ย้อนกลับไป 4 เดือนที่แล้ว โคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 มีจุดเริ่มต้นจากตลาดแห่งหนึ่งในเมืองอู่ฮั่น (Huanan Seafood Market) ประเทศจีน ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2019 (เป็นที่มาของเลข 19 ต่อท้าย) แต่กว่าที่ทางการจีนจะตั้งตัวทันก็ต้นเดือนมกราคม 2020 ซึ่งในตอนนั้นไม่เพียงแต่การระบาดจะลุกลามไปยังเมืองอื่นของประเทศจีนแล้ว ประเทศไทยซึ่งมีนักท่องเที่ยวจากเมืองอู่ฮั่นเป็นอันดับต้นก็ตรวจพบผู้ป่วยโควิด-19 ด้วยแล้วเช่นกัน

เส้นโค้งการระบาด (Epidemic curve) ของโควิด-19 ระหว่างธ.ค. 2019 – ก.พ. 2020 ที่ตีพิมพ์ในวารสาร JAMA เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2020 –แผนภูมิที่ 1 แสดงให้เห็นถึงสถานการณ์การระบาดตั้งแต่ต้นจนถึงช่วงกลางค่อนไปทางช่วงท้ายของประเทศจีน แนวนอนเป็น “วันที่” เริ่มต้นจาก 8 ธ.ค. 2019 เป็นวันที่ผู้ป่วยรายแรกเริ่มมีอาการ ซึ่งได้จากการสอบสวนโรคย้อนกลับไป ส่วนแนวตั้งเป็น “จำนวนผู้ป่วย” ที่ได้รับการยืนยันทางห้องปฏิบัติการว่าป่วยเป็นโควิด-19

แผนภูมิที่ 1 เส้นโค้งการระบาดของโควิด-19 ในประเทศจีน และเหตุการณ์ที่สำคัญ (ที่มา: JAMA)

แท่งจำนวนผู้ป่วยจะแบ่งออกเป็น 2 สี คือ แท่งสีฟ้า แสดงจำนวนผู้ป่วยเรียงตามวันที่เริ่มมีอาการ (date of onset of symptoms) ส่วนแท่งสีส้ม แสดงจำนวนผู้ป่วยเรียงตามวันที่วินิจฉัยโรค (date of diagnosis) เพื่อให้เห็นภาพ ผมขอสมมติผู้ป่วยรายหนึ่งเริ่มมีอาการไข้วันที่ 20 ม.ค. 2020 แต่เขามาโรงพยาบาลวันที่ 23 ม.ค. 2020 จึงได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโควิด-19 ดังนั้นในวันที่ 20 เขาจะถูกนับเป็นแท่งสีฟ้า ส่วนวันที่ 23 จะถูกนับเป็นแท่งสีส้ม 

ด้านล่างเป็น ‘หมุดหมาย’ รายละเอียดเหตุการณ์สำคัญในประเทศจีน เช่น วันที่ 30 ธ.ค. 2020 ก่อนปีใหม่ การค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก (active case finding) ในเมืองอู่ฮั่น, วันที่ 1 ม.ค. 2020 มีการปิดตลาด Huanan Seafood Market ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นแหล่งของการแพร่ระบาด, วันที่ 7 ม.ค. 2020 การระบุเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ได้เป็นครั้งแรก และวันที่ 23 ม.ค. 2020 การปิดเมืองอู่ฮั่น ก่อนหน้าวันหยุดเทศกาลตรุษจีนเพียง 2 วัน

แผนภูมิที่ 2 เส้นโค้งการระบาดของโควิด-19 ในประเทศจีน เรียงตามวันเริ่มป่วย (ดัดแปลงจาก WHO)

ผมขอตัดแท่งสีส้มออกไปก่อน เหลือเพียงแท่งสีฟ้าในแผนภูมิที่ 2 คณะทำงานร่วมระหว่างองค์การอนามัยโลก (WHO) และประเทศจีน ได้แบ่งการระบาดออกเป็น 3 ระยะ โดยใช้วันประกาศมาตรการควบคุมโรคเป็นเส้นแบ่ง (คุ้นใช่ไหมครับ แต่ใช้คนละเกณฑ์กับประเทศไทย)  กล่าวคือวันที่ 20 ม.ค. 2020 ทางการจีนได้ประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคติดเชื้อกลุ่ม B (Class B infectious disease) ซึ่งคล้ายกับการประกาศเป็น “โรคติดต่ออันตราย” ในประเทศไทย และวันที่ 8 ก.พ. 2020 เป็นวันสิ้นสุดวันหยุดยาวที่ขยายต่อมาจากวันหยุดเทศกาลตรุษจีนรวม 15 วันหรือประมาณระยะฟักตัวพอดี 

แต่ถ้าสังเกตแนวโน้มความสูงของแท่งจำนวนผู้ป่วย จะพบว่าในระยะที่ 1 ก่อนวันที่ 19 ม.ค. 2020 จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนทำให้ทางการจีนต้องยกระดับมาตรการควบคุมโรค ต่อมาระยะที่ 2 ระหว่างวันที่ 20 ม.ค.-7 ก.พ. จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจนถึงจุดสูงสุดแล้วคงที่ (peaked and plateaued) และค่อยๆ ลดลงหลังจากวันที่ 27 ม.ค. ซึ่งน่าจะเป็นผลมาจากมาจากการปิดเมืองในวันที่ 23 ม.ค. ส่วนระยะที่ 3 หลังวันที่ 8 ก.พ. เป็นต้นมา สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย ทางการจีนจึงผ่อนปรนมาตรการ แต่หลังจากนั้นจำนวนผู้ป่วยก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นมาอีก

แผนภูมิที่ 3 เส้นโค้งการระบาดของโควิด-19 ในประเทศจีน ในระยะที่ 2-3 (ดัดแปลงจาก JAMA)

  ถึงตาแท่งสีส้มที่ผมดึงกลับมาในแผนภูมิที่ 3 ไล่สายตาจากซ้ายไปขวา พอเราเริ่มสังเกตเห็นตุ่มสีส้มโผล่ขึ้นมา ก็เข้าสู่สัปดาห์ที่ 3 ของปี 2020 แล้ว ยกตัวอย่างวันที่ 23 ม.ค. 2020 ที่มีการปิดเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีนรายงานว่ามีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจากวันก่อนหน้า 262 ราย แต่ถ้าดูแท่งสีฟ้าที่ประกบคู่กัน ในวันนั้นจะมีผู้ป่วยเริ่มมีอาการเกือบ 2,500 ราย หรือมากกว่า 10 เท่าเลยทีเดียว แสดงว่าตัวเลขผู้ป่วยที่รายงานในช่วงแรกจะยังไม่ใช่ตัวเลขผู้ป่วยที่แท้จริง

และเมื่อเปรียบเทียบจุดสูงสุดของเส้นโค้งสีฟ้าเทียบกับสีส้มจะห่างกันถึง 12 วัน ซึ่งความล่าช้า (lag time) นี้อาจเกิดจาก 3 สาเหตุ คือ (1) ผู้ป่วยมารับการตรวจรักษาช้า เพราะธรรมชาติการดำเนินโรคช่วงแรกจะมีอาการน้อย และอาการจะเริ่มหนักขึ้นในอีกสัปดาห์ถัดมา (2) ผู้ป่วยต้องรอตรวจนาน เพราะผู้ป่วยอาจป่วยเข้ารพ.จำนวนมาก จนทำให้แพทย์และเตียงรพ. ไม่เพียงพอ และ (3) ความล่าช้าในการตรวจวินิจฉัย ซึ่งเป็นการตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัส 

ในทางกลับกันหากเลื่อนสายตามาทางขวาก็จะเห็นว่าเส้นโค้งสีฟ้าในระยะที่ 3 ลดลงเร็วกว่าเส้นโค้งสีส้ม นั่นคือถึงแม้การแพร่ระบาดกำลังลดลงแล้ว แต่จำนวนผู้ป่วยจะยังคงสูงต่อไปอีกระยะหนึ่ง เพราะการตรวจวินิจฉัยในกลุ่มผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษาก่อนหน้านี้ จนกระทั่งหากไม่มีแท่งจำนวนผู้ป่วยขึ้นมาอีกเป็นระยะเวลา 2 เท่าของระยะฟักตัว ซึ่งโรคนี้เท่ากับ 14×2 = 28 วัน ก็จะถือว่าเส้นโค้งการระบาดสิ้นสุดลง

ดังนั้นหากจะนำข้อสังเกตจากเส้นโค้งการระบาดของโควิด-19 ในประเทศจีน กลับมามองตัวเลขจำนวนผู้ป่วยในประเทศไทยที่รายงานในแต่ละวัน เราต้องตระหนักถึงความล่าช้าที่อาจเกิดขึ้นจากการมาตรวจ การรอตรวจ และการตรวจทางห้องปฏิบัติการด้วยว่าในชุมชนจะมีแท่งสีฟ้าสูงยิ่งกว่าเงาตามตัวอยู่ข้างหลังด้วย ในขณะที่กระทรวงสาธารณสุขก็ต้องพยายามลดช่องว่างนี้ เพื่อให้จำนวนผู้ป่วยรายวันสะท้อนจำนวนผู้ติดเชื้อจริงมากที่สุด

แผนภูมิที่ 4 เส้นโค้งการระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย 

สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทยใน แผนภูมิที่ 4 สร้างขึ้นจากข้อมูลที่เผยแพร่ในเว็บไซต์กรมควบคุมโรค และตรวจทานกับแผนภูมิของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช. 5G) จะมีข้อมูลจำนวนผู้ป่วยตามวันที่รายงานหรือเฉพาะ “แท่งสีส้ม” เท่านั้น หากตัวเลขนี้ใกล้เคียงกับความเป็นจริง จะสังเกตว่าการระบาดในประเทศไทยเริ่มต้นช้ากว่าประเทศจีนประมาณ 2 เดือน คือเริ่มมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นหลังจากเหตุการณ์ที่สนามมวย และสถานบันเทิงช่วงต้นเดือนมี.ค. 2020

และเพิ่มขึ้นสูงสุดในวันที่ 22 มี.ค. 2020 ภายหลังจากผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ประกาศปิดห้างสรรพสินค้า และสถานที่เสี่ยงอื่นๆ 1 วัน (ประกาศวันที่ 21 มี.ค. แต่มีผลวันถัดมา) ทำให้คนที่เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ ทยอยกลับต่างจังหวัด แต่ทว่าหลังจากนั้นจำนวนผู้ป่วยรายใหม่กลับไม่เพิ่มสูงขึ้นอีก คืออยู่ที่ประมาณ 100 รายทุกวัน ซึ่งอาจเป็นผลมาจากมาตรการดังกล่าว เพราะอยู่ในช่วงระยะฟักตัวของโรค 1-14 วัน 

ในขณะที่ผลของมาตรการเคอร์ฟิวจะต้องสังเกตจำนวนผู้ป่วยในช่วงนี้ต่อไปจนถึงหลังสงกรานต์ว่าจะมีแนวโน้มเป็นอย่างไร ทั้งนี้จะต้องวิเคราะห์แยกกลุ่มผู้ป่วยลงไปอีกว่าผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นในแต่ละวันเป็นกลุ่มใด เช่น ถ้ากลุ่มที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศซึ่งจะไม่เกี่ยวข้องกับมาตรการภายในประเทศเลย หรือเป็นกลุ่มผู้สัมผัสในครอบครัวของผู้ป่วยก็จะไม่เกี่ยวข้องกับมาตรการเคอร์ฟิวอีกเช่นกัน เพราะเป็นผู้ที่ติดเชื้อจากการอาศัยอยู่ภายในบ้านเดียวกัน

Tags: , , ,