ผู้เขียนประหลาดใจไม่น้อยขณะเดินเลือกซื้อผักกับสมาชิกครอบครัวในซูเปอร์มาร์เก็ตโมเดิร์นเทรด เพราะคำว่าปลอดภัย ปลอดสาร อนามัย อินทรีย์ แม้กระทั่งไฮโดรโปนิกส์ถูกใช้สลับกลับไปมาจนชวนให้สงสัยว่าเราเข้าใจคำศัพท์เหล่านี้ มากน้อยเพียงใด ยังไม่นับสารพัดตราสัญลักษณ์ที่เป็นทั้งแบบกล่าวอ้างด้วยตนเอง หรือมีองค์กรกลางเป็นผู้ออกเครื่องหมายรับรอง ที่ชวนให้สับสนงงงวยไม่น้อย
ผู้เขียนลองเข้า Google ค้นหาระดับความเข้าใจของข้อมูลที่เผยแพร่อยู่ในอินเทอร์เน็ต พบว่ามีหลายเว็บไซต์อธิบายได้ค่อนข้างครบเครื่อง แต่หลายแห่งกลับใช้คำอย่าง ‘ผักปลอดสารพิษ’ และ ‘ผักออร์แกนิก’ เป็นเสมือนคำที่มีความหมายพ้องกัน ซึ่งแน่นอนครับว่าเป็นความเข้าใจผิดอย่างรุนแรง
ในบทความนี้ ผู้เขียนจะชวนให้เรามาทำความเข้าใจกันเสียใหม่ ว่าสารพัดคำเรียกผักผลไม้นั้นแตกต่างกันอย่างไร ควรจะเลือกซื้อผักผลไม้แบบไหนที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด แล้วเราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าคำอวดอ้างนั้นเป็นความจริง
สารพัดมาตรฐานเขียวของสินค้าเกษตร
สำหรับผู้ที่ไม่ได้ใกล้ชิดกับกระบวนการผลิตสินค้าเกษตรอาจนึกภาพไม่ออกนักว่าการผลิตผักหรือผลไม้จะใช้สารเคมีอะไรนักหนา โชคดีที่ผู้เขียนเคยคลุกคลีกับเกษตรกรอยู่บ้าง เลยพอได้ยินหลักคิดเรื่องการทำเกษตรสมัยใหม่ซึ่งหากต้องการผลผลิตที่ดีงาม ต้องทุ่มทุนตั้งแต่การซื้อเมล็ดพันธุ์ที่ดี นั่นหมายความว่าอาบยาหรือตัดแต่งให้แข็งแรง กู้เงินเตรียมทุ่มซื้อปุ๋ยเคมีเพื่อให้ผลผลิตงอกงาม และแน่นอนว่าสารพัดยากำจัดศัตรูพืชและวัชพืช เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่มีสิ่งใดมารบกวนต้นกล้าต้นน้อยที่วันหนึ่งจะกลายเป็นเงินในกระเป๋าสตางค์
นี่คือวิธีปฏิบัติปกติ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่เพียงพอต่อปากท้องของชาวเมืองซึ่งไม่ได้ผลิตอาหารด้วยตนเอง
ความกังวลเรื่องสารพิษตกค้างเริ่มมาพร้อมกับกระแสสีเขียว เมื่อมนุษย์เริ่มเห็นแสนยานุภาพการทำลายล้างของสารเคมีทั้งต่อสิ่งแวดล้อมและตัวมนุษย์เอง จึงต้องพยายามปรับกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นและเป็นภัยต่อผู้บริโภคน้อยลง นั่นคือวิธีปฏิบัติเพื่อให้มั่นใจว่าอาหารที่รับประทานเข้าไปจะมีสารพิษตกค้างในปริมาณที่ ‘ไม่เป็นอันตราย’
หันไปมองในตลาด สินค้าเกษตรที่เห็นกันทุกวี่วันในตลาดสดย่อมไม่ติดฉลาก แน่นอนครับว่าผลิตภัณฑ์เหล่านี้มีที่มาจากกระบวนการปลูกที่อุดมด้วยสารเคมี โดยไร้การตรวจสอบควบคุมคุณภาพหรือสารตกค้างก่อนจะเดินทางมาถึงมือผู้บริโภค ดังนั้นการซื้อหาผักผลไม้ประเภทนี้ก็ไม่ต่างจากซื้อหวย ถ้าโชคดีก็รอด แต่หากโชคร้ายก็จบไม่ค่อยสวยนัก
ยกระดับขึ้นมาคือผักอนามัย ผักปลอดภัย และผักปลอดสาร ผู้เขียนจัดผักผลไม้เหล่านี้อยู่ในกลุ่มเดียวกัน เพราะมีลักษณะคล้ายคลึงกันคือ เกษตรกรสามารถใช้สารเคมีได้เต็มที่ไม่ต่างจากผักผลไม้ทั่วไป แต่ต้องใช้อย่างมีความรู้ความเข้าใจ รวมถึงเก็บเกี่ยวในช่วงเวลาปลอดภัยกล่าวคือช่วงเวลาที่สารเคมีเหล่านี้เจือจางเบาบางอยู่ในระดับที่ไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคนั่นเอง นั่นหมายความว่าเกษตรกรยังคงใช้สารเคมีซึ่งส่งผลต่อระบบนิเวศที่แปลงปลูก แต่ผู้บริโภคก็สามารถสบายใจได้ในระดับหนึ่งว่ารับประทานได้แบบปลอดภัย
ส่วนผลิตภัณฑ์ที่ถือว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุดก็คือผักผลไม้อินทรีย์หรือออร์แกนิกนั่นเอง โดยผักผลไม้เหล่านี้มีเงื่อนไขและการควบคุมเคร่งครัด ตั้งแต่พื้นที่บริเวณเพาะปลูกที่ต้องมีรั้วธรรมชาติกั้นขวางระหว่างแปลงอินทรีย์กับแปลงเคมี วิธีปฏิบัติก็เข้มงวดเพื่อป้องกันการปนเปื้อนของสารเคมี โดยเกษตรกรต้องบันทึกทุกขั้นตอนในการผลิต เช่น ใส่ปุ๋ยชนิดใด จำนวนเท่าไร ได้มาจากแหล่งไหน ฯลฯ เรียกได้ว่าสามารถสอบทานได้เมื่อถูกตรวจสอบ และอีกสารพัดเงื่อนไขเพื่อให้ได้สินค้าอินทรีย์แท้ๆ ที่ปลอดภัยต่อทั้งสิ่งแวดล้อมในแปลงเกษตร เกษตรกร และผู้บริโภค
เพื่อให้เห็นภาพ ผู้เขียนขอยกตัวอย่างคุณลุงหมีใหญ่ เกษตรกรผู้ใช้สารเคมีที่ต้องการเปลี่ยนผ่านสู่เกษตรกรอินทรีย์
ก้าวแรกคือการเดินเข้าไปหาสำนักงานที่รับรอง เช่น สำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ซึ่งจะเป็นบุคคลที่สามที่คอยตรวจสอบวิธีปฏิบัติทางการเกษตร แล้วเลือกมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ที่ต้องการ ในตัวอย่างนี้ผู้เขียนขอเลือกมาตรฐานของ สหพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ (International Federation of Organic Agriculture Movements – IFOAM)
ก้าวแรกของการเปลี่ยนผ่านสู่อินทรีย์ ไม่ใช่ว่าหยุดใช้เคมีปุ๊บจะติดตราอินทรีย์ได้เลย เพราะต้องเข้าสู่ระยะเปลี่ยนผ่าน คือระยะที่หยุดใช้สารเคมีราว 1 ปี ถึง 3 ปี ขึ้นอยู่กับลักษณะพืชผลที่ผลิต ช่วงเวลาดังกล่าวนับว่าโหดหินเพราะสินค้าที่ผลิตจากแปลงนี้จะยังไม่ได้รับการรับรองว่าเป็นสินค้าเกษตรอินทรีย์ แต่ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ทุกประการ
หลังจากปักธงสู่การเป็นเกษตรกรอินทรีย์ ลุงหมีใหญ่จะต้องเรียนรู้ถึงที่มาของสิ่งนำเข้าทุกอย่างในแปลง ไม่ว่าจะเป็นเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย หรือสารกำจัดศัตรูพืช ซึ่งทั้งหมดจะต้องคัดสรรจากฟาร์มที่ได้รับการรับรองว่าเป็นอินทรีย์ หรืออย่างน้อยต้องมั่นใจว่าไม่มีการปนเปื้อนของสารเคมีใดๆ เมื่อก้าวสู่วิถีออร์แกนิก ลุงหมีใหญ่ยังต้องเข้าใจเรื่องคุณภาพดิน คุณภาพน้ำ และความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงวางแผนปรับปรุงแปลงเกษตรของตนเองให้เหมาะสม เช่น การปลูกพืชหมุนเวียนเพื่อปรับปรุงคุณภาพดิน การวางมาตรการรักษาคุณภาพน้ำ
การควบคุมการผลิตนั้นรวมไปถึงปลายทางคือการบรรจุภัณฑ์และแปรรูป ซึ่งสินค้าเกษตรที่ได้รับการรับรองว่าเป็นเกษตรอินทรีย์นั้น จะต้องมีการแบ่งแยกเครื่องจักรการผลิตหรือบรรจุจากผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้รับการรับรอง เพื่อให้มั่นใจว่าผลิตภัณฑ์อินทรีย์นั้นไร้การปนเปื้อนก่อนส่งมอบไปถึงมือผู้บริโภค นี่คือส่วนหนึ่งของสารพัดความยุ่งยากก่อนที่เราจะได้รับประทานสินค้าออร์แกนิกที่ได้มาตรฐาน จึงไม่น่าแปลกใจหากจะพบว่าสินค้าเหล่านี้อาจมีราคาสูงกว่าค่าเฉลี่ย
ส่วนผักไฮโดรโปนิกส์นั้น ผู้เขียนมักจะแซวเล่นๆ ว่าเป็น ‘ผักปลอดสาร’ แต่หมายถึงปลอดสารอินทรีย์ และใช้เคมีล้วนๆ เพราะผักไฮโดรโปนิกส์จะปลูกในสารละลายที่มีแร่ธาตุอาหารจากการสังเคราะห์ คล้ายกับการปลูกผักในห้องทดลองที่ควบคุมปริมาณสารอาหารได้ทุกอย่าง ซึ่งไม่ได้การันตีความปลอดภัยต่อการบริโภคแต่อย่างใด แต่อาจมีสารตกค้างน้อยกว่าเพราะไม่ต้องใช้สารกำจัดวัชพืชหรือศัตรูพืชมากนัก
แล้วเราจะเชื่อถือได้อย่างไร?
ช่องว่างที่สำคัญคือความรู้ระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค เราๆ ท่านๆ ไม่มีทางทราบเลยว่าวิธีปฏิบัติทางการเกษตรของผู้ผลิตต้นทางนั้นเป็นอย่างไร ซึ่งวิธีปิดช่องว่างดังกล่าวคือการมีองค์กรตัวกลางที่เป็นอิสระมาเป็นสะพานระหว่างสองฝ่าย ซึ่งมีทั้งภาครัฐและภาคเอกชน
สำหรับภาครัฐ ตรารับรองที่ค่อนข้างคุ้นตาคือ การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี หรือ Good Agricultural Practices ที่เรียกย่อๆ ว่า GAP โดยกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีสัญลักษณ์เป็นรูปตัว Q สีเขียวนั่นเอง มาตรฐานนี้จะเน้นที่วิธีการผลิตของเกษตรกร โดยยังสามารถใช้สารเคมีได้ในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อให้ปลอดภัยต่อเกษตรกรและผู้บริโภค
ส่วนอีกหนึ่งการรับรองที่อาจพอพบเห็นกันบ้าง คือ ตราสัญลักษณ์รับรองคุณภาพระบบตรวจสอบสารพิษตกค้างในผักผลไม้สด ซึ่งกำหนดมาตรฐานและดูแลโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข การรับรองดังกล่าวจะเป็นการรับรองที่ปลายทางว่าผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรนั้นผ่านการสุ่มตรวจโดยระบบตรวจสอบสารพิษตกค้างที่ได้มาตรฐาน
ตรารับรองทั้งสองนี้ ผู้เขียนจะจัดอยู่ในประเภทผักอนามัย ผักปลอดภัย และผักปลอดสาร โดยยังให้เกษตรกรใช้สารเคมีได้ แต่จะต้องมีปริมาณที่เหมาะสม และไม่ตกค้างจนเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค
ตรารับรองสุดท้ายที่เริ่มกลายเป็นที่คุ้นตามากขึ้น คือตรา Organic Thailand โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เจ้าเดิม แต่จะมีความเข้มงวดกว่าการรับรอง GAP เพราะยกเอามาตรฐานของการทำเกษตรอินทรีย์มาใช้
สำหรับภาคเอกชน ศูนย์รับรองที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดคือ สำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ โดยมีบริการตรวจสอบและให้การรับรองเกษตรอินทรีย์ตามมาตรฐานของ สหพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ (IFOAM) และระบบเกษตรอินทรีย์ของต่างประเทศ เช่น สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา แคนาดา และสวิตเซอร์แลนด์
ตัวอย่างตรารับรองผักผลไม้อนามัย ปลอดภัย ปลอดสาร และอินทรีย์โดยภาครัฐและภาคเอกชน
ส่วนสินค้าที่ผู้ผลิตกล่าวอ้างว่าเป็นเกษตรอินทรีย์หรือปลอดสารเคมีโดยไม่มีตรารับรองนั้น เอาเข้าจริงก็ไม่สามารถเชื่อถือได้เทียบเท่ากับการรับรองจากองค์กรอิสระ ผู้เขียนแนะนำว่า หากผู้บริโภคอย่างเราๆ ท่านๆ ต้องการเลือกซื้อผักผลไม้อย่างสบายใจว่าไม่มีสารเคมีตกค้าง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ก็เลือกสินค้าที่ได้รับการรับรองแทนที่จะเป็นสินค้าที่ผู้ผลิตคิดเองเออเองว่าปลอดสารพิษ หรือผลิตแบบอินทรีย์ เพราะไม่มีทางทราบได้เลยว่าคำกล่าวอ้างนั้นจริงเท็จมากน้อยเพียงใด
หัวใจสำคัญของตรารับรองเหล่านี้คือความน่าเชื่อถือ ในรายงานผลการสุ่มตรวจสารพิษตกค้างในผักผลไม้ปี 2562 ของเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือไทยแพน มีสิ่งที่น่าประหลาดใจคือผักผลไม้ที่เราซื้อในห้างโมเดิร์นเทรดนั้น มีสารพิษตกค้างอยู่ในระดับอันตรายสูงถึงร้อยละ 44 จาก 118 ตัวอย่างซึ่งสูงกว่าผักผลไม้ที่ซื้อจากตลาดสด (ร้อยละ 39 จาก 168 ตัวอย่าง)
ภาพจากรายงานโดยไทยแพน
ที่น่าตกใจกว่านั้นคือ สินค้าที่ได้รับตรารับรองจากภาครัฐก็ยังพบสารพิษตกค้างในระดับที่เป็นอันตราย แม้กระทั่งตรา Organic Thailand ซึ่งไม่ควรมีสารตกค้าง ยังพบสารเคมีถึง 4 ตัวอย่างจาก 6 ตัวอย่าง ในขณะที่ผักผลไม้ซึ่งติดตรารับรองการผลิตแบบอินทรีย์ เช่น IFOAM USDA และ EU ไม่พบสารพิษตกค้างแต่อย่างใด
แม้ว่าจำนวนตัวอย่างจะค่อนข้างน้อยเกินกว่าที่จะนำมาตีความทางสถิติ แต่ก็นับว่าน่าสนใจอย่างยิ่งเพราะผู้บริโภคบางคนยอมจ่ายแพงกว่าเพื่อซื้อสินค้าในห้างโมเดิร์นเทรด หรือสินค้าที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจากภาครัฐ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ผลิตภัณฑ์เหล่านั้นกลับมีระดับความปลอดภัยสูงกว่าสินค้าทั่วไปที่ไม่มีการรับรองเพียงเล็กน้อย
รู้แบบนี้แล้ว เลือกซื้อผักผลไม้ครั้งหน้า ก็หวังว่าจะเลือกให้ถูกต้องตรงใจกับความต้องการนะครับ
เอกสารประกอบการเขียน
ผักเกษตรอินทรีย์ แตกต่างจากผักอื่นอย่างไร?
อินทรีย์ อนามัย ปลอดภัย ไร้สาร ???
การรับรองระบบตรวจสอบสารพิษตกค้างในผักสด / ผลไม้สด
Fact Box
- สารพิษตกค้างในผักบางชนิดสามารถชำระล้างได้หากล้างอย่างถูกวิธี กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะนำวิธีการล้างผักผลไม้เบื้องต้น 3 วิธีคือ
- ล้างด้วยน้ำไหล โดยแช่ผักผลไม้ในน้ำนาน 15 นาที จากนั้นเปิดน้ำไหลผ่านพร้อมถูทำความสะอาดนาน 2 นาที
- แช่ผักผลไม้ในน้ำผสมน้ำส้มสายชู 5 เปอร์เซ็นต์ ในอัตราส่วนน้ำส้มสายชู 1 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 4 ลิตร แช่นาน 15 นาที จากนั้นล้างด้วยน้ำสะอาด
- แช่ผักผลไม้ในน้ำผสมโซเดียมไบคาร์บอเนต (เบคกิ้งโซดา) ในอัตราส่วนครึ่งช้อนโต๊ะผสมน้ำ 10 ลิตร แช่ทิ้งไว้ 15 นาที จากนั้นล้างด้วยน้ำสะอาด
- ตรารับสองผลิตภัณฑ์ผักผลไม้ออร์แกนิก หรือปลอดสารพิษ เหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างของฉลากเขียว (Ecolabel) เท่านั้น โดยฉลากเขียวหรือฉลากระบุผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ยังถูกนำมาใช้กับผลิตภัณฑ์นอกเหนือจากผักผลไม้ ตั้งแต่อาหาร อาคาร ไปจนถึงเครื่องใช้ไฟฟ้า รู้จักฉลากเขียวเพิ่มเติมได้ใน เลือกซื้อของอย่างไร ไม่ทำร้ายโลก (จนเกินไป)