เมืองที่ยั่งยืน ในความหมายว่า ไม่ทำร้ายตัวเอง ไม่ทำร้ายผู้อยู่อาศัย ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ควรมีหน้าตาเป็นอย่างไร เราคงรอคำตอบจากผู้มีอำนาจในการออกแบบเมืองอย่างเดียวไม่ได้ เพราะหากมองมุมเดียว ก็อาจมีมุมอื่นๆ ที่เปราะบาง แล้วนำไปสู่ความไม่ยั่งยืน
ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน หรือ RISC ภายใต้บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) จึงได้จัดงาน WATS forum 2019 ชื่องานที่มาจากตัวย่อของคำว่า ความเป็นอยู่ที่ดี (Well-being) สถาปัตยกรรม (Architecture) เทคโนโลยี (Technology) และความยั่งยืน (Sustainability) เชิญผู้เชี่ยวชาญ 4 ด้านมานำเสนอมุมมองผ่านผลงานที่พวกเขาทำ ทั้งอดีตนายกรัฐมนตรีภูฏาน สถาปนิกนักออกแบบผังเมืองจากเนเธอร์แลนด์ นักวิทยาศาสตร์ด้านวิศวกรรมเคมีแห่ง MIT และนักวิจัยสร้างนวัตกรรมเพื่อผู้พิการ
แนวคิดเหล่านี้ยังไม่ใช่คำตอบสำเร็จรูป เป็นเพียงไอเดียจุดประกายความคิด อย่างชุมชนหมู่บ้านในแนวตั้ง ต้นไม้เรืองแสงแทนไฟถนน ดัชนีวัดความสุขของประชาชนที่ใช้ชี้วัดความสำเร็จของรัฐบาล และระบบโต้ตอบระหว่างคอมพิวเตอร์กับสมองของคน
ทั้งหมดนี้อาจผสานกลายเป็นองค์ประกอบเมืองอัจฉริยะในอนาคตก็ได้
นโยบายระดับประเทศกำหนด เราจะพัฒนาไปทางไหน
“ผมไม่ใช่นักวิจัย แต่เป็นผู้นำไปปฏิบัติ” ดาโช เชอริง ต๊อบเกย์ (Dasho Tshering Tobgay) อดีตนายกรัฐมนตรีประเทศภูฏาน กล่าวด้วยรอยยิ้ม เขาเปิดด้วยการชวนคิดว่า เราเคยตั้งคำถามเกี่ยวกับจุดประสงค์ในการมีอยู่ของรัฐบาลไหม
“จุดประสงค์ของการมีรัฐบาล ต้องเป็นการส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีและความสุขของประชาชน ถ้าทำไม่ได้ ก็ไม่มีเหตุผลให้ดำรงอยู่”
ดาโช เชอริง ต๊อบเกย์
ต๊อบเกย์พูดถึงดัชนีวัดความสุข หรือดัชนีความสุขมวลรวมประชาชน (GNH) ของภูฏานที่นำมาใช้วัดความสำเร็จในการพัฒนาประเทศ แทนผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ที่เราเองก็คงเคยคุ้นหูอยู่ แต่เขาก็ชี้ว่า GNH อาจเหมาะสมกับประเทศภูฏาน ไม่ได้หมายความว่าจะเหมาะสมกับทุกประเทศในโลก
ต๊อบเกย์กล่าวเสริมว่า นอกเหนือไปจากตัวเลขทางเศรษฐกิจ ประเทศอื่นๆ ก็มีดัชนีที่วัดคุณภาพชีวิตของประชาชนแตกต่างกันไป องค์การนานาชาติอย่าง UN ก็มีดัชนี SDGs (Sustainable Development Goals) ซึ่งถือว่าสอดคล้องกับ GNH
เขาให้ข้อมูลว่า GNH วัดผลใน 9 ด้าน ได้แก่ มาตรฐานการใช้ชีวิต การศึกษา สุขภาพ สิ่งแวดล้อม ความเข้มแข็งของชุมชน การใช้เวลา ความเป็นอยู่ที่ดีทางจิตวิทยา หลักธรรมาภิบาล การฟื้นฟูและส่งเสริมวัฒนธรรม โดยทั้ง 9 ด้านนี้ ก็มีข้อปลีกย่อยแยกออกไปอีก ซึ่งคณะสำรวจข้อมูลต้องไปวัดผลทั้งหมดนี้มา แน่นอนว่า ผู้ที่ทำหน้าที่วัดผลหรือทำแบบสอบถามประชาชน ต้องไม่ใช่รัฐบาลเอง แต่เป็นคนภายนอก
ผลก็คือ อายุขัยของคนเพิ่มขึ้น การศึกษาดีขึ้น อัตราคนยากจนน้อยลง และมีเวลาในการนอนมากขึ้น นอกจากนี้ เมื่อผู้หญิงต้องทำงานมากกว่าผู้ชาย จึงไม่แปลกที่ผู้ชายจะบอกว่าเขามีความสุขมากกว่า แต่ในบรรดาคนทั้งหมด คนโสดคือคนที่มีความสุขที่สุด “ซึ่งในจำนวนนั้นรวมทั้งพระและแม่ชี” ต๊อบเกย์พูดติดตลก
ต๊อบเกย์บอกว่า พูดอย่างนี้แล้ว คนอาจคิดว่าภูฏานเป็นประเทศที่คนมีความสุขที่สุดในโลก อาจจะใช่หรือไม่ใช่ก็ได้ นั่นไม่ใช่ประเด็น ประเด็นคือความตั้งใจของประเทศ ที่จะใช้นโยบายนี้มาวัดผลการทำงานของรัฐบาลต่างหาก
มีผู้ถามขึ้นว่า GNH ของภาคธุรกิจคืออะไร เขาตอบว่า GNH ของบริษัทหรือองค์กรทางธุรกิจ คือพันธสัญญาที่องค์กรมีเพื่อความสุข ไม่ใช่เฉพาะความสุขของผู้ถือหุ้นอย่างที่เป็นอยู่ แต่หมายถึงความสุขของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกคน ซึ่งรวมถึงลูกจ้างด้วย
เมืองทั้งเมือง ในฐานะงานออกแบบชิ้นใหญ่
นโยบายระดับชาติเป็นเรื่องหนึ่งที่จะกำหนดทิศทางว่าจะใช้งบประมาณไปกับเรื่องอะไร แต่ในระดับเมือง เราก็ต้องการนักออกแบบที่มาสานต่อนโยบาย ว่าเมืองที่ดีควรมีหน้าตาเป็นอย่างไร
สเตฟาน เดอ โคนิง (Stefan de Koning) สถาปนิก Senior Associate แห่งสำนักงานออกแบบสถาปัตยกรรมและผังเมือง MVRDV เนเธอร์แลนด์ ทำการบ้านเกี่ยวกับกรุงเทพมหานครมาเป็นอย่างดี แล้วนำเสนอภาพอนาคตของผังเมืองและสถาปัตยกรรมกรุงเทพฯ ที่อาจเป็นไปได้ เพื่อแก้ปัญหาเมืองในปัจจุบัน ที่มีผู้คนหนาแน่น การจราจรติดขัด อากาศมีมลพิษ ฝุ่น ควัน
สเตฟาน เดอ โคนิง
คำถามสำคัญคือ หากประชากรในกรุงเทพฯ หนาแน่นกว่านี้ เราจะขยายเมืองกันอย่างไร
โคนิงยกตัวอย่างเคสที่อาจเป็นไปได้ในอนาคต เช่น การสร้างตึกสูงแบบมิกซ์ยูส (ซึ่งอันที่จริง บริษัทอสังหาฯ หลายแห่งก็เริ่มทำแล้ว) โดยผนวกเอา ‘ซอย’ หรือชุมชนวิถีชีวิตหมู่บ้าน มาซ้อนกันในรูปแบบแนวตั้ง ‘ม้วน ซ้อน และย่อส่วน’ ซอยเหล่านี้มารวมอยู่ในอาคารเดียวกัน รวมทั้งต้องมีพื้นที่สาธารณะ และสวนเกษตรในเมืองเอาไว้ให้ชุมชนได้ใช้งาน
อย่างที่ 2 คือการเพิ่มการเชื่อมต่อ (connectivity) ของกรุงเทพฯ ด้วยทางเดินลอยฟ้า แบบเดียวกับ สวนลอยฟ้าในโซล เกาหลีใต้ (skygarden seoullo 7017) ที่นำเอาพืชพรรณต่างๆ มาประดับให้คนเพลิดเพลินระหว่างเดินเท้า เป็น ‘ห้องสมุดที่คุณสามารถเข้าไปอ่านต้นไม้เหล่านี้ได้’ และไม่ต้องกลัวอันตรายจากการข้ามถนน
สะพานลอยฟ้า ภาพโดย Christian Bolz CC BY-SA 4.0
อย่างที่ 3 คือการสร้างเมืองกันชนระหว่างสนามบินสุวรรณภูมิกับตัวเมืองกรุงเทพฯ ซึ่งอยู่ห่างกันพอสมควร ทั้งๆ ที่แต่ละวัน มีผู้คนจากทั่วโลกสัญจรผ่านสนามบินนี้เป็นจำนวนมาก ควรจะมีเมืองที่พวกเขาสามารถออกมาท่องเที่ยวแวะชมได้ในระยะใกล้ และเป็นเมืองที่คนไปอยู่อาศัยได้
อย่างที่ 4 คือการขยายสวนและพื้นที่สีเขียวที่มีอยู่ในกรุงเทพฯ อย่างที่ 5 คือการแก้ปัญหาที่คนกรุงเทพฯ มักเจอ คือการต้องเดินตากแดดตากฝนไปในที่ต่างๆ โดยการสร้างโดมครอบทางเดินหรือสร้างชุมชนใต้หลังคาครอบขึ้นมาเสียเลย เช่น อาคารโค้งที่มีอพาร์ตเมนต์อยู่ด้านบน เปิดหน้าต่างลงมาเห็นตลาดห้างร้านที่อยู่ใต้หลังคาโดมอีกที ยกตัวอย่าง Market Hall ในเนเธอแลนด์
market hall ภาพโดย Paul van de Velde/ Flickr (CC BY 2.0)
อย่างที่ 6 คือการสร้างเครือข่ายฟองน้ำ หรือพื้นที่สีเขียวที่ดูดซับน้ำได้ ช่วยลดปัญหาอุทกภัย ฟื้นฟูพื้นที่ให้กลับมามีศักยภาพในการพัฒนาอีกครั้ง อย่างที่ 7 คือการสร้างเส้นทางเชื่อมต่อทางน้ำ ซึ่งกรุงเทพฯ เองก็มีคลองหลายสาย หากนำมาเชื่อมต่อกันได้มากกว่าที่เป็นอยู่ ก็จะทำให้เดินทางได้ง่ายขึ้น กลายเป็นเส้นใยของเมือง
งานของนวัตกร ผู้ทำเมืองในฝันให้เป็นจริง
นอกจากผู้บริหารประเทศและนักออกแบบผังเมืองแล้ว ในงาน WATS forum ยังเปิดพื้นที่ให้กับนวัตกรด้านต่างๆ เช่น รศ.ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ หัวหน้าแล็บวิจัยการโต้ตอบระหว่างคอมพิวเตอร์กับสมอง มหาวิทยาลัยมหิดล ที่คิดค้นอุปกรณ์ช่วยผู้พิการในการใช้ชีวิต โดยสั่งการอุปกรณ์ต่างๆ ด้วยสมอง หรืออุปกรณ์ที่ช่วยให้เคลื่อนไหวร่างกายส่วนที่สมองสั่งการไม่ได้ ให้เคลื่อนไหวได้โดยใช้ไฟฟ้ากระตุ้น
ศ.ดร.ไมเคิล สตีเวน สตราโน
อีกคนคือ ศ.ดร.ไมเคิล สตีเวน สตราโน (Prof. Michael S. Strano) อาจารย์ภาควิศวกรรมเคมี ด้านโนโนไบโอนิค แห่ง MIT ที่นำเสนอแนวคิด ต้นไม้เรืองแสงได้ ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากภาพยนตร์เรื่อง Avatar และตำนานกิลกาเมช เพื่อพัฒนาเป็นพืชให้แสงสว่างในยามค่ำคืนตามทางเดิน
เขานำเอาศาสตร์วิศวกรรมเคมีในระดับนาโน ใส่เอนไซม์ Luciferase ในหิ่งห้อยเข้าไปในพืช เช่น คะน้า ผักสลัด ต้นร็อคเกต ทำให้เรืองแสงได้สูงสุด 4 ชั่วโมง ความเข้มข้นแสงประมาณ 6% ของหลอดไฟ LED โดยใช้พลังงานจากพืชที่เก็บสะสมไว้ในต้น
นอกจากต้นไม้เรืองแสง แล็บของเขายังทำเรื่องการใช้ต้นไม้เป็นเซนเซอร์วัดและทำนายภาวะแล้ง โดยส่องกล้องดูอัตราการเปิด-ปิดของปากใบ ช่วยชีวิตพืชได้ทันก่อนจะล้มตาย หรือการใช้พืชเป็นตัวเก็บข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ
ปัจจุบัน ศาสตราจารย์สตราโน ได้จับมือกับศูนย์ RISC เพื่อพัฒนาโครงการต้นไม้เรืองแสงส่องสว่างแทนเสาไฟฟ้าบนถนน
รศ. ดร. สิงห์ อินทรชูโต
ด้าน รศ. ดร. สิงห์ อินทรชูโต กล่าวแนะนำ ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC) ศูนย์การวิจัยเกี่ยวกับสุขภาวะและความยั่งยืน กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวงการอสังหาริมทรัพย์ และเป็นที่ตั้งของ Eco Material Library ซึ่งรวบรวมวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 400 รายการ โดยเปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าชมฟรี
เนื้อหาภายในงานคือการผสานกันข้ามศาสตร์ ที่อาจเห็นพ้องหรือขัดแย้งกันในบางมุมต่อคำว่าความเป็นอยู่ที่ดีและความยั่งยืน
แต่สิ่งที่จะทำให้เรื่องเหล่านี้พัฒนาจากคอนเซปต์ไปสู่ความจริง และกลายเป็นส่วนหนึ่งของเมืองอัจฉริยะได้ ก็คงต้องให้ผู้ที่มีอำนาจหน้าที่จากภาครัฐเข้ามารับฟังด้วย นอกเหนือไปจากคนในวงการอสังหาริมทรัพย์
และก่อนอื่นเลย ผู้เขียนขอให้ซ่อมทางเท้าก่อน
Tags: ความยั่งยืน, GNH, GDP