เหล่านางแบบระดับท็อปร่างสูงระหงกว่า 30 ชีวิตกับท่วงท่าเซ็กซี่ขี้เล่น นักดนตรีเบอร์ใหญ่ของโลกที่มาร่วมโชว์จนงานเดือดไฟแทบลุก ชุดชั้นในออกใหม่หลากหลายแพทเทิร์น และไหนจะ ‘แฟนตาซีบรา’ มูลค่าหนึ่งล้านเหรียญฯ ถ้วน ทั้งหมดนี้อยู่ในแฟชั่นโชว์ของ Victoria’s Secret แบรนด์ชุดชั้นในชื่อดัง ก็ไม่น่าแปลกใจหากโชว์ของแบรนด์ ‘VS’ จะกลายเป็นหมุดหมายหลักๆ ในช่วงปลายปีที่หลายคนตั้งตารอ …แต่นั่นหมายถึงเมื่อก่อนเสียมากกว่า

ดูเหมือนว่าในปีหลังๆ ความนิยมของ Victoria’s Secret จะลดลงอย่างเห็นได้ชัด หลักฐานที่เด่นชัดที่สุดคือเรตติ้งของเทปบันทึกการเดินแบบของแต่ละปีที่ฟ้องว่าคนดูค่อยๆ ถอยน้อยลงอย่างน่าใจหาย ไม่ว่าแบรนด์จะออกแบบคอลเล็กชั่นเด็ดมากี่ครั้ง งัดนางแบบตัวท็อปมาฟาดความเซ็กซี่กี่คน แต่ก็ยังตรึงคนดูไว้ไม่อยู่ โดยเฉพาะแฟชั่นโชว์ปีที่แล้วที่จัดที่เซี่ยงไฮ้ หลังออกฉายช่อง CBS ก่อนสัปดาห์วันขอบคุณพระเจ้าของอเมริกันซึ่งเป็นช่วงนาทีทองของรายการต่างๆ หากแต่แฟชั่นโชว์ของ VS กลับกวาดคนดูไปได้เพียงน้อยนิดที่เรตติ้ง 1.5 ต่ำกว่าของปี 2016 ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ทั้งที่ลงทุนไปถึง 26 ล้านเหรียญฯ (แม้ว่าทางแบรนด์จะบอกว่ามีผู้ชมได้ดูเทปนี้กว่าหนึ่งพันล้านคนจาก 190 ประเทศทั่วโลกก็ตามที แต่ดูเหมือนว่าระบบเรตติ้งในอเมริกาจะไม่นับรวมด้วยน่ะนะ…) และหลักฐานอีกชิ้นที่ชัดเจนยิ่งกว่าคือ แบรนด์ประกาศเลิกขายชุดว่ายน้ำบิกินี่ในปี 2016 ด้วยเหตุผลว่ายอดขายไม่ถึงเป้า

และกับแฟชั่นโชว์ล่าสุดที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายนที่ผ่านมา แม้จะยังไม่มีค่าความนิยมประกาศออกมาอย่างเป็นทางการเพราะเทปบันทึกการเดินแบบจะออกอากาศอีกทีก็เดือนธันวาคม แต่หากจะวัดกันคร่าวๆ จากสื่อและคำวิจารณ์จากโลกอินเตอร์เน็ตหลังทีมงานปล่อยภาพนิ่งออกมาแล้ว ดูเหมือนว่าปีนี้ก็จะยังเป็นปีที่หนักหนาของ VS อีกปี และยังไม่หมดเพียงแค่นั้น เพราะมรสุมลูกใหญ่ที่ VS กำลังเผชิญอยู่ตอนนี้คือท่าทีและค่านิยมที่แบรนด์สร้างขึ้น ซึ่งกำลังสวนทางกับกับความงามอันไร้กรอบในโลกสมัยใหม่นั่นเอง

จุดขายอย่างหนึ่งของแฟชั่นโชว์จาก VS คือเหล่า ‘แองเจิล’ หรือนางแบบที่ได้รับเลือกให้เป็นพรีเซนเตอร์หลักของแบรนด์ หลังจากที่สร้างภาพลักษณ์ขึ้นมาได้สำเร็จในช่วงต้นยุค 90s แบรนด์ก็ประกาศแบรนด์แอมบาสเดอร์หรือนางแบบผู้จะมาเป็นหน้าตาให้กับชุดชั้นในของบริษัท ซึ่งล้วนแต่เป็นนางแบบระดับต้นๆ ของยุคนั้นอย่างไทร่า แบงค์ส (ก่อนที่ในเวลาต่อมาจะหันมาทำรายการ America’s Next Top Model โด่งดังไปทั่วอเมริกา) และเฮเลน่า คริสเต็นเซ็น ก่อนที่แบรนด์จะทวีความเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ภายใต้การดูแลของ เอ็ด หรือ เอ็ดวาร์ด ราเซ็ค (Edward Razek) หัวเรือใหญ่ของ VS

เหล่านางฟ้าของ VS ไม่เพียงแต่ต้องเป็นนางแบบชื่อดังเท่านั้น แต่พวกเธอยังต้องมาพร้อมเรือนร่างที่ผ่านการเคี่ยวกรำในฟิตเนสมาอย่างดี (แน่นอนว่ารวมถึงวินัยการกินอาหารแสนเคร่งครัด) และพฤติกรรมส่วนตัวที่สะอาดสะอ้าน ไม่มีข่าวคราวเสียหาย เพราะถือว่าเธอคือหน้าตาของแบรนด์

คำถามคือ… แล้วทั้งหมดนี้มันยังดึงดูดความสนใจของคนอยู่จริงๆ หรือ ถ้าคำตอบคือใช่ ทำไมเรตติ้งและความนิยมมันสวนทางลงเหวไปขนาดนั้นกัน

และคำตอบของราเซ็ค —ซึ่งในเวลาต่อมาได้กลายเป็นดราม่าอุ่นๆ ไปเรียบร้อย— ที่เว็บไซต์ Vogue ปล่อยออกมาหลังแฟชั่นโชว์จบไปเพียงหนึ่งวัน ก็ดูจะครอบคลุมทุกข้อกังขา พร้อมกันนั้น โดยตัวคำตอบเองก็ได้ตั้งคำถามใหม่ๆ ขึ้นมาเหมือนกัน เมื่อราเซ็กในวัย 70 กล่าวว่า “ถามว่าเราอยากให้มีนางแบบข้ามเพศมาเดินในโชว์ไหมน่ะเหรอ ไม่ล่ะครับ ผมไม่คิดอย่างนั้นนะ เพราะโชว์นี้มันคือแฟนตาซี มันมีเวลาเพียง 42 นาทีอันแสนพิเศษที่จะบันเทิงผู้คนน่ะ”

เช่นเดียวกันกับนางแบบพลัสไซส์หรือสาวร่างใหญ่ ที่ราเซ็คเองตอบอย่างเรียบง่ายว่า “เราเองก็ไม่ได้มองว่าจะให้มีนางแบบพลัสไซส์ในโชว์ของเราอยู่แล้ว เพราะเรามีแบรนด์ Lane Bryant ซึ่งเป็นแบรนด์ที่เจาะตลาดสาวไซส์ใหญ่อยู่แล้ว แต่แค่วางขายเฉพาะช่วงแบบเดียวกับที่เสื้อผ้าแบรนด์อื่นๆ เจาะตลาดพิเศษในโลกเขาวางขายกัน เราขายคนที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย ไม่ได้ขายคนทั้งโลก เราเคยพยายามทำรายการโทรทัศน์ที่ว่าด้วยสาวพลัสไซส์ (ในปี 2000) แต่ปรากฏว่าไม่มีใครให้ความสนใจเลย ทุกวันนี้ก็ไม่”

คำตอบนี้ได้สร้างความเดือดดาลให้แก่สาวๆ และหลายคนที่ตามติดแบรนด์ VS มาโดยตลอด และยิ่งโหมกระพือหนักกว่าเก่าเมื่อมันดันเป็นบทสัมภาษณ์ที่ปล่อยออกมาหลังจากโชว์เพียงแค่วันเดียว ตัวโชว์เองถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่า VS พยายามกู้เรตติ้งที่ดิ่งลงเหวจนน่าเศร้าด้วยการเอานางแบบชื่อดังมาเดิน (ทั้งยังเล่าลือกันว่าไม่ต้องผ่านการแคสติ้ง ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นที่เลื่องลือว่าเกณฑ์โหดหินเหลือเกิน กว่าจะได้ไปเดินสับขาบนรันเวย์แห่งนี้

นั่นทำให้ความ ‘ขลัง’ ที่แบรนด์เคยมีนั้นลดลงอย่างเห็นได้ชัด บวกรวมกับการให้สัมภาษณ์ของราเซ็คที่แทบจะเป็นการขับรถน้ำมันพุ่งเข้าชนกองเพลิงที่กำลังคุโชน ทั้งตัวราเซ็คและแบรนด์เองจึงถูกโจมตีอย่างหนักว่ากำลังลดทอนคุณค่าของแบรนด์ที่สร้างมานานนับสิบปี เจ็บกว่านั้นคือค่านิยมแบบ VS ไปด้วยกันไม่ได้อีกต่อไปแล้วในโลกยุคที่คนรุ่นใหม่ๆ เริ่มรู้สึกว่าพวกเขาไม่ได้อยากหรือมีความจำเป็นต้องดูเหมือน ‘นางฟ้า’ อันหมดจดของแบรนด์เสมอไป

‘ความหลากหลาย’ จึงกลายเป็นโจทย์ที่หลายคนพร้อมจะจ่อไมค์ไปยังตัวแบรนด์ VS เพราะโชว์ปีล่าสุดที่มีนางแบบหน้าใหม่มาร่วมสับขาในรันเวย์ ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเอาเข้าจริงก็ไม่มีอะไรใหม่ ไม่มีนางแบบพลัสไซส์หรือนางแบบข้ามเพศ ขณะที่แบรนด์อื่นๆ อย่าง Michael Kors เปิดพื้นที่ให้ แอชลีย์ กราแฮม นางแบบไซส์ใหญ่ฟาดรันเวย์ของตัวเองไปเมื่อปีก่อน หรือแบรนด์ Universal Standard ที่จัดแคมเปญเสื้อผ้าของสาวข้ามเพศไปจนถึงเสื้อผ้าสำหรับคนทุกไซส์ ว่าเป็นไปได้ไหมที่จริงๆ แล้ว VS ยังยึดมั่นในขนบวิธีคิดแบบเดิมๆ และยังไม่ปรับตัวเข้ากับแนวคิดสมัยใหม่จนส่งผลโดยตรงต่อยอดขาย

ความเดือดยังดำเนินต่อ ด้วยความพยายามที่จะชี้แจงให้เห็นถึงความหลากหลายที่ VS มี ราเซ็คให้สัมภาษณ์พาดพิงถึงแบรนด์ Savage x Fenty ของริฮานน่า ศิลปินสาวชื่อก้องโลก (ที่ตอนนี้หันมาจับงานค้าขายเป็นงานหลักคู่กันไปกับงานร้องเพลงแล้วเรียบร้อย) ซึ่งเป็นแบรนด์ชั้นในเหมือนกัน ด้วยการระบุถึงการที่แบรนด์ของริฮานน่าให้นางแบบสาว สลิค วู้ดส์ ซึ่งกำลังตั้งท้องแก่จัดขึ้นเดินบนโชว์ (หลังโชว์จบไปได้วันเดียว วู้ดส์ก็คลอดลูกในคืนต่อมานั่นเอง!) วู้ดส์ยังโพสต์ลงอินสตาแกรมอย่างภาคภูมิด้วยว่า “มาเพื่อจะบอกว่า ฉันทำห่ะอะไรก็ได้ที่ฉันอยาก คุณเองก็เหมือนกันนะโว้ย” เพื่อเป็นการประกาศจุดยืนในเนื้อตัวและปลดภาพลักษณ์การเดินแบบที่ต้องเป็นหญิงสาวผอมบางร่างสูงอย่างเดียว ส่วนริฮานน่าก็กล่าวหลังจบโชว์ว่า “มันน่าละอายจะตายที่ผู้หญิงต้องมารู้สึกตะขิดตะขวงใจกับเรือนร่างของเธอเอง พวกเธอถูกสังคมปลูกฝังมาว่ารูปร่างที่ดีมีแค่แบบเดียวเท่านั้น”

และกับประเด็นนี้ ราเซ็คกล่าวสั้นๆ ว่า “เอาจริงๆ นะ เราเคยมีนางแบบที่กำลังตั้งท้องขึ้นไปเดินโชว์ตั้งสามคน แต่คนกลับเอาแต่พูดถึง Savage x Fenty ซึ่งแน่ล่ะว่าเราก็ได้ดูโชว์นั้นเหมือนกัน ก็บันเทิงดีนะครับ แต่อะไรที่พวกเขา ‘บุกเบิก’ มาน่ะ พวกเราทำมาหมดแล้ว และจะทำต่อไปด้วย”

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าตัวแบรนด์จะแข็งข้อหรือมึนตึงใส่ความหลากหลายเสียทีเดียว เพราะในแฟชั่นโชว์ปีนี้ แบรนด์ VS เพิ่งจะแคสติ้งเอา วินนีย์ ฮาร์โลว นางแบบชาวแคนาดาที่ผิวมีลักษณะของโรคด่างขาวขึ้นมาเดินบนแคตวอล์ค ซึ่งฮาร์โลวให้สัมภาษณ์อย่างซาบซึ้งใจว่า มันเป็นเรื่องที่น่าปลื้มปริ่มสำหรับเธอมากที่แบรนด์ซึ่งมีคนดูอยู่ทั่วโลกแคสต์เธอไปเดินในที่สุด “ทุกย่างก้าวของความเท่าเทียมและความหลากหลายในอุตสาหกรรมนางแบบนั้นยอดเยี่ยม แต่การที่แบรนด์ใหญ่อย่าง Victoria’s Secret ให้ฉัน –ซึ่งเป็นโรคด่างขาว ได้เป็นนางแบบของแบรนด์ด้วยนั้น ก็นับเป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่ของอุตสาหกรรมนี้ในการทำให้สิ่งเหล่านี้กลายเป็นเรื่องสามัญเรื่องหนึ่งของวงการ”

(แต่ถึงอย่างนั้นคงปฏิเสธไม่ได้ว่าแม้จะเป็นโรคด่างขาว แต่นั่นกลายเป็นจุดขายยิ่งยวดสำหรับ ‘ภาพความหลากหลาย’ และฮาร์โลวก็ถือว่าเป็นหนึ่งในนางแบบตัวท็อปซึ่งเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกอยู่แล้ว)

สำหรับราเซ็คเองในฐานะผู้บริหาร คำว่าความหลากหลายของเขานั้นออกจะซับซ้อนอยู่ไม่น้อย แน่ล่ะว่าการนำนางแบบโรคด่างขาวมาเดินบนเวทีนั้นก็เป็นอีกการเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ แต่มันย่อมนำไปสู่คำถามของความหลากหลายในมิติอื่นๆ ด้วยเช่นกัน “ไม่งั้นก็คงมีคำถามตามมาว่าทำไมไม่ทำบราไซส์ 50 ทำไมไม่ทำบราไซส์ 60 หรือ 24 (แบรนด์ VS มีไซส์สำหรับคัพ 30A ถึงคัพ 40 DDD) ทำไมโชว์คุณไม่มีแบบนั้นแบบนี้” ราเซ็คอธิบาย

“ผมว่าเราเป็นทุกสิ่งให้ผู้บริโภคไม่ได้ขนาดนั้นหรอก มันคือธุรกิจไม่ใช่ห้างสรรพสินค้า ผมถามตัวเองตลอดแหละว่า ถ้าเราจะทำอะไรสักอย่าง เหตุผลของมันคืออะไร ทำไมเราถึงอยากเชิญคนนั้นมาร่วมงาน เราอยากเชิญมาแค่เพื่อทำให้พวกสื่อมวลชนเลิกตั้งคำถามหรือเปล่า เราอยากเชิญเขามาร่วมงานเพราะมันเป็นสิ่งที่ถูกต้องจริงๆ หรือแค่เพราะมันเป็นเรื่องทางการเมือง ทางสังคม”

และภายหลังการให้สัมภาษณ์อันแสนจริงใจนี้ (บ้างก็ว่าคุณปู่ราเซ็คคิดน้อยไปนิด) วงการแฟชั่นจึงลุกเป็นไฟ  ตัวราเซ็คและแบรนด์ถูกวิจารณ์ว่าไม่ยอมหมุนตามโลก (แถมแม่นางริฮานน่าก็ไปกดไลค์แสดงความเห็นด้วยกับทวิตเตอร์รายหนึ่งที่ขอบคุณแบรนด์ชั้นใน Savage x Fenty ที่มีพื้นที่ให้ความหลากหลายมากกว่าแบรนด์ชั้นในบางยี่ห้อที่บริหารดูแลด้วยคนอายุ 70 ที่ยังติดอยู่ในอดีตอยู่เลย!)

จนในที่สุด ราเซ็คแถลงการณ์ขอโทษสิ่งที่เขาให้สัมภาษณ์ใน Vogue ว่า “ผมขอโทษกับสิ่งที่เกิดขึ้น และเพื่อความชัดเจน เราแคสติ้งนางแบบข้ามเพศมาอยู่ในโชว์ของเราจริงๆ นางแบบข้ามเพศเคยมาคัดตัวกับเรา และเช่นเดียวกับนางแบบอีกหลายๆ ราย พวกเขาแค่ไม่ผ่านเท่านั้นเอง หากแต่มันไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องเพศ ด้วยความสัตย์ ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในอนาคตจะมีนางแบบข้ามเพศมาเดินในโชว์จริงๆ ผมชื่นชมและนับถือการต่อสู้ของพวกเขาเสมอ”

ไม่เพียงแต่โลกแฟชั่นเท่านั้น แต่ความหลากหลายยังเป็นโจทย์ที่ท้าทายแวดวงอื่นๆ ทั้งดนตรี ภาพยนตร์ ไปจนถึงงานในมิติอื่นๆ ว่าพร้อมจะเปิดรับความแตกต่างจากที่เคยมากน้อยแค่ไหน และนี่อาจนับเป็นความท้าทายที่หนักหนาของแบรนด์ VS เช่นกัน เมื่อนาทีนี้ แม้จะคนละตลาด แต่แบรนด์ชั้นในอื่นๆ ก็ดูจะมาแรงและทรงพลังอย่างยิ่งในโลกแห่งการแข่งขัน จนตัวแบรนด์อาจต้องกลับมาทบทวนถึงจุดยืนและทิศทางต่อไปในอนาคต ว่าการยังคงแนวคิดเดิมแบบเมื่อสิบกว่าปีก่อนนั้น มันยังจะไปได้อยู่อีกไกลแค่ไหนในโลกที่ความนิยมแบบนั้นมันไม่เข้มข้นแบบเมื่อก่อนแล้ว

 

ที่มาภาพ: Angela Weiss / AFP

Tags: , , , , , ,