พระมหาวุฒิชัยหรือ ‘ท่าน ว.’ เป็นหนึ่งในพระภิกษุที่ประสบความสำเร็จด้านชื่อเสียงที่สุดในประเทศไทย  และก็เหมือนกับกาละแมร์ ตูน คัตโตะ หรือบุคคลซึ่งเป็นที่รู้จักกว้างขวางรายอื่น อะไรที่เกี่ยวกับท่านย่อมมีผู้ที่สนับสนุนหรือไม่เห็นด้วยเสมอ เช่นเดียวกับความเห็นของท่านที่มีผู้ชื่นชมและโต้แย้งตลอดเวลา

ล่าสุด คำบรรยายธรรมของท่านในวาระปีที่ 45 ของเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ก็เป็นชนวนให้คนโต้เถียงกันอีก  เพราะท่านพูดว่า ประชาธิปไตยเป็นระบบการปกครองที่มนุษย์เรียกร้องต้องการมากที่สุด ซ้ำยังถามต่อไปว่าทำไมคนชั้นกลางในกรุงเทพหรือคนที่มีการศึกษา กับประชาธิปไตยจึงเป็นฝ่ายตรงข้ามกัน?

ธรรมเทศนาของท่านมีเนื้อหาแสนจับใจว่า

“อาตมาภาพเกิดในช่วงที่ประชาธิปไตยกำลังเบ่งบาน เพราะฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่า ประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่มีคุณค่าเหลือเกิน นี่คือระบบการปกครองที่เคารพมนุษย์มากที่สุด เป็นระบบการเมืองการปกครองที่มนุษย์มีศักดิ์ศรีมากที่สุด เป็นตัวของตัวเองมากที่สุด ระบบเช่นนี้มิใช่หรือที่มนุษย์เรียกร้องต้องการมากที่สุด”

และในตอนถัดมา

“ชนชั้นกลางในเมืองอย่างกรุงเทพมหานครอยู่ตรงข้ามกับประชาธิปไตยได้อย่างไร ทั้งๆ ที่ถือว่าเป็นผู้ที่มีการศึกษาที่สุดในประเทศ แต่แล้วทำไมกลุ่มคนที่ถือว่ามีการศึกษาที่ดีที่สุดในประเทศไทยถึงอยู่ตรงกันข้ามกับประชาธิปไตย อยากฝากให้พวกเราทุกคนไปร่วมกันคิด ถ้าเราหวังว่าอยากจะให้ประชาธิปไตยในบ้านเมืองของเรามีความเจริญรุ่งเรืองยั่งยืนจริงๆ”

แน่นอนว่าพระมหาวุฒิชัยพูดสองเรื่องที่ธรรมดาจนไม่ควรจะมีปัญหาอะไร  หรือไม่อย่างนั้น คนกลุ่มแรกที่ควรหงุดหงิดเมื่อท่านเทศน์ชมประชาธิปไตยน่าจะได้แก่เผด็จการทหาร เพราะนอกจากคำเทศน์จะยั่วให้คิดว่ามนุษย์โดยธรรมชาตินั้นรังเกียจเผด็จการ ข้อความทั้งหมดยังอาจเชิญชวนให้ลูกศิษย์ท่านเอือม คสช.

อย่างไรก็ดี คนกลุ่มที่เกลียดรัฐบาลนี้กลับเป็นฝ่ายเดือดคำเทศนาของท่าน ว.  มากที่สุด เพราะแม้ทุกคนฟังแล้วจะรู้สึกว่าท่านวิจารณ์รัฐประหาร แต่ก็มีคนเชื่อว่าท่านฝักใฝ่รัฐบาลจนไม่มีทางพูดเรื่องนี้ด้วยใจบริสุทธิ์  ไม่ต้องพูดถึงคนที่อารมณ์ค้างจากทวีตท่านช่วงชุมนุมให้ยุบสภาปี ’53 ว่า “ฆ่าเวลาบาปกว่าฆ่าคน”

สำหรับคนกลุ่มนี้ อย่างดีหน่อยท่านก็แค่เทศน์ตามวาระงานที่เจ้าภาพอย่างมูลนิธิ 14 ตุลากำหนด ส่วนคนที่คิดมากก็บอกว่ารัฐบาลขาลงและประเด็น “ตู่ใช้กองหนุนหมด” ทำให้ท่านโหนฝ่ายวิจารณ์รัฐบาล

หากตัดเรื่องการเมืองที่หลายคนอาจเข้าข่ายมโนความคิดของท่านทิ้งไป คำเทศน์ของท่านแสดงมายาคติสองเรื่อง เรื่องแรกคือความคาดหวังว่าคนชั้นกลางและผู้มีการศึกษาต้องอยู่ฝ่ายประชาธิปไตย และมายาคติเรื่องที่สองคือเราสามารถพูดได้ชัดๆ ว่าคนชั้นกลางยุคนี้มีท่าทีสนับสนุนหรือต่อต้านรัฐบาล

หนึ่งในมายาคติที่อยู่คู่สังคมไทยคือ ชนชั้นกลางและผู้มีการศึกษาต้องนิยมประชาธิปไตย ไวยากรณ์การคิดของเราเชื่อมต่อการศึกษากับประชาธิปไตยตั้งแต่ระดับจิตใต้สำนึก เราชอบพูดว่าคนชัดเรื่องประชาธิปไตยเพราะเขาเรียนนอกที่นั่นที่นี่ และใครพูดเรื่องเดียวกันนี้แย่ ก็จะถูกแขวะว่าเสียดายไปถึงเมืองนอกเมืองนา

หนึ่งในมายาคติที่อยู่คู่สังคมไทยคือ ชนชั้นกลางและผู้มีการศึกษาต้องนิยมประชาธิปไตย

ยกตัวอย่างง่ายๆ คนไทยชอบพูดว่า ศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ (อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มธ.) ชัดเรื่องนิติรัฐเพราะจบเยอรมัน อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์) พูดเรื่องประชาธิปไตยแย่ทั้งที่จบอ๊อกซฟอร์ด อ.ปิยบุตร แสงกนกกุล (อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มธ.) พูดเรื่องสถานะกษัตริย์เพราะเรียนฝรั่งเศส ฯลฯ ทั้งที่การเรียนที่ไหนและจบประเทศแบรนด์อะไรนั้นไม่ได้กำหนดความคิดคนไปหมด เพราะ ศ.ดร. สมคิด เลิศไพฑูรย์ (สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ) จบฝรั่งเศส ส่วนวิษณุ เครืองาม (รองนายกรัฐมนตรี) จบสหรัฐอเมริกา

เอาเข้าจริงๆ วิธีคิดที่เอาประชาธิปไตยผูกกับการศึกษานั้นอันตราย  เพราะทำให้เราเผลอรับรู้โลกราวกับคนส่วนใหญ่ที่ไม่จบอะไร หรือเรียนอิหร่าน  หรือเรียนในสถาบันที่ไม่ได้ติดอันดับโดดเด่นในประเทศไทย ฯลฯ คิดเรื่องประชาธิปไตยน้อย และในที่สุดย่อมทำให้เห็นคุณค่าเฉพาะความคิดทางการเมืองที่มาจากคนหยิบมือเดียว

มีสาเหตุอย่างน้อยสองข้อที่ทำให้ ท่าน ว. และผู้ที่ไม่ชอบท่านกลับคิดเรื่องคนชั้นกลางและประชาธิปไตยตรงกัน ข้อแรกคือ การติดกับดักความรู้จากครึ่งศตวรรษว่า ประชาธิปไตยต้องมีคนสองกลุ่มนี้ คือ คนชนชั้นกลางและคนมีการศึกษาเป็นรากฐาน และข้อสองคือการตกหลุมพรางประวัติศาสตร์ว่ามีแต่คนสองกลุ่มนี้ที่สำคัญต่อความเปลี่ยนแปลง

คนที่เรียนสังคมศาสตร์คงรู้ว่าทฤษฎีความทันสมัยหรือ Modernization Theory ในทศวรรษ 1950 คือต้นกำเนิดของความเชื่อว่าคนชั้นกลางสำคัญต่อประชาธิปไตย คำอธิบายง่ายๆ คือในสังคมปิดที่เศรษฐกิจมีความเติบโตต่อเนื่อง คนชั้นกลางจะมีจำนวนมากขึ้นจนถึงจุดที่เรียกร้องการเมืองแบบเปิดกว่าที่ผ่านมา

การติดกับดักความรู้จากครึ่งศตวรรษว่า ประชาธิปไตยต้องมีคนสองกลุ่มนี้ คือ คนชนชั้นกลางและคนมีการศึกษาเป็นรากฐาน และข้อสองคือการตกหลุมพรางประวัติศาสตร์ว่ามีแต่คนสองกลุ่มนี้ที่สำคัญต่อความเปลี่ยนแปลง

แน่นอนว่าตอนนี้ มีคนเชื่อทฤษฎีนี้น้อยลง บางคนเห็นว่า ‘การเมืองเปิด’ ที่คนชั้นกลางต้องการนั้นอาจไม่ต้องเป็นประชาธิปไตย บางคนบอกว่าประชาธิปไตยไม่ได้สำคัญต่อคนชั้นกลางขั้นขาดไม่ได้ และบางคนบอกว่าชนชั้นนี้ต้องการสถาบันการเมืองที่จัดสรรทรัพยากรทางเศรษฐกิจให้รวยขึ้นมากกว่าประชาธิปไตย

มองออกไปนอกประเทศไทย ปรากฏการณ์ที่คนชั้นกลางหนุนทหารยึดอำนาจเคยเกิดในละตินอเมริกาทศวรรษ 1960s-1970s โดยเฉพาะในคนชั้นกลางกลุ่มข้าราชการ ลูกจ้างระดับสูง พนักงานรัฐวิสาหกิจ ฯลฯ ขณะที่จีนซึ่งมีคนชั้นกลางเพิ่มไม่หยุดก็เป็นตัวอย่างของสังคมที่คนชั้นกลางแคร์เงินกว่าประชาธิปไตย

ย้อนกลับเข้ามาในประเทศไทย คำถามเรื่องคนชั้นกลางต้องการประชาธิปไตยหรือไม่และแค่ไหนคงตอบแบบเร็วๆ ได้จากการมองคนรอบตัวว่าทุกวันนี้มีกี่คนที่สนใจเรื่องประชาธิปไตยอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเทียบกับเรื่องประเภท โปรปิ้งย่าง อัปหน้าร้านไหน ทินเดอร์นกมั้ย หรือได้ไลก์กี่คน?

นอกจากความเข้าใจของสังคมเรื่องคนชั้นกลางกับประชาธิปไตยจะอยู่บนความรู้จาก 50 ปีก่อนที่ตอนนี้ก็หมดความน่าเชื่อถือไปเยอะ ความรับรู้ทางประวัติศาสตร์ก็เป็นเหตุของความเข้าใจนี้ด้วยเหมือนกัน

สำหรับผู้เรียนประวัติศาสตร์ไทย คนชั้นกลางคือตัวแปรที่ถูกใช้อธิบายความเปลี่ยนแปลงในประเทศมากที่สุด ปฏิวัติ 2475 เกิดจากนักเรียนนอกกับคนชั้นกลางเบื่อเจ้า การต่อต้านเผด็จการปี 2516 เกิดจาก ‘พลังนักศึกษา’ และการขับไล่นายกนายพลปี 2535 เกิดจาก ‘ม็อบมือถือ’ ของชนชั้นกลางจบขั้นต่ำปริญญาตรี

อย่างไรก็ดี ข้อเท็จจริงคือ เรามีคนชั้นล่างที่เป็นผู้ก่อการ ผู้ต่อสู้ และผู้สูญเสียในการขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงประเทศรายกรณีเยอะมาก ตัวอย่างเช่น 2475 มีกรรมกรรถรางเข้าร่วมแน่ๆ ส่วนคนตายปี 2553 บางส่วนเป็นคนสลัมคลองเตย  แต่ประวัติศาสตร์ของประเทศกลับปฏิเสธที่จะพูดถึงคนเหล่านี้ตลอดเวลา

ตราบใดที่ไม่สามารถสร้างความรับรู้ทางประวัติศาสตร์ที่มองเห็นบทบาทของคนชั้นล่างต่อความเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ของประเทศทั้งโดยตรงและโดยอ้อม เราก็จะตกอยู่ในกับดักของความลวงว่าคนชั้นกลางและผู้มีการศึกษาคือพลังในการเปลี่ยนประเทศอย่างที่ผ่านมา

ข้อเท็จจริงคือ เรามีคนชั้นล่างที่เป็นผู้ก่อการ ผู้ต่อสู้ และผู้สูญเสียในการขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงประเทศรายกรณีเยอะมาก แต่ประวัติศาสตร์ของประเทศกลับปฏิเสธที่จะพูดถึงคนเหล่านี้ตลอดเวลา

อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าพระมหาวุฒิชัยหรือ ‘ท่าน ว.’ เดินเรื่องคำเทศน์ของท่านบนโครงเรื่องว่าชนชั้นกลางไม่สนประชาธิปไตย  แม้คำพูดนี้จะน่าชื่นชมที่กล้าวิพากษ์คนชั้นกลางแบบตีแสกหน้า แต่ปัญหาคือการใช้คำว่า ‘คนชั้นกลาง’ โดยนิยามไม่ชัด ย่อมส่งผลให้ผู้ฟังได้ยินคำนี้แล้วคิดถึงคนละเรื่องเดียวกัน

เมื่อใดที่ใช้คำว่า ‘คนชั้นกลาง’ อธิบายสังคม สิ่งที่ควรทำคือการระบุว่ากำลังพูดถึง ‘คนชั้นกลาง’ ในความหมายไหนเสมอ บางคนบอกว่า ความเป็นคนชั้นกลางขึ้นอยู่กับการนิยามตัวเองเป็นชนชั้นนี้ แต่บางคนเห็นว่า ชนชั้นขึ้นต่อรายได้-การศึกษา-อาชีพ ซึ่งหากนิยามต่างกันก็จะพูดถึงเรื่องเดียวกันไม่เหมือนกัน

ยกตัวอย่างง่ายๆ ถ้าคนชั้นกลางเกิดจากการนิยามตัวเองว่าไม่ได้เกิดในตระกูลเก่าแก่หรือครอบครัวยากจน ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ (รองประธานฯ ไทยซัมมิท) ต้องเข้าข่ายเป็นคนชั้นกลางแน่ๆ  แต่ถ้าคนชั้นกลางวัดที่เรื่องรายได้ มันคงไม่ถูกที่จะบอกว่าธนาธรผู้ตั้งเป้ารายได้ธุรกิจปีละกว่าหนึ่งแสนล้านจะเป็นคนชั้นกลางเท่ากับชายหนุ่มฐานะปานกลางอย่างจ่านิว

แน่นอนว่า มีคนชั้นกลางร่วมทำลายประชาธิปไตยหลังปี 2557 แต่คนอีกเยอะในกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตยก็เป็นคนชั้นกลางเช่นกันไม่ใช่หรือ  นักเคลื่อนไหวอย่าง โบว์ – ณัฏฐา มหัทธนา หรือรังสิมันต์ โรม ไม่ใช่ทั้งลูกท่านหลานเธอหรือไพร่ จนต้องถือว่าเป็น ‘คนชั้นกลาง’ ด้วยแน่ และเมื่อเป็นแบบนี้ เราจะพูดได้หรือว่าคนชั้นกลางหันหลังให้ประชาธิปไตย?

เอาให้เป็นรูปธรรมขึ้นไปอีก สื่อมวลชนอย่าง อัญชลี ไพรีรักษ์ หรือ กนก รัตน์วงศ์สกุล ผู้เป่านกหวีดเรียกทหารยึดอำนาจนั้นเป็นคนชั้นกลางเหมือนจ่าประสิทธิ์และคุณณัฐวุฒิไม่ใช่หรือ ส่วนสหภาพการบินไทยและธนาคารออมสินที่ขวางจำนำข้าวเพื่อล้มรัฐบาลจากการเลือกตั้งนั้น ก็ไม่ได้มีฐานะทางชนชั้นสูงกว่าชาวนาจังหวัดอุดรฯ

พูดตรงๆ เราไม่สามารถสรุปได้ว่าคนชั้นกลางเวลานี้สนับสนุนหรือต่อต้านประชาธิปไตย เพราะไม่มีใครสามารถแสดงออกทางการเมืองโดยอิสระ เว้นเสียแต่เราจะจำกัดจินตภาพของ ‘คนชั้นกลาง’ ไว้ที่คนห้อยนกหวีดหนุนรัฐประหาร ซึ่งนั่นเท่ากับเปิดทางให้คนกลุ่มนี้ปล้นคำว่า ‘คนชั้นกลาง’ ไปเป็นของตัวเอง

ธรรมเทศนาของท่าน ว. น่าชื่นชมในแง่วิพากษ์คนชั้นกลางว่าเมินประชาธิปไตย  แต่ฉันทาคติของท่านทำให้ท่านคิดว่าประชาธิปไตยได้มาโดยความใส่ใจของคนกลุ่มนี้ ท่านเชื่อเหมือนครึ่งศตวรรษที่แล้วว่าคนชั้นกลางคือฐานของประชาธิปไตย โจทย์ของเทศนาจึงไปทิศทางว่าทำอย่างไรให้คนกลุ่มนี้สนใจการเมือง

อย่างไรก็ดี หากยอมรับว่าชนชั้นและการศึกษาไม่เกี่ยวกับประชาธิปไตย  ข้อเสนอที่ควรเป็นคือ คนชั้นกลางและผู้มีการศึกษาต้องหยุดคิดว่าตัวเองเข้าใจประชาธิปไตยกว่าคนกลุ่มอื่น หยุดผูกขาดไม่ให้ใครพูดเรื่องประชาธิปไตยแตกต่างจากสองกลุ่มนี้ รวมทั้งสร้างการเมืองที่เสียงของคนชั้นล่างสำคัญไม่น้อยกว่าคนสองกลุ่มอย่างที่ผ่านมา

Tags: , , , , ,