เพราะเหตุใดในช่วงนี้ สื่อต่างประเทศหลายสำนักถึงลงความเห็นว่า “นับตั้งแต่ปี 2021 เป็นต้นไป เวียดนามคือเสือแห่งเอเชีย”  The Momentum ได้รวบรวมเหตุผลและความเป็นไปได้ที่จะทำให้เวียดนามก้าวขึ้นมาเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีความสำคัญด้านการค้าและการลงทุนในทวีปเอเชีย แต่ก่อนที่จะเรียกเวียดนามว่าเป็น ‘เสือตัวใหม่’ อาจต้องย้อนถึงความหมายของการเรียกดินแดนหรือประเทศใดประเทศหนึ่งว่าเป็นเสือเสียก่อน

แรกเริ่ม ‘เสือแห่งเอเชีย’ คือการเรียกประเทศที่มีเศรษฐกิจพัฒนาอย่างรวดเร็ว ก่อนหน้านี้หลายคนอาจเคยได้ยินประโยค ‘สี่เสือแห่งเอเชีย’ (Four Asian Tigers) ที่หมายถึง สิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน และเกาหลีใต้ มาตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1960 ดินแดนเหล่านี้มีอัตราเติบโตด้านเศรษฐกิจที่ทั้งรวดเร็วและต่อเนื่องมากกว่า 7% ต่อปี แต่ละที่โดดเด่นกันไปแต่ละเรื่อง เช่น สิงคโปร์มีความสำคัญด้านการเงินในระดับโลก เกาหลีใต้เป็นประเทศผู้นำด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ‘เสือ’ จึงกลายเป็นภาพจำของประเทศหัวแถวที่กำลังพัฒนา (เมื่อหลายสิบปีก่อน) ซึ่งคนในประเทศไทยก็เคยเรียกตัวเองว่าจะต้องเป็นเสือตัวที่ห้าแห่งเอเชียให้ได้

กลับมายังสถานการณ์โลกปัจจุบัน นับตั้งแต่สหรัฐอเมริกามีประธานาธิบดีคนใหม่เป็น โจ ไบเดน (Joe Biden) การแข่งขันด้านการค้าของสหรัฐฯ กับตลาดโลกเริ่มกลับมาคึกคักขึ้นอีกครั้ง ก่อนเกิดการปะทะคารมอย่างเปิดเผยระหว่างรัฐบาลวอชิงตันกับรัฐบาลปักกิ่ง ในการเจอกันอย่างเป็นทางการของทั้งสองประเทศในรัฐบาลชุดใหม่ของสหรัฐฯ ณ เมืองแองเคอเรจ รัฐอะแลสกา เมื่อวันที่ 18 มีนาคมที่ผ่านมา

สหรัฐฯ เปิดประเด็นเรื่องสถานการณ์ในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ การควบคุมเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ข้อพิพาทระหว่างจีนกับไต้หวัน อาชญากรรมไซเบอร์ที่จีนกระทำกับสหรัฐฯ และการที่รัฐบาลปักกิ่งใช้อิทธิพลกดดันทางเศรษฐกิจต่อประเทศที่เป็นพันธมิตรของสหรัฐฯ โดยเฉพาะกับการค้าในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

หลังการประชุมจบลงด้วยการไม่ลงรอย ในช่วงสิ้นเดือนมีนาคม เกิดประเด็นร้อนแรงเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในจีน เมื่ออุตสาหกรรมแฟชั่นระดับโลกหลายเจ้ายืนยันว่าจะไม่ใช่ฝ้ายจากจีน เพราะเชื่อว่าฝ้ายที่ได้เป็นการใช้แรงงานชาวซินเจียงอุยกูร์อย่างไม่เต็มใจ เอเชีย ประเทศจีนจึงต้องเตรียมตัวแข่งขันด้านการค้าอย่างขันแข็งขึ้น

การต่อสู้ของประเทศมหาอำนาจส่งผลกระทบต่อหลายประเทศ เวียดนามนับเป็นหนึ่งในประเทศที่สำคัญต่อการสร้างสมดุลทางการค้าในทวีปเอเชีย แม้คนไทยหลายคนยังคงมีภาพจำเกี่ยวกับเวียดนามว่าตามหลังไทยอยู่มากทั้งด้านการค้า เศรษฐกิจ การท่องเที่ยว โครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับสาธารณูปโภค หรือแม้กระทั่งเรื่องการศึกษา

หลายปีที่ผ่านมา เวียดนามพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง เศรษฐกิจของเวียดนามเติบโตจากปีก่อน 2.9% ทั้งที่ปี 2021 ดำเนินมาได้เพียง 4 เดือนเท่านั้น เปอร์เซ็นต์ดังกล่าวสูงกว่าที่รัฐบาลปักกิ่งคาดการณ์ไว้ว่าในปีนี้เวียดนามจะเติบโตขึ้น 2.3% คู่กับการพัฒนาของชนชั้นกลางเวียดนามที่เพิ่มขึ้น 10% และอาจเป็นตัวเลขที่เติบโตเร็วที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่งผลให้ผู้คนมีกำลังซื้อมากขึ้น ซึ่งการซื้อในที่นี้รวมถึงการซื้อโอกาสทางการศึกษาด้วย เมื่อทุกอย่างดึงดูดนักลงทุนจากทั่วโลก หลายบริษัทจึงเข้ามาทำธุรกิจในเวียดนาม เร่งผลิตสินค้าแล้วส่งออกตามความต้องการของตลาด ส่งผลให้เวียดนามมีจีดีพีที่โตเร็วและสูงที่สุดเป็นอันดับ 3 ของเอเชีย

เว็บไซต์เวียดนามอินไซเดอร์ (Vietnam Insider) อธิบายว่า มีปัจจัยใดบ้างที่จะทำให้เวียดนามก้าวขึ้นมาเป็นเสือตัวใหม่ของเอเชีย ปัจจัยที่สำคัญที่สุดคือการแข่งขันระหว่างสหรัฐฯ กับจีน แต่เหตุผลอื่นๆ ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน อาทิ ความสัมพันธ์ที่แนบแน่นระหว่างเวียดนามกับสหภาพยุโรป ส่งผลให้ฝรั่งเศสปรับลดกำแพงภาษีให้กับเวียดนาม ซึ่งข้อตกลงทางการค้าระหว่างยุโรปและเวียดนาม (EVFTA) ที่ในปีนี้ เน้นถึงการผลิตและจัดหาวัคซีนในเวียดนามเพื่อส่งออกไปยังหลายประเทศ

เวียดนามยังเป็นหนึ่งในผู้ผลิตวัสดุเกี่ยวกับเครื่องหนัง และเป็นผู้ผลิตรองเท้ารายใหญ่ที่มีกำลังการส่งออกที่สำคัญที่สุดในโลก ควบคู่กับการส่งออกยาง พลาสติก เฟอร์นิเจอร์ และบรรจุภัณฑ์อุปกรณ์ไฟฟ้าปิโตรเลียม รวมถึงการเป็นฐานผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคที่สำคัญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สิ่งที่เวียดนามพยายามทำในสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ คือ ‘การพยายามวางตัวเป็นกลางอย่างถึงที่สุด’ หมายความว่าเวียดนามยินดีที่จะเจรจาทางการค้ากับจีน รวมถึงสหรัฐฯ และประเทศพันธมิตรที่เหนียวแน่นของสหรัฐฯ ทั้ง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย อินเดีย รวมถึงสหภาพยุโรป (อียู) ด้วยเช่นกัน ขณะที่ความตึงเครียดของมหาอำนาจยังไม่มีท่าทีคลี่คลาย เวียดนามก็ยังคงเดินหน้าต่อไป บริษัทต่างชาติจำนวนมากเริ่มมองหาพื้นที่ลงทุนใหม่ไม่ใกล้ไม่ไกลอย่างเวียดนาม

ความสามารถในการรักษาระดับการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างมีประสิทธิภาพกว่าหลายประเทศในแถบเดียวกัน เป็นอีกเหตุผลสำคัญที่ทำให้เวียดนามได้รับอนุญาตให้เปิดการค้าและการลงทุนด้านอุตสาหกรรมเร็วกว่าประเทศจีนและอินเดีย ซ้ำยังมีต้นทุนในการผลิตต่ำ แรงงานมีทักษะดี มีโครงสร้างพื้นฐานที่มั่นคง และมองว่าจีนกับอินเดียยังไม่สามารถจัดการกับการระบาดของโควิดได้ หากลงทุนที่อินเดีย เวลานี้ เขาจะไม่สามารถจ้างแรงงานเพื่อผลิตและส่งออกสินค้าได้ในระยะเวลาที่กำหนด จนสามารถเรียกได้ว่าในปี 2021 คือปีทองของการเติบโตและการคว้าโอกาสของเวียดนามก็คงไม่ผิดนัก

อ้างอิง

https://vietnaminsider.vn/vietnam-tiger-asia/

https://citywireasia.com/news/could-vietnam-be-the-next-asian-tiger-economy/a1429713

Tags: , , , , ,