องค์ประกอบศิลป์เป็นส่วนสำคัญมากของการสร้างภาพยนตร์ ทั้งเทคนิค มุมกล้อง การสร้างบรรยากาศ สัดส่วน ความสมดุล จังหวะและลีลาของภาพ สิ่งเหล่านี้จะช่วยขับเน้นให้ภาพยนตร์ทรงพลังมากขึ้น การสื่อสารจะชัดเจนและสร้างเสน่ห์ให้กับเรื่องราวทั้งหมด สิ่งที่รายล้อมอาจบ่งบอกไปถึงรสนิยม ความชอบ แรงบันดาลใจของตัวผู้กำกับเองด้วย ภาพยนตร์หลายเรื่องที่หลายคนเห็นต้องตรงกันว่าภาพสวย ไม่ว่าจะเป็น Vertigo (1958), Contempt (1963), The Last Emperor (1987) และ Raise The Red Lantern (1991)
นี่คือ 5 ภาพยนตร์ที่ให้ความรู้สึกแตกต่างกัน คละเคล้าทั้งเนื้อหา สีสัน และความงาม ใครยังไม่ได้ดูก็ไปตามเก็บกันได้
Amélie (2001)
Amélie ภาพยนตร์รักโรแมนติกกำกับโดย ฌอง-ปิแอร์ เฌอเนต์ เป็นภาพยนตร์ชวนตกหลุมรักหญิงสาวผมสั้น ซึ่งแสดงโดยออเดรย์ โตตู ที่ไม่ว่าใครก็จำเธอได้ติดตาแม้ไม่เคยนั่งชมเรื่องนี้อย่างจริงจัง
เมื่อความเบิกบานและสดใสของออเดรย์ ผนวกเข้ากับสีอันโดดเด่นของภาพยนตร์ในโทนสีแดงและเขียวฉูดฉาดแล้ว ยิ่งส่งผลให้ภาพรวมของ Amélie เต็มไปด้วยสีสันของความร่าเริง ปารีสตกอยู่ในบรรยากาศอบอุ่น ร้านรวงต่างๆ เต็มไปด้วยความมีชีวิตชีวา รวมถึงความรักอันบริสุทธิ์ของหญิงสาว
พรหมลิขิตอาจฟังเป็นเรื่องไร้สาระในชีวิตจริงสำหรับบางคน แต่สำหรับเอมิลี่แล้วจะมีคำใดเหมาะกับความรักที่เกิดขึ้นในใจเธอไปได้ดีกว่าคำนี้กัน
เอมิลี่ ปูแลง ผู้โตมากับความโดดเดี่ยว เธอมีอาการหัวใจเต้นแรงทุกครั้งที่เข้าใกล้หรือสัมผัสกับเพศตรงข้าม นั่นจึงทำให้พ่อของเธอเข้าใจว่าเอมิลี่เป็นโรคหัวใจ เธอเติบโตมาโดยอาศัยอยู่ในบ้าน ไม่มีสังคมหรือเพื่อน ยิ่งเมื่อแม่เสียชีวิตไป เธอก็ต้องอาศัยอยู่กับพ่อผู้เงียบขรึมตลอดมา แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้เธอกลายเป็นเด็กเศร้าซึม ในทางกลับกันเอมิลี่เป็นคนที่มีความสุขกับสิ่งต่างๆ รอบตัวได้แม้กระทั่งการเห็นใครสักคนแย้มยิ้ม เธอช่างฝัน มีจินตนาการ และรักพ่อของเธอที่สุด เอมิลี่พยายามจะทำให้คนรอบตัวมีความสุข แม้เธอจะไม่ค่อยเข้าใจแก่นแท้ของความรักเท่าไรก็ตาม จนวันหนึ่งเหตุการณ์บางอย่างก็นำพาให้ชีวิตของเธอเปลี่ยนไป เธอได้เข้าใกล้ใครบางคนที่จะกลายเป็นรักแท้ของเธอ หลังจากที่ต่อสู้กับความเดียวดายมาเนิ่นนาน
การแสดงของออเดรย์จะทำให้เราเชื่ออย่างหมดใจว่าเอมิลี่มีความไร้เดียงสาเหมือนเด็กอย่างแท้จริง รอยยิ้มน้อยๆ นั้นสามารถทำให้โลกทั้งใบเจิดจ้าขึ้นมาได้ บุคลิกของคนโลกส่วนตัวสูงแสดงออกมาจากทั้งแววตาและพฤติกรรมที่เป็นไปอย่างธรรมชาติ แล้วแบบนี้จะไม่ให้หลงรักได้เธออย่างไร
The Fall (2006)
The Fall ภาพยนต์แนวแฟนตาซีผจญภัยจากฝีมือผู้กำกับทาเซม ซิงค์ เดินทางไปถ่ายทำถึง 18 ประเทศทั่วโลก ตระการตาทุกฉากที่ปรากฏ และใช้เวลาสร้างยาวนานกว่า 6 ปี
ทาเซม ซิงค์ โด่งดังจากการกำกับภาพยนตร์เรื่อง The Cell (2000) และต่อมาก็ลงแรงกำกับ The Fall ถึง 6 ปีเต็ม แม้ว่าจะทำรายได้ไปไม่มากนัก แต่เมื่อมีการเอ่ยถึงภาพยนตร์ที่ตราตรึงใจในโลเคชั่นและสีที่เลือกใช้ รับรองว่าถ้าใครได้เคยดูก็จะต้องเอ่ยชื่อ The Fall ออกมา
ภาพยนตร์เล่าถึงรอย วอล์กเกอร์ ชายที่เคยพยายามฆ่าตัวตาย ซึ่งตอนนี้กลายเป็นผู้ป่วยอัมพาตจนไม่สามารถลุกออกจากเตียงได้ ในโรงพยาบาลที่เขาพักรักษาตัวอยู่นั้น เขาได้พบกับอเล็กซานเดรีย เด็กหญิงอพยพวัยกำลังน่ารักที่เข้ามารักษาตัวเองเช่นกัน
ระหว่างการพักฟื้นของเด็กน้อย เธอไร้ซึ่งความสุข เพราะบรรยากาศของโรงพยาบาลทำให้เธอรู้สึกเศร้าหมอง ดังนั้นเมื่ออเล็กซานเดรียเข้ามาผูกมิตรกับรอย เขาจึงเล่าเรื่องราวผจญภัยสุดยิ่งใหญ่ให้เธอฟัง โลกจินตนาการเปิดกว้างและวิจิตรงดงาม มหากาพย์ความรักและการเดินทางเริ่มต้นขึ้น ณ จุดใดจุดหนึ่ง ตัวละครเอกคือพวกเขาสองคน และรายล้อมด้วยตัวละครอีกมากมายที่มีบทบาทอยู่ในชีวิตจริงของทั้งคู่
แต่เรื่องราวจะจบลงด้วยสุขนาฏกรรมหรือโศกนาฏกรรม หัวใจของเราก็อาจร้าวรานลงได้ เพราะความตายปรากฏอยู่ทุกที่ ไม่ว่าจะความจริงหรือความฝัน
Memories of Matsuko (2006)
ภาพยนตร์จากอีกหนึ่งผู้กำกับฝีมือดีแดนอาทิตย์อุทัย เท็ตสึยะ นากาชิมะ แม้ว่าชื่อของเขาอาจจะไม่คุ้นหู แต่ผลงานที่เขากำกับนั้นกลับมีหลายเรื่องที่เรียกความสนใจจากนักชมภาพยนตร์ ไม่ว่าจะเป็น Kamikaze Girls (2004), Confessions (2010) และล่าสุด The World of Kanako (2014)
Memories of Matsuko ใช้สีสันฉูดฉาดที่เน้นหนักไปทางสีแดงอมส้ม ไม่ต่างจากอาทิตย์อัสดงที่ควรจะเป็นความโรแมนติก แต่เนื้อหาของภาพยนตร์นั้นกลับไม่มีความโรแมนติกใดๆ ซ้ำยังมากด้วยความผิดหวัง ชอกช้ำ เป็นโศกนาฏกรรมชีวิตดีๆ นี่เอง
ภาพยนตร์เริ่มต้นจากความตาย แล้วเล่าย้อนกลับไปถึงช่วงชีวิตที่ผ่านมาทั้งหมดของผู้หญิงคนนั้น คาวาจิริ มัตสึโกะ ผู้เติบโตมาท่ามกลางการไร้สิ่งยึดเหนี่ยวในจิตใจ แม้ว่าตัวเธอพยายามจะมีมันขนาดไหนก็ตาม
มัตสึโกะพานพบเรื่องราวร้ายๆ มาตลอดชีวิตของเธอ เช่น พ่อให้ความอบอุ่นกับน้องสาวมากกว่าตัวเอง โดนอาจารย์คุกคามทางเพศ ต้องรับผิดชอบแทนเด็กนักเรียนที่ขโมยของ และโดนคนรักทอดทิ้งซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทั้งชีวิตเธอเป็นหลายสิ่งหลายอย่าง เป็นลูกสาวที่พ่อไม่รัก เป็นครูสอนร้องเพลง เป็นโสเภณีชื่อดัง เป็นภรรยาลับของคนอื่น เป็นฆาตกร เป็นนักโทษ เป็นช่างตัดผม แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไหน สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนเลยก็คือเป็นคนที่บอบช้ำอย่างรากเลือด
เธอฝันอยากจะมีความรักที่สมบูรณ์ ได้เป็นคนรักของใครสักคนเพื่อเติมเต็มสิ่งที่ขาดหายมาชั่วชีวิต เธอสามัญเพียงนั้น แต่โลกก็ไม่เคยปรานีเธอเลยแม้แต่น้อย จุดจบของเธอน่าสมเพชยิ่งกว่าแมวข้างถนน การตายของเธอมันไร้สาระสิ้นดี
คำว่าเริ่มต้นใหม่ไม่มีจริง ไม่ใช่กับมัตสึโกะ เพราะต่อให้เธอนับหนึ่งใหม่อีกกี่ครั้ง เรื่องราวมันก็ลงเอยเช่นเดิม จึงมีเพียงคำเดียวที่นิยามชีวิตของเธอได้ “ฉันขอโทษที่ฉันเกิดมา”
The Grand Budapest Hotel (2014)
เวส แอนเดอร์สัน ผู้กำกับลายเซ็นชัดเจนที่ใครๆ ต่างก็ยกหัวใจให้ ด้วยสไตล์ไม่เหมือนใคร ลีลาจัดจ้าน สีสันสดใส รายละเอียดถูกวางอย่างเป็นระเบียบทุกกระเบียดนิ้ว การจัดวางออกแบบมาอย่างลงตัว ทั้งหมดนี้ทำให้ตัวเขาโดดเด่นออกมาจากผู้กำกับคนอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด
ใน The Grand Budapest Hotel เวสเลือกใช้สีที่ดูเป็นหวานไม่ต่างจากความรักของตัวละครเอก โทนหลักจึงออกไปทางสีชมพู ม่วงเข้ม ตัดด้วยแดงสด และทำให้ความหวานนั้นเบาลงด้วยสีน้ำเงิน พล็อตภาพยนตร์มีความตลกร้ายตามแนวถนัดของเขาเป็นทุนเดิม แต่ขณะเดียวกันมันก็ทั้งจริงจังและขบขันควบคู่กันไป
เรื่องราวว่าด้วยการผจญภัยของกุสตาฟ เอช หัวหน้าพนักงานต้อนรับของโรงแรม ผ่านสายตาของซีโร่ มุสตาฟา พนักงานล็อบบี้คนใหม่ของโรงแรมในขณะนั้น โรงแรมอันเงียบสงบที่อยู่ท่ามกลางเทอกเขานี้ วันหนึ่งก็เกิดความโกลาหลขึ้นเมื่อมาดาม ดี. ซึ่งคบหาลับๆ กับกุสตาฟอยู่เสียชีวิตลงกะทันหัน ดังนั้นเขากับซีโร่จึงเดินทางไปคฤหาสน์ของเธอเพื่อฟังพินัยกรรม
ของมีค่าที่ตกมาถึงมือของกุสตาฟทำให้ลูกๆ ของมาดาม ดี. ไม่พอใจ แถมพวกเขายังใส่ร้ายกุสตาฟว่าเป็นคนฆ่ามาดาม ดี. ด้วย ซีโร่จึงพยายามช่วยเหลือคนที่เป็นทั้งผู้มีพระคุณ เพื่อนรัก และเจ้านายของเขาอย่างสุดความสามารถ โดยร่วมมือกับคนรักของเขาอย่างอกาธา สาวทำขนมที่มีส่วนสำคัญอย่างมากในการช่วยเหลือครั้งนี้ การพิสูจน์ความบริสุทธิ์เป็นไปอย่างทุลักทุเล แล้วไหนจะความวุ่นวายที่จากการถูกตามล่าอีก
ความสนุกสนานตลอดทั้งเรื่อง แท้จริงแล้วอาจเป็นแค่ภาพลวงตาเพื่อกลบซ่อนความเจ็บปวดและความเศร้าจากสิ่งที่ภาพยนตร์ไม่ได้พูดออกมาตรงๆ เพราะความโหดร้ายนั้นแอบแฝงอยู่ในทุกๆ ที่ ไม่เว้นแม้แต่กับสีสันลูกกวาดอันสดใสนั่น
The Neon Demon (2016)
นิโคลัส วินดิ้ง เรฟน์ ผู้กำกับอีกคนที่ขึ้นชื่อว่าเลือกใช้สีได้สวยและโดดเด่นไม่แพ้ใคร ผลงานของเขาจัดด้วยสไตล์และแสงไฟนีออนที่ย้อมทุกอย่างให้สวยงาม แต่ฉาบฉวยไม่แพ้แก่นแท้ของตัวละคร เขาคือชายตาบอดสีที่ไม่สามารถเห็นสีกลางๆ (Midtones) ได้ แต่จะมองเห็นสีจัดๆ ซึ่งมีความคอนทราสต์สูง นี่เองจึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ภาพยนตร์ของเขามีความแตกต่าง
ผลงานอื่นๆ ที่ผ่านมาของนิโคลัสที่หลายคนน่าจะคุ้นเคยกันดี ได้แก่ Bronson (2008), Drive (2011) และ Only God Forgives (2013)
The Neon Demon เป็นภาพยนตร์ระทึกขวัญจิตวิทยา ที่มีตัวละครหลักคือ เจสซี่ เด็กสาววัย 16 ที่สวยเหมือนดอกไม้ที่ไม่เคยผ่านมือใคร เธอเป็นเด็กบ้านนอก เดินทางมาสู่ลอสแองเจลิสด้วยความหวังจะเข้าสู่วงการนางแบบ เธอสูญเสียพ่อแม่ไปและมีเพียงตัวเองเป็นที่พึ่ง เจสซี่มีความสาว ความสดใหม่ ความสวยที่เธอมั่นใจเหลือเกินว่าจะทำให้เธอหาเลี้ยงตัวเองได้ และเธอก็มีความสามารถเพียงนั้น ผลักดันตัวเองเข้ามาสู่จุดที่วาดหวังได้อย่างไม่ยากเย็นเท่าไร
แต่นับแต่วันนั้นความงามของเจสซี่ก็ย้อนกลับมาทำร้ายเธอเอง ความน่ากลัวของวงการนางแบบ การแก่งแย่งชิงดี เต็มไปด้วยการเสียดสี ภาพมายาและการลวงหลอก ความหายนะทั้งหลายกำลังกลืนกินเธอ เปลือกที่ห่อหุ้มทุกคนไว้ค่อยๆ หลุดลอก และเหลือแต่ความปรารถนาภายใน ความปรารถนาที่มีแต่จะทำร้ายกัน
ภาพยนตร์มีความเด่นทางด้านงานภาพมาก การจัดวางองค์ประกอบต่างๆ แสงสี มุมกล้องที่นิ่งเป็นส่วนใหญ่ ผู้กำกับสามารถทำให้ทุกอย่างอยู่ในความพอดีและสวยในตัวมันเอง ดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกใส่มาอย่างต่อเนื่องก็ช่วยให้ทั้งหมดไหลลื่นไปได้อย่างลงตัว
Tags: เท็ตสึยะ นากาชิมะ, Movie, ภาพยนตร์, ผู้กำกับภาพ, เวส แอนเดอร์สัน