เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน ที่ผ่านมา บริษัท Valve Corporation (วาล์ว คอร์ปอเรชัน) เจ้าของ Steam Store (สตีมสโตร์) แพลตฟอร์มจัดจำหน่ายเกมดิจิทัลที่ประสบความสำเร็จรายใหญ่ของโลกได้เขียนบล็อก (blog) แถลงการยุติบทบาทการคัดกรองเกมที่จะจัดจำหน่ายบนแพลตฟอร์มของตัวเอง

Valve ประกาศอย่างชัดเจนว่า บริษัทไม่ควรมีอำนาจในการตัดสินว่าเกมใดมีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมหรือไม่ เพราะ “เกมที่วางจำหน่ายบน Steam Store ล้วนมีความหลากหลายทางเนื้อหา ในประเด็นที่มีการโต้เถียงทางสังคมอย่างการเมือง เรื่องเพศ การเหยียดผิว เพศสภาวะ ความรุนแรง อัตลักษณ์ และอื่นๆ อีกมากมาย”

ทางบริษัทย้ำต่อไปว่าความหลากหลายของรูปแบบและเนื้อหาบน Steam Store นั้นจะต้องมี “เกมที่คุณเกลียดหรือเกมที่คุณคิดว่าไม่ควรจะถูกผลิตขึ้นมาเลย นอกเสียจากว่าคุณไม่มีความเห็นใดๆ ความรู้สึกเหล่านั้นย่อมเกิดขึ้นแน่นอน”

นอกจากนี้ Valve ยังต้องเผชิญกับปัญหาอื่นๆ ที่ทำให้การคัดกรองเกมทำได้ยาก เช่น กฎหมายที่มีความแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศที่ให้บริการ Steam Store หรือความคิดที่ไม่ลงรอยกันของพนักงานในบริษัทเองว่าเกมใดควรหรือไม่ควรถูกวางจำหน่าย ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ทางบริษัทตัดสินใจประกาศว่า วิธีการดำเนินการที่ถูกต้องคือการ “เปิดให้เกมทุกเกมมีพื้นที่บน Steam Store ยกเว้นเกมที่ทางบริษัทตัดสินว่าผิดกฎหมายหรือเกมที่สร้างมาเพื่อจงใจเกรียน”

ทางบริษัทเชื่อว่าการลดความสำคัญของการ “ตรวจตรารักษาการ” (policing) จะทำให้บริษัทมีเวลาที่สร้างเครื่องมือที่จะช่วยให้ผู้ใช้คัดกรองเกมที่ผู้ใช้สนใจได้ดีขึ้น เพื่อตอกย้ำว่าเกมที่วางขายบน Steam Store จะไม่ใช่ “ภาพสะท้อนคุณค่าของบริษัท” (a reflection of Valve’s values) แต่เป็นเพียง “ความเชื่ออันเรียบง่ายของเราว่าคุณมีสิทธิที่จะสร้างและบริโภคคอนเทนต์ที่คุณเลือก”

เชิดชูเสรีภาพ หรือ ปัดความรับผิดชอบ?

กระแสตอบรับมาตราการใหม่ของ Valve แบ่งออกเป็นสองขั้วสุดโต่ง เว็บไซต์เกมอย่าง polygon.com มองว่าการที่ทางบริษัทยกเลิกมาตรการตรวจตรารักษาการใดๆ บนแพลตฟอร์มของตัวเองเป็นการขาดวามรับผิดชอบขั้นสูง เพราะนั่นหมายถึงทางบริษัทผลักภาระหน้าที่คัดเลือกคอนเทนต์ที่เหมาะสมมาที่ผู้บริโภค เพราะ “มันเป็นความรับผิดชอบของผู้บริโภคที่จะไม่ทัศนาสิ่งที่ตนเองไม่ชอบ ซึ่งเหตุที่ Valve ไม่อยากคำนึงประเด็นที่ละเอียดอ่อนหล่านี้เพราะมันทำให้บริษัทเสียเวลานับทรัพย์”​

นอกจากนั้น Polygon ยังได้ท้าวความว่ามาตรการใหม่ของ Valve เป็นการตอบสนองต่อคำถามที่ว่าบริษัทจะจัดการเกมแนวนิยายภาพ (Visual Novel) ที่มีเนื้อหาติดเรทจนภาพบางส่วนต้องถูกเซ็นเซอร์ (censor) หรือเกมบางเกมต้องถูกถอดออกจากแพลตฟอร์มอย่างไร

ในขณะเดียวกันนั้น ทางฝั่งชุมชนผู้ใช้ Steam (Steam Community) จำนวนหนึ่งก็เห็นดีเห็นงามกับการตัดสินใจของทางบริษัทที่ต้ดสินใจต่อสู้กับสื่อ “หัวก้าวหน้า” (progressive) อย่าง Polygon ที่กดดันให้ Valve คัดกรองเกมที่มีเนื้อหาไม่ตรงกับอุดมการณ์เสรีนิยมฝ่ายซ้ายของสื่อออกจากแพลตฟอร์ม โดยกล่าวหาว่าเป็นการทำลายเสรีภาพในการพูด (freedom of speech) ของผู้บริโภค

ดังเช่นความเห็นของผู้ใช้ชื่อ GHEIST ที่กล่าวว่า “ผมยินดีที่พวกคุณรู้ว่าพวกกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ไม่ใช่ลูกค้าของคุณ ขอบคุณที่ตัดสินใจได้ถูกและขอบคุณที่รักษาเสรีภาพในการสร้างสรรของอุตสาหกรรมนี้ไว้”

ผู้ใช้ Night. ให้ความเห็นในแนวทางที่เปรียบการลดหย่อนมาตรการการคัดสรรเกมเข้ากับการต่อสู้ทางการเมืองกับอุดมการณ์เสรีนิยม (Liberalism) “ผมไม่ต้องการให้ฝ่ายซ้ายมาบอกผมว่าผมจะอ่านอะไร คิดอะไร เสพศิลปะอะไร หรือเล่นเกมอะไร…เหมือนกับที่ผมไม่ต้องการให้สถาบันศาสนามาบอกอะไรแบบนั้นกับผม คนต้องโตเป็นผู้ใหญ่ เลิกมองหารัฐที่ทำตัวเป็นพ่อและบริษัทที่ทำตัวเป็นแม่มาคอยบอกว่าจะต้องคิดอะไร แล้วให้สื่อที่มีอุดมการณ์ฟาสซิสต์มาบงการเพื่อจำกัดความคิด”

ดราม่านี้มีประเด็นที่น่าสนใจจากตัวละครทั้งสามกลุ่มมาเกี่ยวข้อง

Valve กับมาตรการ ‘อะไรก็ได้’

ก่อนอื่นต้องขอชื่นชม Valve ที่ดัดแปลงมาตรการเปิดรับ “อะไรก็ได้เว้นแต่ที่บริษัทเห็นว่าไม่เหมาะสม” ที่เว็บไซต์ somethingawful.com เว็บบอร์ดที่เจาะตลาดผู้ใช้ที่ชอบเรื่อง “ฮาๆ เถื่อนๆ เกรียนๆ” ได้ใช้มาก่อน

ริชาร์ด เคียนกา (Rich Kyanka) ผู้ก่อต้งเว็บไซต์ได้ให้สัมภาษณ์กับทางเว็บไซต์ theoutline.com ว่าวิธีการที่จะจัดการผู้ใช้เว็บไซต์ที่แสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสมคือ “เราทิ้งกฎข้อสุดท้ายไว้ว่า เราจะแบนผู้ใช้ด้วยเหตุผลใดก็ได้ มันเหมือนเป็นคำที่ครอบคลุมทุกอย่าง เราแบนคุณได้ถ้าอุณหภูมิในห้องสูงเกินไป เราแบนคุณได้ถ้าวันนี้เป็นวันที่แย่สำหรับเรา เราแบนคุณได้นิ้วเราเผลอไปกดปุ่มแบน”

Valve เองก็เลือกใช้คำที่ครอบคลุมและคลุมเครืออย่าง “ผิดกฎหมาย” (ผิดอย่างไร? ในแง่ไหน?​ กฎหมายของใคร? การขโมยเอาอุปกรณ์ผลิตเกมจาก Unity Store มาพัฒนาเป็นเกม แล้วขายบน Steam Store ถือว่าผิดกฎหมายหรือไม่?) และ “จงใจเกรียน” (อะไรคือเกรียน? ขอบเขตของเกรียนคือแค่ไหน? เกมที่ “สอน” ให้ผู้ชายจีบผู้หญิงด้วยคำพูดและพฤติกรรมที่คุกคามทางเพศอย่าง Super Seducer: How to Talk to Girls ถือเป็นเกมเกรียนๆ ในระดับเดียวกับ Aids Simulator ที่ผู้เล่นสวมบทบาทเป็นผู้นักท่องเที่ยวที่รู้ว่าตัวเองติดโรคเอดส์จากแอฟริกา จึงต้องสังหารคนแอฟริกันเพื่อป้องกันไม่ให้โรคเอดส์แพร่กระจายไปทั่วโลก ซึ่ง Valve ได้ถอดเกมนี้ออกจากแพลตฟอร์มแล้วด้วยบรรทัดฐานว่าเกมนี้ “จงใจเกรรียน” หรือไม่อย่างไร?)

แน่นอนว่า Valve ไม่จำเป็นต้องตอบคำถามเหล่านี้โดยละเอียด เพราะวาทศิลป์ที่ครอบจักรวาลชุดนี้ยังคงให้อำนาจแก่บริษัทเป็นผู้ตัดสินใจคนสุดท้ายในทุกกรณี ดุจดังมาตรา 44 สำหรับแพลตฟอร์มจัดจำหน่ายเกมดิจิทัล ในระหว่างนั้น ผู้ใช้มีสิทธิอย่างเต็มในการใช้เครื่องมือคัดกรองเนื้อหาที่ทางบริษัทจะจัดเตรียมไว้ให้อนาคตเพื่อต่อยอดระบบที่ช่วยให้ผู้ใช้เห็นว่าเกมอาจถูกสแปม (spam) ด้วยคำวิจารณ์ด้านลบในช่วงเวลาหนึ่ง

ท่าทีที่ลดการกำกับสินค้าดิจิทัลในร้านค้าของบริษัทและควบคุมพฤติกรรมการจับจ่ายของผู้บริโภคนี้ชี้ชัดว่า Valve มีทิศทางในการบริหารแพลตฟอร์ม Steam Store ด้วยอุดมการณ์แบบอิสรนิยม (Libertarianism) ให้ความสำคัญกับเสรีภาพของปัจเจกบุคคลในบริบทของตลาดเสรีโดยจำกัดการแทรกแซงจากรัฐให้น้อยที่สุดเท่าที่จะน้อยได้ เพราะยิ่งรัฐมีอำนาจมากเท่าไรก็จะมีศักยภาพที่จะควบคุมและจำกัดเสรีภาพของปัจเจกบุคคลมากขึ้นตามไปด้วย

กฎเกณฑ์เดียวที่ทั้ง Valve และผู้บริโภคควรเคารพคือการตัดสินใจในฐานะปัจเจกบุคคลของบริษัทที่จะถอดสินค้าออกจากร้านค้าเพราะ “ผิดกฎหมาย” หรือ “เกรียนเกิน” และของผู้บริโภคที่ควรใช้เสรีภาพและวิจารณญาณของตนในการคัดเลือกสินค้า

เว็บไซต์เกม “หัวก้าวหน้า” อย่าง Polygon เองก็มีเหตุผลที่ผิดหวังกับมาตรการเอาหูไปนาเอาตาไปไร่  Valve ก่อนอื่นต้องแจ้งผู้อ่านว่า เวลาที่ชุมชนผู้ใช้ Steam Store พาดพึงถึงเว็บไซต์เกมหัวก้าวหน้านี้ พวกเขาหมายถึงเว็บไซต์เกมอย่าง polygon.com, kotaku.com หรือ waypoint.vice ที่พวกเขามองว่านำเสนอข่าวและให้คะแนนเกมรีวิวโดยให้ความสำคัญกับเกมที่สามารถนำอุดมการณ์ทางการเมืองแบบเสรีนิยมและบริบททางสังคม วัฒนธรรม หรือเพศสภาพ เข้ามาส่วนหนึ่งของประสบการณ์การเล่น เหนือ ‘คุณภาพ’ ในเชิงกราฟิก การบังคับ หรือดนตรีของเกม

สำหรับเว็บไซต์หัวก้าวหน้าแล้ว การที่ Valve ละความรับผิดชอบในการคัดสรรเนื้อหาเกมทั้งปวงนั้นหมายความว่า แพลตฟอร์มจำหน่ายเกมดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดเลือกที่จะไม่แสดงจุดยืนเชิงอุดมการณ์ต่อประเด็นทางสังคมที่เกมนำเสนอ และในระดับหนึ่ง ก็เป็นปัจจัยที่ผลักดันให้นักพัฒนาผลิตเกมที่มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นเหล่านี้ขึ้นมาแต่แรก ยิ่งไปกว่านั้น Valve ยังแสวงหารายได้ดุจเสือนอนกินจากค่าธรรมเนียมที่นักพัฒนาจะต้องจ่ายให้กับทางบริษัททุกครั้งก่อนนำเกมขึ้นสโตร์

มิติการเป็น ‘แรงงานที่ไม่มีรายได้’ ของผู้ใช้ Steam Store

และแล้วเราก็ดำเนินมาถึงชุมชนผู้ใช้ Steam ที่ผมมองว่าเป็นตัวละครที่น่าศึกษาในการเปลี่ยนแปลงมาตรการนี้ เห็นได้ชัดว่ากระแสตอบรับจากชุมชนผู้ใช้อย่าง Night. ที่ได้กล่าวไปข้างต้นพร้อมยืนเคียงข้างการตัดสินใจของบริษัท ถึงขั้นว่าผู้บริโภคอย่างพวกเขาต้องปกป้องบริษัทจากกระแสโจมตีจากสื่อ

นั่นหมายความว่า ในเชิงปฏิบัติ ผู้ใช้ยอมที่จะใช้เครื่องมือคัดกรอง (filtering tool) ที่ Valve จะพัฒนาขึ้นเพื่อคัดกรองหาเนื้อหาที่ตนเองต้องการบนแพลตฟอร์มที่มีเกมอยู่มหาศาลในทุกประเภท บนฐานความคิดที่ว่าการมีโอกาสได้เลือกเฟ้นข้อมูลสินค้าด้วยตัวเองนี้เป็นตัวแทนของ “อิสรภาพ”

เป็นเรื่องที่น่าคิดว่าเหตุใดผู้ใช้อย่าง Night. ถึงไม่ฉุกคิดแม้แต่น้อยว่า การมอง Steam Store เป็นตัวแทนของการตลาดเสรีที่แทบไม่มีการควบคุมจากกลไกแพลตฟอร์ม ก็เป็น “การเมือง” ใต้อุดมการณ์อิสรนิยมในตัวมันเอง สิ่งที่น่าตกใจยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ผู้ใช้มองไม่เห็นมิติของการถูกบริษัทแสวงหาผลประโยชน์จากสถานะของการเป็นแรงงานที่ไม่มีรายได้ ผู้คอยทำหน้าที่คัดสรรจัดหมวดเกมให้กับ Valve ในนามของเสรีภาพแห่งการเลือก

หลายคนคงเคยได้ยินวลี “ถ้าคุณไม่ต้องจ่ายเงินให้กับสินค้า คุณนั่นแหละคือสินค้า” (If you’re not paying for it, you’re the product.) ทุกครั้งที่แพลตฟอร์มโซเซียลฯ อย่างเฟซบุ๊กนำข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ไปขายโฆษณา เราสามารถนำวลีชุดนี้มาประยุกต์ใช้กับ Steam Store ได้ โดยปรับเปลี่ยนเป็น “ถ้าร้านค้าให้เสรีภาพในการเลือกซื้ออย่างไร้ขีดจำกัด คุณนั่นแหละคือคนจัดชั้นวางของ” (If the store gave you unlimited freedom to buy, you are the storekeeper)

ในปัจจุบัน ผู้ใช้ก็ทำหน้าที่เป็นคนจัดชั้นวางของอยู่แล้วเพราะ Valve เปิดให้ผู้ใช้สามารถสร้าง user tags (การจัดประเภทเกมโดยผู้ใช้) ให้กับเกมทุกเกม เพื่อให้ผู้ใช้คนอื่นสามารถค้นหาเกมตาม user tag ที่สนใจได้ ซึ่ง user tags บน Steam Store มีจำนวนมหาศาล ครอบคลุมตั้งแต่

  • ประเภทเกม เช่น Action, Adventure, Strategy, Simulation, Indie
  • รูปแบบการเล่นและการบังคับ เช่น First Person, Third Person, Single Player, Co-op, Mouse Only, Turn-Based, Sandbox
  • บรรยากาศในเกม เช่น Funny, Horror,  Dark, Colorful, Relaxing
  • ประเด็นล่อแหลม เช่น Nudity, Violent, Gore, Sexual Content, เกมเกรียนๆ เช่น Parody, Meme, Satire

และอื่นๆ อีกมากมายถึงขนาดที่ผู้เขียนต้องใช้เวลากว่า 17 วินาทีโดยเฉลี่ย เพื่อที่จะเลื่อนลิสต์ user tags จากบนลงล่างได้ครบ

นอกเหนือจากระบบการสร้าง user tags แล้ว Steam Store ยังสนับสนุนวัฒนธรรมการเขียนรีวิวให้กับเกมที่ผู้ใช้มีไว้ในครอบครอง ซึ่งผู้ใช้สามารถเขียนรีวิวยาวกว่าบทความชิ้นนี้ก็ได้ ถ้าต้องการ

ปริมาณ user tags และรีวิวอันมหาศาลบน Steam Store เป็นสัญลักษณ์อันเหมาะเจาะของแนวคิดอิสรนิยมที่เป็นฐานคิดของ Valve เราไม่อาจปฏิเสธกระแสตอบรับจากการรีวิวและ user tags ล้วนส่งผลต่อการตัดสินใจของผู้บริโภคคนอื่นๆ นั่นหมายความว่า ผู้ใช้ที่มีส่วนร่วมกับกระบวนการคัดสรรและคัดกรองเกมบน Steam Store เป็นฟันเฟืองที่ทำให้เศรษฐกิจของร้านค้าดำเนินต่อไปได้ หรือถ้าจะพูดให้ถูกต้องกว่านั้นก็คือ Valve ประสบความสำเร็จในการมอบหน้าที่การคัดสรรและการจัดหมวดหมู่เกมไปสู่ผู้ใช้ด้วยกลยุทธ์การกระจายงานสู่มวลชน (crowdsourcing) โดยทางบริษัทไม่ต้องลงทุนอะไรที่เป็นรูปธรรม นอกเหนือไปจากการนำเสนอภาพลักษณ์ว่า Steam Store เป็นแพลตฟอร์มที่สนับสนุน “เสรีภาพ” ด้วยการผลักภาระด้านการจัดการข้อมูลมาที่ผู้ใช้ทั้งหมด

และคงไม่ใช่เรื่องที่เหนือจินตนาการมากนัก หากต่อไป Valve นำน้ำพักน้ำแรงการคัดสรรเกมของชุมชนผู้ใช้มาพัฒนาต่อ แล้วนำกลับมากระจายงานสู่ผู้ใช้อีกต่อหนึ่ง

Tags: , , , , ,