1.

ปลายฤดูใบไม้ผลิ 2017 ผมบันทึกเอาไว้ในสมุดว่า…

ความรู้สึกแบบชาตินิยมคืออาการ (Symptom) แบบหนึ่ง หากเราเชื่อว่าจิตใต้สำนึกหรือ unconsciousness คือพื้นที่ของการครอบงำทางอุดมการณ์ทางการเมืองที่แยบยลและทำงานในลักษณะอัตโนมัติแล้ว ความรู้สึกรักและผูกพันกับความเป็นชาติ ยิ่งเป็นสิ่งที่ข้ามพ้นกำแพงของเหตุผลและอาจเป็นเรื่องที่แทบจะไร้ซึ่งเหตุผลใดๆ มาอธิบายความรู้สึกดังกล่าวได้

ยิ่งคนซึ่งอยู่ต่างถิ่นเป็นแขกต่างแดนด้วยแล้ว พวกเขายิ่งโหยหาจุดตั้งต้นของอัตลักษณ์ที่พวกเขามีและมีร่วมกัน คนไทยที่เบอร์ลินจำนวนไม่น้อยเป็นแรงงานและแม่บ้าน ทั้งยังมาจากทั่วสารทิศในไทย พวกเขาพูดภาษาท้องถิ่นหลากหลายสำเนียงและอาจรวมถึงชาติพันธุ์ ทว่า พวกเขาต่างก็อ้างอิงจุดร่วมกันคือความเป็นไทย

ผมเคยอาสาไปช่วยงานด้านการถ่ายภาพให้กับคนไทยในเบอร์ลินหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการจุดเทียนถวายความอาลัยแก่ในหลวงรัชกาลที่ 9 และงานดนตรีไทย บรรดาคนไกลบ้านพลัดถิ่นทั้งหลายต่างค้นหาวิธีการแสดงตนเป็นคนไทยและความเป็นไทยอย่างเต็มที่ ไม่ใช่แค่เพียงภาษาที่พวกเขาพูด เพลงที่พวกเขาร้อง หรือสัญลักษณ์ต่างๆ ที่พวกเขาใช้ ทว่า มันคือทั้งหมดที่พวกเขารู้สึกร่วมกัน

ในงานไหว้ครูดนตรีไทยที่พวกเขาจัดขึ้น คนไทยจำนวนมากแทบจะเปลี่ยนโรงละครเยอรมันให้กลายเป็นเวทีอันศักดิ์สิทธิ์ คลาคลุ้งไปด้วยกลิ่นและควันของธูป และเสียงปี่พาทย์อันอึกทึก ผมตะลึงกับคนไทยในงานที่ลุกขึ้น ‘รำถวายมือ’ ซึ่งเป็นการร่ายรำสำคัญในพิธีไหว้ครู ผู้อำนวยการทางศิลปะชาวเยอรมัน ซึ่งดูแลโรงละครแห่งนั้นถามผมหลายครั้งแบบกังวลใจว่า ‘พวกเขาเป็นอะไรกัน ทำไมจึงเหมือนอยู่ในภวังค์ ไฟจะไหม้โรงละครไหม กลิ่นธูปจะทำลายเนื้อไม้ของโรงละครโบราณแห่งนี้ไหม กลิ่นมันจะซึมเข้าไปในผ้าม่านของโรงละครจนทำให้งานต่อๆ ไปทำไม่ได้ไหม ตกลงพวกคุณทำอะไรกัน ไหนบอกว่ามาแสดงดนตรี’ เขาพยายามยุติงานไหว้ครูดนตรีไทยให้ได้ก่อนที่งานจะเสร็จสิ้น เนื่องจากคิดว่างานนี้ไม่เป็นไปตามข้อตกลงที่มีไว้แต่แรก และแน่นอนว่า ความกังวลของเขาเป็นไปตามระเบียบการใช้สถานที่ทุกประการ คนกลางอย่างผม มีความลำบากใจเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากการค้นหาคำแปลที่ดูสละสลวยและครบใจความแล้ว สิ่งสำคัญกว่าก็คือ การพยายามตอบคำถามเรื่องชาตินิยมที่ผู้อำนวยการทางศิลปะท่านนั้นสงสัย

คนไทยจำนวนมากแทบจะเปลี่ยนโรงละครเยอรมันให้กลายเป็นเวทีอันศักดิ์สิทธิ์ คลาคลุ้งไปด้วยกลิ่นและควันของธูป และเสียงปี่พาทย์อันอึกทึก

ในงานจุดเทียนถวายความอาลัยที่บริเวณลานหน้าประตูบรันเดินบูร์ก (Brandenburg Tor) ภาพของคนจำนวนมากเดินถือธงชาติไทย บางคนชูธนบัตรที่มีรูปในหลวงรัชกาลที่ 9 บางคนวาดภาพเหมือนของพระองค์เตรียมมาจากบ้าน และแน่นอน การเห็นผู้คนไกลบ้านเรือนพันร้องไห้และร้องเพลงร่วมกันเป็นสิ่งที่สร้างความใคร่รู้ของนักท่องเที่ยวในบริเวณนั้นเป็นอย่างยิ่ง

ผมรับหน้าที่ในฐานะช่างภาพทั้งจากมุมสูงและในบริเวณลานกว้าง ทำให้สามารถสังเกตได้ว่ามีผู้คนมามากขนาดไหน ทั้งนี้ยังไม่นับชาวเยอรมันที่แต่งงานกับคนไทย ท่ามกลางแสงเทียนและคราบน้ำตา ยังมีบทสนทนาถึงบ้านเกิดในสำเนียงภาษาต่างๆ มีการนัดหมายไปพบปะเยี่ยมเยียนบ้านกันและกัน และไถ่ถามสารทุกข์สุกดิบกันและกัน ช่างภาพและนักท่องเที่ยวต่างชาติถามผมถึงความคิดชาตินิยมของคนไทยอีกครั้ง ผมได้แต่อธิบายถึงวัตถุประสงค์ของงานแก่พวกเขา โดยหลีกเลี่ยงคำอธิบายถึงความคิดว่าด้วยชาติและชาตินิยมของคนไทย

จะให้ผมอธิบายอย่างไรดี การเป็นประจักษ์พยานทางสายตาของผมต่อสองกรณีนี้เป็นเรื่องที่ทั้งทำความเข้าใจยากและอ่อนไหว โดยเฉพาะในฉากและเหตุการณ์ที่สะท้อนความเป็นชาติในลักษณะที่มีความเกี่ยวเนื่องกับอารมณ์และความรู้สึก (Affective) โลกเบื้องหน้ามันบรรจุซึ่งความเป็นไทยและไหลเวียนเข้าดวงตาของผม ทว่า อะไรคือสิ่งที่ไหลเวียนเข้าสู่ดวงตาของชนต่างชาติที่ตั้งคำถาม

ผมคิดได้อย่างเดียวว่า ชาตินิยมทางไกล (Long-distance Nationalism) อาจเป็นคำสำคัญในการทำความเข้าใจทั้งสองเหตุการณ์นี้ มันคือชุดความรู้สึกซึ่งอ้างอิงไปสู่อัตลักษณ์ซึ่งเชื่อมโยงคนจำนวนมากไว้ด้วยกัน กลุ่มคนซึ่งไกลห่างออกจากแดนดินถิ่นเกิด เป็นความรู้สึกถึงชาติที่อยู่นอกรัฐ และเป็นความรู้สึกถึงชาติตนในเขตพรมแดนของรัฐอื่น

แต่ว่า สำหรับนักเรียนมานุษยวิทยาแนวจิตวิเคราะห์ เราจะเข้าใจชาตินิยมทางไกลในฐานะที่เป็นอาการหรือ Symptom ได้อย่างไร…อาการซึ่งถูกผลักออกมาจากจิตใต้สำนึก

(บางส่วนจากสมุดบันทึกส่วนตัว 31/03/2017)

2.

ต้นฤดูร้อน 2017 ผมบันทึกเอาไว้ในสมุดว่า…

ในหนังสือเรื่อง Cultural Intimacy: Social Poetics in the Nation – State (1997) ไมเคิล เฮิร์ซเฟลด์ (Michael Herzfeld) พัฒนาแนวคิดเกี่ยวกับความใกล้ชิดทางวัฒนธรรม (Cultural Intimacy) เพื่อทำความเข้าใจ Subject หรืออัตบุคคล ของแนวคิดชาตินิยมและชาติ-รัฐเอาไว้อย่างน่าสนใจ

เฮิร์ซเฟลด์พัฒนาไอเดียนี้ โดยใช้แนวคิดว่าด้วย ‘ชุมชนจินตกรรม’ (Imagined Community) ของ เบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน และ ‘การปกครองเชิงชีวญาณ’ (Govermentality) ของ มิเชล ฟูโกต์ เพื่อฉายให้เห็นภาพอุดมการณ์ของรัฐและความใกล้ชิดในชีวิตประจำวันของชีวิตทางสังคม ว่ามีลักษณะคล้ายคลึงกัน

กล่าวในอีกแง่หนึ่ง อุดมการณ์ของรัฐปรากฏขึ้นในความสัมพันธ์ของผู้คนที่ถูกจินตกรรมขึ้นมา เฮิร์ซเฟลด์พยายามทำความเข้าใจว่า ผู้คนสามารถต่อรองกับอัตลักษณ์ทางสังคมและชีวิตในแต่ละวันได้อย่างไรในชาติ-รัฐสมัยใหม่ และผู้คนสามารถกลายเป็นผู้รักชาติอย่างเข้มข้น เช่นเดียวกับการก่อกบฏอย่างดุเดือดในเวลาเดียวกันได้อย่างไร

เฮิร์ซเฟลด์ชี้ให้เห็นว่า แม้อัตลักษณ์ทางสังคมจะเกิดขึ้นมาจากความสัมพันธ์กับผู้คนร่วมสังคมเดียวกัน แต่ก็หนีไม่พ้นไปจากองค์ประกอบสำคัญอย่าง ชาติ-รัฐ ไปได้ ชุดของความรู้สึก ไม่ว่าจะเป็นความรัก ความภูมิใจ โกรธขึ้ง ต่อต้าน หรือเกลียดชังชาติ-รัฐ ก็ล้วนเป็นจินตนาการที่อยู่ร่วมในชุดความคิดเดียวกัน เรื่องความใกล้ชิดทางวัฒนธรรมจึงสำคัญในการทำให้เราเข้าใจถึงความรู้สึกของผู้คนในรัฐที่มีร่วมกัน

หนังสือเล่มนี้ถูกนำมาอ่านใหม่โดยบรรดานักวัฒนธรรมศึกษาซึ่งสนใจวัฒนธรรมการทัศนาและเทคโนโลยี ดังนั้น คำว่าความใกล้ชิดทางสายตา (Visual Intimacy) ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อขยายขอบข่ายความหมายของวัฒนธรรม ซึ่งสามารถถูกผลิตสร้างด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ความใกล้ชิดของผู้คนที่เกิดขึ้นจากการมองเห็นผ่านเทคโนโลยี มีส่วนย่นย่อเวลาและสถานที่ให้มีความใกล้และเกิดความรู้สึกใกล้ชิดของผู้มอง ไม่ว่าจะเป็นการใช้สื่อออนไลน์ โซเชียลมีเดีย และแอปพลิเคชั่นต่างๆ สิ่งเหล่านี้ล้วนมีส่วนทำให้ชุดอุดมการณ์ต่างๆ ไหลเวียนได้อย่างรวดเร็วผ่านช่องทางเทคโนโลยีเข้าสู่ดวงตาเนื้อของพวกเรา

สื่อและเทคโนโลยีออนไลน์จึงไม่ใช่แค่พื้นที่ใหม่ของการสื่อสาร หากเป็นเสมือนพื้นที่ใหม่ของการดำรงอยู่และความสัมพันธ์ของผู้คนในสังคมซึ่งเกิดขึ้นผ่านการทำงานของเทคโนโลยี

ผมนึกถึงชีวิตทางสังคมของคนไทยในต่างแดน พวกเขามีกลุ่มไลน์ และใช้ช่องทางของโซเชียลมีเดียติดต่อสื่อสารกันอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารกันเองและติดต่อข้ามประเทศ โดยเฉพาะในส่วนหลัง ซึ่งไม่ใช่แค่การสื่อสารกับญาติมิตร ทว่า ยังคงติดตามข่าวสารและรับชมละครหลังข่าวกันอย่างชนิดที่เรียกว่าเรียลไทม์ ทั้งยังสามารถย้อนหลังกลับไปชมได้ทุกครั้งยามต้องการ

มิติอันห่างไกลเชิงพื้นที่ถูกย่นย่อลงด้วยการพังทลายลงของมิติทางเวลา พลานุภาพของเทคโนโลยีคือสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าการเป็นตัวกลางในการสื่อสาร หากโดยตัวของมันเองคือวัตถุสภาพในการผลิตสร้างวัฒนธรรม

ความใกล้ชิดทางสายตาในลักษณะนี้เองมีส่วนสำคัญในการสร้างความรู้สึกถึงการอยู่ร่วมกับคนไทยในประเทศ อันที่จริง คงต้องกล่าวอย่างจริงจังเสียด้วยซ้ำว่า เทคโนโลยีดิจิทัลเปลี่ยนแปลงผัสสะหลายด้าน ไม่ใช่เพียงแค่การมองเห็น หากหมายรวมถึงการได้ยินและการสนทนา คนไทยในต่างแดนจำนวนไม่น้อยจึงอยู่ในเมืองไทยตลอดเวลาทั้งที่ร่างกายของพวกเขาจะอยู่นอกรัฐไทย

ความรู้สึกในลักษณะของชาตินิยมทางไกลจึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ผ่านเทคโนโลยี ซึ่งเข้ามาชดเชยสิ่งที่ขาดหายไปยามที่ร่างกายอยู่นอกพรมแดนของรัฐชาติ นั่นก็คือจุดอ้างอิงทางอัตลักษณ์ที่นำไปสู่การเชื่อมโยงกับคนอื่นๆ ในสังคมที่พวกเขาและเธอจากมา

พลานุภาพของเทคโนโลยีคือสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าการเป็นตัวกลางในการสื่อสาร หากโดยตัวของมันเองคือวัตถุสภาพในการผลิตสร้างวัฒนธรรม

ในแง่มุมของของจิตวิเคราะห์แบบฌาคส์ ลากอง เทคโนโลยีเช่นนี้คือสิ่งที่มาเติมเต็มปัญหาเรื่องความต้องการทางอัตลักษณ์ ซึ่งเกิดขึ้นจากการขาดหายไประหว่าง ตัวของพวกเขาและเธอกับอุดมคติของอีโก (Ego ideal) ที่จะคอยกำกับและควบคุมทิศทางชีวิตของเราให้เป็นไปตามสิ่งที่ควรเป็น

เทคโนโลยีจึงเป็นเสมือนวัตถุแห่งแรงปรารถนา ที่ช่วยเติมเต็มสิ่งที่ขาดและที่ต้องการ แต่หากคิดแบบ ฌาคส์ ลากอง เมื่อใดที่ครอบครองวัตถุแห่งแรงปรารถนาแล้ว เราก็จะตระหนักว่า วัตถุนั้น ไม่ใช่สิ่งที่เราปรารถนาจริงๆ

ความต้องการในการครอบครองเทคโนโลยีจึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เรื่อยๆ ในช่องว่างระหว่างตัวเราและอุดมคติของอีโก ช่องว่างประเภทนี้เองที่เป็นสิ่งปลดปล่อยให้ความฝันและภาพแฟนตาซีเข้ามาทำงานควบคู่กับการครอบครองวัตถุแห่งแรงปรารถนา

ความเป็นไทยและลักษณะชาตินิยมทางไกลก็เช่นกัน ภาพของความเพ้อฝันและแฟนตาซีที่เกิดขึ้นทำให้ความเป็นไทยในต่างแดนมีลักษณะที่ยากจะจินตนาการถึงได้ในพรมแดนของรัฐไทย ไม่ว่าจะเป็น การใส่ชุดไทยย่ำเดินบนถนนในเมืองเบอร์ลินท่ามกลางหิมะโปรยปรายและการใส่ชุดไทยไปถ่ายรูปในบริเวณสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของเบอร์ลิน

นึกย้อนถึงเหตุการที่เคยเข้าร่วมในการจุดเทียนถวายความอาลัยและงานไหว้ครูดนตรีไทยไม่ได้ สิ่งเหล่านี้ แม้จะมีคุณค่าในความหมายของผู้กระทำ ทว่า มันก็เป็นภาพแฟนตาซีซึ่งคอยเชื่อมโยงตัวตนของพวกเขากับความเป็นไทยในฐานะที่อุดมคติของอีโก การทำงานของเทคโนโลยีนี้เองคือสิ่งสำคัญที่คอยผลิตภาพเหล่านี้และกระตุ้นให้เกิดทั้งความใกล้ชิดทางสายตาและความขาดหายซึ่งอัตลักษณ์ไปพร้อมๆ กัน

ความรู้สึกถึงความเป็นไทยของคนไทยในต่างแดนจึงเป็นอาการ (Symptom) อย่างหนึ่งที่ถูกกระตุ้นเร้าจากจิตใต้สำนึก พวกเขาพร้อมที่จะสละรายละเอียดส่วนเล็กน้อยในความแตกต่าง พวกเขาอาจสร้างสิ่งที่เรียกว่า “ความไม่เห็นพ้องเชิงสร้างสรรค์” (Creative dissent) เพื่อฉวยเอาหลักใหญ่ใจความของความเป็นไทยให้เข้ามาอยู่ในร่างกายนอกดินแดนของตนเอง

ความใกล้ชิดทางสายตาในกรณีนี้จึงมีความหมายของห่างไกลเชิงสถานที่และความขาดแคลนอัตลักษณ์ในการแสดงตนเอง ขณะเดียวกัน มันก็ยังเป็นส่วนสำคัญในการเติมเต็มด้วยการสร้างภาพแฟนตาซีนั้นๆ ขึ้นมา…”

(บางส่วนจากสมุดบันทึกส่วนตัว 1/07/2017)

3.

ปลายฤดูร้อน 2017 ผมบันทึกไว้ในสมุดว่า…

มันเป็นวันที่ไม่น่าเชื่อและเป็นวันแรกๆ ที่ผมรู้สึกถึงความเป็นไทยและพี่น้องคนไทยอย่างแรงกล้า ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ผมเคยเข้าร่วมช่วยงานจุดเทียนถวายความอาลัยและพิธีไหว้ครูดนตรีไทยมาก่อน ทั้งสองงานนี้ เราอาจเห็นภาพความเป็นไทยเบ่งบานกลางดินแดนอื่น ความรู้สึกชาตินิยมทางไกลอาจจะมีลักษณะของภาพแฟนตาซี มันคือความจริงของผู้เข้าร่วม แต่สำหรับผมแล้ว ไม่มีความรู้สึกร่วมเป็นพิเศษแต่อย่างไร เหตุการณ์ที่ผมเจอในวันนี้นี่สิต่างออกไป…

วันนั้นผมเดินไปซื้อของกับน้องคนไทยคนหนึ่งที่ในบริเวณย่านเวดดิ้ง (Wedding) ซึ่งนับว่าเป็นที่อยู่ของคนหลากเชื้อชาติในกรุงเบอร์ลิน โดยเฉพาะคนตุรกี เวียดนาม คนมีรายได้น้อยชาวเยอรมัน และมีบางส่วนที่เป็นคนไทยกับผู้อพยพ เวดดิ้งจึงเป็นย่านที่ไม่ค่อยเหมือนเยอรมันสักเท่าไหร่ ทั้งยังค่อนข้างดูแปลกหน้าในสายตาคนเยอรมันและดูไม่ปลอดภัยอยู่บ้างในสายตาของคนทั่วไป เนื่องจากที่นี่มีคนไร้บ้านมากมาย โดยเฉพาะในบริเวณหน้าโบสถ์ สถานีรถไฟใต้ดิน และป้ายสถานีรถบัส ทว่า ผมชินกับที่นี่เสียแล้วเพราะที่นี่คือที่ย่านพักอาศัยของผมในช่วงสามเดือนแรกในการมาศึกษาต่อ

ผมกับน้อง เราใช้ภาษาไทยในการสื่อสารตามปกติ ขณะที่เราเดินผ่านคนไร้บ้านคนหนึ่งอย่างไม่ใคร่สนใจมากนัก เธอคงได้ยินเสียงเราคุยกันจึงได้ตะโกนกลับมาที่เรา ‘ไอ้หนู คนไทยใช่ไหม ป้าขอเงินสักหนึ่งยูโรสิ ป้าหิวข้าว’

ใช่ เธอพูดภาษาไทยชัดเจนและในสำเนียงเหน่อแบบภาคกลาง มันเป็นสำเนียงอันคุ้นเคยและรู้สึกใกล้ชิดกับผมเป็นพิเศษ เราทั้งสองจึงหันหน้ากลับไปดู เธอช่างละม้ายคล้ายคนไทยหรือคนเอเชียเป็นอย่างมาก หากไม่นับว่าร่างกายของเธอจะปกคลุมและถูกห่อหุ้มไปด้วยเสื้อกันหนาวและผ้าห่มสกปรกหลายผืน มือของเธอหอบหิ้วกระเป๋าขาดวิ่นใบใหญ่ ส่วนผมของเธอก็พันยุ่งเหยิงเป็นสังกะตัง เราอยู่ห่างจากกันประมาณเจ็ดถึงแปดเมตร ผมกับน้องคนไทยหันไปมองเธอแล้วมามองหน้ากัน จากนั้นก็ก้มหน้าก้มตาสาวเท้าเดินจากไป เสียงของเธอเรียก ‘เดี๋ยวๆ ไอ้หนู’ ดังไล่ตามหลังมาไม่กี่ครั้ง ทว่าในใจของผมมันยังดังก้องอยู่ทุกครั้งที่นึกถึง

‘ไอ้หนู คนไทยใช่ไหม ป้าขอเงินสักหนึ่งยูโรสิ ป้าหิวข้าว’ มันเป็นสำเนียงอันคุ้นเคยและรู้สึกใกล้ชิดกับผมเป็นพิเศษ

หลายวันต่อมาผมเจอตัวแทนคนไทยในเบอร์ลิน รวมไปถึงตัวแทนจากหน่วยงานซึ่งดูแลคนไทยในเบอร์ลิน ผมพยายามบอกเล่าเรื่องของคุณป้าท่านนั้นให้พวกเขาฟัง คำตอบที่ได้รับคือ พวกเขาไม่เชื่อว่ามีคนไทยตกอยู่ในสภาพแบบนี้ ไม่ก็บอกว่าหากคนไทยตกอับมักจะไปอาศัยอยู่ที่วัด หรือติดต่อสถานทูตเพื่อรับความช่วยเหลือ ทั้งหมดนี้ก็มีความสมเหตุสมผลในมุมมองของพวกเขาอยู่บ้าง ทว่า มันขัดกับสิ่งที่ผมเห็นและได้ยินมาด้วยตัวเอง

บางที ความใกล้ชิดทางสายตาผ่านเทคโนโลยีที่ผลิตสร้างชาตินิยมทางไกลนั้น กลับทำให้เรามองไม่เห็นคนไทยที่ใกล้ชิดและตกอยู่ในสภาวะยากลำบาก เนื่องจากมันมุ่งเน้นความเป็นไทย มากกว่าความเป็นคน ความเป็นไทยในฐานะชาตินิยมทางไกลอาจเป็นภาพแฟนตาซีที่มุ่งเน้นความเพ้อฝัน และทำให้เรามองไม่เห็นความเป็นจริงที่อยู่ใกล้แสนไกลหากเราเปรียบเทียบกันในเชิงระยะทาง

ผมเริ่มสังเกตว่า ชาตินิยมคืออาการแบบหนึ่งทางจิตเวช สิ่งเหล่านี้มิใช่เป็นการแปะป้ายตีตราถึงความบ้าและไม่บ้า ทว่ามันคืออาการที่สะท้อนให้เห็นว่า พวกเราล้วนมีชีวิตติดอยู่ในภาพลวงตาของความเป็นไทย ท่ามกลางชีวิตอันปกติและใกล้ชิดกันไม่ว่าจะทางสายตาหรือทางกายภาพ กระทั่งพวกเรา ขาดแคลนความสามารถที่จะสร้างความฝันหรือจินตนาการว่าด้วยความเป็นไทยในฐานะอุดมคติของอีโกขึ้นมาใหม่อย่างแตกต่างและเป็นธรรม…

(บางส่วนจากจากสมุดบันทึกส่วนตัว 15/09/2017)

Tags: , ,