เช้าตรู่ของวันที่ 7 เมษายน 2561 หลังจากถือศีลภาวนาครบสี่วันตามความตั้งใจ อาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ ก็เดินไปยังจุดที่เป็นต้นน้ำบนยอดเขาป้อม ป่าต้นน้ำแหล่งกำเนิดของลำน้ำหลายสายที่ไหลรวมกันเป็นแม่น้ำหน้าเมือง แม่น้ำสายหลักที่หล่อเลี้ยงชาวเกาะสมุย จากนั้นจึงก้มลงกราบแผ่นดิน แนบใบหน้ากับพื้น แล้วจึงเอาศีรษะไปสัมผัสกับสายน้ำเพื่อแสดงความคารวะและขอขมาต่อแม่น้ำและธรรมชาติบนเกาะสมุยแทนชาวเกาะทุกคน

ผมได้พบกับอาจารย์ประมวลที่ ‘วัดสำเร็จ’ ในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน อาจารย์ประมวลไปที่นั่นเพื่อกราบคารวะหลวงพ่อเพชร เจ้าคณะแขวงองค์แรกของเกาะสมุย ก่อนที่ก้าวแรกของกิจกรรม ‘เดินตามครู’ จะเริ่มต้นในเช้าวันรุ่งขึ้น

กิจกรรม ‘เดินตามครู’ รอบเกาะสมุยครั้งที่สอง เริ่มต้นก้าวแรกตอน 9 โมงเช้าของวันที่ 8 เมษายน 2561 ที่วัดแหลมดิน และจะสิ้นสุด ณ สถานที่เดียวกันนี้ ในวันที่ 2 พฤษภาคม รวมระยะทาง 174 กิโลเมตร

อาจารย์ประมวลกล่าวถึงที่มาของกิจกรรมนี้ว่า “การเดินรอบเกาะสมุยนี้เป็นความปรารถนาของผมตั้งแต่ในวันแรกที่ผมเดินเท้าจากเชียงใหม่แล้วไปถึงเกาะสมุย ในวันที่ 24 มกราคม ปีพุทธศักราช 2549 เมื่อผมไปถึงเกาะสมุยในวันนั้น เป็นความรู้สึกปีติ ตื้นตัน ตอนที่ก้มลงกราบแผ่นดินเกาะสมุยในเวลาเช้าตรู่ของวันที่ 24 ตอนนั้นมันมีจิตดวงหนึ่งปรากฏขึ้นมาว่าปรารถนาที่จะแสดงความเคารพเกาะสมุยด้วยการเดินประทักษิณรอบเกาะสมุย” นับตั้งแต่วันนั้น อาจารย์ประมวลจึงตั้งจิตกำหนดหมายว่า “ก่อนที่จะละจากโลกนี้ไป จะทำกิจแสดงความเคารพเกาะสมุยด้วยการเดินประทักษิณให้ครบสามรอบ”

ภายในวิหารของวัดสำเร็จ ตำบลมะเร็ต อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี

การเดินประทักษิณครั้งที่หนึ่งเกิดขึ้นเมื่อปี 2556 โดยใช้เวลาเจ็ดวัน อาจารย์ประมวลบอกว่าการเดินครั้งนั้นเป็นกิจส่วนตัว แต่เมื่อเริ่มเดินก็มีผู้ที่สนใจมาขอเดินด้วย และหลายคนก็รู้สึกว่าได้ประโยชน์จากการเดิน การเดินประทักษิณครั้งที่สองจึงมีรายละเอียดเพิ่มเติม เพื่อที่จะทำให้เกิดประโยชน์เกื้อกูลกับทั้งผู้เดินและประชาชนชาวเกาะ

‘เดินกินห่อ สาวย่าน ตำนานหมุย’ คือคำชักชวนถึงเพื่อนมิตรที่อยากจะร่วมเดินกับ ‘ครู’ ประมวล เพ็งจันทร์ ซึ่งมีความหมายในทางสังคมว่าเดินไปหมู่บ้านไหนก็มีการพบปะพูดคุยนับญาติ หรือที่คนเกาะสมุยเรียกว่า ‘สาวย่านโยด’ แล้วก็ชวนกันกินข้าว หรือ ‘กินห่อ’ เพื่อพุดคุยไต่ถามความทุกข์ความสุข

การเดินครั้งนี้เป็นการเดินเพื่อเรียนรู้ความหมายของการมีชีวิต เดินเพื่อเรียนรู้ความหมายของสภาวะที่มีผลกระทบกับตัวเรา และเดินเพื่อเรียนรู้ความหมายของการมีชีวิตอย่างเรียบง่าย ตามความปรารถนาของ ‘ครู’ สามประการ คือ

เดินประทักษิณรอบเกาะสมุยเพื่อคารวะธรรมชาติและบรรพชน

เดินศึกษาธรรมชาติภายนอกและภายในใจตน

เดินกลับสู่ธรรมชาติอันเป็นหนึ่งเดียว

0  0 0

วันที่ 8 เมษายน 2561 เมฆครึ้มปกคลุมฟากฟ้าเหนือเกาะสมุย สายฝนเม็ดเล็กๆ โปรยปรายให้ความชุ่มเย็นอยู่เป็นระยะ แต่ความอบชื้นของภูมิอากาศก็ดูดดึงหยาดเหงื่อให้เปียกซึมผืนผ้าบนร่างกาย

นี่เป็นการเหยียบผืนดินบนเกาะสมุยครั้งแรกของผม และผมดีใจที่มันไม่ใช่การเดินทอดน่องอยู่บนชายหาดหรือแหล่งท่องเที่ยวที่ไหนสักแห่ง แต่เป็นถนนสายเล็กที่เชื่อมผ่านบ้านเรือนและผืนดินของชาวเกาะสมุย

จากสันทรายริมหาด ผ่านพื้นที่พรุชุ่มน้ำและควายหลายตัว ก่อนจะแหวกผ่านแมกไม้ทอดยาวขึ้นสู่ภูเขาเบื้องบน

เบื้องหน้าของผมคืออาจารย์ประมวลและผู้ติดตามจำนวนหนึ่ง จุดหมายปลายทางในช่วงครึ่งวันแรกของเราอยู่ที่วังไม้แดง แหล่งต้นน้ำอีกแห่งบนเกาะสมุย

เช้าวันที่ 7 เมษายน อาจารย์ประมวลเข้ากราบคารวะหลวงพ่อเพชรที่วัดสำเร็จ ตำบลมะเร็ต อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี

หลังจาก ‘กินห่อ’ เสร็จเรียบร้อย บรรดาลูกศิษย์ลูกหาก็นั่งล้อมวงเพื่อรับฟังบทเรียนของครึ่งวันแรก

‘ครู’ สรุปบทเรียนให้พวกเราฟังตอนหนึ่งว่า

เป็นนิมิตหมายที่มหัศจรรย์งดงามมาก เมื่อได้เข้าไปคารวะแม่ของเพื่อน ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมชั้นเรียนตั้งแต่ยามเยาว์วัย ตอนที่ซบหน้าลงไปที่เท้าของท่าน มันเหมือนกับได้ซบหน้าลงไปที่เท้าของแม่ผมเอง  

การเดินทางมาที่เกาะสมุย ซึ่งเราตั้งจุดหมายไว้ว่าเราจะเดินไปคารวะบรรพชน และเพียงก้าวแรก เราก็ได้สัมผัสบรรยากาศแบบนี้ ท่านแต่งตัวสวย นั่งต้อนรับเรา แล้วพูดคุยสอบถามอะไร ท่านตอบได้หมด แม้กระทั่งถามว่าเราเป็นเครือญาติกันอย่างไร ท่านก็สาวย่านโยดให้ผมได้ยินได้ฟังว่าท่านกับแม่ของผมเป็นญาติกันอย่างไร ผมฟังแล้วตื้นตันมาก เพราะตอนที่เราคิดเราปรุงแต่งว่าการมาเดินครั้งนี้ เราอาจจะได้ทำสิ่งที่เป็นความหมายในวิถีทางจิตวิญญาณที่ลึกซึ้ง คือจะได้สาวย่านโยดให้เห็นว่าพวกเราที่เกิดบนเกาะสมุย แม้จะไปอยู่ที่ไหน ห่างไกลอย่างไร เราก็ยังเป็นเครือญาติ ตัดกันไม่ขาด นั่นเป็นการคิดปรุงแต่ง แต่วันนี้ เพียงแค่ก้าวแรก เราก็ได้สัมผัสบรรยากาศที่งดงามซึ่งผมมีความรู้สึกว่ามันเกินยิ่งกว่าที่เราคิดด้วยซ้ำไป หญิงชราอายุ 101 ปี มีความทรงจำที่หมดจด มีความสามารถในการรับฟังและการสื่อสาร นี่เป็นก้าวที่งดงามของการเดินทางครั้งนี้

ชายรับจ้างปอกมะพร้าวที่อาจารย์ประมวลพบระหว่างทาง

และที่มหัศจรรย์คือตอนเดินไปพบชาวเกาะสมุยซึ่งพิการทางการมองเห็น และท่านทักทายเมื่อผมทักทายคนที่อยู่ในบ้าน พอท่านได้ยิน ท่านก็ทักทายตอบ ท่านบอกว่าท่านกำลังจะไปปอกมะพร้าว ชายชราอายุ 70 กว่าปี ได้กล่าวคำอำนวยอวยพรให้ผมเดินได้ประสบความสำเร็จ ท่านมองไม่เห็นด้วยสายตา แต่ท่านมีใจที่จะมองเห็น ผมรู้สึกว่ามันเป็นภาพที่เหมือนกับเป็นปาฏิหาริย์ของการเดินทางครั้งนี้ ได้พบชายคนหนึ่งที่เป็นคนตาบอด อายุ 70 กว่าปี ยังต้องประกอบสัมมาชีพ คือรับจ้างปอกมะพร้าว คนที่ไม่ได้มีความรู้อะไรมาก และไม่ได้มีความสามารถจะไปประกอบอาชีพอะไร อาชีพนี้มีมาตั้งแต่ดั้งเดิม ปัจจุบันคงมีคนประกอบอาชีพนี้น้อยมาก แต่คุณลุงคนนี้ยังประกอบอาชีพนี้ ท่านแบกอุปกรณ์ปอกมะพร้าว แล้วเดินไปหาจุดที่จะปอกมะพร้าว แล้วท่านก็พบผม พบพวกเรา และเราได้สนทนากัน นี่คือชีวิตจริงๆ ในสังคมของเรา

เมื่อเราลงมาเดินอย่างช้าๆ เราจะได้สัมผัสกับชีวิต ถ้าเรามาเที่ยวด้วยการขับรถท่องเที่ยวไป เราคงไม่ได้พบชายพิการทางสายตาคนหนึ่งซึ่งยังมีชีวิตที่มีพลัง มีความเบิกบานที่จะได้ไปทำกิจของตัวเอง คือการไปปอกมะพร้าว นี่เป็นความหมายที่ผมรู้สึกว่าก็ต้องมาเดิน จึงได้พบสภาพเช่นนี้ จึงได้สนทนากับบุคคลเช่นนี้ และแต่ละวันหลังจากนี้ไป เดี๋ยวก็จะมีชาวเกาะสมุยที่เขาจะรับรู้ว่ามีคณะบุคคลที่ถือธงซึ่งมีข้อความว่า ‘เดินตามครู’ เขาก็ต้องถามว่าเดินตามใคร และเดินตามทำไม เดินแล้วจะได้อะไร ผมเข้าใจว่านั่นคือโอกาสของเราที่จะได้สื่อสาร โอกาสที่เขาเปิดใจ เปิดประตูบ้าน เปิดพื้นที่ส่วนตัวของเขาเพื่อต้อนรับเราเข้าไป เหมือนกับวันนี้ เขามีความภูมิใจที่จะเชิญเราขึ้นไปสัมผัสบ้านที่มีอายุเกือบร้อยปี

ความภูมิใจของเขา ผมเข้าใจว่าเป็นความภูมิใจที่เขาพูดกับผมว่า เมื่อตอนที่เขาเป็นเด็ก เขาอยากจะให้แม่กับพ่อสร้างบ้านหลังใหม่ที่ดูดีกว่านี้ เห็นบ้านคนอื่นเขาสร้างดี แต่บ้านหลังนี้เป็นบ้านไม้เก่าๆ แต่เขาบอกว่าแม่ของเขาช่างดีเหลือเกินที่ไม่ทำตามใจของเขา แม่สามารถรักษาบ้านหลังนี้ไว้จนถึงปัจจุบัน จนกระทั่งเขาเกิดความรู้สึกภาคภูมิใจ และชวนเราขึ้นไปดูบ้านหลังนั้น เพื่อจะให้ดูว่าบ้านหลังนั้นคือบ้านของเขา

บ้านหลังนั้นเหมือนกับภาพจำลองของเกาะสมุย เกาะสมุยที่พวกเราซึ่งเป็นชาวเกาะอาจจะไม่รู้สึกภาคภูมิใจ อาจจะอยากทำเกาะของเราให้เหมือนกับอะไรสักที่หนึ่งที่เขามีความรู้สึกว่ามันทันสมัย และผมเข้าใจว่าพื้นที่เกาะที่เราจะเดินไปพบต่อไปหลังจากนี้ทุกๆ วัน เราจะไปพบพื้นที่ที่คล้ายๆ บ้านที่เราอยากจะทำให้เขารู้สึกว่าบ้านหลังนี้มีคุณค่า บ้านหลังนี้มีความหมาย ไม่ว่าเศรษฐีร่ำรวยสักเพียงใด อาจไม่สามารถใช้เงินทองสร้างบ้านแบบนี้ขึ้นมาได้ และความหมายแบบนี้ เรากำลังสื่อสารโดยที่ใช้ถ้อยคำน้อย แต่ใช้การกระทำของเราเป็นการสื่อสารความหมายนั้น

วัตถุประสงค์ข้อที่สองที่ผมกำหนดไว้ คือเดินเพื่อปลุกจิตให้ตื่นรู้สภาวะธรรมในใจของเราเอง และรู้ธรรมชาติที่ปรากฏรอบตัวเรา คำว่าตื่นรู้สภาวะธรรมในใจเราเอง จริงๆ แล้วเมื่อเกิดอะไรขึ้นในใจของเราเอง จิตของเรามีสมรรถนะที่จะรู้ว่าอะไรเป็นสิ่งที่ควรเก็บไว้ อะไรเป็นสิ่งที่ควรจะปลดปล่อยให้มันผ่านไป นั่นก็หมายความว่าเดินไปเพื่อรู้ที่จะเสพเสวยอารมณ์ การเสพเสวยอารมณ์เช่นนี้ ถ้าเรานั่งอยู่เฉยๆ หรือเราไปอยู่กับสภาวะที่มันนิ่งสงบ เราจะไม่มีโอกาสได้สัมผัสรู้ความหมายของอารมณ์ที่เข้ามา มันเหมือนกับเราเดินไปในพื้นที่ที่มีความหลากหลาย มีคนเป็นจำนวนมาก แต่จริงๆ แล้วเรามีความปรารถนาจะพบคนบางคน และเมื่อเราได้พบคนคนนั้นในท่ามกลางหมู่คนหลากหลาย เราก็สามารถสื่อสารสนทนากันได้

อาจารย์ประมวลคารวะแม่ของเพื่อนร่วมชั้นเรียนในวัยเด็ก ที่บ้านอายุกว่า 100 ปี

ผมเข้าใจว่าเมื่อเราอยู่ในพื้นที่แบบนี้ เราจะพบอารมณ์ความรู้สึกที่มันผุดปรากฏขึ้นโดยที่เราไม่ได้คิดไว้ล่วงหน้า เราไม่รู้ว่าเราจะเจออะไร และเราก็ไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าอะไรจะมาปรากฏ แต่สิ่งหนึ่งที่เราจะรู้ก็คือ เมื่อเราสัมผัสเหตุการณ์ใดๆ เราจะรู้ใจของเราเองว่าใจของเรามีความแช่มชื่นเบิกบานหรือไม่ ซึ่งสิ่งที่เราพูดกันเสมอในการเตรียมการที่จะเดิน คือเราจะเดินด้วยจิตที่เบิกบาน เพราะฉะนั้น วันนี้ก็เหมือนกับการเริ่มต้นในการที่เราจะปฏิบัติธรรมในความหมายนี้

การปฏิบัติธรรมที่แท้จริง มันก็คือการที่เรามีชีวิตอยู่ในสังคมที่มีความพลุกพล่านจอแจ มีความสับสน เราไม่สามารถทำสังคมนี้ให้สงบได้ แต่เราสามารถทำใจของเราให้สงบนิ่งได้ เราไม่สามารถทำทุกส่วนในสังคมนี้ให้ดีงดงามไปหมดได้ แต่เราสามารถทำใจของเราให้งดงามในการเข้าไปรับรู้สิ่งเหล่านั้นได้

การเดินภาวนาแบบนี้ ผมคิดว่ามันเป็นรูปแบบหนึ่งที่เราจำเป็นต้องนำกลับไปใช้ในชีวิตปกติประจำวันของเรา วันนี้ทำไมเราต้องมาเดินที่นี่ ทั้งที่ความจริงไม่จำเป็นต้องมาเดินที่นี่ก็ได้ เพราะที่นี่ไม่ได้มีอะไรเชิญชวน ที่นี่เราเดินขึ้นสู่ที่สูง ที่สูงซึ่งพวกเราไม่ค่อยมีโอกาสเดินมากนัก ที่สูงมันมีความหมายสำคัญ เพราะพื้นที่สูงของโลกกายภาพนั้นไม่เท่าไรหรอก แต่ที่สูงในใจ เราจะเดินไปถึงได้อย่างไร เราจะพิชิตมันได้อย่างไร ถ้าวันหนึ่งเราสามารถพิชิตความสูงในใจเราได้ นั่นคือความสำเร็จในการมีชีวิตอยู่

นี่คือการภาวนาในรูปแบบที่ผมใช้กับตัวเอง และผมก็พบว่าการเดินไปประสบพบสิ่งต่างๆ ที่เป็นปรากฏการณ์ซึ่งเราไม่สามารถกำหนดหมายล่วงหน้าได้ และเรามีจิตแช่มชื่นเบิกบานได้ นั่นคือการปฏิบัติธรรมที่ผมอยากจะนำมาฝาก ผมฝากด้วยการพูดไม่ได้ ผมจึงเชิญชวนมาเดินด้วยกัน

 

 

ถ่ายภาพ: ชัยรัตน์ จิโรจน์มนตรี

Fact Box

รายละเอียดเพิ่มเติมของกิจกรรม ‘เดินตามครู’

Facebook: https://web.facebook.com/WalkwithKru/

Line ID: tn.deathtalk

Email: walkwithkru@gmail.com

Website: www.walkwithkru.wordpress.com

Tags: , , ,