อายุมากขึ้นก็เรื่องหนึ่ง แต่สาเหตุใหญ่ๆ ที่ทำให้ผู้สูงอายุหลายคนชีวิตเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ จากที่เคยดูแลตัวเองได้ ต้องกลายเป็นคนที่ต้องพึ่งพิงการดูแลจากคนอื่น ซึ่งนอกจากโรคภัยแล้ว ก็เพราะอุบัติเหตุในบ้าน

          สถิติจากสมาคมออร์โธพิดิกส์แห่งญี่ปุ่นระบุว่า สาเหตุหลักๆ ที่ผู้สูงวัยต้องกลายสภาพไปสู่การเป็นบุคคลที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้อันดับที่ 4 รองจากโรคเส้นเลือดในสมอง ความจำเสื่อม และความชราแล้ว ก็คือการแตกหักของกระดูก ซึ่งก็มักมาจากการลื่นล้ม

          ที่น่าสนใจคือ อุบัติเหตุ 77% ที่ผู้สูงอายุประสบนั้น เป็นอุบัติเหตุที่เกิดภายในบ้าน โดยเฉพาะในห้องที่ดูไม่มีอันตรายอย่างห้องนอนและห้องนั่งเล่น

          ส่วนในประเทศไทย ข้อมูลจากสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุขในปี 2557 พบว่ามีผู้สูงอายุที่เสียชีวิตจากการพลัดตกหกล้มเกือบ 1,000 คนต่อปี หรือเฉลี่ยวันละ 3 คน และ 1 ใน 5 ของผู้สูงอายุที่หกล้มและกระดูกหักไม่สามารถกลับมาเดินได้อีก

          เรื่องเหล่านี้จะโทษแค่ว่าร่างกายคนสูงวัยพาไปเจ็บเองไม่ได้ สภาพแวดล้อมก็เป็นปัจจัยสำคัญ ซึ่งหลายๆ ครั้งก็เป็นสิ่งที่ป้องกันได้

เยี่ยมโชว์รูม NODA ทำความเข้าใจภาวะ ‘ชรา’

          จะเข้าใจความยากลำบากของคนชราได้ ก็ต้องลองเป็นคนชราด้วยตัวเองก่อน

          บริษัท NODA corp. เป็นบริษัทเฟอร์นิเจอร์ในจังหวัดชิซูโอกะ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเพิ่มส่วนการผลิตเฟอร์นิเจอร์ทำหรับคนสูงวัย และมีส่วนโชว์รูมให้เราทดสอบเป็นคนสูงวัยกัน

          เพราะเมื่อเราลอง ‘ลำบาก’ แล้ว เราจะเข้าใจว่ารายละเอียดเล็กๆ ภายในบ้าน กลับเป็นอุปสรรคปราการใหญ่ที่ทำให้ผู้สูงวัยท้อถอยกับการใช้ชีวิต และเลือกที่จะนั่งห่อเหี่ยวอยู่เฉยๆ เสียดีกว่า

          เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องน่าห่วง เพราะมีผู้สูงอายุใช้ชีวิตอยู่คนเดียวจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ หากบ้านไม่ได้ช่วยให้พวกเขามีชีวิตได้เต็มที่ ก็แทบไม่เหลือที่พึ่งอื่นใด ส่วนเนิร์สซิงโฮมของรัฐที่พอจะจ่ายได้ ก็มีคนรอต่อคิวเข้าอยู่ ตอนนี้ปาเข้าไป 500,000 คนแล้ว และจำนวนนี้ก็น่าจะมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะจำนวนคนชราที่เพิ่มขึ้นทวีคูณ โดยเฉพาะในเมืองใหญ่อย่างโตเกียว โอซากา และไอจิ

 

          ทางออกหนึ่งก็คือการออกแบบบ้านในวันนี้ให้รองรับชีวิตวันข้างหน้าที่จะช่วยเหลือตัวเองได้น้อยลง ซึ่งไม่ใช่แค่ผู้สูงวัยเท่านั้นที่จะใช้ชีวิตง่ายขึ้น แต่คนทั่วไป ผู้พิการ หรือเด็กๆ ก็อาจได้รับประโยชน์จากการออกแบบเพื่อทุกคน หรือ Universal Design (มีคำไทยสวยๆ ว่า อารยสถาปัตย์) นี้ถ้วนหน้า เพราะจะรอทำอีกทีตอนอายุมากแล้ว ก็คงสายเกินไป

          ชิโร่ อิซาวะ (Shiro Izawa) ผู้อำนวยการ แห่ง Noda Shimizu Showroom ที่เราไปเยี่ยมชม ลองให้อาสาสมัครสาธิตใส่อุปกรณ์สร้างความชราให้ร่างกาย ที่ใส่ได้ไม่นาน พวกเขาจะรู้สึกอึดอัดและขอถอด เช่น

  • ปลอกแขนที่ยึดติดกับลำตัว และปลอกขาที่ทำให้เดินไม่สะดวก จำลองสภาวะอัมพาตครึ่งซีก
  • สวมแว่นแบบครอบที่มีฟิลเตอร์ จำลองสภาวะตาเป็นต้อกระจก
  • สวมหูฟังครอบ ทดสอบภาวะหูตึง
  • สวมถุงมือที่ทำให้จับอะไรไม่ถนัด
  • นั่งวีลแชร์

อะไรบ้างในบ้านที่ต้องเปลี่ยน

          ความเคยชินอาจบอกเราว่า ทุกอย่างที่เป็นอยู่นี้โอเคแล้ว แต่พอสวมใส่อุปกรณ์เหล่านี้และสาธิตเป็นคนสูงวัย จะเข้าใจได้ลึกซึ้งเลยว่าอะไรบ้างที่จำเป็นต้องเปลี่ยน

สวิตช์ไฟ

          หากเป็นคนนั่งวีลแชร์ สวิตช์ไฟที่สูงเกินเอื้อมคงไม่ดีแน่ๆ เพราะฉะนั้นจะต้องปรับระดับให้อยู่ต่ำลงและมีสวิตช์ที่ใหญ่ขึ้น ในขณะที่เต้าเสียบปลั๊กก็ต้องอยู่สูงขึ้นมา

พื้น

         พื้นต้องปูด้วยวัสดุที่ไม่ลื่น คนอย่างเราๆ เดินตอนแรกอาจจะขัดใจเพราะว่ามันให้ความรู้สึกฝืดๆ แต่หากเป็นผู้สูงอายุที่เสียการทรงตัว พื้นแบบนี้ป้องกันอุบัติเหตุได้ดีทีเดียว

          ผลิตภัณฑ์อย่างหนึ่งของ NODA คือวัสดุปูพื้นไฟเบอร์บอร์ด เป็นพื้นที่รองรับแรงกระแทกได้เมื่อลื่นล้ม (Shock Absorbing Fiber) เรียกว่า Nexio ส่วนที่เส้นสีขาวคือส่วนที่ช่วยซับแรง เมื่อทดสอบโยนลูกโบลิงลงไป จะพบว่าพื้นไม่บุบ แต่ลูกโบลิงจะกระดอนขึ้นมาสูงแทน ทำหน้าที่เหมือนเป็นแทรมโพลีน

ราวจับ

          ตลอดแนวทางเดินจะต้องมีราวจับ เอาไว้ประคองตัว และภายในส่วนต่างๆ ที่ต้องมีการลุก-นั่ง เช่นในห้องน้ำ ซึ่งเราพบว่าในพื้นที่สาธารณะอื่นๆ ในญี่ปุ่นล้วนมีราวลักษณะนี้อยู่ในห้องน้ำแทบทั้งสิ้น

ที่นั่ง

          รายละเอียดเล็กๆ อย่างม้านั่งใส่รองเท้าที่หน้าบ้าน ควรสั่งทำเฉพาะเพื่อให้เหมาะกับความยาวช่วงขาของผู้สูงอายุคนนั้นๆ กล่าวคือระนาบของม้านั่งจะต้อง ‘ไม่ต่ำกว่า’ ระดับก้นของผู้สูงอายุขณะนั่งทำมุม 90 องศากับช่วงตัว เพื่อให้ลุกได้ง่าย ไม่ต้องออกแรงเยอะจนทำให้ซวนเซตอนยืน (ซึ่งสุดท้ายอาจทำให้ล้ม)

ความกว้างทางเดินและประตู

          ความกว้างมาตรฐานของทางเดินปกติในบ้านญี่ปุ่นทั่วไปเท่ากับ 78 เซนติเมตร และประตูกว้างเพียง 75 เซนติเมตร ทำให้รถเข็นเคลื่อนที่เข้า-ออกไม่สะดวก แถมยังไม่เผื่อที่ให้กับผู้ดูแลในกรณีที่ผู้สูงอายุต้องมีคนเข็นรถให้

          มาตรฐานความกว้างใหม่นี้ควรจะเท่ากับในรูป

 

ประเภทประตู

          ต้องเรียกว่าการมาเยี่ยมชมครั้งนี้ NODA ขายของในส่วนนี้หนักมาก เพราะทางบริษัทมีผลิตภัณฑ์ Universal Design Door เรียกว่า ‘caresist’ พัฒนาขึ้นมาในรูปลักษณะต่างๆ ทั้งแบบบานพับ แบบประตูเซนเซอร์วัดแสงคอยเปิด-ปิด หรือประตูที่ซ่อนบานเข้าไปในผนังช่วยเพิ่มพื้นที่ ฯลฯ จุดเด่นก็คือบานพับเหล่านี้มีกลไกที่ทำให้ไม่ค่อยต้องออกแรงผลักเลย

          ความน่ารักอย่างหนึ่งก็คือ ประตูที่มีช่องเอาไว้ใส่รูป คุณอิซาวะเฉลยว่ารูปนี้เอาไว้เตือนคนสูงวัยที่ความทรงจำเริ่มเลอะเลือนและลืมห้องตัวเอง หากติดรูปหลาน หรือสิ่งที่มีความทรงจำชัดเจนเอาไว้ก็จะทำให้จำได้แม่นยำขึ้น

ห้องน้ำ

          อย่างที่บอกไปแล้วว่าห้องน้ำต้องมีราวจับเพื่อให้ลุกนั่งได้สะดวก แต่อีกอย่างหนึ่งก็คือขนาดที่จะต้องขยายขึ้น ไม่ใช่แค่พอเอาตัวเข้าไปนั่งได้พอดีก้นก็จบ แต่ต้องเผื่อพื้นที่ให้กับวีลแชร์และผู้ช่วย คือมีขนาดความกว้างยาวบริเวณรอบชักโครกประมาณ 1690 mm x 1690 mm

          คุณอิซาวะบอกว่า การที่คนชราใช้ห้องน้ำไม่ได้และต้องพึ่งพาผ้าอ้อมผู้ใหญ่ ทำให้พวกเขาประสบโรคภัยที่เกิดมาจากจิตใจที่ห่อเหี่ยวลง เนื่องจากกลายเป็นคนดูแลตัวเองไม่ได้ ชีวิตพลิกผันและทำลายศักดิ์ศรีของตัวเอง การปรับปรุงห้องน้ำให้เหมาะกับพวกเขาจะช่วยบรรเทาปัญหานี้ เพราะอันที่จริงถ้าไม่ติดที่ขนาดพื้นที่คับแคบ พวกเขาก็ยังดูแลตัวเองได้

ขั้นบันได

          คุณอิซาวะเทียบให้เห็นบันไดสองแบบ คือแบบที่ไม่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ กล่าวคือ มีขั้นบันไดสูง 21 ซม. ในแต่ละขั้น เกินระยะก้าว แถมยังมีจมูกยื่นออกมา ทำให้สะดุดได้ง่าย แผ่นบันไดแต่ละขั้นสั้น เป็นสีเดียวกันทั้งหมด และไม่มีราวจับ

          บันไดที่ดีคือตัวมีความสูงแต่ละขั้นประมาณ 16 ซม. สีของพื้นแผ่นบันไดและแนวตั้งฉากเป็นคนละสีกัน (ขาว-น้ำตาล) เพื่อให้คนที่มีปัญหาด้านสายตาแยกออกและก้าวไม่พลาด มีราวจับพอดีมือ และขนาดความกว้างของบันไดแต่ละแผ่นจะต้องมากกว่าปกติ แต่ไม่มีจมูกยื่นออกมาเยอะ

          พิเศษไปกว่านั้นในแบบญี่ปุ๊นญี่ปุ่น ก็คือแถบเรืองแสงตรงราวจับและขั้นบันได ที่ส่องสว่างหากเกิดภัยพิบัติและไฟฟ้าดับ เพราะมีเคสจำนวนมากที่ผู้สูงอายุเสียชีวิตจากภัยเหล่านี้เพราะหนีออกมาไม่ทัน ซึ่งแถบเรืองแสงนี้ใช้วัสดุแบบเดียวกับที่ใช้ในสถานีรถไฟใต้ดินโตเกียว ส่องสว่างได้นานถึง 8 ชั่วโมง หลังจากได้รับแสง

Fact Box

  • Noda Corp. กำเนิดในจังหวัดชิซูโอกะ ดำเนินกิจการมาตั้งแต่ปี 1902 เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายแผ่นไฟเบอร์บอร์ดและผลิตภัณฑ์ก่อสร้างบ้าน มีโลโกเป็นรูปภูเขาไฟฟูจิซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของบ้านเกิด มีโรงงานในประเทศ 4 แห่ง และอีก 7 แห่งอยู่ในมาเลเซียและอินโดนีเซีย
  • การเดินทางครั้งนี้ สนับสนุนโดยบริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด และกลุ่ม มิตซูบิชิ เอสเตท (MECG) พาร์ทเนอร์ทางธุรกิจในประเทศญี่ปุ่น เนื่องในโอกาสที่เอพีกำลังเริ่มต้นศึกษาโครงการคอนโดสำหรับผู้สูงวัย ‘รุ่นใหม่’ ในย่านสาทร-ตากสิน เจาะตลาดคนเจเนอเรชันเอ็กซ์ที่กำลังจะเกษียณอายุในไม่กี่ปีข้างหน้า
  • สำหรับในปประเทศไทย แหล่งความรู้เกี่ยวกับการออกแบบเพื่อผู้สูงอายุที่น่าสนใจ ก็คือ ‘ศูนย์ออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน จุฬาฯ’ ทำหน้าที่รวบรวมและพัฒนาองค์ความรู้ งานวิจัย นวัตกรรมท้องถิ่น รวมถึงอุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ  เพื่อเป็นธนาคารอุปกรณ์ และการให้คำปรึกษา แนะนำ เผยแพร่ให้ความรู้ ความเข้าใจในการปรับปรุงที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุ ดูรายละเอียดได้ที่ https://www.facebook.com/universaldesigncenter/
Tags: , ,