อดีตประธานาธิบดีลูลาท่ามกลางผู้สนับสนุนที่มาชุมนุมหน้าสหภาพแรงงานโรงงานเหล็ก (ภาพถ่ายเมื่อ 7 เมษายน 2018 โดย REUTERS/Leonardo Benassatto)

ลูอิส อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา อดีตผู้นำสองสมัยของบราซิล ครองใจคนด้วยนโยบายลดความเหลื่อมล้ำ เขาเป็นตัวเก็งว่าจะชนะเลือกตั้งรอบใหม่เดือนตุลาคมนี้ แต่เพิ่งถูกศาลสั่งให้เดินเข้าเรือนจำด้วยข้อหาคอร์รัปชัน ขณะผู้บัญชาการทหารบกลั่น ‘คนโกงต้องติดคุก’

เมื่อพฤหัสบดีที่ 5 เมษายน 2018 ลูอิส อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา อดีตประธานาธิบดีบราซิล วัย 72 ถูกศาลฎีกาสั่งให้เข้าพบตำรวจภายในเย็นวันศุกร์เพื่อควบคุมตัวระหว่างสู้คดี หลังศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุก 12 ปีด้วยข้อหารับสินบน

ลูลาโต้ว่า ข้อหาคอร์รัปชันเกิดจากแรงจูงใจทางการเมือง เป็นเครื่องมือขัดขวางไม่ให้เขาลงสมัครรับเลือกตั้ง ชิงเก้าอี้ประธานาธิบดี ทั้งๆ ที่เขามีคะแนนนิยมนำหน้าผู้ท้าชิงทุกคนชนิดทิ้งห่างลิบลิ่ว

ลูลาแย้งสู้คดีว่า กระบวนการไต่สวนคดีสินบนเป็นไปโดยมิชอบ ซึ่งเวลานี้ บรรดาผู้สนับสนุนกำลังรอดูว่า ท้ายที่สุดศาลฎีกาจะชี้ขาดให้ลูลาต้องติดคุกหรือยกฟ้อง

บราซิลยังไม่หมาดกลิ่นรัฐประหารดีนัก เผด็จการทหารเพิ่งเก็บฉากเมื่อราว 30 ปีมานี้เอง เรื่องราวของบราซิลจึงให้ความรู้สึก ‘คุ้นๆ’

โตจากดิน: จากคนงานเหล็ก ผู้นำสหภาพ สู่ประธานาธิบดี

ลูลาได้รับการศึกษาในระบบโรงเรียนน้อยมาก เคยเป็นคนงานในโรงงานเหล็ก เติบโตจากการเป็นผู้นำสหภาพแรงงาน จนได้เป็นหัวหน้าพรรคคนงาน ซึ่งเป็นพรรคการเมืองฝ่ายซ้าย

เขานั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีสองสมัย ติดต่อกันนาน 8 ปี ระหว่างปี 2003-2011 นับเป็นผู้นำของขบวนการฝ่ายซ้ายคนแรกที่ได้เป็นประธานาธิบดีของบราซิลในช่วงเวลาเกือบครึ่งศตวรรษ

ในช่วงดำรงตำแหน่ง เศรษฐกิจของบราซิลขยายตัวสูง นับเป็นการเติบโตที่ต่อเนื่องยาวนานที่สุดในห้วงสามทศวรรษของประเทศ ช่วยให้รัฐบาลของลูลามีเงินนำไปใช้จ่ายด้านสวัสดิการสังคม ส่งผลให้ประชาชนหลายสิบล้านคนพ้นจากความยากจน หลายสิบล้านคนขยับฐานะขึ้นเป็นคนชั้นกลาง

แต่กฎหมายบราซิลห้ามประธานาธิบดีดำรงตำแหน่งเกินสองสมัยติดต่อกัน เขาจึงต้องเว้นวรรค และเตรียมจะสมัครชิงเก้าอี้ตัวเดิมอีกครั้งในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในเดือนตุลาคมศกนี้

เมื่อปี 2011 ลูลาพ้นวาระด้วยคะแนนการยอมรับ (Approval Rating) ที่สูงถึง 83 เปอร์เซ็นต์

โพลหลายสำนักพบว่าตอนนี้ คะแนนนิยมสำหรับตัวเต็งการเลือกตั้งรอบหน้า ลูลามีคะแนนมาอันดับหนึ่งที่ราว 30 เปอร์เซ็นต์ ขณะตัวเก็งอันดับสองซึ่งเป็นนายทหารนอกราชการหัวขวาจัด จาอีร์ โบลโซนาโร ได้คะแนนนิยมราว 15 เปอร์เซ็นต์

อพาร์ตเมนต์หรู ปมสินบนคอร์รัปชัน

เมื่อปีที่แล้ว ลูลาถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานรับสินบนเป็นอพาร์ตเมนต์ริมชายหาดมูลค่า 34 ล้านบาทจากบริษัทชื่อ โอเอเอส ซึ่งได้รับงานก่อสร้างจากรัฐวิสาหกิจด้านพลังงาน ปิโตรเลโอ บราซิเลโร ต่อมาเมื่อเดือนมกราคม ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น และเพิ่มโทษจำคุกจาก 10 ปีเป็น 12 ปี

ลูลาเดินหน้าสู้คดีในชั้นศาลฎีกา เมื่อวันพุธที่ 4 เมษายน 2018 ที่ประชุมศาลฎีกาหารือกันข้ามวันข้ามคืนในประเด็นที่ว่า ลูลาควรถูกควบคุมตัวระหว่างสู้คดีหรือไม่ ผู้พิพากษา 5 ท่านเห็นว่าควร อีก 5 ท่านเห็นว่าไม่ควร ประธานศาลฎีกาจึงออกเสียงชี้ขาด กลายเป็นมติ 6 ต่อ 5 วินิจฉัยว่า ลูลาต้องเข้ามอบตัวเพื่อรับการจองจำระหว่างสู้คดี

อดีตประธานาธิบดีลูลาเดินทางไปให้ตำรวจคุมตัว ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ภาพถ่ายเมื่อ 7 เมษายน 2018 โดย REUTERS/Ricardo Moraes)

อดีตประธานาธิบดีลูลาขณะเดินทางออกจากสหภาพแรงงานโรงงานเหล็ก (ภาพถ่ายเมื่อ 7 เมษายน 2018 โดย REUTERS/Leonardo Benassatto)

ก่อนหน้าคำวินิจฉัยดังกล่าวแค่วันเดียว เมื่อวันอังคาร ผู้บัญชาการทหารบก พล.อ.เอดูอาร์โด วิลลาส โบแอส โพสต์ข้อความทางทวิตเตอร์ ระบุว่า “กองทัพและ ‘พลเมืองดีทั้งมวล’ ไม่ยอมรับการลอยนวลพ้นผิดของลูลา”

ผู้คนตีความกันว่า ท่าทีของผู้บัญชาการทหารบกสะท้อนว่า กองทัพต้องการให้ศาลมีคำสั่งให้ควบคุมตัวลูลาในเรือนจำในช่วงที่กำลังสู้คดีขั้นสุดท้าย บางเสียงบอกว่า ผบ.ทบ.พูดแบบนี้เท่ากับขู่ว่า ถ้าศาลยังปล่อยลูลาอยู่นอกคุก ทหารจะเข้าแทรกแซง

นายพลเอกสำรองราชการ ลูอิส เลสซา ออกมาสำทับอีกเสียง โดยบอกกับหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งว่า กองทัพจะเข้าแทรกแซง ถ้าลูลาได้รับอนุญาตให้สมัครรับเลือกตั้ง ขณะพล.อ.อันโตนิโอ มิออตโต ทวีตข้อความสนับสนุนเพื่อนนายพลด้วยกันว่า “เราโจนลงหลุมเพลาะด้วยกันแล้ว!!! เราคิดตรงกัน!!! บราซิลจงเจริญ!!!!”

ฝ่ายต่อต้านอดีตประธานาธิบดีลูลารวมตัวกันที่หน้าสำนักงานตำรวจ (ภาพถ่ายเมื่อ 7 เมษายน 2018 โดย REUTERS/Rodolfo Buhrer)

ในวันอังคารเช่นกัน ขณะที่ฝ่ายต่อต้านหลายพันคนออกมาชุมนุม เรียกร้องให้ขังคุกลูลา บรรดาอัยการกับผู้พิพากษาเข้าชื่อกันกว่า 5,000 คน สนับสนุนให้ควบคุมตัวอดีตผู้นำฝ่ายซ้ายระหว่างรอผลคดีในชั้นศาลฎีกา

การแสดงออกของผู้นำเหล่าทัพเรียกเสียงวิจารณ์ในทันที พรรคคนงานตอบโต้ว่า การแสดงความเห็นของผบ.ทบ. ซึ่งสื่อมวลชนพาดหัวเป็นข่าวใหญ่ ถือเป็นการกดดันศาลฎีกา

ส.ส. ชิโก อะเลนการ์ ตอบโต้ทางทวิตเตอร์ว่า “ในประเทศประชาธิปไตย ผู้บัญชาการทหารไม่ส่งสาส์นใดๆ ถึงสถาบันผู้ใช้อำนาจ” และเหน็บด้วยว่า “ปี 2018 ไม่ใช่ปี 1964”

ปี 1964 คือปีที่กองทัพบราซิลเข้ายึดอำนาจ ปกครองประเทศด้วยระบอบเผด็จการจนถึงปี 1985

ความแตกแยกในจุดยืนทางการเมือง

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ชาวบราซิลออกมาชุมนุมตามเมืองต่างๆ ทั่วประเทศหลายหมื่นคน มีทั้งฝ่ายต่อต้านและฝ่ายสนับสนุนลูลา

ฝ่ายต่อต้านบอกว่า ลูลาเป็นหัวโจกของขบวนการสินบนมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ พวกนักการเมืองรับทรัพย์จากผู้บริหารรัฐวิสาหกิจที่ตัวเองแต่งตั้งเข้าไปคุมกิจการต่างๆ เงินเหล่านั้นมาจากบริษัทที่ได้รับงานจัดซื้อจัดจ้างจากภาครัฐ

ฝ่ายสนับสนุนบอกว่า ผู้พิพากษามีอคติ ลำเอียง ต้องการสกัดกั้นไม่ให้ลูลากลับมาเป็นประธานาธิบดีอีก ถือเป็นการต่อต้านประชาธิปไตย

ภาพมุมสูงของมวลชนที่สนับสนุนลูลา รวมตัวกันที่หน้าสหภาพแรงงานโรงงานเหล็ก (ภาพถ่ายเมื่อ 7 เมษายน 2018 โดย REUTERS/Paulo Whitaker)

บอลลมรูปอดีตประธานาธิบดีลูลา หน้าสำนักงานตำรวจ (ภาพถ่ายเมื่อ 6 เมษายน 2018 โดย REUTERS/Ueslei Marcelino)

ตัวลูลาเองยืนยันปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา เขายังมีคดีสินบนอื่นๆ รอการไต่สวนอีกหกคดี เจ้าตัวโจมตีฝ่ายตุลาการว่าตัดสินคดีโดยขาดหลักฐาน แม้แต่อพาร์ตเมนต์ที่ว่านั้นก็ไม่ปรากฏชื่อเขาเป็นเจ้าของ ศาลรับฟังเพียงคำให้การของอดีตประธานบริษัทโอเอเอส ซึ่งผู้บริหารรายนี้ก็ถูกตัดสินว่าคอร์รัปชัน

นอกจากข้องใจในความเป็นกลางของตุลาการแล้ว ฝ่ายลูลายังติดใจในความเป็นกลางของสื่อมวลชนด้วย โดยโจมตีว่า สื่อส่วนใหญ่มีความคิดเอียงขวา จึงต่อต้านผู้นำฝ่ายซ้าย

นักข่าวที่ไปทำข่าวที่สหภาพแรงงานแห่งหนึ่งในเมืองเซา เบอร์นาโด โด กัมโป บ้านเกิดของลูลา ชานเมืองเซาเปาโล ถูกขว้างปาด้วยไข่และก้อนน้ำแข็ง ขณะที่รถของนักข่าวซึ่งไปทำข่าวที่สมาพันธ์แรงงานในกรุงบราซิเลียถูกฝูงชนทุบกระจกรถแตก

นักโทษหมดสิทธิลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี?

ที่สุดแล้ว ลูลาจะต้องติดคุก 12  ปีในข้อหารับสินบนหรือไม่ และเขาจะมีสิทธิลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีหรือไม่ ยังต้องรอคำวินิจฉัยจากศาลฎีกากับศาลคดีเลือกตั้ง

ศาลฎีกาจะไม่พิจารณาในแง่ข้อเท็จจริงของคดีแล้ว แต่จะไต่สวนเพียงว่า กระบวนการพิจารณาคดีที่ผ่านมาเป็นไปโดยชอบหรือไม่ มีการละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญของจำเลยหรือไม่

การไต่สวนดังกล่าวอาจใช้เวลานานหลายเดือนหรือหลายปี ถ้าปรากฏคำวินิจฉัยในทางที่เป็นคุณ คำพิพากษาก่อนหน้านี้ก็จะเป็นโมฆะ แล้วลูลาก็จะได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระ

ระหว่างรอการชี้ขาดในขั้นสุดท้ายนี้ ลูลาจะสมัครรับเลือกตั้งได้หรือไม่ นั่นต้องรอฟังคำวินิจฉัยของศาลคดีเลือกตั้ง

กฎหมายของบราซิลห้ามมิให้ผู้ต้องโทษจำคุก (แม้จะเป็นคำตัดสินในชั้นศาลอุทธรณ์) สมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลา 8 ปี แต่ที่ผ่านมาเคยมีการวินิจฉัยเป็นกรณียกเว้นไว้เหมือนกัน ในคราวนี้ ผู้สนับสนุนลูลาจึงตั้งตารอฟังว่าศาลจะใช้บรรทัดฐานอย่างไร

ทว่าจนถึงเวลานี้ ลูลายังไม่ได้ยื่นใบสมัครรับเลือกตั้ง เขามีเวลายื่นจนถึงวันที่ 15 สิงหาคม จากนั้น ศาลคดีเลือกตั้งจึงจะเริ่มพิจารณาคุณสมบัติของผู้สมัครรายนี้

ถ้าลูลาถูกตัดสิทธิ์เลือกตั้ง หรือถูกจำคุก ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังต้องการให้เขาเป็นผู้นำ บราซิลอาจวุ่นไม่จบเหมือนบางประเทศ

ลูลาโบกมือให้ผู้สนับสนุน  (ภาพถ่ายเมื่อ 6 เมษายน 2018 โดย REUTERS/Leonardo Benassatto)

 

 

อ้างอิง:

 

บรรยายภาพเปิด: อดีตประธานาธิบดีลูลาถูกยกตัวโดยผู้สนับสนุน ที่หน้าสหภาพแรงงานโรงงานเหล็ก เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2018 ภาพถ่ายโดย REUTERS/Francisco Proner

Tags: , , , , , ,