ภาพวาดของปิกัสโซสะท้อนให้เห็นความโหดร้ายของสงคราม และก่อให้เกิดเป็นคำถามตามมาว่า ความจริงแล้วมันเกิดอะไรขึ้นที่เกอร์นิคา

‘เกอร์นิคา’ ผลงานภาพวาดของปิกัสโซจากปี 1937 บอกเล่าถึงความปวดร้าวและโทสะของสงคราม อันเกิดขึ้นจากการทิ้งระเบิดของเครื่องบินรบเยอรมันลงที่เกอร์นิคา เมืองเล็กๆ ในแคว้นบาสก์ ทางตอนเหนือของสเปน แต่ที่น่าอนาถใจกว่านั้นคือ การโจมตีครั้งนั้นเป็นเพียงแค่การอุ่นเครื่องของสงครามระเบิดในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เท่านั้นเอง

เกอร์นิคา กลายเป็นภาพสะท้อนของสงครามยุคใหม่ ที่มหาอำนาจใช้กำลังทำร้ายพลเรือนโดยปราศจากความยำเกรง ซึ่งคนทั้งโลกอาจพร้อมใจกันลืมเหมือนเช่นเหตุการณ์อื่นๆ หากภาพวาดของปาโบล ปิกัสโซไม่ย้อนกลับมาเตือนความจำ ช่วงไม่กี่เดือนหลังเมืองถูกถล่มด้วยระเบิด ภาพดังกล่าวถูกนำมาแสดงในกรุงปารีส ปี 1937 นับถึงวันนี้ก็ล่วงเลยมา 80 ปีแล้ว มันคือเสียงร้องของผู้คนที่ต่อต้านการใช้อาวุธรุนแรงในสงคราม…ในช่วงสงครามกลางเมืองของสเปน อันส่งผลกระทบต่อพลเมืองซึ่งแม้จะอยู่ห่างไกลจากแนวหน้าที่มีการสู้รบ

เกอร์นิคาบ่งชี้ให้เห็นว่า เส้นแบ่งระหว่างแนวหน้ากับแนวหลังไม่มีอีกต่อไป มันเป็นสงครามที่ไม่ปรานีแม้กระทั่งเด็กหรือผู้หญิง มันเป็นสงครามที่คร่าชีวิตสามัญชนคนธรรมดามากกว่าเหล่าทหาร

การโจมตีทางอากาศด้วยเครื่องบินทิ้งระเบิด ยังเป็นหัวข้อถกเถียงกันทั้งในแง่วิชาการและการเมืองตราบถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะในเรื่องของเจตนารมณ์และแรงจูงใจในการโจมตี เหตุการณ์ครั้งนั้นแน่ชัดว่าเป็นเครื่องบินรบของเยอรมัน สังกัด ‘คอนดอร์ ลีเจียน’ (Condor Legion) หน่วยรบทางอากาศของนาซีที่ถูกส่งไปช่วยเหลือกองทัพของนายพลฟรังโกปราบกบฏ ในตอนบ่ายของวันที่ 26 เมษายน 1937 ฝูงบินทิ้งระเบิดลงตรงใจกลางเมือง ซึ่งขณะนั้นมีประชากรอาศัยอยู่ราว 5,000-6,000 คน จนพังพินาศเป็นเถ้าถ่าน ผู้คนราว 200-300 คนเสียชีวิต (ตัวเลขเหยื่อ 1,600 คนที่เคยแจ้งในยุคสมัยนั้นฟังดูออกจะเกินจริง)

เป้าหมายเดิมที่วางไว้แต่แรกของฝูงบินปฏิบัติการคือ การทิ้งระเบิดทำลายสะพานหินข้ามแม่น้ำโอคา แต่เพราะในตอนเช้าของวันนั้นเครื่องบินของเยอรมันลำหนึ่งบังเอิญเห็นกองพลกำลังเคลื่อนตัวอยู่ใกล้ๆ กับเมือง ซึ่งในความเป็นจริงแล้วนั่นคือกลุ่มชาวไร่ชาวนาที่กำลังเดินทางเข้าไปตลาดในเมือง การโจมตีจึงพุ่งเป้าไปที่ใจกลางเมืองเพียงจุดเดียว ทั้งตลาด ร้านค้า บ้านเรือน รวมถึงผู้คน ตกเป็นเหยื่อจากระเบิดหลากชนิด ยกเว้นสะพานหินเป้าหมายแต่เริ่มแรกที่กลับไม่แผ้วพานระเบิดเลย ในตอนเย็นฝูงบินล่าของเยอรมันยังตามไปไล่ยิงผู้คนที่หลบหนีออกจากเมืองซ้ำ ทำให้สิ้นสงสัยว่า มันเป็นการมุ่งโจมตีพลเรือนมากกว่าทหาร

ฝูงบินที่เข้าร่วมปฏิบัติการในวันนั้น จากฝั่งของเยอรมันประกอบไปด้วยเครื่องบินรุ่น Do 17, Heinkel-He-51, He-111, Junkers Ju 52/3m และ Messerschmidt 109 ได้ทำลายอาคารบ้านเรือนในเมืองเกอร์นิคาเสียหายไปราว 80 เปอร์เซ็นต์​

โวลฟรัม ฟอน ริคต์โฮเฟน ผู้บังคับบัญชาหน่วยคอนดอร์ ลีเจียน เป็นผู้บัญชาการปฏิบัติการครั้งนั้น เขาไม่รู้สึกเสียใจกับการโจมตีเมืองเกอร์นิคาเลยแม้แต่น้อย แถมยังเขียนลงในสมุดบันทึกด้วยว่า “ระเบิด 250 (รุ่นของระเบิด) ได้ผลดีชะมัด กวาดเรียบทั้งบ้านทั้งท่อส่งน้ำ ระเบิดเชื้อเพลิงก็ไม่เลว มันทำลายบ้านไม้ได้ทั้งหลัง ระเบิดเจาะก็ทิ้งร่องรอยให้เห็นบนถนน สุดยอดจริงๆ”

​          เป้าหมายทางการทหารกลับไม่ถูกทำลาย แต่ถึงกระนั้นกองกำลังของฝ่ายกบฏบาสก์ก็พากันระส่ำระส่าย ไม่กี่วันต่อมากองทัพของนายพลฟรังโกได้บุกเข้าไปในเมือง เข้าไปยึดครองพื้นที่ซึ่งถือว่าเป็น ‘เมืองศักดิ์สิทธิ์ของชาวบาสก์’
​          เอดูอาร์โด บัลเญโฮ อดีตนายกเทศมนตรีเมืองเกอร์นิคา กล่าวอย่างมั่นใจว่า “เกอร์นิคาไม่ได้มีชื่อเสียงเพราะถูกระเบิดถล่ม แต่เกอร์นิคาถูกระเบิดถล่มเพราะเป็นเมืองที่มีชื่อเสียง”
​          นั่นเท่ากับว่า หน่วยคอมมานโดของเยอรมันล่วงรู้ก่อนหน้านั้นแล้วว่า เกอร์นิคาเป็นเมืองสัญลักษณ์แห่งเอกราชของชาวบาสก์มาตั้งแต่ยุคกลาง
​          และเป็นจริงที่ว่า การทดลองและซ้อมอาวุธ การโจมตีทางอากาศเป็นแผนปฏิบัติการที่วางกันไว้ล่วงหน้า เพื่อทำลายเมืองสัญลักษณ์นี้ให้ราบเป็นหน้ากลอง
​          ทหารเยอรมันใช้สงครามกลางเมืองของสเปน โดยเข้าพวกกับฝ่ายนายพลฟรังโก เพื่อซ้อมรบภายใต้สภาพแวดล้อมจริง และไม่ต้องคำนึงว่าผู้ล้มตายหรือบาดเจ็บจะเป็นพลเรือน หลังการโจมตีมีการโฆษณาชวนเชื่อตามมา ทั้งหน่วยคอนดอร์ ลีเจียนและฟาสซิสต์ของสเปนพากันมดเท็จว่า ฝ่ายกบฏทำลายเมืองทั้งเมืองทิ้งเพื่อถอนกองกำลังออกไป

การโจมตีพลเรือนในเมืองเกอร์นิคาทางอากาศไม่ใช่ครั้งแรก ก่อนหน้านี้-เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 1914 กองทัพเยอรมันเคยส่ง Zeppelin LZ 21 / ‘Z VI’ ไประเบิดมณฑลลีแยฌของเบลเยียมมาแล้ว และมีพลเรือนเสียชีวิต 9 ราย ปี 1923 หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ฝูงบินของสเปนไปทิ้งระเบิดเคมีในโมร็อกโก เพื่อทำลายพื้นที่อาศัยและทำกินของกลุ่มต่อต้าน หรือไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้าเกอร์นิคา เครื่องบินรบเยอรมันก็ไปทิ้งระเบิดในพื้นที่ห่างจากเมืองดูรังโก ในแคว้นบาสก์ ราว 20 กิโลเมตร มีพลเรือนตกเป็นเหยื่อเสียชีวิตหลายราย ทว่ามันกลับไม่เป็นที่จดจำตราบถึงทุกวันนี้

และต่อมาที่เกอร์นิคา ทุกคนดูเหมือนจะลืม จนกระทั่งปรากฏภาพขึ้นมาฟ้อง – ภาพเขียนบนผืนผ้าใบของปาโบล ปิกัสโซ ที่เล่าเรื่องราวการโจมตีทางอากาศในเมืองเล็กๆ ของแคว้นบาสก์ เตือนให้ผู้คนหันมาจดจำ และเล่าขานกันต่อมาถึงคนรุ่นหลัง​

ภาพวาดของปิกัสโซถูกนำไปจัดแสดงที่งานเอ็กซ์โปในกรุงปารีสเมื่อเดือนกรกฎาคม 1937 เป็นเสียงร้องต่อต้านฟาสซิสต์ที่ชัดถ้อย มันถูกจัดวางภายในพาวิลเลียนของประเทศสเปน ซึ่งอัลแบร์ต ชแปร์ สถาปนิกชาวเยอรมัน เป็นคนออกแบบ และได้รับเหรียญทองสำหรับงานออกแบบด้วย

อีกทั้งยังเป็นบุคคลที่ได้รับการยกย่องจากนาซีเยอรมันด้วยเกียรติยศสูงสุด

FACT BOX:

  • ภาพเขียน ‘Guernica’ ผลงานที่ปาโบล ปิกัสโซเขียนเสร็จเมื่อเดือนมิถุนายน 1937 ขนาดความสูง 3.49 เมตร และกว้าง 7.77 เมตร ปัจจุบันถูกเก็บไว้ที่บ้านบนถนนรู เดส์ กรองด์-โซกุสแตงส์ ในกรุงปารีส
  • ปิกัสโซได้รับมอบหมายจากรัฐบาลสเปนให้เขียนผลงานเพื่อส่งไปแสดงในพาวิลเลียนของประเทศสเปน ที่งานเอ็กซ์โปปี 1937 ในกรุงปารีส หลังเกิดเหตุโศกนาฏกรรมที่เกอร์นิคาแล้ว ทำให้เขาทิ้งความคิดเดิมที่จะเขียนภาพเกี่ยวกับ ‘จิตรกรและหุ่นแบบ’ ไป
  • ตั้งแต่ปี 1936 กระทั่งสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ปิกัสโซใช้ชีวิตและทำงานอยู่ที่บ้านเลขที่ 7 ถนนรู เดส์ กรองด์-โซกุสแตงส์ เป็นสตูดิโอที่ภาพ ‘เกอร์นิคา’ ถือกำเนิด นับแต่ปี 1939 สตูดิโอถูกดัดแปลงเป็นที่พักด้วย และเป็นสถานที่เดียวกันกับที่ก่อนหน้าเคยเป็นโรงแรม ‘โอเตล เดอ ซาวอย’ ซึ่งมีโอโนเร เดอ บัลซาคเป็นเพื่อนบ้าน รวมถึงเป็นจุดนัดพบของกลุ่มเซอร์เรียลิสต์
  • ปี 1992 ที่บาร์เซโลนาเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก มีการสร้างพาวิลเลียมจำลองแบบเดิมในอเวนิดา เดล คาร์เดนัล บิดัล อี บาร์ราแควร์ และมีภาพ ‘เกอร์นิคา’ ฉบับก๊อปปีวางประดับไว้ด้วย
Tags: , , , , ,