ใครเคยผ่านไปย่านเก่าแก่ในกรุงเทพฯ บางคนอาจยังจำบ้านเลขที่ 301 หัวมุมถนนนเรศตัดกับถนนสี่พระยาได้ เรือนโบราณทรงปั้นหยาหลังนี้ อันตรธานไปจากย่านเก่าแก่ แต่หากใครได้ผ่านไปที่ ‘วิลล่า มูเซ่’ (Villa Musée) เขาใหญ่ อาจมีร้องอ๋อ เพราะมันก็คือบ้านโบราณหลังเดียวกัน

ประตูเหล็กหล่อโบราณที่ดูแข็งแรง ด้านหน้าของ วิลล่า มูเซ่ เป็นประตูเหล็กหล่อตันทำขึ้นในสก็อตแลนด์ ตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมของอังกฤษ มาวันนี้ก็มีอายุร่วม 150 ปี และอาจเคยเป็นประตูของบ้านตึก หรืออาคารราชการของอินเดีย ตั้งแต่สมัยที่ยังตกอยู่ในอาณานิคมของอังกฤษ

มองผ่านช่องประตูเข้าไป คือบ้านโบราณหลังใหญ่ ซึ่งเป็นเรือนเอกของพิพิธภัณฑ์ส่วนบุคคล ที่ตั้งอยู่ท่ามกลางหมู่ไม้ของเขาใหญ่แห่งนี้

บ้านโบราณเลขที่ 301 ที่เคยทรุดโทรมไร้การดูแล กลับมามีชีวิตใหม่อีกครั้งที่นี่ เมื่อ อรรถดา คอมันตร์ นักสะสมศิลปวัตถุและเครื่องเรือนโบราณ ได้ชะลอเรือนหลังนั้นมาปลูกขึ้นใหม่ โดยอาศัยหลักการอนุรักษ์อย่างสากล ด้วยการถอดสลักไม้ ทำรหัสทีละแผ่น แล้วนำมาประกอบขึ้นใหม่ ซึ่งต้องอาศัยฝีมือช่างที่เข้าใจงานเข้าสลักไม้แบบโบราณ ฉาบผิวไม้ด้วยสีเขียวไข่กาตามความนิยมของการสร้างเรือนไทยทรงปั้นหยาในยุคนั้น

จากโฉนดที่ตั้งเดิม บ้านหลังนี้อยู่บนที่ดินของขุนนางคนหนึ่งซึ่งรับราชการเป็นราชเลขานุการในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว บ้านโคโลเนียลไม้สักทองที่หลายคนอดมองเข้าไปไม่ได้เมื่อมีโอกาสได้สัญจรผ่าน สร้างขึ้นปลายสมัยรัชกาลที่ 5 จนถึงต้นรัชกาลที่ 6 จนเมื่อได้ชะลอมาปลูกไว้ที่ วิลล่า มูเซ่ จึงมีการตกแต่งใหม่ โดยนำเครื่องเรือนที่ร่วมสมัยเดียวกัน จัดวางไว้ตามห้องและมุมต่างๆ ของบ้าน จำลองให้เห็นบรรยากาศของบ้านขุนนางหนุ่มที่เคยศึกษาอยู่ในทวีปยุโรปในปลายสมัยรัชกาลที่ 5 แล้วนำวิทยาการความรู้จากต่างแดนกลับมารับราชการ และมีส่วนร่วมในการปฏิรูปสยามในรัชสมัย พร้อมตั้งนามให้เรือนหลังนี้ใหม่ว่า ‘เรือนประเสนชิต’ ซึ่งเป็นราชทินนามของพระยาประเสนชิตศรีพิไลย (ดัด บุนนาค)

พื้นไม้สักหน้ากว้างกว่า 20 นิ้ว หนา 2-3 นิ้วที่ปูเป็นพื้นกระดาน แทบทุกแผ่นคือไม้เดิมที่ผ่านการใช้งานมากว่าร้อยปี ส่วนไหนที่เสียหายไปจะถูกแทนที่ด้วยไม้สักทองที่มีอายุร่วมสมัยเดียวกัน มาซ่อมแซมเพิ่มเติม เมื่อผ่านเข้าสู่โถงห้องรับแขกและห้องรับประทานอาหารซึ่งเป็นส่วนแรก เราพบภาพประดับซี่งประกอบด้วยภาพพิมพ์หิน พระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์อยู่รายล้อม แผนที่เก่าของอยุธยาที่สำรวจในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยพระยาโบราณราชธานินทร์บนผนังด้านหนึ่ง คือแผนที่แผ่นจริงที่เก็บร่องรอยของความเก่าเอาไว้ครบถ้วน ชุดรับแขกปุ่มมะค่าจัดวางอยู่บนพรมทอมือของเปอร์เซีย เปียโนคีย์บอร์ดงาช้าง ปี  1911 โดดเด่นอยู่ในห้องนั่งเล่น ภาพถ่ายในกรอบตั้งโต๊ะและแขวนผนังล้วนเป็นภาพเก่าดั้งเดิม

ตำราฝรั่งที่เรียงอยู่ในตู้ไม้ฉลุลาย โคมไฟ ขวดหมึก ที่ทับกระดาษ ปากกาขนนก สิ่งของที่เราเคยเห็นอยู่ในละครย้อนยุค กลับมาโลดแล่นมีชีวิตอยู่ในห้องทำงานที่เชื่อมต่อมาจากห้องรับแขก ฝาผนังคือกรอบรูปที่บรรจุต้นฉบับจริงของภาพเหตุการณ์ซึ่งเคยตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ฝรั่งเศส ‘Le Petit Journal’ ที่ฉายอดีตครั้งเกิดกรณีพิพาทสยาม – ฝรั่งเศส จนนำไปสู่วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 และข่าวสารเกี่ยวกับล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 ที่ชวนเรากลับไปสนใจประวัติศาสตร์กันอีกครั้ง

บันไดไม้สักทองฉลุลายเรียบง่าย นำทางเราขึ้นสู่ชั้นสอง บนผนังแขวนภาพเอกสารโบราณ แสดงผังที่นั่ง ‘งานเลี้ยงสหชาติ’ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ฝาผนังอีกสองด้านประดับด้วยศาตราวุธโบราณ ด้วยภูมิปัญญาจากอดีตที่การออกแบบเรือนให้โปร่ง ลมลอดผ่านถึงกัน พร้อมการจัดภูมิทัศน์ให้มีต้นไม้เขียวขจีรายล้อม ทำให้เรือนทั้งหลังร่มเย็นอยู่ตลอดเวลา

ความที่ไม่มีป้ายห้ามจับหรือสัมผัสสิ่งของที่จัดแสดง เป็นเพราะว่า วิลล่า มูเซ่ ต้องการให้บ้านหลังนี้มีชีวิต เสมือนเป็นบ้านหลังหนึ่งที่ยังมีผู้อาศัย ผู้เข้าชมจึงควรทำความเข้าใจในการสัมผัสหรือห้ามนั่งบนเครื่องเรือนบางชิ้นที่จัดแสดง กล้องส่องทางไกลโบราณตั้งเป็นสง่าอยู่กลางห้องพักผ่อน เครื่องหอมฝรั่งในขวดแก้วสไตล์โบฮีเมียน เครื่องกระเบื้องเขียนสีบนชั้นไม้โทรศัพท์โบราณที่เป็นหนึ่งในสามร้อยเครื่องแรกของสยาม แขวนอยู่ในองศาและมุมเก้าอี้ที่พร้อมใช้งาน หากเราทะลุมิติของเวลาเข้าไปได้ ส่วนห้องสุดท้ายริมระเบียงเป็นที่ตั้งของหอพระ ประดิษฐานพระพุทธรูปประจำบ้านเหนือบุษบกไม้แกะสลักปิดทองประดับกระจก ตามความเชื่อในอดีตว่าควรอยู่บนส่วนที่สูงที่สุดของบ้านเพื่อความเป็นสิริมงคล

ด้วยความละเอียดในการจัดแสดง ที่รวบรวมเอาศิลปวัตถุและเครื่องเรือนในสมัยเดียวกันมาตกแต่ง พร้อมทั้งการประกอบเรือนและเก็บรักษาที่ยึดตามแบบศิลปะเรือนไทยโบราณ ทำให้เรือนประเสนชิตได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น ประจำปี 2558 จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์

ไม่เพียงแต่เรือนประเสนชิตซึ่งเป็นเรือนหลัก อีกด้านหนึ่งของวิลล่า มูเซ่ ยังมีเรือนไทยอีกสามหลังซึ่งตั้งอยู่ในภายในบริเวณเดียวกันที่ล้วนต่างที่มา ‘เรือนศรีสุนทร’ เรือนอนุรักษ์หลังล่าสุด สถาปัตยกรรมไทยผสมมอญ ที่นำมาจากราชบุรี ตั้งชื่อตามราชทินนามของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) เสาเรือนเป็นลักษณะสอบเข้า ตกแต่งด้วยเครื่องใช้โบราณ โดยเฉพาะเครื่องเรือนไทยและศาสตราวุธ รวมถึงโอ่งราชบุรีแบบหล่อมือที่รูปทรงไม่สมมาตรเหมือนของใหม่ที่ออกจากโรงงาน และงานเขียนลายแบบนูนที่หาได้ยากแล้วในปัจจุบัน

เรือนไทยแฝดริมน้ำจากสุพรรณบุรี มีชื่อว่า ‘เรือนสิงหฬสาคร’ เป็นเรือนไทยแฝดฝาลายปะกน ที่ยกหลังคาสูงเพิ่มความสบายรับกับเสาเรือนที่สอบเข้าหากัน ตกแต่งด้วยเครื่องเรือนโบราณเช่นกัน ภายในเรือนแบ่งการใช้งานออกเป็นสัดส่วน เช่นเดียวกับภายนอกที่ก็แยกอาณาเขตออกเป็นส่วนตัวด้วยประตูไม้ สำหรับผู้เข้าพักที่ต้องการเปลี่ยนบรรรยากาศมานอนในเรือนไทยนี้ มีราคาอยู่ที่คืนละ 24,000 บาท

ส่วนเรือนไทยหลังใหญ่ที่อยู่ติดกับเรือนประเสนชิต คือการประยุกต์เรือนไทยหมู่ที่สืบทอดศิลปะการปรุงเรือนจากแผ่นดินอยุธยา มีชื่อว่า ‘เรือนสัตยาธิปตัย’ ตามราชทินนามของพระยาพิพากษาสัตยาธิปไตย (โป๋ คอมันตร์) ตกแต่งด้วยเครื่องเรือนหลากที่มาและต่างวัฒนธรรม ตามบันทึกที่บอกกล่าวถึงยุคสมัยการมาถึงของนักเดินเรือชาวตะวันตกและพ่อค้าวาณิช แบ่งห้องพักออกเป็น 5 ห้องนอน ทั้งชั้นบนและชั้นล่าง พร้อมห้องหนังสือและลานกว้างอย่างที่เห็นตามแบบของเรือนขุนนางยุคเก่า ด้านหน้าของเรือนคือสระน้ำเกลือและศาลาเก๋งญวนสำหรับแขกผู้เข้าพัก ในราคา 88,000 บาทต่อคืน

ส่วนเรือนหลังสุดท้ายที่เราจะพูดถึง เป็นเรือนที่ไม่ว่าเราจะเป็นแขกที่เข้าพักที่นี่ หรือเป็นคนเข้ามาชมวิลล่า มูเซ่ ก็สามารถใช้เวลาอยู่ในนั้นได้อย่างผ่อนคลาย คือเรือนสถาปัตยกรรมโคโลเนียลที่ชื่อว่า ‘เรือนอนุรักษ์โกษา’ ที่เปิดให้เป็น  1885 Café เรือนหลังนี้สร้างขึ้นใหม่ตามแบบชิโนโปรตุกีส โดยนำบานเกล็ดและกระจกประดับซึ่งเป็นของเก่าอายุกว่า 100 ปีจากทางภาคเหนือและพม่า ต้อนรับโมงยามของการจิบน้ำชาบนเครื่องเรือนโบราณและโต๊ะประดับมุก ภายในมีนิทรรศการพิเศษ จัดแสดงภาพถ่ายความทรงจำของสยาม ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จัดแสดงและหมุนเวียนไป

เซ็ตชาที่ประกอบด้วยชาและคุกกี้ เตรียมพร้อมสำหรับรับรองผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์อยู่แล้ว แต่ถ้าอยากได้ความพิเศษของชายามบ่าย ที่นี่จัดชุด Afternoon Tea สำหรับสองท่านในราคา 399 บาท ที่เสิร์ฟชาพร้อมกับของว่าง มีทั้งแซนด์วิช บราวนี่ บัตเตอร์เค้กลายหินอ่อน และขนมไทยอย่างฝอยทอง และบัวลอยแห้งคลุกงา ซึ่งอย่างหลังหาทานได้ยาก

เกือบลืมบอกไป ถ้าใครอยากใส่ชุดไทยเพื่อเดินชมและถ่ายรูปให้เข้ากับบรรยากาศ ที่นี่มีชุดไทยไว้บริการรออยู่แล้วด้วย

Fact Box

Villa Musee ตั้งอยู่บริเวณเดียวกับ ภูวนาลี รีสอร์ต ถนนธนะรัชต์ ตำบลหมูสี อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา

เปิดให้เข้าชมเฉพาะวันศุกร์-อาทิตย์ พร้อมผู้นำชมวันละ 4 รอบ คือ คือ 9.00 น, 11.00 น. 14.00 น. และ 16.00 น. ส่วนเรือนประเสนชิต เปิดให้ขึ้นชมได้ครั้งละ 8 ท่าน ตามการรองรับน้ำหนักของตัวบ้าน

ค่าเช้าชม

  • ลูกค้าทั่วไป 400 บาท
  • ลูกค้าผู้เข้าพัก ณ ภูวนาลี รีสอร์ท  300 บาท
  • นักเรียน – นักศึกษา คนละ 100 บาท
  • ส่วนลูกค้าที่เข้าพักในเรือนไทยของ Villa Musée ไม่มีค่าบริการ

ติดต่อสำรองรอบเข้าชมล่วงหน้า หรือเข้าชมเป็นหมู่คณะที่ โทร. 063-225-1555 / www.villamusee.com

 

Tags: , , , ,