ผ่านมาเกือบจะครบเดือนแล้วสำหรับการเลือกตั้งทั่วไป 2562 น่าเสียดายที่กว่าจะมาถึงวันนี้ กระแสความสนใจของประชาชนส่วนใหญ่ เริ่มหันเหไปหาข่าวสารประเด็นอื่นกันหมดแล้ว ปล่อยให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เดินหน้าฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้ที่ออกมาเรียกร้องให้มีการตรวจสอบความโปร่งใส ทั้งๆ ที่ตนเองยังไม่สามารถประกาศผลการนับคะแนนอย่างชัดเจน และไม่สามารถคำนวณจำนวนบัญชีรายชื่อออกมาได้เสียที สะท้อนถึงปัญหาในการทำงานที่ล่าช้า ขาดประสิทธิภาพและไม่โปร่งใสอย่างมาก

นับว่าการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมานั้น เป็นบทเรียนครั้งสำคัญของสังคมไทย ที่เราจะต้องมีส่วนร่วมทางการเมืองกันมากกว่าที่เป็นอยู่

แม้การเลือกตั้งครั้งนี้จะมีกระแสความสนใจท่วมท้น เทคโนโลยีการสื่อสารจะมาพลิกรูปแบบการหาเสียง และเปลี่ยนโฉมหน้าของประวัติศาสตร์การเมืองไทยไปอย่างมาก จนประชาชนกระตือรือร้นและมีความตื่นตัวทางการเมืองสูงเป็นประวัติการณ์ แต่นอกจากการไปใช้สิทธิใช้เสียงของตัวเอง เข้าคูหาและกากบาทลงคะแนน หลังจากนี้เป็นต้นไป ประชาชนยังต้องมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างเข้มข้นต่อไปเรื่อยๆ อย่างไม่ให้คลาดสายตา

VOTE62 เป็นความร่วมมือกันของ The MOMENTUM, a day BULLETIN, iLaw, opendream, และ TDRI ที่ช่วยกันออกแบบเครื่องมือเพื่อสื่อสารเรื่องเลือกตั้ง และเปิดช่องทางให้ประชาชนตรวจสอบการทำงานของ กกต. โดยเปิดให้คนทั่วไปช่วยกันระดมข้อมูล crowdsourcing ภาพถ่ายกระดานนับคะแนน “ระดับหน่วย” ส่งเข้ามาในระบบ โดยในคืนวันเลือกตั้ง ผลคะแนนที่มาจากภาพถ่ายจริงๆ จำนวนมาก ถูกประมวลออกมาเป็นคะแนนรวมของแต่ละพื้นที่ ภาพถ่ายเหล่านั้นยังมีความสำคัญ เพราะเป็นบันทึกจากที่เกิดเหตุ ที่ที่เราทุกคนไปร่วมกันลงคะแนนเสียงเพื่อเลือกผู้แทน

ในตอนนี้ เว็บไซต์ Vote62.com ยังเปิดให้บริการสืบค้นภาพถ่ายกระดานนับคะแนน “ระดับหน่วย” คุณสามารถเข้ามาค้นหาด้วยการกรอกเพียงรหัสไปรษณีย์ เขต และจังหวัด เพื่อดูภาพกระดานของหน่วยใกล้บ้าน แล้วช่วยกันตรวจดูความผิดปกติในภาพ ดูจำนวนเส้นขีดและการนับรวมคะแนนว่าถูกต้องเที่ยงตรงหรือไม่ แล้วช่วยกันดิจิไทซ์ตัวเลขนั้้นเข้ามาในระบบ เพื่อจะนำไปตรวจสอบความถูกต้องของการเลือกตั้งครั้งนี้

ในช่วงต่อจากนี้ไป ภาคส่วนต่างๆ ในสังคม กำลังร่วมกันเรียกร้องให้ กกต. เปิดเผยตัวเลขคะแนน “ระดับหน่วย” ออกมาสู่สาธารณะ และเมื่อถึงเวลานั้น เราจะได้นำมาเปรียบเทียบให้เห็นกัน ว่าตรงกันกับภาพถ่ายกระดานนับคะแนนหรือไม่

Vote62 นับเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ของการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารเพื่อตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ ในครั้งที่ผ่านมา เราได้รับความช่วยเหลือและความร่วมมืออันดีจากผู้ใช้จำนวนมาก และหวังว่าข้อมูลภาพถ่ายกระดานนับคะแนนระดับหน่วยที่เราเปิดเผยออกไป จะมีส่วนผลักดันให้ภาคส่วนต่างๆ ในสังคมได้ตรวจสอบ และผลักดันให้หน่วยงานต่างๆ ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ

000

หากย้อนไปในเย็นวันที่ 24 มีนาคม หลังจากปิดหีบลงคะแนน มีประชาชนทั่วไปได้ร่วม crowdsourcing ภาพถ่ายกระดานนับคะแนน “ระดับหน่วย” ส่งเข้ามาให้ Vote62 และนี่คือส่วนหนึ่งของประสบการณ์และความคิดเห็นของพวกเขาเหล่านั้น

สฤณี อาชวานันทกุล

นับเป็นครั้งแรกที่ไปยืนสังเกตการณ์ที่หน่วยเลือกตั้ง รอเจ้าหน้าที่นับคะแนน รวบรวมจนเสร็จแล้วถ่ายรูปส่งเข้ามาที่ vote62.com เป็นประสบการณ์ที่สนุก เพราะที่ผ่านมา พอเลือกตั้งเสร็จก็กลับบ้านแล้วรอดูจากทีวีอย่างเดียว

วันเลือกตั้งไปดูทั้งหมด 3 จุด ที่แรกคือโรงเรียนสวัสดีวิทยา สุขุมวิท 31 โดยรวมเรียบร้อยดี แต่คิดว่าเป็นกระบวนการที่อลหม่าน เพราะว่ามี 4 หน่วยย่อยนับคะแนนพร้อมกัน ตั้งกระดานขานนับคะแนนระยะใกล้กันมาก จึงมีโอกาสสูงมากที่คนขีดคะแนนจะขีดผิด ซึ่งก็มีบ้าง คนที่ไปดูต้องคอยเตือน

มีเหตุผิดพลาดอีกเรื่อง คือตอนรวมคะแนนเสร็จ ก็เข้าไปถ่ายรูป พอมาดูรูปที่ถ่ายพบว่าเจ้าหน้าที่เขียนหน่วยเลือกตั้งผิด เลยเดินเข้าไปบอกเขา แต่ตอนนั้นแผ่นนับคะแนนถูกเก็บลงหีบแล้ว เขาก็ทำหน้างงๆ แต่เราก็อธิบายว่า มี vote62 ที่พลเมืองมาช่วยกันถ่ายรูปนับคะแนน อยากให้แก้ไขตัวเลขให้ถูกต้อง เขาก็แก้ไขตัวเลขแล้วลงนามกำกับ เจ้าหน้าที่น่ารักมาก

จากนั้นไปดูหน่วยเลือกตั้งที่แฟลต สน. ทองหล่อ ก็ไม่มีประเด็นอะไร แต่เจ้าหน้าที่ยังงงๆ ว่าเรามาถ่ายอะไร พออธิบาย เขาก็ยินดี จริงๆ เขาพับใบนับคะแนนลงหีบไปแล้ว แต่เขาก็เอาออกมากางให้ถ่ายรูป แล้วเขาก็เปิดใบสรุปที่มีตราครุฑให้ถ่ายด้วย

จุดสุดท้ายคือหน่วยใกล้บ้านตรงเอกมัย พอไปถึงเขาเก็บของกันแล้วทำให้ถ่ายรูปไม่ทัน ตรงนั้นมี 3 หน่วยย่อย หน่วยที่เราไปลงคะแนนตอนเช้า เขาบอกว่าต้องไปแล้ว แต่หน่วยข้างๆ หีบยังอยู่ แล้วมีเจ้าหน้าที่ 5-6 คนนั่งประชุมกันเครียดเลย ส่วนแผ่นนับคะแนนก็ยังติดบนกระดาน ขีดครบแล้วแต่ยังไม่ได้รวมตัวเลข เลยเดินไปถามว่าเกิดอะไรจะขอถ่ายรูปได้ไหม เขาตอบว่าถ่ายไม่ได้เพราะมีปัญหาเรื่องบัตรเกิน เราไม่เข้าใจว่าเกินได้ยังไง เลยถามว่าจะแก้ปัญหากันยังไง เขาบอกว่าต้องส่งไปนับใหม่ที่วัดธาตุทอง ซึ่งเป็นส่วนกลาง เราถามว่าทำไมไม่นับใหม่ตรงนี้เลย คนก็ยังอยู่กัน เขายืนยันว่าไม่ได้ เลยรู้สึกตะหงิดหน่อยๆ แล้วทำให้ได้คิดว่าครั้งก่อนๆ เคยมีปัญหาแบบนี้ไหม

ต่อให้ไม่มีปัญหาอะไรเลย ทุกอย่างราบรื่น แต่ vote62 มีสองประเด็นใหญ่ๆ ที่เป็นประโยชน์

ประเด็นแรก ในฐานะคนไปลงคะแนน เราได้เห็นกระบวนการจริงๆ ว่าเป็นยังไง เหมือนเป็นความรับผิดชอบกับเสียงของเราและของคนอื่นด้วย อย่างเวลาเจ้าหน้าที่ขานคะแนนผิด คนที่คอยดูเขาจะเตือนทันที เป็นการช่วยให้เสียงนั้นกลับมาเป็นเสียงที่คนลงคะแนนจริงๆ ต้องการ เป็นกระบวนการติดตามและตรวจสอบโดยประชาชน รู้สึกว่าเป็นเรื่องตื่นเต้น และได้รู้ผลการเลือกตั้งต่อหน้าเลยว่าละแวกบ้านเราเขาคิดยังไงกันบ้าง

ประเด็นที่สอง รอบนี้ทุกคนมีปัญหามากกับตัวเลขของ กกต. แทบไม่มีตัวเลขไหนที่เชื่อถือได้ แม้แต่ตัวเลขพื้นฐานมากๆ อย่างจำนวนผู้มาใช้สิทธิ์ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก โดยเฉพาะในกติกาใหม่นี้ เพราะตัวเลขจะต้องสัมพันธ์กับจำนวนบัตรดี บัตรเสีย และต้องนำไปคำนวณสัดส่วนปาร์ตี้ลิสต์ด้วย พอมีความน่าสงสัยในการทำงานของ กกต. เลยทำให้ vote62 เป็นเครื่องมือถูกที่ถูกเวลามาก

ข้อมูลที่เราช่วยกันบันทึกไว้ใน vote62 คือข้อมูลสำคัญที่นำมาเปรียบเทียบกับตัวเลขของ กกต. ได้ แต่ต่อให้ กกต. ไม่ยอมปล่อยคะแนนทั้งหมดออกมา ข้อมูลคะแนนรายหน่วยใน vote62 ก็เป็นประโยชน์มากเหมือนกัน

ถ้าไม่มีเครื่องมืออย่าง vote62.com มันก็ยาก อย่างมากก็เดินดูส่วนของใครของมัน ถ่ายรูปแล้วก็บ่นกันเอง เสียดายว่าการเลือกตั้งรอบนี้เป็นระบบใหม่ คนอาจจะยังไม่แน่ใจว่า vote62 คืออะไร แต่ถ้าดูการเลือกตั้งต่างประเทศอย่างอินโดนีเชีย เขาก็ใช้วิธี crowdsourcing เหมือนกัน แต่ต้องยอมรับว่าการเลือกตั้งของเขาโปร่งใสกว่าเราเยอะมาก เขาเปิดเผยผลคะแนนรายหน่วยทั้งหมด และมีเว็บไซต์ที่คล้ายกับวิธีการทำงานของ vote62 แต่ต่างกันที่เป็นข้อมูลจาก กกต. โดยตรง เขาถ่ายรูปหน้าหน่วยให้ประชาชนได้ตรวจสอบ ข้อมูลจึงค่อนข้างละเอียดมาก และเป็นประโยชน์มาก

เคยมีผู้สมัครซึ่งเป็นอดีตนายพลร้องเรียนกรรมการเลือกตั้งของอินโดนีเซีย ว่าถูกโกงเลือกตั้ง แต่คณะกรรมการก็สามารถอ้างผลการตรวจสอบของประชาชนจากเว็บไซต์นี้ได้ เมื่อผลการเลือกตั้งตรงกับข้อมูลที่ประชาชนช่วยกันตรวจสอบ เลยทำให้การโต้แย้งนี้ตกไป การร่วมมือกันโดยภาคประชาชนนั้นมีพลังมาก เป็นการใช้สิทธิ์และเสรีภาพของเราในการตรวจสอบรัฐบาลโดยตรง

แต่นับจากวันเลือกตั้งนี่ผ่านมา ยังไม่ได้ยินคำขอโทษที่ดูจริงใจจาก กกต. เลย ไม่มีการแสดงความรู้สึกผิดหรือความรับผิดชอบใดๆ เรามีสิทธิ์ตั้งข้อสังเกตอะไรก็ได้ เรื่องตัวเลขที่มีความผิดพลาดขนาดนี้เขาต้องออกมายอมรับ แต่กลับมีการเล่นคำต่างๆ ส่วนวิธีการอธิบายของ กกต. เป็นแบบป้องกันตัวเองซะเยอะ หลายๆ ปัญหาต้องรอให้ประชาชนหรือสื่อพยายามหาคำตอบกันเอง เช่น ทำไมจำนวนผู้มาใช้สิทธิ์ถึงเปลี่ยนแปลง กกต. ต้องออกมาอธิบายให้ชัดเจนตั้งแต่ต้น

ระดับความผิดพลาดไม่คุ้มค่ากับงบประมาณที่ใช้ไปเลยแม้แต่น้อย โดยเฉพาะระบบรายงานผลการเลือกตั้งครั้งนี้ ตอนนี้ประชาชนต่างไปเข้าชื่อถอดถอน กกต. ใน change.org น่าจะเป็นแคมเปญที่มีคนไทยไปลงชื่อกันมากที่สุดแล้ว แสดงว่าคนไม่พอใจการทำงานของ กกต. ถ้าตามธรรมเนียมก็ควรต้องลาออกทั้งคณะเพื่อแสดงความรับผิดชอบ แต่ปัจจุบันที่เป็นอยู่ไม่ได้ใกล้เคียงเลย เราก็ต้องรอดูกันต่อไป รอดูข้อมูล รอคำอธิบายต่างๆ นานาจาก กกต.

คำถามที่ประชาชนยังสงสัยมากคือ ผ่านมานานมากแต่ตัวเลขยังไม่น่าเชื่อถือ และยังไม่มีคำอธิบายที่เป็นระบบระเบียบชัดเจนเรื่องตัวเลขต่างๆ ดูจากท่าทีประชาชนแล้วคิดว่าการรวมรายชื่อ 20,000 รายชื่อไม่น่ายาก หรือเมื่อเปิดสภามา ควรจะต้องทบทวน กกต. เป็นอันดับแรกๆ เลย เพราะเรื่องผลเลือกตั้งไม่น่าเชื่อถือเป็นปัญหาร่วมทั้งประเทศ ไม่ใช่ประเด็นพรรคใดพรรคหนึ่ง

บก.ลายจุด – สมบัติ บุญงามอนงค์

ผมคิดว่าการที่มีเว็บไซต์ VOTE62 หรือการที่ประชาชนไปเฝ้าติดตามการนับคะแนนแล้วถ่ายภาพเก็บไว้เป็นหลักฐานเป็นเรื่องที่ดีมากนะ เพราะมันเป็นเรื่องการตรวจสอบถ่วงดุล กับการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน

ที่สำคัญผมก็รออยู่ว่าเมื่อไหร่ กกต. เขาจะเปิดเผยข้อมูลระดับหน่วย ซึ่งก็จะทำให้เกิดการทาบระหว่างข้อมูลระหว่างประชาชนที่ไปถ่ายรูปมาเก็บข้อมูลไว้ หรือแม้แต่กรรมการการเลือกตั้งที่อยู่ตามจุดต่างๆ จะได้มีโอกาสดับเบิลเช็คอีกที แล้วถ้าไม่มีอะไรพลาด มันก็จะทำให้ความคลุมเครือหรือข้อกล่าวหาที่มอง กกต. ไม่ดีตอนนี้ มีคำตอบว่าตกลงปัญหาที่เกิดขึ้นมันมาจากอะไรกันแน่

ถ้าข้อมูลเปิดขึ้นมาปุ๊บ ก็จะเห็นได้เลยว่า ด้วยข้อเท็จจริงแล้ว มันมีความโกงหรือมีความผิดพลาดมากน้อยเพียงไร แต่ถ้าไม่มีการโกงหรือเป็นการผิดพลาดเพียงเล็กน้อย ซึ่งไม่มีผลต่อคะแนน สิ่งนี้ก็จะเป็นการยืนยันว่าทุกอย่างเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ แต่อาจจะเป็นความผิดพลาดในระดับของการไม่เจตนา อันนั้นก็ว่ากันไป

สิ่งสำคัญที่สุดคือการมีส่วนร่วมของประชาชนนี่แหละ ผมคิดว่านี่จะเป็นตัวที่ล้อไปกับจุดที่เวลาเราพูดถึงการเมืองในระบบประชาธิปไตย เพราะมันไม่ได้มีแค่พรรคการเมืองหรือนักการเมือง และกิจกรรมของประชาชนก็ไม่ได้มีแค่การไปโหวต แต่อาจจะต้องมีมากกว่านั้น และแน่นอนว่า จะส่งผลต่อคุณภาพของฝ่ายการเมือง ดังนั้นการมีกิจกรรมที่สนับสนุน active citizen เนี่ย จึงเป็นเรื่องที่ถูกต้อง

วิจักขณ์ พานิช

แม้การเลือกตั้งครั้งนี้จะสกปรก แต่การตื่นตัวของประชาชนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่มีต่อการเลือกตั้งนั้น จุดความหวังที่จะเห็นการพัฒนาจิตสำนึกทางการเมืองที่ดีขึ้น เราจึงไม่ควรท้อถอยด้วยกลเกม กกต. แต่ควรถอดบทเรียนและเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการเลือกตั้งที่อาจจะมีขึ้นอีกในอนาคตอันใกล้

ขอชื่นชมเว็บ vote62.com ที่พัฒนาขึ้นโดยทีม The Momentum, a day BULLETIN, iLaw, และ Opendream ส่วนตัวเห็นว่าเป็นเว็บรายงานผลที่ดีที่สุดในการเลือกตั้งครั้งนี้

นอกจากจะรายงานผลการเลือกตั้งที่ได้รับจาก กกต. และมีอินโฟกราฟิกที่ดูเข้าใจง่ายแล้ว vote62.com ยังมีช่องให้ทางบ้านอัปโหลดรูปถ่ายสรุปผลนับคะแนนจริงจากหน่วยเลือกตั้งด้วย (crowdsourcing) ซึ่งเป็นไอเดียที่สุดยอดมาก (แต่ยังไม่เห็นผลที่สมบูรณ์ในการเลือกตั้งครั้งนี้) ถ้ามีเวลารณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่ หรืออาสาสมัคร ไปช่วยกันถ่ายรูปผลบนกระดานในทุกหน่วยการเลือกตั้ง แล้วช่วยกันอัปขึ้นเว็บได้ทั่วประเทศ ก็จะเป็นการช่วยทำให้ผลคะแนนเลือกตั้งทั่วประเทศเที่ยงตรงและโปร่งใส ประชาชนสามารถตรวจสอบคะแนนทุกหน่วยเลือกตั้งและเทียบกับผลที่ กกต. ประกาศอย่างเป็นทางการได้

การเลือกตั้งครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่ผมและเพื่อนๆ หลายคน มีประสบการณ์ไปเฝ้าการนับคะแนนที่หน่วยเลือกตั้งใกล้บ้าน ทำให้เราตระหนักว่าจริงๆ แล้วช่วงเวลาของการไปดูการนับคะแนนนั้นเป็นจุดที่สำคัญมากๆ เพราะเป็นช่วงเวลาเดียวที่ประชาชนสามารถตรวจสอบและทักท้วง human error ที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการนับคะแนนได้ ควรมีการรณรงค์ให้คนรุ่นใหม่ไปดูกระบวนการการนับคะแนนที่หน่วยเลือกตั้งกันให้มากขึ้น

เวลาไปดูการนับคะแนน ถ้าเป็นไปได้ให้ลากเก้าอี้ไปนั่งดูใกล้ๆ เพื่อตรวจสอบดูความถูกต้องของการนับคะแนนบัตรทุกใบ หากเจ้าหน้าที่ขานคะแนนเร็วไป หรือมองไม่เห็นช่องกากบาท สามารถบอกให้เจ้าหน้าที่ขานให้ช้าลงหรือโชว์บัตรให้ดูชัดๆ และหากสงสัยว่ามีการขานผิด เราสามารถทักท้วงได้โดยไม่ต้องรู้สึกเกรงใจเจ้าหน้าที่ (มีเพื่อนที่ไปนั่งเฝ้า แล้วท้วงคะแนนได้ 1 คะแนน แล้วรู้สึกราวกับว่าได้กอบกู้สิทธิของเพื่อนร่วมประเทศมาได้ 1 สิทธิ โคตรน่าภูมิใจ)

บัตรเสียที่มีจำนวนมากเป็นประวัติการณ์ อันนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ จำเป็นต้องมีการรวบรวมรูปแบบของบัตรเสียที่เกิดขึ้นบ่อยในรูปแบบต่างๆ ทำออกมาเป็นเอกสารแจก และรณรงค์สร้างความเข้าใจกับประชาชนทั้งทางโซเชียลมีเดีย สื่อออนไลน์ และทีวีช่องต่างๆ ที่เห็นกับตาตัวเอง บัตรเสียที่พบบ่อยที่สุดคือ การไปกากบาทที่ตัวเลขแทนที่จะเป็นช่องว่าง (ซึ่งในความเห็นส่วนตัว ไม่น่าเป็นบัตรเสียเลย) การออกแบบบัตรเลือกตั้งที่ดีขึ้นอาจจะช่วยแก้ปัญหานี้ได้

เจ้าหน้าที่หน่วยเลือกตั้ง มีความสับสนในกฎเกณฑ์ที่จะจำแนกว่า อันไหนเรียกบัตรเสีย อันไหนเรียกบัตรดี แล้วใช้วิจารณญาณส่วนตัวตัดสิน (เช่น กากบาทย้ำให้ชัด กากบาทเส้นซ้อนสองเส้น หรือกาไม่เต็มช่องนิดเดียว แล้วถือว่าเป็นบัตรเสียเฉยเลย) เรื่องนี้ควรมีการทำคู่มือสำหรับประชาชนที่ไปตรวจสอบการนับคะแนนพร้อมรูปประกอบ วางไว้ในทุกหน่วยเลือกตั้ง เพื่อจะได้ใช้คู่มือนั้นไปแสดงยืนยันการตรวจสอบการนับคะแนนของเจ้าหน้าที่ได้

การตั้งกล้องมือถือถ่ายวีดีโอซูมให้เห็นการนับคะแนนชัดๆ ตั้งแต่ต้นจนจบถือเป็นไอเดียที่ดี ข้อสังเกตพวกนี้ยังมีอีกมาก อยากให้ช่วยกัน #ถอดบทเรียนเลือกตั้ง62 เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเลือกตั้งครั้งหน้า เพื่อให้การใช้สิทธิของทุกคนได้รับการเคารพและเพื่อไม่ให้อำนาจรัฐเช่น กกต. สามารถบิดเบือนคะแนนการเลือกตั้งได้ง่ายเหมือนครั้งนี้อีก

หลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย ก็คือการเชื่อมั่นในพลังของประชาชนในตัวมันเองอยู่แล้ว ดังนั้น ระบบการเลือกตั้งและการนับคะแนนจึงควรออกแบบมาเพื่อการเคารพสิทธิการเลือกตั้งของคนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน บัตร 1 ใบจึงมีความหมายมากๆ และคะแนน 1 คะแนนจะต้องได้รับการนับอย่างถูกต้องตามเจตจำนงของผู้ใช้สิทธิและตรวจสอบได้อย่างโปร่งใส

เราต้องไม่กลัวที่จะร่วมมือกันตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ เราต้องไม่กลัวที่จะทักท้วงหากสงสัยว่าเจ้าหน้าที่ขานคะแนนผิดพลาด วินิจฉัยบัตรดีให้เป็นบัตรเสีย หรือบัตรเสียให้เป็นบัตรดี เราต้องไม่กลัวที่จะตรวจสอบและกดดันการทำงานของคณะกรรมการจัดการเลือกตั้ง และที่สำคัญเรามีสิทธิรับรู้คะแนนดิบของทุกหน่วยเลือกตั้งและตรวจสอบว่าตรงกับที่เราไปสังเกตการณ์ที่หน่วยเลือกตั้งใกล้บ้านของเราหรือไม่ ทั้งหมดนี้ไม่ใช่แค่การให้ความกระจ่างกับสังคมอย่างเดียวนะ แต่มันคือสามัญสำนึกพื้นฐานที่เราต้องช่วยกันปกป้อง

เราสูญเสียสิ่งนี้ไปไม่ได้ เพราะหากสูญเสียมันไป เราจะไม่หลงเหลือความเชื่อมั่นใดๆ ในระบอบประชาธิปไตย ในพลังของประชาชน หรือในตัวเรา

Fact Box

เว็บไซต์ VOTE62.com เปิดให้คุณตรวจสอบภาพถ่ายกระดานคะแนนในพื้นที่ต่างๆ แล้ว เพียงพิมพ์เขตหรือจังหวัด หากพบภาพผิดปกติที่น่าสงสัย ขอเชิญชวนช่วยกันแชร์ภาพพร้อมข้อสังเกตในช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ แล้วตั้งค่าสาธารณะพร้อมติดแฮชแท็ก #vote62

Tags: , , , , , , , , , , , ,