เดือนมิถุนายนของทุกปี ถือเป็นเดือนแห่งความหลากหลายทางเพศ หรือ ‘Pride Month’ ซึ่งมีผู้คนจำนวนมากออกมาเฉลิมฉลอง เพื่อเป็นการแสดงสัญลักษณ์ว่า โลกใบนี้ไม่ได้จำกัดเพียงแค่เพศชายและเพศหญิงเท่านั้น
อย่างไรก็ดี หากย้อนกลับไปหน้านี้หลายร้อยปี เรื่องความเท่าเทียมทางเพศ สิทธิของสตรี และสิทธิของ LGBTQ ดูจะเป็นเรื่องห่างไกลจากความเป็นจริง เมื่ออุดมคติและบริบทของสังคมมนุษย์โลก มักยึดติดกับความเชื่อเดิมที่ ‘ผู้ชาย’ เท่านั้นจึงจะมีสิทธิเป็นผู้นำ ชี้ขาดความสำเร็จ มีความสามารถเหนือเพศอื่น รวมถึงสถาบันหลักต่างๆ อย่าง ครอบครัว รัฐ ศาสนา การศึกษา การเมือง การทูต เศรษฐกิจ ฯลฯ ก็ล้วนถูกสร้างมาให้เอื้อต่อการขับเคลื่อนโดยเพศชาย ดั่งที่หลักฐานทางประวัติศาสตร์ หรือแม้แต่สื่อบันเทิงหลายแขนงสะท้อนออกมาให้เห็นเป็นรูปธรรม ชนิดที่เราอาจแทบไม่รู้ตัวเลยด้วยซ้ำว่ากำลังถูกแนวคิดดังกล่าวครอบงำ และเป็นเครื่องมือกดทับเพศอื่น
กระทั่งต่อมาความเชื่อเรื่องชายเป็นใหญ่ถูกนิยามด้วยศัพท์คำว่า ปิตาธิปไตย (Patriarchy) ก่อนจะกลายเป็นวัฒนธรรมที่ฝังรากลึกโดยเฉพาะชาวเอเชีย ที่สืบทอดต่อกันมารุ่นสู่รุ่น อาทิ ผู้ชายต้องเป็นช้างเท้าหน้า ผู้ชายเท่านั้นที่บวชได้ ผู้นำที่แข็งแกร่งต้องเป็นชายชาติทหาร ลูกชายได้รับการเอาอกเอาใจเพราะมีฐานะเป็นผู้สืบสกุล ห้ามเดินลอดใต้ผ้าถุง ผู้หญิงต้องเป็นกุลสตรีนิสัยห้ามแข็งกระด้าง บางอาชีพต้องเป็นเพศชายชายเท่านั้น และอีกมากมาย
สาเหตุใดถึงต้องเป็นชาวเอเชียที่ยังยึดติดกับแนวความคิดดังกล่าว และซึมซับจนแทบจะฝังรากลึกอยู่ใน DNA?
Tags: Patriarchy, ปิตาธิปไตย, TMMT Podcast, Ways of Being Wild, The Proud of Pride, วัฒนธรรมชาวเอเชีย