“สวัสดีค่ะ วันนี้มาทำอะไรคะ” พยาบาลในชุดที่ไม่คุ้นเคยยืนจัดแถวตรงบริเวณทางเข้าอาคารโรงพยาบาลตามจุดที่ทำเครื่องหมายไว้บนพื้นซึ่งน่าจะห่างกันประมาณ 1 เมตร วันนี้พวกเขาสวมหมวกคลุมผมแบบที่เคยเห็นในห้องผ่าตัด แว่นครอบตา และหน้ากากอนามัยสีเขียว ด้านยาวตรงสันจมูกมีเทปกาวแปะอยู่
“มาสอบสวนโรคครับ” ผมตอบ “ติดต่อพี่ ICN ไว้แล้วครับ”
“อ๋อค่ะ เดี๋ยวล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ก่อนนะคะ” เขาเผยมือไปทางเครื่องจ่ายเจลแอลกอฮอล์อัตโนมัติที่ตั้งอยู่ทางด้านข้าง ผมยื่นมือเข้าไปรับแล้วลูบจนแห้ง ถึงจะเดินต่อไปที่การวัดอุณหภูมิ ที่นี่มีเครื่องเทอร์โมสแกนเหมือนยืนส่องกระจกวิเศษสักครู่ แล้วเครื่องก็ตอบกลับเป็นภาษาอังกฤษว่า “อุณหภูมิปกติ”
หันหลังกลับไปก็มีเจ้าหน้าที่อีกท่านยื่นสติ๊กเกอร์มาแปะที่หน้าอกข้างขวา
เป็นอันว่าผ่านการตรวจสอบคุณภาพเรียบร้อยแล้ว
เมื่อวันก่อนผมไปสอบสวนโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) ที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ปกติผมก็จะมาสืบสาวราวเรื่องทางระบาดวิทยาว่าผู้ป่วยติดเชื้อมาจากใคร และใครที่มีโอกาสติดเชื้อจากผู้ป่วยรายนั้นบ้าง จากนั้นก็จะแบ่งผู้สัมผัสออกเป็นความเสี่ยงสูง หรือความเสี่ยงต่ำเพื่อติดตามอาการ แต่รอบนี้ผมได้มีโอกาสตามอาจารย์นก—วราภรณ์ เทียนทอง พยาบาลป้องกันและควบคุมการติดเชื้อ (ICN: Infection control nurse) สถาบันบำราศนราดูร เดินสำรวจ (walk through survey) ตามแผนกต่างๆ ของโรงพยาบาลเพราะอย่างที่หลายคนทราบจากการแถลงข่าวว่าจนถึงวันที่ 8 เม.ย. 2563 มีบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อ 80 ราย และเกินครึ่งเป็นการติดเชื้อภายในโรงพยาบาล
เริ่มต้นจากจุดแรกที่บุคลากรฯ ต้องเจอผู้ป่วย
นั่นคือจุดที่ผมต้องล้างมือ และวัดอุณหภูมินั่นเอง โดยเมื่อผู้ป่วยมาที่บริเวณทางเข้าจะมีพยาบาลซักอาการและประวัติเสี่ยงก่อน ได้แก่ อาการไข้ ไอ เจ็บคอ น้ำมูก หรือหายใจหอบเหนื่อย และประวัติเสี่ยงที่กรมควบคุมโรคกำหนดไว้ในนิยามผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค (PUI) เช่น เดินทางมาจากพื้นที่เกิดโรค หรือสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยัน
หากมีอาการก็จะถูกส่งต่อไปที่คลินิกโรคติดเชื้อทางเดินหายใจเฉียบพลัน (ARI clinic: Acute respiratory infection clinic) ถ้ามีประวัติเสี่ยงร่วมด้วยก็จะแยกไปที่คลินิกความเสี่ยงสูง แต่ถ้าไม่มีประวัติเสี่ยงก็จะมาที่คลินิกความเสี่ยงต่ำ ซึ่งตั้งอยู่แยกฝั่งกันเพื่อป้องกันการติดเชื้อระหว่างผู้ป่วยด้วยกันเองระหว่างรอตรวจ
ระหว่างที่ผมซักถามพี่ ICN โรงพยาบาลเอกชนแห่งนี้เกี่ยวกับเกณฑ์ที่เพิ่งปรับปรุงใหม่อยู่ อ.นกก็แยกวงออกไปทางด้านข้าง พอผมเดินตามไปแล้วมองย้อนกลับมาก็จะเห็นความเคลื่อนไหวของบุคลากรฯ ตรงจุดคัดกรองนี้ทั้งหมด คือ เมื่อมีรถเข้ามาจอด แล้วคนไข้เปิดประตูรถออกมา พนักงานเปลคนหนึ่งจะเข็นรถเข็นเข้าไปเกย ส่วนพนักงานเปลที่เหลืออีก 2-3
ว่าแล้วรถกอล์ฟก็พร้อมแล้วที่จะพาไปที่ ARI clinic
ARI clinic ที่นี่ถูกสร้างขึ้นมาเฉพาะกิจเพื่อรองรับการระบาดของโควิด-19 โดยแยกออกมาต่างหากจากตัวอาคารปกติ ใกล้กับลานจอดรถทางด้านหลัง มีลักษณะคล้ายเต็นท์ขนาดใหญ่ในงานประจำปี เปิดโล่งให้อากาศถ่ายเทสะดวก มีการแบ่งพื้นที่เป็นสัดส่วนของเจ้าหน้าที่ จุดนั่งรอตรวจ ห้องตรวจ การเงินและจุดจ่ายยา
ตัวอย่างที่ดีของโรงพยาบาลนี้ ได้แก่ (1) ระบบไร้เอกสาร (Paperless) ตั้งแต่มาถึงโรงพยาบาลจนกระทั่งเดินออกจากคลินิก ผู้ป่วยจะต้องไม่ถือกระดาษส่งให้กับเจ้าหน้าที่เลย เพราะโควิด-19 สามารถติดต่อผ่านสิ่งของที่ผู้ป่วยหยิบจับ ซึ่งปนเปื้อนละอองน้ำมูกน้ำลายที่ผู้ป่วยไอจามออกมาอีกที ดังนั้นการกดบัตรคิวจะไม่มี และการส่งต่อเอกสารจะทำโดยฝั่งเจ้าหน้าที่หรือใช้ระบบคอมพิวเตอร์แทน แต่ทว่า อ.นกก็ไปเจอจุดบกพร่องที่ฝ่ายการเงิน เพราะเจ้าหน้าที่ต้องรับบัตรเครดิตจากผู้ป่วย ต้องยื่นสลิปบัตรเครดิตให้ผู้ป่วยเซ็นชื่อ (ต้องเช็ดทำความสะอาดบัตรเครดิตและปากกาทุกครั้ง) หรือยื่นใบเสร็จให้คนไข้ตรวจสอบความถูกต้องหรือนำไปยื่นรับยากับฝั่งเภสัชกร (อาจใช้ซองพลาสติกแทน)
(2) อุปกรณ์ป้องกันตัวเอง (PPE) ที่บุคลากรฯ สวมใส่ตามระดับความเสี่ยงในการสัมผัสกับผู้ป่วย โดยโรงพยาบาลประยุกต์มาจากแนวทางระดับประเทศอีกทีว่าใครต้องสวมกี่ชิ้น เช่น ถ้ามากสุดจะเป็น 6 ชิ้น หมวกคลุมผม แว่นครอบตาหรือหน้ากาก หน้ากากอนามัย ถุงมือ 2 ชั้น กาวน์ และอุปกรณ์คลุมเท้า ซึ่งแต่ละชิ้นก็แยกประเภทอีก เช่น หน้ากากจะต้องเป็นหน้ากากธรรมดาหรือ N95 ถุงมือต้องสวม 1 หรือ 2 ชั้น แต่ อ.นก ยังมองว่าบางชิ้นอาจไม่จำเป็น เช่น เภสัชกรสวมถุงคลุมเท้า เพราะทำงานอยู่ในโซนสะอาด หรือบางชิ้นอาจปรับเปลี่ยน เช่น กาวน์พลาสติกซึ่งมีน้ำหนักเบา จะสังเกตว่าโดนลมพัดปลิวขึ้นมาปนเปื้อนกับมือหรือบริเวณใบหน้าได้
ทั้งนี้ ‘จำนวน’ มากชิ้นของอุปกรณ์ยังไม่เพียงพอที่จะป้องกันบุคลากรฯ ได้ เพราะ อ.นก ยังสังเกตถึง ‘วิธีการ’ สวมใส่อุปกรณ์อย่างเหมาะสมด้วย เช่น หน้ากากอนามัย ซึ่งมักจะเลื่อนลงเวลาพูดคุยกับผู้ป่วย (ต้องแปะเทปกาว หรือพูดน้อยลง) รวมถึงการล้างมือบ่อยๆ อย่างที่รณรงค์ให้คนทั่วไปปฏิบัติ สำหรับบุคลากรฯ ซึ่งมีโอกาสสัมผัสกับเชื้อมากกว่าจะต้องล้างมือทุกครั้งก่อน-หลังสัมผัสผู้ป่วย ก่อน-หลังทำหัตถการ และหลังสัมผัสสิ่งแวดล้อมรอบตัวผู้ป่วย เช่น เก้าอี้ รถเข็น (หลักการ 5 moments) แต่จะสังเกตว่าส่วนใหญ่บุคลากรฯ จะไม่ล้างมือหลังจากถอดถุงมือ ซึ่งไปสัมผัสผู้ป่วยหรือสัมผัสสารคัดหลั่งจากการทำหัตถการมาอีกที เพราะคิดว่าการสวมถุงมือเป็นการป้องกันตัวเองแล้ว
ตัวอย่างที่ต้องปรับปรุง เช่น (1) ทิศทางการไหลของอากาศ ยังไม่เป็นทิศทางเดียวกัน และพัดเข้าหาเคาน์เตอร์ของเจ้าหน้าที่ เนื่องจาก ARI clinic มีลักษณะคล้ายเต้นท์ขนาดใหญ่ เปิดโล่งทั้ง 4 ด้าน ถึงแม้จะออกแบบให้มีพัดลมขนาดใหญ่พัดลมจากด้านกว้างด้านหนึ่งไปยังอีกด้านหนึ่งตามลมธรรมชาติแล้ว แต่เนื่องจากอากาศร้อน จึงยังมีพัดลมตั้งพื้นที่เปิดส่ายไปมาทำให้อากาศหมุนวนอยู่ในคลินิก ส่วนเคาน์เตอร์ของเจ้าหน้าที่ซึ่งออกแบบมาให้เป็นจุดติดต่อประสานงานตรงทางเข้า แต่กลับตรงกับทางออกของอากาศ ทำให้บุคลากรฯ รับอากาศจากข้างในไปโดยตรง และถ้าเป็นช่วงที่มีแสงแดดส่องจะมีการดึงม่านลงมากั้น ทำให้ปิดทิศทางการระบายอากาศด้วย
(2) ห้องเก็บตัวอย่าง การป้ายจมูกและคอจากผู้ป่วยเพื่อนำไปตรวจหาเชื้ออาจทำให้เกิดละอองขนาดเล็กที่ลอยในอากาศได้ โรงพยาบาลจึงสร้างห้องแยกขึ้นมาสำหรับเก็บตัวอย่าง โดยมีผนังใสกั้นแยกระหว่างแพทย์กับผู้ป่วย จากฝั่งแพทย์จะมีช่องให้แพทย์ยื่นมือออกมาเก็บตัวอย่างฝั่งผู้ป่วย ส่วนห้องที่ผู้ป่วยนั่งจะมีพัดลมดูดอากาศขึ้นไปปล่อยทางปล่องด้านบน แต่มีข้อสังเกตจาก อ.นก 2 อย่าง คือจะต้องคำนวณปริมาณอากาศที่ไหลเวียนต้องอย่างน้อย 12 ครั้งต่อชั่วโมง (ACH) ซึ่งเป็นมาตรฐานของห้องแยกโรคความดันลบ โดยต้องเปิดระบบหลังจากเก็บตัวอย่างต่ออีกอย่างน้อย 35 นาทีถึงจะกำจัดเชื้อโรคออกไปหมด และปล่องระบายอากาศต้องอยู่เหนือหลังคา 8-12 ฟุต (ประมาณ 3 เมตร)
การเดินสำรวจเป็นส่วนหนึ่งของการป้องกันโรค
การเดินสำรวจในวันนี้ของผมเป็นส่วนหนึ่งของการสอบสวนโรคภายหลังจากได้รับรายงานว่ามีบุคลากรฯ ในโรงพยาบาลแห่งนี้ป่วยเป็นโควิด-19 ในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน ซึ่งการสอบสวนโรคก็จะต้องตรวจสอบว่าเป็นการติดเชื้อจากภายในหรือภายนอกโรงพยาบาล เช่น ติดมาจากคนในครอบครัว หรือในชุมชน แต่ถ้าเป็นการติดเชื้อจากภายในโรงพยาบาล ก็ต้องสอบสวนต่อว่าติดเชื้อจากขั้นตอนใด และเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดกรณีบุคลากรฯ ติดเชื้อไม่ให้ซ้ำรอยขึ้นมาอีก ซึ่งนอกจากจะแก้ไขตรงจุดนั้นแล้ว การเดินสำรวจจะทำให้เห็นข้อบกพร่องในสถานการณ์จริงที่สามารถพัฒนาให้ดีขึ้นได้อีก โดยไม่จำเป็นต้องเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นมาก่อน
“วันนี้ภาษามวยต้องเรียกว่า การ์ดห้ามตก ถ้าการ์ดตกเมื่อไรก็โดนต่อยน็อคได้” นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กล่าวไว้เมื่อวันพุธที่ผ่านมา และถ้าใครไปโรงพยาบาลในช่วงนี้ก็จะเห็นว่าเจ้าหน้าที่ทุกคนในโรงพยาบาลตั้งการ์ดกันสูงมาก เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในโรงพยาบาล มาตรการที่สำคัญคือหลักการการป้องกันขั้นพื้นฐาน (Universal precaution) ในทุกแผนกและทุกประเภทผู้ป่วย ซึ่งถึงแม้ผู้ป่วยจะไม่มีอาการระบบทางเดินหายใจ เจ้าหน้าที่ก็ต้องป้องกันตัวเสมือนผู้ป่วยที่มีอาการทุกราย และเน้นย้ำการไม่รวมตัวกันของเจ้าหน้าที่ เพื่อลดโอกาสในการแพร่เชื้อต่อ หรือถ้ามีเจ้าหน้าที่ป่วยก็จะไม่มีผู้สัมผัสใกล้ชิดที่มีความเสี่ยงสูง
ส่วนประชาชนที่มีความจำเป็นต้องไปโรงพยาบาลก็จะมั่นใจได้ว่าตนเองจะปลอดภัยจากการมาตรวจรรักษา รวมถึงเมื่อบุคลากรฯ เดินทางกลับบ้านหรือไปตลาดในชุมชน
แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม:
- คำแนะนำแนวทางการใช้อุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ (Personal Protective Equipment, PPE)
- คำแนะนำการเตรียมความพร้อมของสถานพยาบาลรองรับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Checklist for Health facilities on COVID-19 response)
Tags: การติดเชื้อ, โควิด-19, Walk through survey