ในสังคมที่เชื่อมโยงชนชั้นทางสังคมกับระดับการศึกษา รสนิยม และศีลธรรม ความยากลำบากประการหนึ่งของการเป็นชาวบ้านธรรมดา ไม่ได้มีสถานะพิเศษในสังคม ไม่ใช่ชนชั้นปกครองหรือนักบวช ก็คือการถูกเหยียดหรือดูแคลน โดนหาว่าโง่บ้าง (เช่น ขาดความรู้ ไม่พร้อมมีประชาธิปไตย) โดนหาว่ามีรสนิยม “ตลาด” บ้าง หรือไม่ก็ถูกมองว่าแบ่งแยกคนดี-ชั่วไม่ออก ต้องให้คนดีเข้ามานำทางและปกครอง

วิวัฒนาการของคำที่ปัจจุบันมีความหมายเชิงลบในภาษาอังกฤษจำนวนไม่น้อยก็สะท้อนความเหยียดชนชั้นคล้ายๆ กันนี้ได้อย่างเป็นดี

สัปดาห์นี้ เราจะไปดูกันว่ามีคำอะไรในภาษาอังกฤษบ้างที่เคยหมายถึงสามัญชนคนธรรมดาก่อนจะมามีความหมายเชิงลบในปัจจุบัน

Villain – ตัวร้าย

หลายคนเห็นคำนี้แล้วอาจนึกถึงคำว่า villa ที่แปลว่า หมู่บ้าน ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะอันที่จริงแล้ว สองคำนี้เป็นญาติกันนั่นเอง

คำว่า villain มาจากคำว่า villanus ในภาษาละติน ซึ่งมาจากคำว่า villa ในภาษาละตินที่แปลว่า ฟาร์มหรือบ้านในชนบท อีกที ในสมัยนั้นคำนี้หมายถึง ผู้ที่อยู่ในฟาร์ม คนที่ทำงานในสวนในไร่ คล้ายกับคำว่า villager

แต่ด้วยคนทำไร่ทำสวนมักเป็นสามัญชนคนธรรมดา ไม่รู้จักมารยาทชั้นสูงแบบพวกผู้ลากมากดี พวกที่เกิดในชนชั้นมีอันจะกินก็เลยเริ่มใช้คำนี้ในความหมายว่า คนไร้มารยาทหรือขาดการขัดเกลา

พอคนเริ่มโยงมารยาทกับการศึกษาเข้ากับระดับศีลธรรม เชื่อกันว่าผู้มีกิริยามารยาทงามคือคนดี พวกชาวบ้านสามัญชนที่อาจมีกิริยาเด๋อด๋าเซ่อซ่าจึงถูกมองว่าเป็นพวกต่ำช้าหรือคนถ่อย คำว่า villain จึงกลายมาใช้หมายถึง คนร้าย อาชญากร และกลายมาเป็นตัวร้ายในเรื่องแต่งแบบ ทศกัณฑ์ โจ๊กเกอร์ หรือ ธานอส นั่นเอง

ทั้งนี้ เราจะใช้คำนี้ในความหมาย คนที่รับบทร้ายในชีวิตจริงก็ได้เช่นกัน ตัวอย่างเช่น I refuse to be the villain in the story. He already wanted to break up with you before he came to me. ก็จะหมายถึง อย่ามายัดเยียดบทตัวร้ายให้ฉันนะ เขาอยากจะเลิกกับหล่อนอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนเขามาคบฉัน

Vulgar – หยาบโลน ต่ำช้า

ในปัจจุบันนี้ หากใครมาบรรยายเราว่าเป็นคนที่มีลักษณะ vulgar ก็คงจะชวนให้เลือดขึ้นหน้าไม่น้อย เพราะนับว่ากำลังถูกบริพาษว่าเป็นคนหยาบช้าไร้มารยาท แต่อันที่จริงแล้วคำนี้ไม่ได้มีความหมายเช่นนี้มาแต่เดิม

คำว่า vulgar มาจากคำว่า vulgaris ในภาษาละติน หมายถึง “ที่เป็นของสามัญชนคนธรรมดาหรือสาธารณชน” หรือ ธรรมดาสามัญ และมาจากคำว่า vulgus ในภาษาละติน หมายถึง สามัญชนคนทั่วไป ฝูงชน อีกทอดหนึ่ง (เป็นญาติกับคำว่า divulge ในภาษาอังกฤษที่แปลว่า เปิดเผย มาจาก dis- ที่หมายถึง กระจาย รวมกับ vulgare ที่แปลว่า ป่าวประกาศหรือทำให้เป็นของสาธารณะ รวมกันได้ความหมายทำนองว่า เผยให้ทราบโดยทั่วกัน)

คำนี้ยังพบใช้ในความหมายในเชิงว่าเกี่ยวกับสามัญชนหรือเป็นสิ่งที่ธรรมดาสามัญได้บ้าง ในวลีเช่น vulgar Latin หมายถึง ภาษาละตินที่ชาวบ้านร้านตลาดใช้ ไม่ใช่แบบที่นับว่ามีการศึกษา หรือ vulgar fraction ซึ่งเป็นอีกชื่อของ common fraction หมายถึง เศษส่วนสามัญ นั่นเอง

แต่ก็อีกเช่นเคย สามัญชนที่ไม่มียศถาบรรดาศักดิ์ก็มักถูกมองว่า ขาดการขัดเกลา ต่ำช้า ความหมายของคำว่า vulgar จึงค่อยๆ เปลี่ยนไปในเชิงลบ และกลายมาหมายถึง ไร้สกุลรุนช่อง ไร้รสนิยม ต่ำทราม หยาบโลน เช่น vulgar language ก็จะหมายถึง คำหยาบคาย ส่วน vulgar behavior ก็คือ กิริยาเลวทราม นั่นเอง

Peasant ไพร่

คำนี้สืบสาวกลับไปได้ถึงคำว่า pagus ในภาษาละติน หมายถึง เขตชนบท ก่อนจะผ่านภาษาฝรั่งเศสเข้ามากลายเป็นคำว่า peasant ที่ใช้หมายถึง คนชนบทหรือชาวบ้านที่ทำไร่ทำนาให้กับเจ้าขุนมูลนายในระบบฟิวดัลในยุโรปยุคกลาง

แน่นอนว่าชาวบ้านหรือไพร่ที่ทำไร่ไถนาส่งส่วยให้เจ้าขุนมูลนายทั้งหลายนี้ ย่อมถูกมองว่าไม่มีกิริยามารยาทอย่างผู้ดี ขาดการศึกษาและการขัดเกลา จึงถูกนำมาใช้ในความหมายว่า โง่เขลา ขาดการศึกษา ชั้นต่ำ คล้ายๆ กับคำว่า ไพร่ ในภาษาไทยนั่นเอง ตัวอย่าง I will not associate myself with a peasant such as you. ก็จะหมายถึง ฉันไม่เอากระเบื้องไปลู่ทอง ลงไปเกลือกกลั้วกับไพร่อย่างแกหรอกนะ

(อันที่จริงแล้วคำว่า pagus ยังเป็นที่มาของคำว่า pagan ที่แปลว่า พวกนอกรีตหรือพวกถือศาสนาธรรมชาติ ด้วย ว่ากันว่าเป็นเพราะสมัยที่คริสต์ศาสนาเริ่มแผ่ขยายอิทธิพล ชาวบ้านตามชนบทจำนวนไม่น้อยยังคงนับถือเทพเจ้าเดิมของตน คำที่แปลว่า ชาวบ้านสามัญชน จึงกลายมาหมายถึง นอกรีต ด้วย)

Plebeian – ไพร่

อีกคำที่มีชะตากรรมคล้ายคำว่า peasant คือคำว่า plebeian ซึ่งสืบสาวกลับไปได้ถึงคำว่า plebs ในภาษาละติน เป็นคำที่ชาวโรมันใช้เรียกประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้อยู่ในชนชั้นปกครอง

แต่ด้วยความเหยียดชนชั้นที่ฝังรากลึกในกมลสันดานของมวลมนุษยชาติ คำที่หมายถึงประชาชนทั่วไปจึงถูกนำมาเชื่อมโยงกับความด้อยการศึกษา ไม่มีชาติตระกูล ไร้รสนิยม และนำมาใช้ในความหมายคล้ายคำว่า ไพร่ ในภาษาไทย ตัวอย่างเช่น ถ้าจะดูถูกคนคนหนึ่งว่าไร้รสนิยม ชอบของเกร่อๆ ก็อาจจะพูดว่า He is a man of plebeian tastes. เป็นต้น

คำนี้จะใช้เป็นคำนามก็ได้ เช่น A millionaire like him wouldn’t mingle with plebeians like us. ก็จะหมายความว่า เศรษฐีอย่างเขาไม่มาเกลือกกลั้วคลุกคลีกับคนไพร่ๆ อย่างเราหรอก ในกรณีนี้ จะพูดเหลือแค่ plebs เฉยๆ ก็ได้เช่นเดียวกัน (… plebs like us.)

Lewd – ลามก ถ่อย

ก่อนที่คำว่า lewd (ชาวอังกฤษออกเสียงคล้าย ลยูด ส่วนชาวอเมริกันออกเสียงว่า ลูด) จะมามีความหมายว่า ทะลึ่งลามก หยาบโลน อย่างเช่นทุกวันนี้ อันที่จริงแล้วเป็นคำที่ใช้หมายถึง ฆราวาส หรือปุถุชนคนธรรมดาที่ไม่ใช่นักบวชมาก่อน เพราะคำนี้มาจากคำว่า laicus ในภาษาละติน ที่แปลว่า ของฆราวาสหรือคนธรรมดา ซึ่งโยงกลับไปได้ถึงคำว่า laos ในภาษากรีกที่แปลว่า ประชาชน

ก่อนไปต่อขอแวะข้างทางสักนิด คำว่า laicus นี้ยังเป็นที่มาของว่า lay ที่แปลว่า ของฆราวาสหรือคนธรรมดา หรือของผู้ที่ไม่ได้มีความรู้เฉพาะทางอีกด้วย (แบบในคำว่า layman ที่หมายถึง ฆราวาสหรือคนทั่วไปที่ไม่ได้อยู่ในวงการเฉพาะทาง) อีกทั้งยังไปโยงกับชื่อ Nicholas ซึ่งมาจาก nike ที่แปลว่า ชัยชนะ (เหมือนชื่อเทพีแห่งชัยชนะของกรีกที่นำมาตั้งเป็นยี่ห้อรองเท้า) มารวมกับ laos ที่เป็นที่มาของคำว่า laicus อีกที แปลความหมายรวมได้ว่า ชัยชนะของปวงชน นั่นเอง

กลับมาที่คำว่า lewd กันต่อ เนื่องจากคนทั่วไปที่ไม่ได้เป็นนักบวชมักถูกมองว่าเป็นพวกไม่มีการศึกษา จิตใจขาดการขัดเกลา คำนี้จึงเริ่มค่อยๆ เปลี่ยนไปมีความหมายเชิงลบมากขึ้น เริ่มจากหมายถึง ไร้การศึกษา ไปท้ายที่สุดหมายถึง หยาบช้า เลวทราม เต็มไปด้วยราคะ ทะลึ่งลามก อย่างในปัจจุบัน ตัวอย่างเช่น มุกตลกทะลึ่ง มุกใต้สะดือเราก็อาจเรียกว่า lewd jokes หรือพฤติกรรมฉวยโอกาสเที่ยวล้วงอวัยวะชาวบ้านในช่วงสงกรานต์ ก็อาจเรียก lewd behavior เป็นต้น

 

บรรณานุกรม

  • http://www.etymonline.com/
  • American Heritage Dictionary of the English Language
  • Ayto, John. Word Origin: The Hidden Histories of English Words from A to Z. 2nd ed. A&C Black: London, 2008.
  • Cresswell, Julia. Oxford Dictionary of Word Origins. OUP: New York, 2009.
  • Funk, Wilfred. Word Origins: A Classical Exploration of Words and Language. Gramercy Books: New York, 2008.
  • Hoad. T. F. (Ed.). Oxford Concise Dictionary of English Etymology. OUP: Oxford, 2003.
  • Longman Dictionary of Contemporary English
  • Oxford Advanced Learners’ Dictionary
  • Shipley, Joseph T. The Origins of English Words: A Discursive Dictionary of Indo-European Roots. John Hopkins University Press: Maryland, 1984.
  • Shorter Oxford English Dictionary
  • Skeat, Walter. A Concise Etymological Dictionary of The English Language. Forgotten Book: NY, 2012.
  • The Merriam-Webster New Book of Word Histories. Merriam-Webster, 1991.
Tags: , , ,