเป็นตัวชี้วัดที่มักใช้เปรียบเทียบขนาดของระบบเศรษฐกิจระหว่างช่วงเวลา เช่น จากตัวเลขของสภาพัฒน์ฯ นั้น จีดีพีของไทยในปี 2560 เท่ากับ 10.24 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 9.84 ล้านล้านบาทในปี 2559 หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 4 แสนล้านบาท
อย่างไรก็ดี เพื่อให้เห็นภาพง่ายขึ้น เราจึงมักบอกการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นเปอร์เซ็นต์ เช่น จีดีพีของไทยในปี 2560 เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ประมาณ 4% ตัวเลขนี้ถูกเรียกว่า อัตราการเติบโตของจีดีพี (GDP growth) ดังนั้น ตัวชี้วัดที่แสดงถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจคือ อัตราการเติบโตของจีดีพีไม่ใช่จีดีพีโดยตัวมันเอง
นอกจากนี้ ควรจะกล่าวด้วยว่า เนื่องจาก จีดีพีเป็นการวัดมูลค่าของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นภายในระยะเวลาหนึ่งๆ ไม่ใช่ ณ จุดใดจุดหนึ่งของเวลา จีดีพีจึงเป็นตัวแปรเชิงกระแส (flow variable) ไม่ใช่ตัวแปรเชิงสต็อก (stock variable) ดังนั้น การอุปมาจีดีพีกับขนาดของต้นไม้ (ไม่ว่าจะเป็นต้นถั่วงอกหรือต้นมะม่วง) และเปรียบเทียบการเติบโตของจีดีพีกับการเติบโตของพืชชนิดต่างๆ จึงไม่ถูกต้อง และทำให้เข้าใจการพัฒนาเศรษฐกิจแบบผิดๆ ตามไปด้วย
ความเข้าใจผิดประการที่สอง: เราใช้ GDP เพื่อเปรียบเทียบฐานะทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
เนื่องจากจีดีพีเป็นตัวเลขที่สะท้อนถึงขนาดของระบบเศรษฐกิจของประเทศ บางคนจึงใช้จีดีพีเพื่อเปรียบเทียบฐานะทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ซึ่งบางกรณีอาจพอใช้ได้ เช่น การให้ความสำคัญกับการส่งออกสินค้าไปยังประเทศที่มีจีดีพีสูง (เช่น จีน) เนื่องจากจีดีพีที่สูงกว่า แสดงถึงขนาดตลาดที่ใหญ่กว่า
อย่างไรก็ดี ในกรณีอื่นๆ ส่วนใหญ่แล้ว การใช้จีดีพีเพื่อเปรียบเทียบฐานะทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง
จากตัวเลขล่าสุดของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ (International Monetary Fund: IMF) นั้น จีดีพีของไทยสูงติด 25 อันดับแรกของโลก ด้วยความเข้าใจผิด (หรือเพื่อโฆษณาชวนเชื่อ) จึงมีผู้สรุปว่า ขนาดเศรษฐกิจไทยใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองในอาเซียน เป็นรองเพียงแค่อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นเพราะไทยมีจำนวนประชากรน้อยกว่า ข้อสรุปดังกล่าวบิดเบือนข้อเท็จจริงด้วยการจงใจเลือกใช้ข้อมูลแค่บางชุด เนื่องจากหากใช้วิธีคิดเดียวกันแล้ว ประเทศเพื่อนบ้านเช่น สิงคโปร์ และมาเลเซีย ต่างก็มีจำนวนประชากรน้อยกว่าไทยเช่นกัน
โดยปกติแล้ว หากจะเปรียบเทียบฐานะทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เราจะใช้จีดีพีต่อหัว (GDP per capita) แทนที่จะเป็นจีดีพี เนื่องจากความแตกต่างของจำนวนประชากรของแต่ละประเทศตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบจีดีพีต่อหัวของไทย (ประมาณ 7.8 พันเหรียญสหรัฐฯ) กับประเทศเพื่อนบ้านจะพบว่า จีดีพีต่อหัวของไทยนั้น น้อยกว่าทั้งสิงคโปร์ (6.4 หมื่นเหรียญสหรัฐฯ) บรูไน (2.8 หมื่นเหรียญสหรัฐฯ) และมาเลเซีย (1.1 หมื่นเหรียญสหรัฐฯ) แม้ว่าจีดีพีของไทยจะสูงกว่าก็ตาม
นอกจากนี้ หากเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่มีจีดีพีใกล้เคียงกับไทย (คือมีจีดีพีอยู่ระหว่าง 5-6 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ) จะพบว่า ประเทศเหล่านี้ล้วนมีจีดีพีต่อหัวสูงกว่าไทย เนื่องจากมีจำนวนประชากรน้อยกว่า ไม่ว่าจะเป็นไต้หวัน (2.5 หมื่นเหรียญสหรัฐฯ) โปแลนด์ (1.5 หมื่นเหรียญสหรัฐฯ) สวีเดน (5.1 หมื่นเหรียญสหรัฐฯ) และเบลเยี่ยม (4.5 หมื่นเหรียญสหรัฐฯ)
กล่าวโดยสรุปก็คือ เมื่อเปรียบเทียบฐานะทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศโดยใช้จีดีพีต่อหัวแทนที่จะเป็นจีดีพีแล้ว ไทยจะอยู่ประมาณอันดับที่ 80 ของโลก ไม่ใช่อยู่ใน 25 อันดับแรกตามที่กล่าวอ้าง
ความเข้าใจผิดประการที่สาม: การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยอยู่ในระดับปกติ
นอกจากตัวเลขคาดการณ์อัตราการเติบโตของจีดีพีของไทยในปีนี้ที่น่าจะต่ำกว่า 3% แล้ว ในช่วงห้าปีที่ผ่านมา อัตราการเติบโตของจีดีพีโดยเฉลี่ยก็อยู่ที่ประมาณ 3.1% เท่านั้น ตัวเลขดังกล่าวนำมาซึ่งคำถามว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติหรือไม่
โดยปกติแล้ว ประเทศที่มีฐานะทางเศรษฐกิจแตกต่างกันมักมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน หากเราจำแนกประเทศต่างๆ โดยใช้จีดีพีต่อหัวตามเกณฑ์ของธนาคารโลก (เน้นว่าใช้ ‘จีดีพี ต่อหัว’ ไม่ใช่ ‘จีดีพี’) จะพบว่า ประเทศในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางระดับล่างนั้นมีอัตราการเติบโตของจีดีพีสูงสุด (เฉลี่ยประมาณ 5.6% ในช่วงห้าปีหลังสุด) รองลงมาคือประเทศในกลุ่มรายได้ต่ำ (4.3%) และประเทศในกลุ่มรายได้ปานกลางระดับบน (4%) ขณะที่ประเทศในกลุ่มรายได้สูงนั้นมีอัตราการเติบโตของจีดีพีเฉลี่ยเพียงประมาณ 2.1% เท่านั้น ดังนั้น การเปรียบเทียบอัตราการเติบโตของจีดีพีระหว่างประเทศในกลุ่มรายได้เดียวกันจึงเหมาะสมกว่าการเปรียบเทียบข้ามกลุ่มรายได้ กล่าวคือ แม้ว่าเราไม่ควรเทียบอัตราการเติบโตของจีดีพีของไทยกับลาว กัมพูชา หรือเวียดนาม เพราะประเทศเหล่านี้เป็นประเทศในกลุ่มรายได้ปานกลางระดับล่าง แต่เราก็ไม่ควรเทียบกับประเทศในกลุ่มรายได้สูง เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา หรือสหราชอาณาจักร เช่นกัน
เมื่อเปรียบเทียบอัตราการเติบโตของจีดีพีของไทยกับประเทศอื่นๆ ในกลุ่มรายได้ปานกลางระดับบนแล้วจะเห็นว่า ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยนั้นไม่แย่นัก อย่างไรก็ตาม การบอกว่าตัวเลขดังกล่าว ‘ปกติ’ หรือไม่ อาจจำเป็นต้องพิจารณาข้อเท็จจริงอื่นๆ ประกอบ
ข้อแรกคือ การคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ถูกปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง เช่น หากดูจากรายงานภาวะเศรษฐกิจรายไตรมาสที่จัดทำโดยสภาพัฒน์ฯ จะพบว่า ตัวเลขคาดการณ์อัตราการเติบโตของจีดีพีตลอดปี 2562 ถูกปรับลดลงเรื่อยๆ จากเดิม 4.0% ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2561 เหลือ 3.6% และ 3.0% ในช่วงไตรมาสที่หนึ่งและไตรมาสที่สองของปี 2562 ตามลำดับ หากการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นไปอย่าง ‘ปกติ’ ตัวเลขคาดการณ์ดังกล่าวไม่ควรถูกปรับลดลงมากเช่นนี้
ข้อสอง คือ มาตรการต่างๆ ที่ภาครัฐใช้กระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา เราเห็นความพยายามของภาครัฐในการออกมาตรการต่างๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการชิมช้อปใช้ทั้งสองเฟส (และน่าจะมีเฟสสามในอนาคตอันใกล้) หรือการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยสองครั้งในช่วงเวลาสี่เดือน ในสภาวะที่เศรษฐกิจเติบโตด้วยดี ภาครัฐคงไม่มีความจำเป็นต้องใช้มาตรการดังกล่าวบ่อยครั้งนัก
ข้อสุดท้ายคือ การเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับต่ำติดต่อกันเป็นระยะเวลานานจนกลายเป็น ‘ปกติ’ ย่อมไม่ส่งผลดีต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว โดยเฉพาะกับประเทศกำลังพัฒนา ในช่วงหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา ไทยมีอัตราการเติบโตของจีดีพีเฉลี่ยประมาณ 3.3% ต่อปี ถ้าตัวเลขดังกล่าวยังไม่ดีขึ้น เราอาจต้องรอเวลาอีก 11 ปี กว่าที่จีดีพีต่อหัวของคนไทยจะเพิ่มขึ้นจนเท่ากับจีดีพีต่อหัวของประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียในปัจจุบัน (และ 65 ปีกว่าจะเท่ากับสิงคโปร์ในปัจจุบัน) มิพักต้องพูดถึงว่า มาเลเซียมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงกว่าไทย คือเฉลี่ยประมาณ 4.7% ต่อปีในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (แม้ว่าจะเป็นประเทศในกลุ่มรายได้ปานกลางระดับบนเหมือนกัน และอยู่ในภูมิภาคเดียวกัน) ซึ่งจะทำให้ช่องห่างระหว่างไทยกับมาเลเซียยิ่งสูงขึ้นอีก
ความเข้าใจผิดประการสุดท้าย: จีดีพียังขยายตัวอยู่แปลว่าเศรษฐกิจไม่แย่
แม้ว่าจีดีพีจะเป็นตัวชี้วัดที่ดีที่สุดเท่าที่มีอยู่สำหรับการวัดมูลค่าของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แต่ จีดีพีเป็นเพียงแค่ตัวชี้วัดตัวหนึ่ง จึงไม่สามารถบอกทุกอย่างเกี่ยวกับระบบเศรษฐกิจได้ โดยเฉพาะผลกระทบเชิงลบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนความเหลื่อมล้ำ ตัวอย่างเช่น แม้กระทั่งจีดีพีต่อหัวก็บอกได้เฉพาะ “ค่าเฉลี่ย” ของประเทศ ซึ่งแปลว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะได้รับอานิสงส์จากกิจกรรมต่างๆ ทางเศรษฐกิจอย่างเท่าเทียมกัน ดังนั้น แม้ว่าจีดีพีจะยังขยายตัวอยู่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้คนในประเทศทุกคนได้ประโยชน์เสมอไป
นอกจากนี้ หากต้องการตอบคำถามว่าเศรษฐกิจแย่หรือไม่ ก็จำเป็นต้องดูมิติอื่นๆ ไปพร้อมๆ กัน เช่น สถานการณ์การเลิกจ้างของภาคการผลิตต่างๆ รวมถึงอัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้น หนี้ภาคครัวเรือนและยอดคงค้างสินเชื่อส่วนบุคคลที่พุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ หรืออัตราเงินเฟ้อที่ต่ำกว่าเป้าหมายซึ่งสะท้อนถึงอุปสงค์มวลรวมน้อยเกินไป
เป็นเรื่องดีที่จะให้ความสนใจกับจีดีพี เพราะประเด็นเศรษฐกิจมหภาคไม่ใช่แค่เรื่องของรัฐบาลหรือนักเศรษฐศาสตร์เท่านั้น หากแต่เป็นเรื่องของคนทุกคน แต่จะดีกว่ามากถ้าจะทำความเข้าใจจีดีพีและตัวเลขทางเศรษฐกิจอื่นๆ อย่างถูกต้อง เพราะเมื่อเข้าใจตัวชี้วัดเหล่านี้อย่างไม่ถูกต้อง ก็จะมองไม่เห็นปัญหาของสังคมเศรษฐกิจไทย และเมื่อมองไม่เห็นปัญหา ก็หลงคิดว่าประเทศไม่มีปัญหา และพากันเดินไปผิดทิศผิดทาง
ตัวเลขไม่เคยหลอกใคร มีแต่คนนำไปใช้ที่มักหลอกตัวเอง.
Tags: GDP, จีดีพี, จีดีพีต่อหัว, ไอเอ็มเอฟ, IMF