หากพูดถึงชื่อสารเคมีอย่าง พาราควอต, ไกลโฟเซต, และคลอร์ไพริฟอส ทั้งสามชื่อนี้อาจไม่ค่อยคุ้นหูคนทั่วไปนัก แต่หลายคนอาจจะรู้จักในชื่อการค้า อย่าง ‘กรัมม็อกโซน’ หรือ ‘ราวด์อัพ’ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสารเคมีกำจัดวัชพืชยอดนิยมในประเทศไทย

เรื่องน่าตกใจเกี่ยวกับสารเคมีกำจัดวัชพืชยอดนิยมเหล่านี้ก็คือ มีการค้นพบว่าสารเคมีเหล่านี้ตกค้างอยู่ในพืชผักผลไม้ที่คนทั่วไปรับประทาน ไม่ว่าจะในห้างร้านหรือตลาดสด และเรื่องน่าตกใจถัดมา คือ สารเคมีเหล่านี้ส่งผลต่อทั้งเกษตรกรผู้ใช้สารเคมีและผู้บริโภค แถมยังสามารถลุกลามไปถึงการส่งต่อให้กับลูกในครรภ์ได้

แต่ที่น่าตกใจที่สุดคือ ขณะที่ 58 ประเทศทั่วโลกยกเลิกการใช้สารเคมีเหล่านี้ แม้แต่ประเทศผู้ผลิตสารเคมีดังกล่าว แต่ประเทศไทย ยังไม่เห็นความชัดเจนในการยกเลิกสารเคมีพิษ

เราคุยกับ ‘วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ’ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย) ซึ่งติดตามและรณรงค์ให้ยกเลิกการใช้สารเคมีพิษทั้งสามชนิดมาอย่างใกล้ชิด โดยอิงข้อมูลผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและต่อชีวิต จากตัวอย่างทั้งในไทยและต่างประเทศ แต่ก็มีปัจจัยที่อาจเป็นเหตุให้รัฐบาลยังไม่สามารถประกาศยกเลิกการใช้สารเคมีเหล่านี้ได้ ซึ่งสวนทางกับอนาคตของการเกษตรที่ไปไกลกว่าการใช้สารเคมีแล้ว

สารเคมีพิษ ผู้บริโภคเสี่ยงป่วย เกษตรกรเสี่ยงตาย อันตรายเท่ากัน

วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี หรือ ไบโอไทย เล่าให้ฟังว่า หลังการปฏิวัติเขียวในปี 2503 เป็นต้นมา ประเทศไทยก็เริ่มใช้สารเคมีมากขึ้น กว่าเราจะรู้ตัวว่าสารเคมีที่ใช้แต่ละอย่างนั้นไม่ปลอดภัยก็กินเวลาหลายปี เมื่อสิ่งแวดล้อมแย่ สุขภาพประชาชนมีปัญหา จึงค่อยๆ ทยอยยกเลิกสารพิษมาเป็นระยะ เรื่องนี้สะท้อนว่า สารเคมีที่เราเคยใช้แล้วไม่เห็นผลกระทบอะไรไม่ได้แปลว่ามันปลอดภัย เพียงแต่เราเพิ่งรู้ผลเสียของมัน

เขาชี้ว่า ปัจจุบันเริ่มมีหลักฐานชัดเจนทั้งในและต่างประเทศ ถึงผลกระทบของสารเคมีอันตราย อย่างพาราควอต มีความเป็นพิษเฉียบพลันสูง แม้ได้รับในปริมาณเล็กน้อยเพียงหนึ่งช้อนชาก็ทำให้ตายได้ และยังมีข้อกังวลเรื่องสารตกค้างที่อาจส่งผลต่อโรคพาร์กินสัน ส่วนคลอร์ไพริฟอส เป็นสารเคมีฆ่าแมลงที่มีผลต่อการทำงานของระบบประสาทหรือสมอง งานวิจัยล่าสุดพบว่ามีผลต่อพัฒนาการสติปัญญาของเด็กอย่างชัดเจน ด้านไกลโฟเซตก็พบว่าเป็นสารที่อาจก่อมะเร็งในมนุษย์ได้

“เราพบว่ามีพาราควอตตกค้างในน้ำ งานวิจัยในเมืองไทยพบหลายตัวอย่างที่เกินค่ามาตรฐาน บางส่วนเป็นงานวิจัยที่ทำโดยกระทรวงเกษตรฯ เองด้วย แล้วก็ที่ฮือฮาคือ งานวิจัยของมหาวิทยาลัยนเรศวร พบสารตกค้างในแหล่งน้ำที่ทำน้ำประปา” วิฑูรย์กล่าว

“ที่น่าสะพรึงที่สุดคือสารตกค้างในมนุษย์ งานศึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดลพบว่า ครึ่งหนึ่งของเด็ก พบพาราควอตในขี้เทาของเด็กแรกเกิด (อุจจาระครั้งแรกของเด็กแรกเกิด) คือเขาตรวจทั้งแม่ด้วย ทั้งลูกด้วย ตอนคลอดแล้วเอาขี้เทาไปตรวจ พบว่าเกิน 50 เปอร์เซ็นต์มีสารพาราควอตอยู่ อันนี่จาก 3 โรงพยาบาลที่จังหวัดกาญจนบุรี นครสวรรค์และอำนาจเจริญ”

“คลอร์ไพริฟอส ส่งผลกระทบต่อมนุษย์สองทาง ทางแรกคือ คนที่ฉีดพ่นโดยตรง แล้วส่งผลต่อทารกในครรภ์ด้วย ทางที่สองคือ เมื่อฉีดเข้าไปในผักผลไม้ก็จะตกค้างอยู่ในผักผลไม้ งานสำรวจในยุโรปและอเมริกาพบว่า ผลิตผลประเภทผักผลไม้ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์พบสารตกค้างของคลอร์ไพริฟอส ส่วนในประเทศไทย THAI-PAN หรือเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช สุ่มตรวจผักผลไม้ที่จุดจำหน่าย พบว่า 10 เปอร์เซ็นต์ของผักผลไม้ที่ตรวจย้อนหลังมีสารนี้ตกค้าง”

“ในงานวิจัยของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมพบว่า ในจังหวัดลำพูนและลำปางที่ศึกษาสารตกค้างจากคลอร์ไพริฟอส พบการตกค้างของคลอร์ไพริฟอสใน ‘ทุกตัวอย่าง’ ของผักผลไม้ โดยมีรายงานเป็นเล่มชัดเจนว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของประชาชนในจังหวัดลำพูนและลำปางจะมีความเสี่ยงจากการได้รับผลกระทบต่อระบบประสาทและมีผลต่อการทำงานของต่อมไร้ท่อ”

วิฑูรย์กล่าวถึงสารเคมีตัวที่สามอย่าง ไกลโฟเซตว่า “ไกลโฟเซตก็เช่นเดียวกัน ในช่วง 5 ปีหลัง พบไกลโฟเซตปนเปื้อนอยู่ในถั่วเหลือง น้ำนม น้ำผึ้ง กระทั่งอยู่ในเบียร์”

สารเคมีพิษต้นทุนสูง ประสิทธิภาพต่ำ ผลกระทบมหาศาล

ข้อถกเถียงสำคัญในการยกเลิกการใช้สารเคมีพิษทั้งสามชนิด คือเรื่องต้นทุนการทำเกษตรจะสูงขึ้น แต่ในมุมมองของวิฑูรย์กลับเห็นต่างออกไป เขาเห็นว่ายังไม่ค่อยมีการพูดถึงต้นทุนที่แท้จริงจากการใช้สารเคมีอันตราย ซึ่งมีประสิทธิภาพต่ำและสร้างผลกระทบมหาศาล

“สารเคมีมันทำลายสมดุลของธรรมชาติ พอเราใช้พาราควอต เราใช้ฉีดหญ้า แต่มันซึมไปในดินแล้วไปฆ่าจุลินทรีย์ งานวิจัยในมาเลเซียพบว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของจุลินทรีย์ถูกฆ่าโดยพาราควอต สมดุลของเชื้อที่มันเคยควบคุมกันเองก็สูญเสีย แล้วมันมีผลมากกว่านั้นอีกว่า ทำไมผลผลิตไม่สูง ผลผลิตลดลง พาราควอตนี้ไปฆ่าแบคทีเรียที่ตรึงไนโตรเจนมาสร้างปุ๋ยธรรมชาติ ปรากฏว่าสายพันธุ์ที่ตรึงไนโตรเจนส่วนใหญ่ถูกทำลายด้วยพาราควอต” วิฑูรย์กล่าว

“นอกจากนี้ พวกแมลงที่เป็นศัตรูพืช ก็พัฒนาตัวเองให้ต้านทานขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นสายพันธุ์ย่อยชนิดใหม่ ระบาดมาเรื่อย ในขณะเดียวกัน ตัววัชพืชก็ต้านทานแบบเดียวกับที่แมลงต้านทาน ทำให้ต้องใช้ปริมาณมากขึ้น ในระยะยาว เกษตรกรรมที่พึ่งการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชพวกนี้ ไม่ใช่การผลิตที่ยั่งยืน และประสิทธิภาพจะต่ำลงเรื่อยๆ”

“เรื่องต้นทุน ผมคิดว่าไม่ได้เกิดขึ้นจากกลไกตลาด แต่เกิดขึ้นจากนโยบายของรัฐที่เอื้ออำนวยอุดหนุนสารเคมีพวกนี้ในรูปแบบภาษีและอื่นๆ ถ้าจะทำให้เป็นภาระเกษตรกร คุณต้องสนับสนุนทางเลือกการกำจัดศัตรูพืช วัชพืช และแมลงที่เป็นธรรม ไม่ใช่สนับสนุนบริษัทเอกชนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน”

“รัฐบาลต้องคิดว่าคุณเอาต้นทุนชีวิตค่ารักษาพยาบาลของเกษตรกรหรือผู้บริโภคที่ได้รับพิษจากสารพวกนี้มาคิดคำนวณด้วย และต้องผลักภาระต้นทุนพวกนี้ไปให้พวกที่เป็นผู้ก่อมลพิษ ไม่ใช่มาใช้วาทกรรมว่ามันแพง ท้ายที่สุด เกษตรกรรายย่อยจะเดือดร้อน ถ้าคุณมองเรื่องต้นทุนจริงๆ คุณจะเห็นว่ามันแพงเพราะมันเอาคุณค่าของชีวิต เอาทรัพยากรของรัฐ ภาษีต่างๆ ไปอุดหนุนอุตสาหกรรมสารเคมี”

สารเคมีพิษไม่เคยหมดจากประเทศไทย

ในประเทศไทย ไกลโฟเซตเป็นผลิตภัณฑ์หลักของบริษัทมอนซานโต้ ที่ต่อมาบริษัทไบเออร์ ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่เคมีเกษตรของเยอรมนีเข้าซื้อกิจการ ส่วนพาราควอตเป็นของบริษัทซินเจนตา ซึ่งปัจจุบันควบรวมกิจการกับเคมไชน่าบริษัทยักษ์ใหญ่ของจีน ส่วนคลอร์ไพริฟอสเป็นของดาวน์เคมีคอล-ดูปองท์ ยักษ์ใหญ่เคมีเกษตรของสหรัฐ สารเคมีทั้ง 3 ชนิดนี้เป็นที่นิยมของบรรดาเกษตรกร

วิฑูรย์ เล่าว่า ด้วยความนิยมในสินค้า ทำให้อิทธิพลทางการตลาดของบริษัทผู้นำเข้าสารเคมีมีมาก อย่างในประเทศไทย สารเคมีกำจัดวัชพืชมีส่วนแบ่งในตลาดถึง 80 เปอร์เซ็นต์ของตลาดสารเคมีทั้งหมด เพราะฉะนั้น บริษัทผู้ผลิตสารเคมีย่อมทำทุกวิธีทางเพื่อพยายามปกป้องตลาดที่มีผลิตภัณฑ์หลักของตัวเอง ยกตัวอย่างเช่น เมื่อมีรายงานพบว่าสารเคมีหนึ่งๆ มีสารก่อมะเร็ง บริษัทก็จะพยายามหยุดยั้งการเผยแพร่ข้อมูลนี้ และจ้างนักวิชาการเพื่อตีพิมพ์ผลงาน แต่ความจริงนี้ก็ถูกเปิดเผยหลังมีการฟ้องร้องในสหรัฐอเมริกา กรณีของพาราควอตก็เช่นเดียวกัน

“เราเห็นเลยว่า เวลามีการเสนอแบนสารเคมี ข้อมูลที่หน่วยงานราชการเอามาใช้อ้างอิงว่าสารเคมีมันปลอดภัยก็จะเอามาจากสมาคมที่มีบริษัทสารเคมีสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมมันยากที่จะยกเลิกเพราะตลาดมันใหญ่ ความนิยมมันเยอะ และพลังอำนาจของบริษัทที่จะปกป้องตลาดผ่านการครอบงำวงวิชาการ”

ส่วนในประเทศไทย วิฑูรย์ พบว่า มีการตั้งสมาคมที่เกี่ยวกับสารเคมีเป็นจำนวนมาก และเป็นสมาคมใหญ่ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่ข้อมูล หรือจัดตั้งองค์กรขึ้นมาทำหน้าที่แทนในการตอบโต้เรื่องของข้อมูล บางสมาคมใช้ชื่อใกล้เคียงกับสมาคมในสหรัฐอเมริกา ประธานหรือนายกสมาคมเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านวัชพืชแต่เป็นข้าราชการในกระทรวงเกษตร สำนักงานตั้งอยู่ในกรมวิชาการเกษตร งบในการวิจัยและการดำเนินกิจกรรมมาจากบริษัทสารพิษยักษ์ใหญ่

ส่วนยักษ์ตัวที่สองที่ทำให้การยกเลิกการใช้สารเคมีเป็นเรื่องยาก คือ “อุตสาหกรรมการเกษตรในประเทศ” ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ และอุตสาหกรรมน้ำตาล เนื่องจากการจะผลักดันอุตสาหกรรมดังกล่าว จำเป็นจะต้องผลักดันให้ประเทศไทยมีพืชเศรษฐกิจรองรับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ให้ได้ ทำให้การปลูกพืชเศรษฐกิจต้องพึ่งพาสารเคมีปริมาณมาก และด้วยการส่งเสริมอุตสาหกรรมดังกล่าว ทำให้อิทธิพลต่อนโยบายสารเคมีจึงไม่ได้มีแค่บริษัทยักษ์ใหญ่ต่างชาติ แต่รวมไปถึงยักษ์ใหญ่ในประเทศ นั้นหมายความว่า นโยบายทั้งหลายที่เกี่ยวกับสารเคมีนับตั้งแต่อดีตที่ผ่านมาก็เอื้ออำนวยให้กับอุตสาหกรรมเหล่านี้

ตัวอย่างที่วิฑูรย์เห็นได้ชัดจากการส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรเท่าที่เป็นอยู่ คือ การลดภาษี โดยสารเคมีที่นำเข้ามาในไทยจะได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปี 2535 อีกทั้งยังมีการช่วยเหลือโดยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม และนโยบายอุดหนุนทางการเกษตรในแต่ละยุคสมัยอีกด้วย

“ผมลองคำนวณดูคร่าวๆ ถ้าแต่เดิมภาษีนำเข้าสารเคมีอยู่ที่ 30 เปอร์เซ็นต์ ยอดนำเข้าเราอยู่ที่ 30,000 ล้าน แสดงว่ายอดที่ต้องเสียภาษีคือ 9,000 ล้าน ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มคิดจากผลิตภัณฑ์ คิดแบบธรรมดาที่สุดถ้ามูลค่าการซื้อขายในตลาดอยู่ที่ 60,000 ล้าน ถึง 90,000 ล้าน เท่ากับภาษีมูลค่าเพิ่มที่จะได้อยู่ที่ 4,200 ล้าน ถึง 6,300 ล้านบาท รวมเม็ดเงินจากภาษีที่เราสูญเสียไปมีมูลค่าสูงถึง13,200-15,300 นี่คือเม็ดเงินที่เราอุดหนุนสารเคมีพิษ”

“ที่นี้การเอื้ออำนวยมันไม่ได้อยู่แค่นั้น มันมียังมีนโยบายต่างๆ ของรัฐในแต่ละยุค ยกตัวอย่างเช่น นโยบายประชารัฐที่ผ่านมา เอื้ออำนวยให้มีการผลิตพืชเชิงเดี่ยว เช่น อ้อย คุณจะได้เงินให้เปล่าในบางปี 2,500 ต่อไร่ และคิดดอกเบี้ยแค่ 0.01 เปอร์เซ็นต์ กรณีกู้ไปลงทุนทำแปลงใหญ่ เสร็จแล้วไม่พอ ยังมีเกษตรประชารัฐ ส่งเสริมการซื้อสารเคมีราคาย่อมเยาอีก ดังนั้น การใช้สารเคมีมันจึงหนีไม่พ้น”

คณะกรรมการวัตถุอันตราย คือ ปราการด่านสำคัญ

การควบคุมการใช้สารเคมีในประเทศไทย ขึ้นอยู่กับปราการด่านสำคัญอย่าง ‘คณะกรรมการวัตถุอันตราย’ เนื่องจาก พ.ร.บ.วัตถุอันตรายให้อำนาจคณะกรรมการวัตถุอันตรายเป็นคนควบคุม และจัดประเภทของสารเคมีว่าอยู่ในประเภทใด ถ้าอันตรายร้ายแรงก็จะถูกจัดอยู่ในชนิดที่ 4 ไม่สามารถนำเข้า ครอบครองหรือจำหน่าย

วิฑูรย์อธิบายว่า คณะกรรมการชุดดังกล่าวมีทั้งสิ้น 29 คน มีที่มาจากหน่วยงานรัฐ 19 คน และผู้ทรงคุณวุฒิอีก 10 คน อย่างไรก็ดี ในสัดส่วนคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งกำหนดให้มีตัวแทนจากองค์กรสาธารณะประโยชน์ พบว่ามีตัวแทนของบริษัทเอกชนเข้าไปด้วย

“อย่างชุดนี้เราพูดได้เลยว่า อย่างน้อยสามคนของผู้ทรงคุณวุฒิมาจากบริษัทสารเคมีกำจัดศัตรูพืช” วิฑูรย์ชี้ว่า ยังมีสมาคมทางวิชาการของบริษัทที่ค้าขายสารเคมี ซึ่งมีบทบาทในวงการวิชาการ ผ่านการสนับสนุน ทำกิจกรรมและงานวิจัย “ฉะนั้น แทนที่คนเหล่านี้จะพูดถึงงานวิชาการแบบที่ควรจะเป็น ก็พูดมาจากความสัมพันธ์กับบริษัทพวกนั้นแทน”

“ในรายงานของคณะกรรมการวัตถุอันตราย มีเรื่องไม่เหมาะสมหรือที่ยอมรับไม่ได้เต็มไปหมด เช่น ใช้ข้อมูลของบริษัทเอกชน ตัดทิ้งงานวิจัยที่ทำโดยหน่วยงานราชการและมหาวิทยาลัยที่บอกเรื่องผลกระทบ เอาบทความในวารสารส่งเสริมเรื่องการทำเกษตรที่ว่า ปลูกอะไร ใส่อะไร ซึ่งวารสารฉบับนั้นได้รายได้จากโฆษณาจากบริษัทเอกชน และบทความที่อ้างอิงเป็นบทความของพนักงานของบริษัทเอกชน”

การเมืองเปิดแล้ว เสียงประชาชนเป็นสิ่งสำคัญ

ในมุมมองของวิฑูรย์ เขาเชื่อว่า ก้าวสำคัญที่นำไปสู่ยกเลิกสารเคมี ก็คือระบบการเมืองที่เปิด กลไกการเลือกตั้งทำให้ภาคการเมืองต้องให้ความสำคัญกับการทำงานรับใช้ประชาชน

ตัวอย่างหนึ่งคือ การที่สภาลงมติ 399 ต่อ 0 เสียง ให้ตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางการควบคุมการใช้สารเคมีมันสะท้อนอะไรมาก รวมไปถึงการที่รัฐมนตรีซึ่งมาจากโควต้าของพรรคร่วมรัฐบาล ก็มีบทบาทเด่นชัดในการผลักดันให้ยกเลิกสารเคมี สิ่งนี้สะท้อนว่า เสียงเรียกร้องจากสังคมทำให้นักการเมืองต้องลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง

“ในช่วง 2 ปีครึ่งที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ผมเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนะ เป็นระลอกคลื่นที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง เราเห็นกระทรวงสาธารณสุข เราเห็นผู้ตรวจการแผ่นดิน เราเห็นสภาเกษตรกร เราเห็นสภาวิชาชีพต่างๆ มาพูดเรื่องนี้

“ในระลอกที่สองคือพรรคการเมือง เราเห็นพรรคการเมืองลุกขึ้นมาเสนอนโยบายเรื่องนี้เป็นเรื่องหลัก หาเสียงของพรรค เช่น เพื่อไทย อนาคตใหม่ เศรษฐกิจใหม่ กระทั่งประชาธิปัตย์ก็พูดถึง ที่สำคัญคือหลังจากได้รัฐบาลมาแล้ว พรรคภูมิใจไทยซึ่งไม่ได้เสนอนโยบายเรื่องนี้เลย แต่ลุกขึ้นมาประกาศเดินหน้าเอาจริงเอาจังที่จะประกาศยกเลิกสารเคมีสามตัวนี้ ผมว่ามันเกิดขึ้นจากพลังของประชาชนที่ลุกขึ้นส่งเสียง พลังของสื่อที่รายงานเรื่องนี้แล้วไปในแนวเดียวกัน” วิฑูรย์กล่าว

วิฑูรย์ คาดว่า การทบทวนมติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายในการยกเลิกสารเคมีพิษทั้งสามชิ้นน่าจะเกิดขึ้นเร็วที่สุดในปีนี้ สำหรับเขาแล้ว หากผลออกมาว่ายกเลิกสารเคมีได้เพียงตัวเดียวก็ถือว่าล้มเหลว อย่างน้อยต้องยกเลิกได้อย่างน้อยสองตัวจึงจะเรียกได้ว่าเป็นความคืบหน้า

“คลอร์ไพริฟอส และพาราคอวต ต้องยกเลิกให้ได้ภายในสิ้นปีนี้ ถ้ายกเลิกพาราควอตไม่ได้นี่ล้มเหลว ส่วนไกลโฟเซต ตอนที่กระทรวงสาธารณสุขในสมัยนายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาธร เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในช่วงปี 2560 นั้น เสนอให้มีการจำกัดการใช้ แต่ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ในสหรัฐมี 3-4 กรณีที่ศาลตัดสินแล้วว่ามันก่อมะเร็ง บริษัทมอนซานโต้-ไบเออร์ต้องชดเชยความเสียหายนับหมื่นๆล้านบาท และมีคดีอยู่ในชั้นศาลกว่าหมื่นคดี ตอนนี้รัฐบาลเยอรมนีประกาศแล้วว่าจะยกเลิกในปลายปี 2023 เช่นเดียวกับฝรั่งเศสบอกว่าจะยกเลิกโดยเร็วที่สุด ส่วนออสเตรียตอนนี้ประกาศยกเลิกแล้ว เราหวังว่าจะมีการยกเลิกสารเหล่านี้ด้วยเช่นกัน”

Tags: , , , , , , ,