ท่ามกลางบรรยากาศการเลือกตั้งที่ชวนระทึก และชวนให้ลุ้นว่า ภายหลังผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนกาบัตรเลือกตั้ง และฟังผลการนับคะแนนแล้ว นักการเมืองคนไหนหรือพรรคไหน จะ ‘จูบ’ กับใครหรือพรรคไหนเพื่อการจัดตั้งรัฐบาลบ้าง แต่ก่อนถึงวันนั้น เรามาทำความรู้จักภาพ ‘จูบ’ ที่ไม่เสแสร้ง อีกทั้งยังเป็นตำนานกันดีกว่า…

เขาโน้มตัวเธอลงในอ้อมแขน และประทับจูบลงบนริมฝีปากของเธอ จนเธอเซ เสียหลัก ต้องใช้เท้าข้างหนึ่งประคองตัวไว้ มือข้างซ้ายเกาะจับชายกระโปรง – กะลาสีเรือกับนางพยาบาล ท่ามกลางความปีติยินดีของผู้คน ก่อนทั้งสองจะผละออกจากกัน และแทรกหายไปกับฝูงชน

แต่ชั่วขณะที่ทั้งสองประทับจูบกันนั้น อัลเฟรด ไอเซนสเตดต์ (Alfred Eisenstaedt) ช่างภาพผู้สื่อข่าวของนิตยสารไลฟ์ ได้บันทึกภาพเก็บไว้ และไม่ช้าต่อมามันได้กลายเป็นภาพ ‘จูบ’ ที่โด่งดังไปทั่วโลก

ไอเซนสเตดต์กดชัตเตอร์ในช่วงเวลานั้นถึงสี่ครั้ง ตั้งชื่อภาพเรียบง่ายว่า ‘V-J Day in Times Square, นิวยอร์กซิตี, 14 สิงหาคม 1945’ ประสาช่างภาพผู้สื่อข่าว ทำหน้าที่ส่งภาพประวัติศาสตร์ของโมงยามนั้นไปให้สำนักพิมพ์โดยปราศจากคำอธิบายหรือความเห็นใดๆ

การที่ภาพดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์ออกสื่อกระจายไปทั่วโลกนั้น มีเหตุผลเบื้องหลังในแง่ประวัติศาสตร์ นั่นคือ เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 1945 เวลาประมาณ 12 นาฬิกาตามเวลาท้องถิ่น วิทยุโตเกียวได้ถ่ายทอดเสียงของจักรพรรดิฮิโรฮิโตะว่า ญี่ปุ่นยอมยุติสงคราม หลังจากระเบิดปรมาณูถล่มฮิโรชิมาและนางาซากิ

ข่าวดีจากญี่ปุ่นเดินทางถึงสหรัฐอเมริกาในเวลาถัดมา ซึ่งช้ากว่าเวลาตามปฏิทินของญี่ปุ่น ชาวนิวยอร์กได้รับข่าวตั้งแต่ตอนเที่ยงวัน จึงพากันออกมาแสดงความปรีดาบนท้องถนนในแมนฮัตตัน ก่อนที่ในเย็นวันเดียวกัน ประธานาธิบดีแฮร์รี เอส. ทรูแมน (Harry S. Truman) จะประกาศข่าวความพ่ายแพ้ของญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ ทุกปีนับแต่นั้นมา ชาวอเมริกันจึงกำหนดให้วันนี้เป็นวันเฉลิมฉลอง V-J Day (Victory over Japan Day)

ในวันอังคารที่ 14 สิงหาคม 1945 ช่างภาพหลายคนพยายามมองหาภาพที่สะท้อนถึงความยินดีปรีดาช่วงสิ้นสุดสงครามในย่านไทม์สแควร์ อัลเฟรด ไอเซนสเตดต์เองก็บังเอิญไปพบกับหนุ่มทหารเรือ ที่กำลังเดินพล่านในย่านนั้นเพื่อจะคว้าผู้หญิงสักคนที่เดินผ่านเขา ไอเซนสเตดต์บรรยายในหนังสือของเขา ดูเหมือนเขาจะไม่สนใจด้วยซ้ำว่าจะเป็นผู้หญิงแก่หรือสาว จะอ้วนหรือผอม สำหรับเขาแล้ว ชั่วยามนั้นไม่ใช่ความแตกต่าง

ช่างภาพข่าวเชื้อชาติเยอรมัน-อเมริกันติดตามทหารหนุ่มคนนั้นด้วยกล้องไลกาตัวเล็ก และจู่ๆ เขาก็เห็นกะลาสีคว้าตัวผู้หญิงชุดขาว เขาจึงบันทึกภาพไว้ระหว่างที่กะลาสีโน้มตัวลงจูบพยาบาลสาว ชุดเครื่องแบบสีเข้มของกะลาสีขัดแย้งกับชุดสีขาวของหญิงสาวอย่างลงตัว ช่างภาพเปิดเผยว่า บางครั้งอาชีพอย่างเขาก็ต้องอาศัยโชคและจังหวะเหมือนกัน

นิตยสารไลฟ์ตีพิมพ์ภาพจูบเป็นภาพใหญ่ในสองสัปดาห์ถัดมา นับตั้งแต่นั้นมามันก็แพร่กระจายไปตามที่ต่างๆ ทั่วโลก มีการตีพิมพ์ซ้ำในหนังสือพิมพ์และนิตยสาร มีการจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ มีการพิมพ์เป็นโปสเตอร์และโปสการ์ด เสมือนเป็นภาพจำของใครๆ และวันที่ 14 สิงหาคมของทุกปีมักจะมีคู่รักมายืนจูบเลียนแบบกันที่ย่านไทม์สแควร์

แต่บุคคลในภาพจูบที่เป็นตำนานนี้คือใครกัน?

อัลเฟรด ไอเซนสเตดต์หาคำตอบให้ไม่ได้ หรือแม้แต่วิกเตอร์ จอร์เกนเสน (Victor Jorgensen) ในสังกัดกองทัพเรืออเมริกัน ซึ่งอยู่ในเหตุการณ์ที่ไทม์สแควร์และได้ถ่ายภาพของทั้งสองไว้ในมุมที่แตกต่าง (ชื่อภาพ ‘Kissing the War Goodbye’) ก็ไม่รู้คำตอบเหมือนกัน ไม่มีใครมีโอกาสได้ถามไถ่ชื่อ อีกทั้งในภาพถ่ายของทั้งสองก็เห็นใบหน้าไม่ชัด

นักวิเคราะห์และสื่อพยายามสืบค้นมาหลายสิบปีแล้ว เพื่อหาคำตอบว่าบุคคลในภาพทั้งสองคนนั้นเป็นใคร จนถึงทุกวันนี้ก็ดูเหมือนจะอธิบายได้ไม่ชัดเจน เมื่อปี 1980 นิตยสารไลฟ์เคยประกาศหาตัวบุคคลในภาพ มีผู้หญิงสามคนและผู้ชายอีกหลายคนรายงานตัว และอ้างว่าพวกเขาคือบุคคลในภาพนั้น

ในจำนวนผู้หญิงที่เอ่ยอ้างนั้นมี อีดิธ เชน (Edith Shain) อดีตเคยเป็นนางพยาบาล และเป็นคนที่อัลเฟรด ไอเซนสเตดต์คลับคล้ายคลับคลาว่าจะจำเธอได้ แทบทุกคนเชื่อว่าหญิงสาวในภาพนั้นคือเชน…นานถึงสามทศวรรษ เธอมอบลายเซ็นกำกับภาพที่พิมพ์ใหม่ พูดคุยสัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว รวมถึงร่วมในขบวนพาเหรด V-J Day กระทั่งในปี 2010 ที่เธอเสียชีวิต ทั่วโลกยังรายงานข่าวเกี่ยวกับความตายของ ‘หญิงสาวในภาพอันเป็นตำนานที่ย่านไทม์สแควร์’

ทว่าสองปีถัดมา ลอว์เรนซ์ เวอร์เรีย (Lawrence Verria) และจอร์จ กัลโดริซี (George Galdorisi) ผู้เขียนหนังสือ The Kissing Sailor ได้แสดงหลักฐานความเห็นต่าง พวกเขาระบุว่าหนุ่มในภาพนั้นคือ จอร์จ เมนดอนซา (George Mendonsa) ขณะนั้นอายุ 22 ปี เป็นทหารเรือที่อยู่ในระหว่างพักร้อน ส่วนหญิงสาวในภาพคือ เกรตา ฟรีดแมน (Greta Friedman) เป็นผู้ช่วยทันตแพทย์ อายุ 21 ปี และเป็นสาวยิวที่เดินทางลี้ภัยออกจากออสเตรียเมื่อหกปีก่อนหน้า พ่อแม่ของเธอเสียชีวิตในเหตุการณ์โฮโลคลอสต์ นักเขียนทั้งสองมีข้อพิสูจน์เกี่ยวกับโครงสร้างร่างกาย ความสูง ลักษณะเส้นผมและทรง รอยสัก และรอยแผลเป็น ที่ปรากฏบนภาพถ่ายนั้นดูสอดคล้องกับคำชี้แจงทั้งหมด

จอร์จ เมนดอนซายืนยันว่าเป็นเขาจริงๆ เมื่อครั้งได้เห็นภาพถ่ายนั้นครั้งแรกในปี 1980 ส่วนเกรตา ฟรีดแมนก็ยืนยันอย่างหนักแน่นเช่นกัน ระหว่างให้สัมภาษณ์กับทีมงานจากหอสมุดสภาคองเกรส เพื่อจัดทำข้อมูลโครงการประวัติศาสตร์ทหารผ่านศึก (Veterans History Project) “มันไม่ใช่ช่วงเวลาที่โรแมนติกอะไรเลย” ฟรีดแมนเล่า “ฉันไม่ได้จูบเขา แต่เป็นเขาที่จูบฉัน”

เกี่ยวกับหนุ่มกะลาสีที่คว้าตัวและจูบเธอนั้น ฟรีดแมนเองจดจำได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น “ฉันรู้สึกแค่ว่าเขาเป็นชายหนุ่มแข็งแรง ที่ประคองตัวฉันไว้หลังจากฉันเซ” เธอจำได้ว่า เขาน่าจะอยู่ในอาการมึนเมาเล็กน้อย ส่วนเมนดอนซารับสารภาพว่า ก่อนหน้านั้นเขา “ซด” มาแล้วสอง-สามแก้ว ในวันนั้นเขาไปกับริตา-ภรรยาของเขาในเวลาต่อมา แวะดูหนังกันก่อนที่จะเดินไปที่ย่านไทม์สแควร์ ใบหน้ายิ้มหัวของริตาปรากฏอยู่ซ้ายมือด้านหลังเมนดอนซา ในภาพหนึ่งในจำนวนสี่ภาพของไอเซนสเตดต์

ฝ่ายที่เห็นพ้องว่าเป็นเกรตา ฟรีดแมน เชื่อว่าเสื้อผ้าของเธอในภาพถ่ายดูคล้ายชุดผู้ช่วยทันตแพทย์จริง ซึ่งใกล้เคียงกับชุดของนางพยาบาล ส่วนฝ่ายที่เห็นตรงข้าม อ้างเหตุผลเกี่ยวกับแสงเงาในภาพตามทฤษฎีของโดนัลด์ โอลสัน (Donald Olson) นักฟิสิกส์ที่ว่า ภาพถ่ายน่าจะถูกบันทึกตอนเวลา 17.51 นาฬิกาพอดี ฟรีดแมนเองก็พูดเล่าว่า เธอใช้เวลาช่วงพักเที่ยงออกไปที่ไทม์สแควร์ และหนึ่งชั่วโมงหลังจากนั้นเธอได้กลับไปที่ทำงาน

ในขณะที่คำบอกเล่าของจอร์จ เมนดอนซาก็ยังมีข้อเคลือบแคลงอยู่ เขาพูดในครั้งแรกว่าตนได้จูบหญิงแปลกหน้าราวบ่ายสองโมง แต่พูดเล่าอีกครั้งในปี 2005 ในบทสัมภาษณ์ของหอสมุดสภาคองเกรสว่า เป็นเวลาช่วงเย็นแล้ว ปลายทศวรรษ 1980s เมนดอนซายังฟ้องร้องสำนักพิมพ์ไทม์ ที่นำภาพถ่ายของเขาไปตีพิมพ์ อีกทั้งยังยื่นขอภาพนั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของเขา แต่สุดท้ายแล้วก็มีการถอนฟ้องทั้งหมด

ปริศนาเกี่ยวกับบุคคลในภาพยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนในที่สุด แต่สำหรับเกรตา ฟรีดแมน และจอร์จ เมนดอนซาแล้ว พวกเขายังคงเป็นบุคคลในภาพถ่ายนั้น

เกรตา ฟรีดแมน เสียชีวิตในปี 2016 ขณะอายุ 92 ปี ส่วนจอร์จ เมนดอนซา เพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อวันที่ 17 มีนาคมที่ผ่านมา จากการหกล้มในบ้านพักคนชรา ด้วยวัย 95 ปี

“บางคนเคยบอกผมว่า ภาพถ่ายนั้นจะยังคงเป็นที่จดจำของผู้คน” อัลเฟรด ไอเซนสเตดต์เคยกล่าวก่อนเสียชีวิตในปี 1995 “แม้ว่าผมจะขึ้นสวรรค์ไปแล้วก็ตาม”

และก็จริงอย่างที่เขาว่า ภาพถ่ายใบนั้นนอกจากไม่เคยถูกลืมแล้ว มันยังกลายเป็นสัญลักษณ์ของความยินดีปรีดาหลังสิ้นสุดสงครามอีกด้วย

อ้างอิง:

Adam Peter & Alfred Eisenstaedt, Eisenstaedt über Eisenstaedt. Photographien 1913-1980, Schrirmer/Mosel (1985)

https://www.stern.de/panorama/weltgeschehen/new-york–der–kuessende-matrose–vom-time-square-ist-tot-8587972.html

http://memory.loc.gov/diglib/vhp/story/loc.natlib.afc2001001.42863/transcript?ID=sr0001

https://www.welt.de/newsticker/news1/article189015225/Fotografie-Der-kuessende-Seemann-vom-Times-Square-ist-tot.html

https://www.zeit.de/2015/33/times-square-foto-analyse-physiker-donald-olson

 

Tags: ,