วอชิงตันขยายความขัดแย้งกับปักกิ่งจากสงครามการค้าสู่ศึกสกัดดาวรุ่งดิจิทัล คำสั่งแบนแอพยอดนิยมอย่าง TikTok หลังคว่ำบาตรยักษ์สื่อสารอย่าง Huawei อาจจุด

ชนวนสงครามเย็นเทคโนโลยี ส่งผลให้โลกไซเบอร์แยกเป็นสองขั้ว ขั้วหนึ่งใช้ระบบอเมริกัน อีกขั้วใช้ระบบจีน

ประเมินด้วยสถานการณ์ปัจจุบัน ฉากทัศน์แบบที่ว่านี้น่าจะยังห่างไกล ทว่าในท่ามกลางกระแสเสียงที่พูดถึง สงครามเย็นรอบใหม่ นักวิเคราะห์บางรายชี้ชวนให้พิจารณาความเป็นไปได้ของสงครามเย็นในยุคโลกาภิวัตน์

สงครามเย็นระหว่างค่ายอเมริกากับค่ายโซเวียต ครอบคลุมช่วงเวลาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองจนกระทั่งสหภาพโซเวียตล่มสลายในปี 1991 เกิดขึ้นในสมัยที่มหาอำนาจแกนนำทั้งสองขั้วมีความเกี่ยวพันกันในทางเศรษฐกิจน้อยมาก 

หากแต่การประจันหน้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนในเวลานี้ เกิดขึ้นในบริบทที่ต่างฝ่ายต่างพึ่งพากันอย่างซับซ้อนในหลากหลายมิติ หนึ่งในมิติสำคัญคือ เทคโนโลยี 

กรณีรัฐบาลของโดนัลด์ ทรัมป์ เล่นงานบริษัทด้านสารสนเทศและการสื่อสารของจีนที่เริ่มขยายบทบาทในระดับโลกครั้งแล้วครั้งเล่า จึงเป็นที่มาของฉากทัศน์สงครามเย็นเทคโนโลยี

ห้ามคบค้าเจ้าของแอพจีน

เมื่อวันพฤหัสฯ (6 สิงหาคม) ประธานาธิบดีสหรัฐฯออกคำสั่งฝ่ายบริหาร ห้ามบุคคล บริษัท หรือหน่วยงานรัฐบาลอเมริกัน ทำธุรกรรมกับบริษัท ByteDance หรือบริษัทใดๆ ที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องกับบริษัทผู้เป็นเจ้าของโซเชียลมีเดียยอดนิยม TikTok แห่งนี้ คำสั่งดังกล่าวให้มีผลภายใน 45 วัน

ทรัมป์อ้างว่า การออกคำสั่งนี้เป็นไปเพื่อรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินระดับชาติในเรื่องของเทคโนโลยีการสื่อสารและสารสนเทศ รวมถึงเพื่อปกป้องห่วงโซอุปสงค์ของสหรัฐฯ โดยกล่าวหาว่า TikTok ขโมยข้อมูลผู้ใช้ เช่น ผู้ใช้เป็นใคร อยู่ที่ไหน เคยสืบค้าข้อมูลอะไร เคยเข้าเว็บฯ ใดบ้าง เหล่านี้เป็นต้น

คำสั่งอ้างว่า การรวบรวมข้อมูลเหล่านี้โดยอัตโนมัติของแพลทฟอร์มดังกล่าว เปิดช่องให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล ทำให้จีนล่วงรู้พิกัดของพนักงานรัฐบาลและคู่สัญญาชาวอเมริกัน เอื้อให้สามารถจัดทำแฟ้มข้อมูลเพื่อแบล็กเมล์ หรือล้วงข้อมูลของบรรษัทอเมริกัน ดังนั้น รัฐบาลทรัมป์จึงต้องปกป้องความมั่นคงแห่งชาติ

จนถึงขณะนี้ ในสหรัฐฯ แอพพลิเคชั่น TikTok บนอุปกรณ์เคลื่อนที่ มีการดาวน์โหลดไปใช้แล้ว 175 ล้านครั้ง และทั่วโลกมียอดดาวน์โหลดกว่า 1,000 ล้านครั้ง 

คงยังจำกันได้ ก่อนหน้านี้ รัฐบาลทรัมป์เคยเล่นงานบริษัทไอซีทีของจีนมาแล้วในกรณีของ Huawei ด้วยการห้ามหน่วยงานรัฐบาลใช้อุปกรณ์เครือข่ายของบริษัทนี้ และห้ามขายชิพและเทคโนโลยีให้แก่ Huawei Technologies Ltd. ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนรายใหญ่ที่สุดของโลก พร้อมกับผลักดันให้ชาติพันธมิตรสั่งแบนยี่ห้อนี้  ด้วยข้ออ้างด้านความมั่นคงเช่นกัน 

สงครามเย็นเวอร์ชั่นใหม่

ความสัมพันธ์สหรัฐฯจีนที่เสื่อมถอยลงตามลำดับ สะท้อนผ่านมาตรการตอบโต้ไปมาในหลายรูปแบบ รวมถึงกรณีสั่งปิดสถานกงสุลของกันและกัน 

ล่าสุดเมื่อวันศุกร์ (7 สิงหาคม) กระทรวงคลังสหรัฐฯ สั่งอายัดทรัพย์สินของผู้บริหารฮ่องกง แคร์รี หลำ กับเจ้าหน้าที่รัฐบาลฮ่องกงอีก 10 คน และห้ามทำธุรกรรมกับคนเหล่านี้  ด้วยข้ออ้างว่า ลิดรอนเสรีภาพและประชาธิปไตยในฮ่องกงตามนโยบายของจีน 

มิตรไมตรีที่เคยสานสร้างต่อกันในฐานะหุ้นส่วน กลับกลายเป็นการคุมเชิงในฐานะคู่แข่ง นั่นทำให้นักวิเคราะห์เริ่มพูดถึงสงครามเย็นรอบใหม่ อย่างไรก็ดี หลายเสียงบอกว่า สงครามเย็นรอบนี้คงไม่เหมือนเมื่อหลายทศวรรษก่อน 

สตีเฟน วอลต์ นักทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศชื่อดังแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด บอกว่า การประจันหน้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนในเวลานี้ ดูคล้ายสงครามเย็นระหว่างสหรัฐฯ กับโซเวียตในอดีต แต่ยังไม่ถึงจุดอันตรายเหมือนในครั้งกระโน้น 

จุดต่างของเวอร์ชั่นทั้งสองก็คือ ทั้งสองรัฐยังคงมีความเชื่อมโยงกันในทางเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด ถึงแม้มีประเด็นระหองระแหงซึ่งกันและกันหลายเรื่องก็ตาม 

รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ไมค์ ปอมเปโอ มองในทำนองเดียวกันว่า สหรัฐฯ ไม่เคยข้องเกี่ยวกับโซเวียตในมิติเศรษฐกิจมากเท่ากับที่มีกับจีน ในสงครามเย็นรอบใหม่ ชาติตะวันตกจำเป็นต้องแยกตัวออกห่างจากจีน โดยเฉพาะในมิติเทคโนโลยี เพื่อไม่ให้ถูกจีนล้วงความลับ 

โลกไซเบอร์แยกขั้ว

นักวิเคราะห์เชื่อว่า ทรัมป์คงไม่หยุดเล่นงานจีนเพียงแค่นี้ เพราะเจ้าตัวกำลังมองหาแพะที่จะรับบาปแทนต่อกรณีที่ชาวอเมริกันเจ็บป่วยล้มตายเป็นใบไม้ร่วงเพราะไวรัสโคโรนา ในขณะที่การเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนพฤศจิกายนกำลังใกล้เข้ามาทุกที

แอนดี้ ม็อค นักวิจัยอาวุโสแห่งศูนย์ศึกษาจีนกับโลกาภิวัตน์ในกรุงปักกิ่ง บอกว่า สหรัฐฯ คงเดินหน้าสั่งแบนผลิตภัณฑ์ บริการ และการลงทุนของจีนต่อไป ดังที่ปอมเปโอบอกว่า อยากเห็นอินเทอร์เน็ตที่สะอาดและเครือข่ายออนไลน์ปลอดพ้นจากอิทธิพลของจีน

ทิฟฟานี หลี่ ศาสตราจารย์ด้านนิติศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยบอสตัน บอกว่า เป็นเรื่องน่าติดตามว่า โลกาภิวัตน์จะมีหน้าตาผันแปรไปอย่างไร ทั้งในมิติเศรษฐกิจและการเมือง 

เขาตั้งคำถามว่า เป็นไปได้แค่ไหน เมื่อถึงจุดหนึ่ง แต่ละประเทศจะมีเครือข่าย มีเทคโนโลยี มีเศรษฐกิจดิจิทัล มีช่องทางเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและโลกโซเชียลแตกต่างหากจากกัน 

สตีเฟน เวเบอร์ ผู้อำนวยการศูนย์ความปลอดภัยทางไซเบอร์ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย มองว่า สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นนี้คือ สงครามเย็นเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐฯกัจีน ที่ขยายตัวอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว

ไซเบอร์กำลังกลายเป็นโลกเสมือนจริงที่คู่ขนานกับโลกจริง ประเทศไหนไหวตัวเท่าทันทิศทางลมที่แปรเปลี่ยน ประเทศนั้นย่อมได้เปรียบ

อ้างอิง :

AFP via Yahoo! News, 18 July 2020

Reuters, 28 July 2020

AP, 8 August 2020

Tags: ,