เราหาเงินมาแต่ละเดือนเพื่อใช้จ่ายสิ่งต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ทั้งค่าอาหารการกิน เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ค่าเดินทาง ส่วนที่เหลือจากค่าใช้จ่ายประจำเหล่านี้ เราสามารถนำไปออมเพื่อทำประโยชน์ให้เราได้ เช่น การออมในธนาคารเพื่อกินดอกเบี้ย นำไปปล่อยกู้ นำไปลงทุนต่างๆ ขณะเดียวกัน เราก็ออมบางส่วนเพื่อนำไปใช้จ่ายเวลาฉุกเฉินหรือรับมือกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดในอนาคตที่อาจทำให้มีค่าใช้มากขึ้นกว่าปกติ เช่น ถ้าสมมติเราตกงานขาดรายได้ก็ต้องใช้เงินที่เก็บออมไว้ ถ้าเกิดอุบัติเหตุเจ็บป่วยขึ้นมาและต้องเสียค่ารักษา ก็พออุ่นใจได้ว่าเราจะมีปัญญาจ่ายโดยไม่ต้องไปกู้หนี้ยืมสินใคร
การออมจึงเป็นผลดีต่อผู้เก็บออมเอง ในฐานะเป็นทั้งทุนสะสมเพื่อหาผลตอบแทน และทุนสำรองเพื่อจัดการกับความเสี่ยงต่างๆ อย่างไรก็ตาม ถ้าการออมมีมากไป ย่อมหมายถึงว่า เราต้องเสียสละเงินปัจจุบันที่จะนำมาจับจ่ายมากขึ้นด้วย แต่ละคนก็ต้องคิดว่าแบบไหนจะคุ้มกว่ากัน ระหว่างใช้เงินในปัจจุบันหรือเลือกออมไว้ใช้ในอนาคต
ปริมาณการออมที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ
ปัจจัยแรกคือรายได้ ถ้าคนไหนมีรายได้สูงก็มีเงินเหลือมากในการออม
ปัจจัยที่สองคือรายจ่าย ถ้าคนไหนมีรายจ่ายน้อยก็มีเงินเหลือเก็บออมไว้มาก
ปัจจัยที่สามคืออัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ถ้าเงินฝากสูง คนก็อยากจะออมเพื่อได้รับผลตอบแทนที่มากขึ้น
ปัจจัยที่สี่คือความเสี่ยงและเจตคติต่อความเสี่ยง คนไหนที่คาดการณ์ว่าจะมีความเสี่ยงที่ต้องสูญเสียรายได้หรือมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในอนาคต ก็มีแนวโน้มที่จะเก็บออมมากขึ้น
แต่แม้ความเสี่ยงที่เหมือนกัน คนเราก็ออมจำนวนต่างกัน ขึ้นอยู่กับเจตคติต่อความเสี่ยง คนที่กลัวความเสี่ยงมากก็อาจจะยอมอดตอนนี้เพื่อสบายในวันข้างหน้า และมีปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลการออมด้วย เช่น นโยบายรัฐบาล
รัฐสวัสดิการกับการออม
การออมย่อมส่งผลดีต่อผู้ออมเอง แต่การออมที่มากเกินไปกลับอาจส่งผลร้ายต่อเศรษฐกิจมหภาคแทน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ช่วงสภาพเศรษฐกิจหดตัว
จอห์น เมนาร์ด เคนส์ บิดาแห่งเศรษฐศาสตร์มหภาค เสนอวิธีการแก้ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกในช่วงทศวรรษ 1930 ว่า ระบบเศรษฐกิจไม่สามารถปรับเข้าสู่ภาวะสมดุลได้เองตามธรรมชาติหรือ อาศัยกลไกตลาดเพียงอย่างเดียว แต่บางครั้งต้องอาศัยอำนาจรัฐเข้าไปกระตุ้นระบบเศรษฐกิจด้วย ส่วนในเรื่องการออมนั้น ถ้าภาคครัวเรือนมีการออมมากเกินไปกลับส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจมหภาคหดตัวได้เพราะออมมากขึ้นทำให้ภาคครัวเรือนบริโภคได้น้อยลง และส่งผลต่อเนื่องให้ภาคการผลิตที่ต้องลดกำลังการผลิตและการลงทุน จนต้องเลิกจ้างงานตามมา
แนวคิดเคนเซียนมีอิทธิพลอย่างสูงในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และเป็นแรงบันดาลใจให้รัฐสวัสดิการยุโรปในการใช้อำนาจรัฐเข้าแทรกแซงระบบเศรษฐกิจตลาด เพื่อมาฟื้นฟูภาคการผลิตที่ภาคเอกชน บริษัทห้างร้านต่างๆ ต้องปิดตัวลงจากสงครามโลก และรัฐเข้ามาดำเนินกิจกรรมเศรษฐกิจบางอย่างแทน อย่างไรก็ตาม การแทรกแซงของรัฐก็จำเป็นต้องใช้เงินเช่นกันและแหล่งเงินสำคัญของงบประมาณรัฐก็คือ ภาษี ลักษณะของรัฐสวัสดิการยุโรปจึงเป็นรัฐที่มีลักษณะสูงแรกคือ ภาษีสูง
การเก็บภาษีสูงจึงมีจุดประสงค์เพื่อ ประการแรก ไม่ให้ประชาชนออมมากเกินไปจนส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจมหภาค ดังนั้น จึงโอนทรัพยากรภาคเอกชนไปให้รัฐมาใช้จ่ายลงทุน เพราะการวางแผนจากระดับมหภาคจะมีข้อมูลที่รอบด้านกว่า และการตัดสินใจอาจจะดีกว่าปัจเจกชน
ประการสอง จัดการความเสี่ยงแทนประชาชน เพราะการจัดการความเสี่ยงแบบต่างคนต่างทำมีต้นทุนสูงกว่า และประสิทธิภาพต่ำกว่าการจัดการความเสี่ยงแบบร่วมกัน เช่น การออมทรัพย์เพื่อใช้ในยามฉุกเฉิน มีประสิทธิภาพจัดการความเสี่ยงน้อยกว่าการประกันในระดับชาติ เช่น ถึงแม้เราจะเก็บเงินสะสมไว้เพื่อใช้จ่ายค่ารักษา แต่ถึงอย่างไรก็ไม่เพียงพอ ถ้าสมมติเราป่วยด้วยโรคมะเร็ง ดังนั้นการจ่ายให้รัฐแล้วได้สิทธิประโยชน์การประกันสุขภาพแห่งชาติจึงครอบคลุมความเสี่ยงได้มากกว่า
และเมื่อประชาชนถูกเก็บภาษีมากขึ้นย่อมหมายความว่าประชาชนจะมีเงินเก็บเหลือออมน้อยลงตามมา ดังนั้น กลุ่มประเทศรัฐสวัสดิการแบบยุโรปจึงมีการเก็บเงินออมที่ไม่มากนัก เช่น ภาคครัวเรือนในเดนมาร์คมีการออมราวๆ 1-2% ของเงินพึงใช้จ่าย ฟินแลนด์ราวๆ 3% และสหภาพยุโรปราวๆ 5-6%
ในขณะที่ประเทศที่ไม่ใช่รัฐสวัสดิการแบบยุโรปนั้น ประชาชนไม่ถูกเก็บภาษีสูง แต่ก็ต้องแลกมากับการจัดการความเสี่ยงเอง ทำให้แต่ละคนต้องรับผิดชอบเก็บเงินออมไว้จัดการความเสี่ยงเอง เช่น ประเทศจีนเงินออมสูงถึง 30% ส่วนเม็คซิโกราวๆ 15% สวิตเซอร์แลนด์ราวๆ 15-16% และประเทศไทยมีการออมราวๆ 30% ของรายได้
รัฐสวัสดิการกับการลงทุน
สูงที่สองของรัฐสวัสดิการแบบยุโรปคือ การใช้จ่ายภาครัฐด้านสังคมสูงตามมาด้วย เช่นฝรั่งเศสมีการใช้จ่ายด้านสังคมสูงสุดในกลุ่ม OECD ที่ราว 30% ของGDP ฟินแลนด์ เดนมาร์ก และสวีเดนราว 25% สวิตเซอร์แลนด์ราว 20% และเม็กซิโกราว 7% ของจีดีพี GDP
หลักการของรัฐสวัสดิการแบบยุโรปจึงวางอยู่บนฐานเรื่องสัญญาประชาคม การที่รัฐเก็บภาษีประชาชนมันคือการละเมิดกรรมสิทธิส่วนบุคคลของประชาชนอยู่ ซึ่งเป็นการทำลายสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน ดังนั้นเพื่อให้การเก็บภาษีเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้วอำนาจรัฐในการเก็บภาษี จึงต้องมีบ่อเกิดอำนาจที่ถูกต้องตามมาด้วย การเก็บภาษีจึงต้องมีการออกกฎหมายให้ประชาชนทราบ และรัฐต้องมีหน้าที่แจ้งกับประชาชนถึงความโปร่งใสในการใช้จ่ายภาษี ประชาชนมีสิทธิตรวจสอบได้ และเรียกร้องให้มีการทบทวนภาษีได้โดยการตัดสินใจขั้นสุดท้ายต้องเป็นไปตามฉันทามติสังคม และถ้ารัฐไม่มีอำนาจที่ชอบธรรมดังกล่าวแล้ว การเก็บภาษีก็ไม่ต่างอะไรกับโจรปล้นเงิน
อำนาจที่ชอบธรรมเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายภาครัฐและการลงทุนภาครัฐอย่างชาญฉลาดก็มีความสำคัญเช่นกัน ถ้าต้องการให้รัฐสวัสดิการดำเนินต่อไปได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่ประสบปัญหาทางการคลัง เนื่องจากตามสภาพความเป็นจริงนั้น เศรษฐกิจโลกมีความผันผวนตลอดเวลา อัตราเงินเฟ้อปรากฏต่อเนื่องทุกปี จำนวนประชากรมีมากขึ้นๆ ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้ราคาสินค้าแพงขึ้น ค่าเงินลดลง งบประมาณที่ต้องใช้เพิ่มมากขึ้น ถ้าต้องการรักษาสิทธิประโยชน์และสวัสดิภาพให้คงอยู่ระดับเดิม ทำให้รายได้ภาษีที่เก็บตามรูปแบบเดิมๆ จะไม่พอใช้
รัฐสวัสดิการแบบยุโรป จึงเป็นรัฐที่แนบแน่นกับระบบทุนนิยม และต้องดำเนินนโยบายเศรษฐกิจและการลงทุนภาครัฐที่เอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน รัฐจึงมีการสร้างสมดุลระหว่างพัฒนาเศรษฐกิจไปพร้อมๆ กับสร้างระบบป้องกันทางสังคม เพื่อให้ประชาชนมีสวัสดิการที่เพียงพอต่อการอยู่อาศัยและรักษาศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และป้องกันความเสี่ยงและความไม่แน่นอนของสังคมต่างๆ ซึ่งงบประมาณด้านไหนที่ไม่สำคัญหรือไม่ส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสวัสดิภาพประชาชน ถือเป็นการใช้จ่ายที่สิ้นเปลือง ก็ต้องตัดงบประมาณลงมาเรื่อยๆ ตัวอย่างเช่น งบประมาณการป้องกันประเทศ
Tags: เงินออม, รัฐสวัสดิการ, งบประมาณ, ความโปร่งใส, ภาษี, การออม